xs
xsm
sm
md
lg

พธม.อัดอีเหนาสมรู้เขมรจับ"กษิต"ลงนามTORปล่อยทหารเข้าพื้นที่พิพาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โฆษกพันธมิตรฯฉะอิเหนาสมคบเขมร จับ"กษิต"ลงนาม TOR ปล่อยทหารอินโดฯเข้าพื้นที่พิพาท แต่กลับไม่ไล่กัมพูชาออกไป ชี้ลงนามไม่ชอบ เหตุมีผลเปลี่ยนอาณาเขตเข้าข่าย ม.190 ต้องผ่านมติ ครม.เมื่อยุบสภาแล้วหมดสิทธิ์ลงนามข้อผูกพันใดๆ ยันชุมนุมจนกว่าจะรู้มติ คกก.มรดกโลก เผยเขมรส่งทหารขึ้นเสริมกำลัง “เขาพระวิหาร”ต่อเนื่อง พบมีการนำเอาเด็ก-สตรี ขึ้นมาเป็นโล่มนุษย์ที่บริเวณเชิงเขาพระวิหารเพิ่มมากขึ้น

วานนี้ (11 พ.ค.)ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ นายปานเทพ พัวพงศ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกล่าวว่า จากการหารือ 3 ฝ่ายระหว่างไทย กัมพูชา และอินโดนีเซีย โดย รมว.ต่างประเทศของแต่ละประเทศ ที่มีข้อเสนอในการออกมาตรการร่วมกัน 6 ข้อ โดยให้มีการลงนามในร่างข้อตกลง (ทีโออาร์)เพื่อให้ทหารอินโดนีเซีย เข้ามาสังเกตการณ์ในพื้นที่พิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา พร้อมจัดประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (จีบีซี)และประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี)ไทย-กัมพูชาทันที โดยให้เชิญผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียเข้ามาในพื้นที่ปะทะนั้น ตนขอตั้งข้อสังเกตว่ากรณีดังกล่าวเป็นเล่ห์เหลี่ยมของกัมพูชา โดยมีอินโดนีเซียเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด หรือรู้ไม่เท่าทันฝ่ายกัมพูชา เพราะเป็นการบีบบังคับให้ไทยลงนามร่างทีโออาร์ ก่อนจะมีการผลักดันทหารกัมพูชาออกจากพื้นที่ เนื่องจากร่างทีโออาร์ดังกล่าวจะมีผลผูกพันในการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต ซึ่งต้องมีการขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ก่อน

นายปานเทพ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามเมื่อมีการประกาศยุบสภาแล้วรัฐบาลไทยก็ไม่สามารถที่จะลงนามใดๆ ได้ ทั้งนี้ พันธมิตรฯและคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทยได้ตัดสินใจชุมนุมต่อจนกว่าผลการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ในเดือน มิ.ย.54 จะมีมติออกมาและเป็นการรู้ผลก่อนที่ประชาชนจะใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งประชาชนจะสามารถตัดสินใจได้ว่า ควรลงทัณฑ์นักการเมืองด้วยการโหวตโนหรือไม่

นายปานเทพ กล่าวด้วยว่า วันนี้ (12 พ.ค.) พันธมิตรฯจะติดตั้งแผ่นป้ายโหวตโน โดยมีข้อความระบุว่า อย่าปล่อยสัตว์เข้าสู่สภา เข้าคูหากาโหวตโน ทั่วบริเวณเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์

ผบ.ทบ.ยันไม่ถอนทหารจนกว่าเขมรจะถอย

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.กล่าวถึงกรณี พล.อ.ดาโต๊ะ ซุลกีฟลี บิน โมฮัมเหม็ด ซิน ผบ.ทบ.ของประเทศมาเลเซีย เข้าพบเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า ได้มีการหารือถึงความร่วมมือในหลายๆ ด้าน ทั้งนี้ผบ.ทบ.มาเลเซีย ไม่ได้แสดงความคิดเห็นอะไรเกี่ยวกับปัญหาข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา แต่เชื่อว่าเป็นเรื่องที่ทั้ง 2 ประเทศน่าจะพูดคุยกันได้ ในฐานะที่เป็นประเทศอาเซียนด้วยกัน ซึ่งเขาเคารพในการตัดสินใขของประเทศไทย และบอกว่าเป็นเรื่องภายในของไทย ในฐานะที่อยู่ในกลุ่มอาเซียน เขาก็อยากให้อาเซียนทำให้สถานการณ์เบาบางลง อย่างไรก็ตาม เขาก็เคารพในการตัดสินในของ 2 ประเทศ ดังนั้นอาเซียน คงบังคับอะไรไม่ได้ เป็นเรื่องของ 2 ประเทศที่ต้องคุยกัน

ส่วนเรื่องผู้สังเกตการณ์ ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดกัน เป็นเรื่องของไทยและกัมพูชา 2 ประเทศว่าจะตกลงหรือไม่ตกลง แต่กระทรวงการต่างประเทศได้ยืนยันไปแล้วว่า ต้องเคารพกฎกติกาก่อน ย้อนกลับไปดูที่ต้นเหตุของปัญหาว่ามันอยู่ที่ไหน แล้วก็แก้ปัญหาตั้งแต่จุดนั้น ถ้าเราดำเนินแก้ไขปัญหาจากหลังไปหน้า มันก็ต้องแก้ไปเรื่อยๆ มันก็กลับสู่ต้นเหตุทุกครั้งไป

"วันนี้ ปัญหามันอยู่ที่ยังมีกำลังทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ในพื้นที่ แล้วทำไมจึงต้องมี ก็เพราะว่ามีการละเมิด เมื่อฝ่ายหนึ่งละเมิด อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องเอากำลังขึ้นไป ก็ต้องเอากำลังเราขึ้นไปปกป้องอธิปไตย ดังนั้นเราก็ไม่ถอน ถ้ากัมพูชายังไม่มีการถอนกำลังทหารเราก็ไม่ถอน กติกาเป็นแบบนี้ และผู้บังคับบัญชาก็สั่งการมาแบบนี้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

"เทือก"โวย"เด็จพี่"ยันไทยไม่เสียดินแดน

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รักษาการรองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ยังไม่เลิก แม้จะมีการประกาศยุบสภาแล้วก็ตาม แต่กลับอ้างเหตุผลรอผลการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก กรณีพระวิหารว่า ยอมรับว่ากลุ้มใจจริงๆ กับเรื่องนี้ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เอาเป็นว่าพยายามรักษาทำเนียบฯเอาไว้ให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็พยายามแก้ปัญหาด้วยความละมุนละม่อมมาโดยตลอด เจรจาแล้ว เจรจาอีก พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการปะทะ ความรุนแรง แต่ก็ไม่เป็นไร อดทนต่อไป คิดว่าเลือกตั้งเสร็จก็คงจะจบ ไม่ต้องรอให้เป็นมรดกตกทอดไปถึงรัฐบาลหน้า

"ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมตอนนี้ประเด็นพระวิหาร หรือเรื่องการเจรจากับกัมพูชา ยังถูกเอามาเป็นประเด็นการเมืองอยู่ได้เรื่อยๆ เป็นข้ออ้างของหลายฝ่าย เมื่อวานผมเห็นนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ออกมาแจ้วๆว่าพวกผมจะทำให้เสียดินแดน รัฐบาลนี้จะทำให้เสียดินแดน ดังนั้มผมยืนยันเลยว่า ไม่มีการเสียดินแดนใดๆ ทั้งสิ้น และรัฐบาลนี้ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ช่วยกันทำงานเพื่อรักษาอธิปไตยของเรา ไม่ได้สูญเสียเลยสักนิ้วเดียว อย่าไปฟังนายพร้อมพงศ์ ระวังพวกนายพร้อมพงศ์ ให้ดีก็แล้วกัน สนิทสนมกันดีนักกับฝ่ายโน้น เดี๋ยวกลับมาเมื่อไหร่ ก็เสียดินแดนก็เป็นไปได้ จะพูดหาเสียงว่าจะเอา วีระ ราตรี กลับมาอย่างไรก็พูดไป แต่อย่ามากล่าวหาว่ารัฐบาลจะทำให้เสียดินแดน อย่างนั้นไม่ใช่ ระวังพวกนั้นให้ดีเถอะ" นายสุเทพกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีสมาชิกอาเซียนบางประเทศออกมาสนับสนุนกัมพูชา อาจทำให้คนไทยเป็นห่วงว่า ไทยจะเสียดินแดนได้ นายสุเทพ กล่าวว่า เราอย่าไปห่วงเกินเหตุ ผมรับรองและยืนยันได้ว่า เราไม่ยอมให้เสียดินแดนเราแม้แต่นิ้วเดียว ไม่ต้องห่วง

"กษิต" ยันมาเลย์ไม่ได้ประณามไทย

ด้านนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ทวิตข้อความผ่านเว็บไซต์ twitter.com ภายใต้ชื่อ @kasitpirom ชี้แจงถึงการหารือระหว่างไทยและกัมพูชาว่า " ตามที่ผมได้ประชุมร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา และรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ได้ผลสรุปดังนี้ ท่าทีของรัฐบาลไทยที่แสดงออกไปคือ ไม่ต้องการเห็นความแตกแยกในประเทศอาเซียน

สำหรับปัญหาไทยและกัมพูชา ได้ข้อสรุปเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการต่อไปเป็นแบบองค์รวม หรือ แพ็คเกจ ผมจะนำข้อสรุปนี้เรียนเสนอท่านนายกฯ และจะขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางเรื่องอีกครั้ง แต่หลักการยังคงเดิม คือ ต้องให้กัมพูชาถอนทหารออกจากพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหาร วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ และตลาด ก่อนที่คณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียจะลงพื้นที่ รัฐบาลไทยมีความตั้งใจในการเจรจา และเป็นฝ่ายเสนอขอเจรจามาโดยตลอด รัฐบาลมีความมุ่งมั่นอยากเห็นสันติภาพของทั้ง 2 ประเทศ มีความโปร่งใส และมีกระบวนการตามกฎหมาย"

"ส่วนที่กล่าวหาว่าประเทศไทยบิดพลิ้ว ไม่เห็นชอบตามร่างข้อกำหนด (TOR) การส่งผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซีย ก็ไม่เป็นความจริง ส่วนกรณีข่าวที่ระบุว่า รัฐมนตรีช่วยฯต่างประเทศมาเลเซีย ประณามไทย เป็นต้นเหตุทำให้เกิดการปะทะ ผมขอยืนยันว่า ประเทศไทยไม่ได้เป็นเช่นนั้น ซึ่งอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก ได้เชิญทูตมาเลเซียประจำประเทศไทยมาชี้แจงแล้ว สรุปว่าเป็นความเข้าใจผิด รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศมาเลเซียไม่ได้พูดแบบที่เป็นข่าว สื่อมวลชนอาจนำเสนอไม่ครบ"

เขมรส่งเด็กสตรีขึ้น"เขาวิหาร"ไม่หยุด

แหล่งข่าวทางทหารไทยเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดศรีสะเกษว่า ขณะที่บริเวณเขาพระวิหาร ชายแดนไทย-กัมพูชา อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษได้มีการเคลื่อนไหวของกำลังทหารกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง โดยทหารกัมพูชาจะส่งกำลังขึ้นมาบนเขาพระวิหารกลุ่มละประมาณ 10-20 คนและเมื่อทหารกัมพูชาเหล่านี้ขึ้นมาแล้วจะพากันหลบอยู่ภายในหลุมบังเกอร์ ไม่ออกมาเดินเพลินพล่านเหมือนเช่นที่ผ่านมา

จนถึงขณะนี้มีทหารกัมพูชาขึ้นมาเพิ่มเติมที่เขาพระวิหารแล้วประมาณ 100-150 คน ซึ่งทหารกัมพูชาบางส่วนเป็นทหารที่เพิ่งกลับมาจากการสู้รบที่ปราสาทตาควายและปราสาทตาเมือนธม จ.สุรินทร์ ขณะที่ทหารไทยได้เฝ้าจับตาดูความเคลื่อนไหวของทหารกัมพูชาที่เสริมกำลังทหารเพิ่มเติมที่เขาพระวิหารอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ทหารกัมพูชายังได้นำเด็ก ผู้หญิง เข้ามาอาศัยอยู่ที่บริเวณเชิงเขาพระวิหารเพิ่มเติมมากขึ้นด้วย มีลักษณะที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ทหารกัมพูชาต้องการนำเอาโล่มนุษย์มาเป็นกำแพงกั้นหรือเป็นโล่กำบังระหว่างทหารกัมพูชากับทหารไทย เนื่องจากกฎการปะทะกันของทหารจะไม่มีการโจมตีหรือทำร้ายพลเรือนอย่างเด็ดขาด

ศรีสะเกษติวเข้ม ชรบ.ดูแลชายแดน

ขณะเดียวกันที่หมู่บ้านทุ่งยาว บ้านโดนเอาว์ ต.ละลาย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งหมู่บ้านจามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ห่างจากชายแดนในระยะทางตรงเพียง 8 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ในวิถีกระสุนหากมีการยิงสู้รบกัน ทางปกครองจังหวัดศรีสะเกษ ได้ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ นอกจากหมู่บ้านภูมิชรอล เนื่องจากเมื่อครั้งยิงสู้รบกันครั้งก่อนก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

แต่ ณ วันนี้ปกครองจังหวัดได้ทยอยสร้างอบรมราษฎรอาสาสมัครให้เข้ามาเป็นชุด ชรบ.คือ ชุดอาสาสมัครรักษาหมู่บ้านตามแนวชายแดน เป็นการคัดเลือกประชาชนในหมู่บ้านที่มีจิตอาสาเข้ามาฝึกการช่วยตนเอง ครอบครัว และเพื่อนบ้านหากเกิดเหตุร้าย ขณะเดียวกันก็ให้เฝ้ารักษา ตรวจสอบหลุมหลบภัยเพื่อให้พร้อมใช้งานได้ตลอด นอกจากนั้นยังต้องพาเพื่อนบ้าน หรือครอบครัวตนเองมารู้จัก และการเข้าหลุมหลบภัยไว้ก่อนด้วย

นายวันชัย นามเท้า หนึ่งในสมาชิกชุด ชรบ.บ้านทุ่งยาว ต.ละลาย เปิดเผยว่า นับตั้งเกิดเหตุยิงปะทะกันของทหารไทยกับกัมพูชา ชาวบ้านอพยพไปอาศัยยังบ้านญาติตนเอง และที่ศูนย์อพยพ จากนั้นมาชาวบ้านนอนหลับไม่สนิท เพราะตามข่าวที่ออกมาไทยกับกัมพูชา ยังเจรจากันคนละฝ่าย ทหารทั้งสองประเทศยังคงตรึงกำลังเต็มชายแดน ตนจึงอาสาเข้ามาเป็นชุด ชรบ.เพื่ออย่างน้อยจะได้ดูแลครอบครัวญาติๆ ของครอบครัวตนเอง และครอบครัวของภรรยา ได้เข้าใจการเอาตัวรอด การพาครอบครัวหลบหนีเข้าหลุมหลบภัย

ที่สำคัญต้องรับฟังคำสั่งข่าวที่ชัดเจนจากอำเภอ จากผู้นำหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านก่อน เพราะเคยมีข่าวลวงมาตลอดในการยิงปะทะกันรอบใหม่ ซึ่งทุกวันนี้ชาวบ้านยังไม่มีความวางใจในความปลอดภัย เพราะเชื่อว่าหากผู้นำไทย กับกัมพูชา ยังไม่มีการถอดทหารออกไป หรือเจรจาหยุดยิงจริงๆ ไม่ได้ก็อาจจะเกิดความไม่สงบขึ้นได้

อย่างไรก็ดี ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดน แม้ว่าจะหวั่นในการเกิดสงคราม แต่ก็ได้เร่งรัดออกไปทำไร่ทำนาตั้งแต่เช้า และเร่งรีบกลับเข้ามายังหมู่บ้านก่อนค่ำมืด ทั้งการกรีดยางก็ต้องรอให้สว่างเสียก่อน จากเดิมที่เคยกรีดยางตั้งแต่ตีสองตีสาม แต่ต้องเปลี่ยนใหม่เพราะความปลอดภัย ส่วนไร่นาที่อยู่ใกล้ชิดชายแดนต้องละทิ้งไปก่อนในช่วงนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น