ASTVผู้จัดการรายวัน - “มาร์ค” บินถกอาเซียน เผยยังไม่มีทวิภาคีกับ “ฮุนเซน” เชื่อแล้วแต่เวทีอาเซียนจะหยิบยกปัญหา “เฒ่าฮอร์”ไม่รับข้อเรียกร้องไทย ให้ถอนทหารออกจากปราสาทพระวิหาร อ้างไทยไม่จริงใจ ส่วนสถานการณ์ชายแดน ด้าน “ตาเมือนธม” ยังไม่น่าวางใจ เผยพบทหารเขมรเคลื่อนไหวกำลังรอบใหม่อาจเกิดปะทะตลอดเวลา เผยศาลโลกใช้เวลา 9 เดือนพิจารณาคดีเขาพระวิหาร คาด ก.พ. 55 รู้ผล
ที่ทำเนียบรัฐบาล วานนี้(6 พ.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ ก่อนการไปประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 18 ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 7-8 พ.ค. ว่าจะมีการพูดคุยในระดับทวิภาคกับ สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา หรือไม่ว่า ขณะนี้ยังไม่มีกำหนดในการพบทวิภาคีกับฮุนเซน แต่มีหลายพูดนำที่จะไปพูดคุย และขึ้นอยู่กับที่ประชุมจะหยิบยกเรื่องกัมพูชา -ไทย ขึ้นมาหรือไม่ อย่างไร ก็จะดูตามสถานการณ์และความเหมาะสม ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งมา
กษิตประชุมอาเซียนพบ “มาร์ตี้-เฒ่าฮอร์”
ที่สนามบินสุวรรณภูมิ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว ก่อนเดินทางเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ระหว่างวันที่ 6-8 พ.ค. นี้ ที่ประเทศอินโดนีเซีย ว่า จะมีการพูดคุยถึงเรื่องปัญหาระหว่างไทย-กัมพูชา เป็นพิเศษหรือไม่ว่า คงไม่ถึงขั้นนั้น เพราะยังมีเรื่องของตะวันออกกลาง เรื่องการก่อการร้าย เรื่องโจรสลัด เรื่องปัญหาทะเลจีนตอนใต้ เรื่องเกาหลี และเรื่องภัยพิบัติต่างๆ อีกมากมาย ที่ต้องพูดคุยกัน อีกทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกในประเด็นปัญหาระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา(เจบีซี) ที่เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย ที่ผ่านมา คงได้มีการรายงานให้ที่ประชุมรับทราบถึงการบริหารจัดการแล้ว อีกทั้ง ยังมีเรื่องข้อกำหนดของทีโออาร์ว่าด้วยเรื่องคณะผู้สังเกตการณ์อีกด้วย
สำหรับการพูดคุยในครั้งนี้ไทยมีความมั่นใจมากน้อยเพียงใดว่า สถานการณ์ระหว่างไทย-กัมพูชาจะดีขึ้น นายกษิต กล่าวว่า ไม่ได้อยู่ที่ความมั่นใจ แต่อยู่ที่นโยบายของรัฐบาลไทย ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งตลอดที่ผ่านมาไทยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในทุกด้านต่อกัมพูชา ทั้งในกรอบทวิภาคี และกรอบภูมิภาค รวมถึงไทย ก็ระบุมาโดยตลอดว่า พร้อมที่จะเจรจาในกรอบทวิภาคีที่มีอยู่ทั้ง เจซี จีบีซี อาร์บีซี อีกทั้ง ไทยก็ไม่ได้เป็นผู้ที่นำเรื่องนี้ ไปฟ้องคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นเอสซี) และศาลโลกด้วย ซึ่งกัมพูชาเป็นผู้ดำเนินการเรื่องดังกล่าวทั้งสิ้น เพื่อหวังที่จะขยายความขัดแย้งจากระดับทวิภาคีไปสู่ประชาคมอาเซียน และประชาคมโลก อย่างไรก็ตาม ไทยมุ่งหวังว่า ผู้นำกัมพูชา จะกลับมาสู่โต๊ะเจรจา เพื่อมาร่วมกันสร้างความสัมพันธ์ความเป็นปึกแผ่นในประชาคมอาเซียนโดยที่ไม่สร้างปัญหาให้ประชาคมโลกอีกด้วย
เขมรลั่น! ไม่ถอนทหาร อ้างไทยไม่จริงใจ
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า นายฮอร์ นัม ฮง รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา เปิดเผยหลังจากการหารือกับนายมาร์ตี นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะประธานหมุนเวียนอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตา ว่า ทางกัมพูชาจะไม่ยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของฝ่ายไทย ที่พยายามจะให้มีการถอนกำลังทหารออกจากจุดพิพาทเขาพระวิหารอย่างเด็ดขาด พร้อมกับกล่าวหาว่า ประเทศไทยไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหาความขัดแย้งของทั้ง 2 ประเทศ
ขณะที่นายมาร์ตี กล่าวว่า กัมพูชานั้นยอมที่จะรับให้มีการส่งผู้สังเกตการณ์ไปยังพื้นที่ของตนแล้ว แต่ฝ่ายไทยนั้นเคยยืนยันว่า ต้องการให้กัมพูชาถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาทก่อนที่จะมีการส่งผู้สังเกตการณ์เข้าพื้นที่
สำหรับอินโดนีเซีย ในฐานะประธานหมุนเวียนของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ได้พยายามไกล่เกลี่ยให้มีการหยุดยิง และนำผู้สังเกตการณ์เข้าไปยังพื้นที่พิพาทระหว่าง 2 ฝ่าย แต่ยังไม่บรรลุผล ซึ่งจากการปะทะครั้งล่าสุดทำให้มีทหารและพลเรือนเสียชีวิตไปถึง 18 ราย โดยจะมีการนำปัญหาพิพาทดังกล่าวหารือในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคมนี้
ศาลโลกพิจารณา9เดือน คาดรู้ผล ก.พ.55
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในกรณีที่ประเทศกัมพูชาได้ยื่นเรื่องต่อศาลโลกเพื่อขอให้ขยายความ พื้นที่ปราสาทพระวิหาร ว่ามีขนาดเท่าไหร่ ซึ่งหลังจากนี้ศาลจะให้คู้กรณีส่งเอกสารมายังศาลโลก และจะใช้เวลาในการพิจารณาคดีเป็นเวลา 9 เดือน โดยคาดว่า เดือน ก.พ. ปี 2555 น่าจะรู้ผลในส่วนนี้
ขณะที กรณีที่กัมพูชาร้องให้คุ้มครองชั่วคราว ซึ่งเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก จะไปชี้แจงด้วยวาจาในวันที่ 30-31 พ.ค. นี้ ศาลก็จะใช้เวลา อีกสามสัปดาห์พิจารณาและจะทราบคำตอบว่าศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่
ผบ.ทบ.สั่ง ทภ.2 รวมหลักฐานส่งศาลโลก
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงการรวบรวมข้อมูลบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อยืนยันต่อศาลโลกว่า คงเป็นเรื่องของกองทัพภาคที่ 2 ที่จะดำเนินการ ได้สั่งการตั้งแต่แรกว่า เขาต้องมีการบันทึกไว้ตลอดว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร นโยบายกองทัพบกว่าอย่างไร เวลาไหนเกิดการยิงบ้าง ยิงด้วยกระสุนอะไร เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ในส่วนของกองทัพบก ก็ต้องบันทึกคำสั่งการทั้งหมดที่ได้สั่งการลงไป เช่นเดียวกัน เหมือนเหตุการณ์เดือน เม.ย.-พ.ค.53ที่ชี้แจงได้หมด เรื่องชายแดนไทย-กัมพูชา ต้องนำหลักฐานมาพูดกัน เอามันอย่างเดียวไม่ได้ เลิกรบกันแล้วมันจะหนัก “ผมไม่ได้กลัวใครอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าหลังจากนี้ต้องเจรจา และ นำหลักฐานมาพูดคุยกัน ก็ว่ากันไป ทหารมีหน้าที่ปกป้องรักษาเขตแดนตามที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย”
ชายแดนสุรินทร์ไม่น่าวางใจ
ผู้สื่อข่าวว่าสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ด้าน อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ว่า บริเวณบ้านหนองคันนาสามัคคี ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก เจ้าหน้าที่ทหารไทยได้ตั้ง ด่านตรวจการณ์และนำรั้วลวดหนามมาปิดกั้นเส้นทางเข้าไปยังปราสาทตาเมือนธม ชายแดนไทย-กัมพูชา ต.ตาเมียง อ.พนมดงรัก อย่างเข้มงวด โดยยังไม่มีการอนุญาตให้ประชาชน รวมทั้งผู้สื่อข่าว เดินทางขึ้นไปยังบริเวณปราสาทตาเมือนธม อย่างเด็ดขาด
โดยแจ้งว่า ขณะนี้ พ.อ.เนี๊ยะ วงศ์ รองผู้บัญชาการและเสนาธิการ กองพลน้อย ทหารราบ ที่ 42 ทหารภูมิภาคที่ 4 กัมพูชา ได้สั่งการให้ทหารกัมพูชาในสังกัดเตรียมความพร้อม ในที่ตั้งตลอดเวลา เนื่องจากเห็นทหารไทยนำลวดหนาม ไปปิดกั้น ที่บริเวณทางขึ้นปราสาทตาเมือนธม ด้านฝั่งประเทศกัมพูชา ได้แสดงความไม่พอใจ จึงทำให้ขณะนี้ทหารไทย ยังไม่ไว้วางใจต่อสถานการณ์ชายแดนดังกล่าว
พร้อมทั้งได้แจ้งเตือนประชาชนชาวบ้านหนองคันนาสามัคคี อย่าเพิ่งออกไป ทำไร่มันสำปะหลัง และทำสวนยาพาราในช่วงนี้ เพราะอาจได้รับอันตรายจากกระสุนปืนของทหารกัมพูชา หากมีการปะทะกันเกิดขึ้น เนื่องจากทหารกัมพูชา มีความเคลื่อนไหว ในรอบใหม่อาจเกิดการปะทะกันได้ตลอดเวลา
อย่างไรก็ตาม ประชาชนไทยตามหมู่บ้านชายแดน ได้เชื่อฟังทหาร ไม่ได้ออกไปทำไร่ ทำสวน ต่างพากันอยู่แต่ในหมู่บ้าน เพื่อรอฝ่ายทหารประเมินสถานการณ์ ในแต่ละวัน ซึ่งหลายคนพากันบ่นว่า แม้จะไม่มีการปะทะกันของทหารไทยกับทหารกัมพูชาแล้วแต่ชาวบ้านออกไปทำสวน ทำไร่ไม่ได้ ต้องคอยระวังอยู่ตลอดเวลา ไม่ทราบว่าวันไหนสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติอย่างแท้จริงและประชาชนสามารถประกอบอาชีพทำมาหากินได้ตามปกติเสียที
ขณะที่ทหารไทย ยังคงระดมกำลังขนกระสอบทราย ขึ้นรถบรรทุก เพื่อนำไปทำบังเกอร์ ตามแนวชายแดนด้านปราสาทตาเมือนธม เพิ่มอย่างต่อเนื่องทุกวัน เพราะยังไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในขณะนี้ และมีกระแสข่าวระบุว่า หากการประชุมอาเซียนระหว่างวันที่ 7-8 พ.ค.นี้ ที่ประเทศอินโดนีเซีย รัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา ไม่สามารถเจรจาหาข้อยุติกรณีปัญหา ปราสาทพระวิหาร ด้าน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษได้ อาจทำให้สถานการณ์ชายแดนด้าน จ.สุรินทร์ ตึงเครียดขึ้นมาอีกครั้ง
แห่ดูซากจรวดBM21กว่า100ลูก
วันเดียวกันมีบรรดาประชาชนและข้าราชการ จำนวนมากพากันเดินทางไปดู ชิ้นส่วนลูกระเบิดหัวจรวด ชนิด BM - 21 ของทหารกัมพูชา กว่า 100 ลูก ที่เจ้าหน้าที่ทหารชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด EOD กองทัพภาคที่ 2 (ทภ.2) ได้เก็บกู้นำมากองเก็บไว้ ที่โรงเรียนบ้านรุน ต.บักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านชายแดนไทยที่ตั้งอยู่ใกล้แนวปะทะระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชา บริเวณชายแดนด้านปราสาทตาควาย มากที่สุด พร้อมกับได้พากันถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกกันอย่างคึกคักด้วย
ทั้งนี้ ลูกจรวดและเศษชิ้นส่วนลูกจรวด BM -21 จำนวนมาก ดังกล่าว ทหารกัมพูชาได้ยิงเข้ามาตกภายในหมู่บ้าน ไร่อ้อย ไร่มันสำปะลัง และสวนยางพาราของประชาชนในหมู่บ้านต่างๆในเขตพื้นที่ ต.บักได ด้านปราสาตาควาย และ ต.ตาเมียง ด้านปราสาทตาเมือนธม อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ช่วงระหว่างที่มีการสู้รบกันอย่างรุนแรงตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 เม.ย. เป็นต้นมา
โดยเจ้าหน้าที่ ทหารหน่วย EOD กองทัพภาคที่ 2 นำมาเก็บกองไว้ที่โรงเรียนบ้านรุณ ม.1 ต.บักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานที่ทหารกัมพูชายิงเข้ามาในเขตบ้านเรือนประชาชน จนบ้านเรือนหลายหลังได้รับความเสียหายยับเยินจำนวนหลายสิบหลัง สัตว์เลี้ยงล้มตาย และมีประชาชนเสียชีวิต 1 ราย รวมทั้งบาดเจ็บอีกหลายราย
เผยเล่ห์เขมรรุกรานไทยจนฟ้องศาลโลก
ที่กรุงจากาต้า ประเทศอินโดนีเซีย นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางมาร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่กรุงจากาต้า ประเทศอินโดนีเซีย และได้ถือโอกาสนี้หารือลับกับนายมาร์ตี้ นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย พร้อมทั้งชี้แจงให้นายมาร์ตี้ทราบถึงพัฒนาการที่ผ่านมา ว่ากัมพูชาได้กระทำการรุกรานไทยอย่างไรบ้าง จนที่สุดได้มีการยื่นเรื่องให้ศาลโลกตีความคำพิพากษากรณีปราสาทพระวิหาร ปี 2505 เพื่อขอความชัดเจนในเรื่องเขตแดน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการดำเนินการของฝ่ายกัมพูชา มีการวางแผนอย่างเป็นกระบวนการ เพื่อสร้างบรรยากาศให้นำไปสู่การยื่นขอตีความในศาลโลก พร้อมแสดงความยินดีที่อินโดนีเซียระบุว่าอยากให้มีการประชุมจีบีซีโดยเร็ว เพราะเป็นสิ่งที่ไทยเรียกร้องมาตลอดว่าอยากให้กัมพูชากลับสู่โต๊ะเจรจา ทวิภาคี
นายธานี กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของทีโออาร์นั้น ถือว่าได้ข้อยุติแล้วโดยไทยเห็นชอบในหลักการ คณะผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซีย 30 คน แบ่งเป็นฝั่งละ 15 คน จะเข้ามาประจำการใน 7 จุด โดยประจำในฝั่งกัมพูชา 3 จุด และฝั่งไทย 4 จุด ในส่วนของไทยจะอยู่ในพื้นที่บ้านภูมิซรอล อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ อย่างไรก็ดีแม้จะเห็นชอบในรายละเอียดทั้งหมดแต่ไทยจะยังไม่ตอบรับอย่างเป็นทางการ จนกว่าจะมั่นใจว่าทางฝ่ายกัมพูชาจะถอนทหารออกจากปราสาท รวมถึงการย้ายคนออกจากวัด ชุมชน และตลาด ซึ่งเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศเสียก่อน
เมื่อถามว่ากัมพูชายืนยันแล้วว่าจะไม่ทำตามเงื่อนไขฝ่ายไทย นายธานี กล่าวว่า เป็นสิ่งที่อินโดนีเซียต้องหารือกับกัมพูชาว่าจะทำอย่างไร ขณะนี้มีความเป็นไปได้สูงที่รัฐมนตรีต่างประเทศไทยและกัมพูชาอาจจะพบกันอย่างไม่เป็นทางการระหว่างการประชุม ทั้งนี้ เชื่อว่าปัญหาไทย-กัมพูชาไม่ใช่ประเด็นที่เป็นวาระของการประชุมฯ แต่หากมีการหยิบยกขึ้นหารือไทยก็พร้อมจะชี้แจงและให้ข้อมูล