xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” เข้มให้เขมรถอยจากพื้นที่พิพาท ก่อนอินโดฯ ส่งผู้สังเกตการณ์มาไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
“มาร์ค” ทำเข้ม ให้เขมรถอยจากพื้นที่พิพาท 4.6 ตารางกิโลเมตร ก่อนอินโดฯ ส่งผู้สังเกตการณ์มาไทย เผย “กษิต” รายงานความคืบหน้าเรื่อง กม.วันนี้ ลั่นเตรียมจวกเขมร เหตุจงใจปะทะบนเวทีอาเซียน เตือนคนไทยพูดจาอะไรอย่าให้ย้อนกลับมาทำลายประเทศ



วันนี้ (5 พ.ค.) ที่หน้าบ้านพักนายกรัฐมนตรี ซอยสุขุมวิท 31 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีการส่งคณะผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียมาบริเวณพื้นที่พิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาว่า จะมีข้อกำหนดที่เป็นเอกสาร แต่ในถ้อยคำต่างๆ ตรงนั้นไม่เป็นปัญหา แต่ทางกระทรวงการต่างประเทศได้หยิบยกกับอินโดนีเซียมาก่อนหน้านี้ว่า การจะดำเนินการนำผู้สังเกตการณ์เข้ามาควรจะให้ทางกัมพูชานำทหารออกจากพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร รวมถึงประชาชนก็ควรจะออกจาพื้นที่ทั้งหมด เพราะว่าเป็นการละเมิดเอ็มโอยู

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางกัมพูชายอมรับข้อเสนอหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยังไม่ทราบ เป็นเรื่องที่ทางอินโดนีเซียควรจะไปประสานกับกัมพูชา ซึ่งหากทางกัมพูชายังไม่มีการตอบรับก็จะยังไม่มีการลงนาม แต่ตัวเนื้อหาในทีโออาร์ไม่ได้เป็นปัญหา ส่วนการนำเรื่องนี้จะนำไปพูดคุยในที่ประชุมอาเซียนหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับความคืบหน้าเนื้อหาของการพูดคุยระหว่างไทยกับอินโดนีเซีย และทางอินโดนีเซียกับกัมพูชา

เมื่อถามว่า จากบรรยากาศในขณะนี้คิดว่ามีความเป็นไปได้อย่างไร นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป้าหมายสุดท้ายคือการจะไม่ให้มีเหตุการณ์ที่ปะทะกัน ซึ่งความจริงบริเวณที่จะมีผู้สังเกตการณ์เข้ามานั้นก็ไม่ได้มีปัญหามา 2-3 เดือนแล้ว ยกเว้นในช่วงสั้นๆที่ตกใจเครื่องบินเท่านั้นเอง เมื่อถามต่อว่าบทบาทของรัฐมนตรีอาเซียนที่จะมีในการประชุมนั้นเป็นอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า วันนี้ (5 พ.ค.) นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะมารายงานตน เพราะท่านเพิ่งจะเดินทางกลับมาจากกรุงเฮก ส่วนแนวโน้มของเขมรจะเป็นอย่างไร ตนยังไม่ทราบเพราะทางอินโดนีเซียเป็นฝ่ายไปคุย

ส่วนประเด็นที่จะนำไปชี้แจงต่อรัฐมนตรีต่างประเทศในวงประชุมอาเซียนมีอะไรบ้างนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คงเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าเราไม่ได้เป็นผู้สร้างปัญหานี้ขึ้นมา และเราก็สนับสนุนให้มีการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี และในข้อเท็จจริงคงหนีไม่พ้นที่ 2 ฝ่ายต้องมาพูดคุยกัน เมื่อถามว่าขณะนี้ทางกัมพูชาขยายเรื่องไปถึงศาลโลกแล้วจะยิ่งเป็นความชัดเจนให้นานาชาติเห็นภาพหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนหวังอย่างนั้นและเราก็จะลำดับอะไรหลายๆ อย่างให้เห็นว่าการปะทะแต่ละครั้งเป็นความจงใจไม่ใช่อุบัติเหตุ ในแง่ของจังหวะเวลาเพื่อให้สอดคล้องกับการนำเรื่องไปสู่ระดับสากล

ต่อกรณีที่นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่าอยากให้ไทยอย่ามองข้ามกรอบพหุภาคีนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เราก็ไม่ได้มีปัญหา ตอนที่เขาไปสหประชาชาติเราก็ไปชี้แจง ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ข้อเท็จจริงที่เราต้องทำความเข้าใจกัน คือ เนื้อหาจริงๆ ที่เราตกลงกันเป็นเรื่องของ 2 ฝ่าย ตนได้ถามว่าฝ่ายที่ 3 เขาจะทำอะไร จริงๆ อินโดนีเซียเขาก็ยืนยันท่าทีอย่างนี้มาอย่างชัดเจน มีการเปรียบเทียบให้กระบวนการพูดคุยมันไปได้ เขาก็เปรียบเหมือนกับรถที่สตาร์ทไม่ติด จะมาช่วยเข็นให้มันสตาร์ทติด เขาก็ว่ากันไปในรถ อันนี้ก็เป็นแนวทางซึ่งเราก็เห็นว่าเหมาะสม หรือการส่งผู้สังเกตการณ์มาก็ไม่ได้มายุ่งเกี่ยวอะไรกับข้อพิพาท แต่ต้องการที่จะมาช่วยให้เป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการปะทะกัน

เมื่อถามว่าดูแล้วจะมีการปะทะกันบริเวณชายแดนอีกหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คงต้องประเมินดู เพราะว่ายังมีเรื่องของมรดกโลกและอื่นๆ อีก ถามว่าในเรื่องของศาลโลก บางส่วนมีการเสนอว่าทำไมเราไม่ใช้วิธีการไม่ยอมรับหรือตัดอำนาจของศาลโลกไปเลย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สอบถามกันมากในเรื่องนี้ และคำชี้แจงของทุกฝ่ายก็ยืนยันว่าเราไม่ไปต่อสู้คดี ก็ไม่มีผลทำให้ศาลพิจารณาคดีไม่ได้ และผลเนื่องจากไม่ได้เป็นคดีใหม่ เราไม่ได้รับอำนาจศาลไม่ได้เป็นภาค แต่เนื่องจากเป็นการตีความคำพิพากษาเดิม ทุกคนจึงบอกว่าเป็นการผูกพันเราในฐานะที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติ

เมื่อถามว่า จุดที่เราเคยท้าจะกลายเป็นจุดเสียเปรียบในการต่อสู้อีกรอบหนึ่งหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ก็มองได้ทั้งสองมุมในแง่มุมกฎหมาย ตนไม่ขอพูดในเนื้อหาสาระ เพราะว่าไม่อยากให้กระทบรูปคดี แต่ว่ามีหลายแง่มุมที่เราต่อสู้แน่นอน เมื่อถามว่า มีความจำเป็นต้องไปปรึกษา ดร.สมปอง สุจริตกุล ผู้แทนไทยในคณะกรรมการที่ 6 (กฎหมาย) หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนได้กำชับกระทรวงต่างประเทศว่า การปรึกษาหารือรับฟังความคิดเห็นของทุกคนที่มีความเห็นนั้น ขอให้ทำให้มากที่สุด แต่คงไม่จำเป็นต้องทำในลักษระที่เป็นทางการ ตนคิดว่าก็คงดำเนินการ และในวันนี้จะพูดคุยกันกับกระทรวงการต่างประเทศ

“ผมอยากจะให้ทุกคนผนึกกำลังกัน และผมได้เคยเรียกร้องหลายครั้งว่า การตีความอะไรหลายอย่างที่ไปพูดกันระวังอย่าให้มันย้อนกลับมาทำลายตัวเรา ขอให้ยืนหยัดสิ่งที่เป็นการปกป้องประโยชน์ของประเทศ” นายกรัฐมนตรีกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น