xs
xsm
sm
md
lg

จับผิดเลือกตั้ง-เวทีมรดกโลก ซัดการเมืองไทย-เขมร ประโยชน์"มาร์ค-ฮุนเซ็น"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“ปธ.อาเซียน” จัดเจรจาทวิภาคีปัญหาขัดแย้งชายแดนไทย-เขมรอย่างเป็นทางการ 7 พ.ค.นี้ พธม.จับผิดกำหนดเวลา เลือกตั้ง-เวทีมรดกโลก ซัดการเมือง2ประเทศได้สมประโยชน์ เหมือนขบวนการสมรู้ร่วมคิด ยกแผ่นดินไทยให้เขมร“สุรเกียรติ์”โผล่!เตือนทีมสู้คดีพระวิหาร อย่าให้เกิดจุดบกพร่อง ย้ำ“ผู้กำหนดนโยบาย” ให้ระวังคำพูด

วานนี้(5 พ.ค.)นายมาร์ตี นาตาเลกาวา รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน เปิดเผยว่า ตนจะมีการเจรจาแบบทวิภาคีกับไทยและกัมพูชาแล้ว ในการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมอาเซียนในวันพรุ่งนี้ จะมีการนำเรื่องความขัดแย้งบริเวณพรมแดนไทยกับกัมพูชามาหารือกันอย่างเป็นทางการด้วย

“การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียน ในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย จะมีการนำเรื่องความขัดแย้งบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา เข้ามาหารือกันอย่างเป็นทางการ”

**แฉเล่ห์เขมรร้องขอขยายความ"พื้นที่พระวิหาร"

รายงานข่าวแจ้งว่า ในหนังสือคำร้องของกัมพูชาที่ยื่นต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) เมื่อวันที่ 28 เมย. ที่ผ่านมานั้น ได้ร้องขอต่อศาลโลกใน 2 ส่วน คือ การขยายความเพื่อให้ทราบถึงบริเวณพื้นที่ปราสาทพระวิหาร หลังจากที่ศาลโลกมีคำตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา และการร้องให้ศาลโลกออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวในพื้นที่ดังกล่าว โดยระบุให้ไทยงดกิจการใดๆ ทางการทหารในพื้นที่นั้น ทั้งนี้ ในหนังสือคำร้องของกัมพูชาต่อศาลโลกฉบับดังกล่าว ในตอนท้ายได้อ้างเหตุผลที่นำไปสู่ขอเรียกร้อง โดยอ้างเหตุการณ์สู้รบรุนแรงขึ้นที่ชายแดนด้านปราสาทตาเมือน และปราสาทตาควาย ในวันที่ 22 เม.ย. 2554 ลงนามโดย ฮอร์ นัม ฮง รัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชา ลงนามวันที่ 20 เม.ย. 2554

แหล่งข่าวกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า เรื่องนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า มีการร่างหนังสือคำร้องต่อศาลโลกไว้ก่อนล่วงหน้า ก่อนที่เหตุการณ์การปะทะบริเวณชายแดนด้านปราสาทตาเมือน และปราสาทตาควายจะเกิดขึ้น เหมือนกับการล่วงรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอนาคต และเชื่อว่า หลายประเทศที่ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งพื้นที่ปราสาทพระวิหารมาโดยตลอด จะเห็นว่า มีเหตุการณ์ที่ส่อพิรุธและเห็นถึงเจตนาของกัมพูชา ที่ดำเนินการใดๆ ก็ได้เพียงเพื่อผลประโยชน์ของประเทศตน โดยไม่ได้คำนึงถึงประชาชนชายแดนไทย-กัมพูชาที่เสียชีวิต บาดเจ็บ ตลอดจนบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ปะทะในเหตุการณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม นับได้ว่า กัมพูชาตกม้าตายซ้ำเป็นครั้งที่สอง หลังจากครั้งแรกที่แม่ทัพฝ่ายกัมพูชา ได้โทรศัพท์มาขอเจรจายุติยิงล่วงหน้า ทั้งทีในช่วงเวลานั้นยังไม่เกิดปะทะกันขึ้น โดยขอเรียกร้องให้กัมพูชาหยุดการกระทำเป็นการกล่าวโทษที่จะส่อให้เห็นถึงเจตนาให้ร้ายประเทศไทย

**เตือนผู้กำหนดนโยบายระวังคำพูด

นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้ความเห็นกรณีรัฐบาลกัมพูชายื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือไอซีเจ (International Court of Justice-ICJ) หรือศาลโลก ขอให้ตีความคำพิพากษาคดีประสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 ว่า รัฐบาลไทยต้องเตรียมตัว เนื่องจากไทยอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการตีความ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรรอบปราสาทพระวิหาร

สิ่งที่รัฐบาลไทยต้องทำเพื่อเตรียมตัวในคดีปราสาทพระวิหารนั่นคือ ผู้กำหนดนโยบายที่ออกมาพูดเรื่องเส้นเขตแดนไทยกัมพูชา ปราสาทพระวิหาร หรือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ควรนำคำพูด การแสดงความเห็นต่อเรื่องเหล่านี้มาศึกษาว่ามีจุดบกพร่องหรือพลาดพลั้งตรงไหนบ้าง เพราะมีการพูดในหลายระดับตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไปจนถึงผู้นำกองทัพ

**อย่างมองข้ามเจรจาพหุภาคี

นายสุรเกียรติ์ยังให้ความเห็นว่า การที่รัฐบาลไทยยืนกรานต้องเจรจากับกัมพูชาในระดับทวิภาคีเท่านั้น ทำให้มองข้ามผ่านยุทธศาสตร์อื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือยุทธศาสตร์พหุภาคี ทั้งด้านอาเซียน สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เนื่องจากไทยจะต้องมีเพื่อนในเวทีเหล่านี้เพื่อสนับสนุนในเรื่องอื่นๆ จุดที่น่าสังเกตคือ เวลานี้ประชาคมอาเซียนสับสนกับการแสดงจุดยืนของไทย เนื่องจากไม่มีความชัดเจน อาทิ ในที่ประชุมอาเซียน นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยอมรับมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ที่ให้คณะผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์ชายแดนไทยกัมพูชา แต่ในภายหลังไทยไม่ยอมรับคณะผู้สังเกตการณ์ชุดดังกล่าว และยืนกรานเจรจาในระดับทวิภาคี ทั้งที่ปัญหาเกิดขึ้นไปไกลเกินกว่าจะเจรจาเพียงเฉพาะไทยกัมพูชา

**เสนอเร่งทำข้อตกลงก่อนเจรจา

นายสุรเกียรติ์ กล่าวว่า ในระหว่างกำลังเกิดคดีในศาลโลก รัฐบาลไทยควรจะหาทางออกที่ดีกว่านี้ ด้วยการเจรจากับกัมพูชาเพื่อจัดการบริหารพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารร่วมกัน ทั้งสองฝ่ายร่วมทำข้อตกลงกำหนดให้ชัดเจนว่าพื้นที่บริเวณไหนควรเป็นแหล่งท่องเที่ยวของภูมิภาคอาเซียน ตรงไหนเป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นโรงแรม และแจ้งให้องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) รับทราบ ปัญหาการสู้รบชายแดนหรือปัญหาชุมชนกัมพูชาที่อยู่ในเขตพิพาทจะหมดไป

**“มาร์ค”รอดูท่าทีเขมรก่อนเจรจา

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการส่งคณะผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซีย มาบริเวณพื้นที่พิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชา ว่า จะมีข้อกำหนดที่เป็นเอกสาร แต่ในถ้อยคำต่างๆตรงนั้นไม่เป็นปัญหา แต่ทางกระทรวงการต่างประเทศได้หยิบยกกับอินโดนีเซียมาก่อนหน้านี้ว่า การจะดำเนินการนำผู้สังเกตการณ์เข้ามา ควรจะให้ทางกัมพูชานำทหารออกจากพื้นที่ 4.6 ตร.กม. รวมถึงประชาชนก็ควรจะออกจาพื้นที่ทั้งหมด เพราะว่าเป็นการละเมิดเอ็มโอยู

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางกัมพูชายอมรับข้อเสนอนี้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ยังไม่ทราบ เป็นเรื่องที่ทางอินโดนีเซีย ควรจะไปประสานกับกัมพูชา ซึ่งหากทางกัมพูชายังไม่มีการตอบรับก็จะยังไม่มีการลงนาม แต่ตัวเนื้อหาในทีโออาร์ ไม่ได้เป็นปัญหา ส่วนการนำเรื่องนี้จะนำไปพูดคุยในที่ประชุมอาเซียนหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับความคืบหน้าเนื้อหาของการพูดคุยระหว่างไทยกับอินโดนีเซีย และทางอินโดนีเซีย กับกัมพูชา

**ขึงขังต้องพ้นพื้นที่ก่อนอินโดฯเข้า

เมื่อถามว่า จากบรรยากาศในขณะนี้คิดว่ามีความเป็นไปได้อย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป้าหมายสุดท้ายคือ การจะไม่ให้มีเหตุการณ์ที่ปะทะกัน ซึ่งความจริงบริเวณที่จะมีผู้สังเกตการณ์เข้ามานั้น ก็ไม่ได้มีปัญหามา 2-3 เดือนแล้ว ยกเว้นในช่วงสั้นๆที่ตกใจเครื่องบินเท่านั้นเอง

เมื่อถามต่อว่า บทบาทของรัฐมนตรีอาเซียน ที่จะมีในการประชุมนั้นเป็น อย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า วันนี้ ( 5 พ.ค.) นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ จะมารายงานตน เพราะท่านพึ่งจะเดินทางกลับมาจากกรุงเฮก ส่วนแนวโน้มของเขมรจะเป็นอย่างไร ตนยังไม่ทราบ เพราะทางอินโดนีเซียเป็นฝ่ายไปคุย

เมื่อถามว่า ประเด็นที่จะนำไปชี้แจงกับรัฐมนตรีต่างประเทศในวงประชุมอาเซียน มีอะไรบ้าง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คงเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่า เราไม่ได้เป็นผู้สร้างปัญหานี้ขึ้นมา และเราก็สนับสนุนให้มีการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี และในข้อเท็จจริง คงหนีไม่พ้นที่ 2 ฝ่ายต้องมาพูดคุยกัน เมื่อถามว่า ขณะนี้ทางกัมพูชาขยายเรื่องไปถึงศาลโลกแล้ว จะยิ่งเป็นความชัดเจนให้นานาชาติเห็นภาพหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนหวังอย่างนั้น และเราก็จะลำดับอะไรหลายๆ อย่างให้เห็น ว่าการปะทะแต่ละครั้งเป็นความจงใจ ไม่ใช่อุบัติเหตุ ในแง่ของความจังหวะเวลา เพื่อให้สอดคล้องกับการนำเรื่องไปสู่ระดับสากล

**อ้างไม่มีปัญหากับเจรจาพหุภาคี

เมื่อถามว่า กรณีที่นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีต รมว.ต่างประเทศ ระบุว่า อยากให้ไทยอย่ามองข้ามกรอบพหุภาคีนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เราก็ไม่ได้มีปัญหา ตอนที่เขาไปสหประชาชาติ เราก็ไปชี้แจง ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ข้อเท็จริงที่เราต้องทำความเข้าใจกัน คือ เนื้อหาจริงๆ ที่เราตกลงกัน เป็นเรื่องของ 2 ฝ่าย ตนได้ถามว่า ฝ่ายที่ 3 เขาจะทำอะไร จริงๆ อินโดนีเซีย เขาก็ยืนยันท่าทีอย่างนี้มาอย่างชัดเจน มีการเปรียบเทียบให้กระบวนการพูดคุยมันไปได้ เขาก็เปรียบเหมือนกับรถที่สตาร์ทไม่ติด จะมาช่วยเข็นให้มันสตาร์ทติด เขาก็ว่ากันไปในรถ อันนี้ก็เป็นแนวทางซึ่งเราก็เห็นว่าเหมาะสม หรือการส่งผู้สังเกตการณ์มาก็ไม่ได้มายุ่งเกี่ยวอะไรกับข้อพิพาท แต่ต้องการที่จะมาช่วยให้เป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการปะทะกัน

**รอประเมินมรดกโลก-ศาลโลก

เมื่อถามว่า ดูแล้วจะมีการปะทะกันบริเวณชายแดนอีกหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงต้องประเมินดู เพราะว่ายังมีเรื่องของมรดกโลก และอื่นๆ อีก เมื่อถามว่าในเรื่องของศาลโลก บางส่วนมีการเสนอว่าทำไมเราไม่ใช้วิธีการไม่ยอมรับ หรือตัดอำนาจของศาลโลกไปเลย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สอบถามกันมากในเรื่องนี้ และคำชี้แจงของทุกฝ่าย ก็ยืนยันว่าเราไม่ไปต่อสู้คดี ก็ไม่มีผลทำให้ศาลพิจารณาคดีไม่ได้ และผลเนื่องจากไม่ได้เป็นคดีใหม่ เราไม่ได้รับอำนาจศาล ไม่ได้เป็นภาค แต่เนื่องจากเป็นการตีความคำพิพากษาเดิม ทุกคนจึงบอกว่า เป็นการผูกพันเราในฐานะที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติ

เมื่อถามว่า จุดที่เราเคยท้าจะกลายเป็นจุดเสียเปรียบในการต่อสู้อีกรอบหนึ่งหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็มองได้ทั้งสองมุม ในแง่มุมกฎหมาย ตนไม่ขอพูดในเนื้อหาสาระ เพราะว่าไม่อยากให้กระทบรูปคดี แต่ว่ามีหลายแง่มุมที่เราต่อสู้แน่นอน เมื่อถามว่ามีความจำเป็นต้องไปปรึกษา ดร.สมปอง สุจริตกุล ผู้แทนไทยในคณะกรรมการที่ 6 (กฎหมาย) หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนได้กำชับกระทรวงต่างประเทศว่า การปรึกษาหารือ รับฟังความคิดเห็นของทุกคนที่มีความเห็นนั้น ขอให้ทำให้มากที่สุด แต่คงไม่จำเป็นต้องทำในลักษณะที่เป็นทางการ ตนคิดว่าก็คงดำเนินการ และในวันนี้จะพูดคุยกันกับกระทรวงการต่างประเทศ

"อยากให้ทุกคนผนึกกำลังกัน และผมได้เคยเรียกร้องหลายครั้งว่า การตีความอะไร หลายอย่างที่ไปพูดกันระวังอย่าให้มันย้อนกลับมาทำลายตัวเรา ขอให้ยืนหยัดสิ่งที่เป็นการปกป้องประโยชน์ของประเทศ " นายกรัฐมนตรี กล่าว

**จับผิดเทพเทือกหวังผลทางการเมือง

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงการที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ออกมาระบุว่า ไม่สามารถระบุวันเลือกตั้งได้ทันวันที่ 26 มิ.ย.นั้น ถือว่าเป็นนัยที่เชื่อมกับการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 35 ที่กำหนดจัดขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 19 - 29 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ ซึ่งจะมีการพิจารณาแผนจัดการพื้นที่โดยรอบมรดกโลกปราสาทเขาพระวิหาร โดยเจตนาเดิมของรัฐบาลนั้นต้องการให้มีการเลือกตั้งก่อนที่จะทราบผลการพิจารณาแผนจัดการพื้นที่มรดกโลกดังกล่าว

ดังนั้นเมื่อระยะเวลาเลยกำหนดเดิมของรัฐบาล ประชาชนก็จะได้รู้ความจริงว่า แผนจัดการพื้นที่ปราสาทพระวิหารจะได้รับการอนุมัติหรือไม่ ซึ่งหากมีการอนุมัติรัฐบาลก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว เพราะเท่ากับว่าทำให้ประเทศต้องสูญเสียดินแดนอย่างเป็นทางการ ผ่านคณะกรรมการมรดกโลก ที่พันธมิตรฯ เสนอให้ถอนตัวออกจากการเป็นภาคีอนุสัญญามานานแล้ว เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทย ไม่เห็นด้วยกับแผนบริหารจัดการพื้นที่ดังกล่าว เพราะมีการนำแผ่นดินไทยไปผนวก โดยที่ไม่ได้รับความยินยอมจากฝ่ายไทย ทั้งยังอ้างแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนที่เราไม่ยอมรับอีกด้วย

**การเมือง2ประเทศขบวนการสมรู้

“ขณะนี้มีขบวนการบางอย่างที่ต้องการให้แผ่นดินไทยตกเป็นของกัมพูชา ทั้งการไม่ใช้ทหารผลักดันกัมพูชาออกจากพื้นที่ และพยายามเดินหน้าเชิญผู้สังเกตการณ์ของอินโดนีเซียเข้ามาในพื้นที่ รวมไปถึงความพยายามให้ฝ่ายไทยยอมรับอำนาจของศาลโลกอีกครั้ง โดยตั้งข้อสังเกตว่าขบวนการดังกล่าวเป็นการสมรู้ร่วมคิดของนักการเมืองของทั้ง 2 ประเทศหรือไม่" นายปานเทพ กล่าว

**กห.ค้านข้อตกลงผู้สังเกตการณ์อินโดฯ

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี( ครม.)เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม นายธีรกุล นิยม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เสนอร่างข้อตกลงการส่งผู้สังเกตการณ์ของประเทศอินโดนีเซีย เข้าไปสังเกตการณ์ในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ชายแดนไทย-กัมพูชา

ซึ่งในระหว่างที่นายธีรกุลชี้แจงข้อเสนอนั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทักทวงอย่างขึงขัง โดยระบุว่า จะให้ ครม.อนุมัติหรือเซ็นอะไรไม่ได้ หลักการของเราอย่างเดียวคือกัมพูชาต้องออกไปจากพื้นที่พิพาทให้หมดก่อน และที่ผ่านมานายมาร์ตี้ นาตาเลกาวา ประธานอาเซียน ไม่เคยยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรว่ากัมพูชารับรู้เงื่อนไขของไทย

ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นด้วยกับแนวคิดที่ต้องให้ทางกัมพูชาออกจากพื้นที่ก่อน ทำให้ ครม.ไม่เห็นชอบข้อตกลงดังกล่าว แต่หากนายมาร์ตี้สามารถทำหนังสือยืนยันว่ากัมพูชาออกจากพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ก็จะเห็นชอบร่างข้อตกลงฉบับนี้

**เพิ่มหลุมหลบภัยปชช.มั่นใจมากขึ้น

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สถานการณ์ ชายแดนไทย กัมพูชา คลี่คลายลงแล้ว ส่วนตัวเชื่อว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง อย่างไรก็ดีในส่วนของรัฐบาล นอกเหนือจากการดูแลซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชน ขณะนี้รัฐบาลได้มีการเร่งสร้างหลุมหลบภัย ไม่ว่าจะเป็น จ.อุบลราชธานี จ. ศรีสะเกษ จ.สุรินทร์ จ.บุรีรัมย์ ถ้าเรามีหลุมหลบภัยตลอดแนวชายแดนไทย กัมพูชา ประชาชนก็ความอุ่นใจมากขึ้น ถ้าเมื่อใดก็ตามที่มีเหตุการณ์ปะทะขึ้นก็หลบภัยได้ทันที เขาจะได้มีที่พักพิงในเบื้องต้นที่ใกล้บ้านเขา และที่สามารถสร้างความปลอดภัยได้ รัฐบาลจึงเร่งสร้างเรื่องนี้ก่อนเป็นเรื่องแรก เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและสร้างความมั่นใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น