xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 8-13 พ.ค.2554

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. “ในหลวง” โปรดเกล้าฯ ยุบสภาแล้ว ขณะที่การเมืองเริ่มเดือด “ประชา ประสพดี” ถูกกระหน่ำยิง รอดหวุดหวิด!
นายประชา ประสพดี ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย เปิดแถลงทั้งน้ำตากรณีที่ถูกประกบยิง(12 พ.ค.)
ความคืบหน้าเรื่องยุบสภา หลังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงก่อนเดินทางไปประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ประเทศอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 6 พ.ค.ว่า ได้นำ พ.ร.ฎ.ยุบสภาขึ้นทูลเกล้าฯ เรียบร้อยแล้ว และจะแถลงความคืบหน้าให้ทราบอีกครั้งในวันที่ 9 พ.ค. ปรากฏว่า เมื่อถึงกำหนด(9 พ.ค.) นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดแถลงว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตรา พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือวันที่ 10 พ.ค. และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 ก.ค. ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ ได้แถลงข่าวการยุบสภาผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย(ทีวีพูล) ในช่วงค่ำวันเดียวกันด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้าที่จะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ยุบสภา คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 3 ฉบับ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. ,ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ด้านคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้กำหนดเปิดรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อระหว่างวันที่ 19-23 พ.ค. โดยใช้สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น(ดินแดง) เป็นสถานที่รับสมัคร ส่วนวันที่ 24-28 พ.ค.จะเปิดรับสมัครเลือกตั้งแบบแบ่งเขต นอกจากนี้ยังกำหนดให้วันที่ 26 มิ.ย.เป็นวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า ก่อนเลือกตั้งจริงในวันที่ 3 ก.ค.

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เกรงว่าบทบาทหน้าที่ในตำแหน่งนายกฯ และคณะรัฐมนตรีจะกระทบต่อการหาเสียงเลือกตั้ง จึงได้เข้าหารือกับ กกต.เมื่อวันที่ 11 พ.ค. พร้อมยอมรับว่า ตอนนี้ไม่กล้ารับงานอะไร เพราะกลัวผิดกฎหมายเลือกตั้ง “เรียนตรงๆ ตอนนี้ผมไม่กล้าที่จะรับงานอะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นงานมอบนโยบาย หรือการไปร่วมงานแสดงวิสัยทัศน์ที่เป็นหน่วยงานอื่นจัดขึ้น เพราะจะติดเรื่องเวลาหรือเรื่องรับของอะไรหรือไม่...” ด้านนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.บอกว่า ส่วนตัวแล้วเห็นว่า ขณะนี้นายกฯ ยังเป็นนายกฯ อยู่ การปฏิบัติหน้าที่อะไรที่เคยทำก็ทำได้ปกติ แต่หากมุ่งไปในทางหาเสียงไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ตามปกติก็อาจถูกร้องเรียนได้ “ส่วนรถยนต์กันกระสุนที่เป็นข้อสงสัยว่าจะยังสามารถนำมาใช้ได้หรือไม่นั้น ผมเห็นว่าควรจะใช้ในเวลาราชการเท่านั้น แต่หากนอกเวลาราชการก็ควรใช้รถยนต์อื่น และแยกเป็นค่าใช้จ่ายของพรรค ซึ่งคงไม่มีปัญหา”

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลัง กกต.เตือนว่านายกฯ ไม่ควรใช้รถกันกระสุนของราชการระหว่างเดินทางไปหาเสียง ส่งผลให้นายอภิสิทธิ์ยุติการใช้รถกันกระสุนดังกล่าวทันที โดยเปลี่ยนมาใช้รถกันกระสุนส่วนตัวยี่ห้อเมอร์เซเดสเบนซ์ รุ่นเอส 500 ทะเบียน กท 654 นครปฐม ซึ่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ยืมเพื่อนมาให้นายอภิสิทธิ์ใช้แทนรถกันกระสุนของราชการ

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังมี พ.ร.ฎ.ยุบสภา การเมืองก็เริ่มเดือดขึ้นมาทันที เมื่อนายประชา ประสพดี อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.สมุทรปราการเขต 6 พรรคเพื่อไทย ได้ถูกคนร้ายประกบยิงบริเวณหน้าที่ทำการไปรษณีย์พระประแดง จ.สมุทรปราการ เมื่อคืนวันที่ 10 เม.ย. ขณะขับรถกลับบ้าน โดยคนร้ายได้ขับรถปิคอัพประกบแล้วใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 จ่อยิงในระยะกระชั้นชิด ซึ่งกระสุนเข้าที่กระจกด้านหน้าบริเวณคนขับ 6 แห่ง และบริเวณประตูรถอีก 3 แห่ง โชคดีที่นายประชารีบก้มหัวลงหลังได้ยินเสียงปืน จึงได้รับบาดเจ็บไม่มาก โดยกระสุนเข้าที่หัวไหล่ด้านซ้าย ส่วนที่ศีรษะด้านซ้ายแค่ถากๆ แต่มีสะเก็ดกระสุนปืนฝังอยู่ที่บริเวณหลังประมาณ 9 จุด

ทั้งนี้ นายประชา ได้เปิดแถลงข่าวทั้งน้ำตาขณะรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระรามเก้า(12 พ.ค.) โดยเชื่อว่า สาเหตุที่ถูกยิงครั้งนี้เกี่ยวกับเรื่องการเมืองแน่ เพราะตนไม่ได้มีปัญหาหรือขัดแย้งธุรกิจส่วนตัวอะไรกับใคร และขออโหสิกรรมให้กับคนที่ทำ พร้อมขอบคุณนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่มาเยี่ยมตนที่โรงพยาบาล พร้อมฝากนายกฯ ขอให้จับตัวคนร้ายให้ได้ นายประชา ยังเผยก่อนหน้าจะเปิดแถลง 1 วันด้วยว่า ตนรู้ว่าใครอยู่เบื้องหลังการลอบสังหารครั้งนี้ “ผมรู้ดีว่าใครอยู่เบื้องหลังการว่าจ้างมือปืนมายิงผม และได้ให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไปหมดแล้ว โดยก่อนหน้านี้มีลูกชายนักการเมืองคนหนึ่งพูดฝากมากับข้าราชการคนหนึ่งที่รู้จักผมว่า ถ้าประชาไม่ได้เป็น ส.ส.เมื่อไหร่ จะเอามือปืนมายิงแม่งเลย ซึ่งพอยุบสภาได้เพียง 2 วัน ผมก็โดนเลย อย่างไรก็ตาม อยากฝากถึงคนที่บงการสั่งฆ่าผมว่า ขออโหสิกรรมให้ ถ้าผมต้องตายลงจะไม่มีใครได้ประโยชน์ นอกจากคนบางคนจะได้เป็น ส.ส.แทนผม”

ด้านนายกรุง ศรีวิไล หรือนายนที สุทินเผือก อดีต ส.ส.สมุทรปราการ ที่ลาออกจากพรรคเพื่อไทยเพื่อไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย ได้ออกมาปฏิเสธว่า ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุลอบยิงนายประชา แต่อย่างใด

ส่วนที่มีการมองว่า ความพยายามลอบสังหารนายประชาอาจมาจากความขัดแย้งเรื่องการเมืองท้องถิ่นนั้น ปรากฏว่า นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม บุตรชายนายวัฒนา อัศวเหม ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) สมุทรปราการ ซึ่งถูกมองว่าอาจมีความขัดแย้งกับนายประชา ก็ได้เข้าเยี่ยมนายประชาที่โรงพยาบาลเช่นกัน ซึ่งนายประชา ได้ขอบคุณนายชนม์สวัสดิ์ที่มีไมตรีมาเยี่ยม พร้อมยืนยันว่า ตนและนายชนม์สวัสดิ์ไม่ได้มีอะไรต่อกัน เรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นก็ว่ากันไป แต่การเมืองระดับประเทศ แพ้ชนะตัดสินกันที่บัตรเลือกตั้ง

2. ศาล สั่งถอนประกัน “จตุพร-นิสิต” หลังปราศรัยส่อหมิ่นเบื้องสูง ด้าน “เสื้อแดง” ยัน เดินหน้าชุมนุม 19 พ.ค.!

นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีต ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.หลังศาลเพิกถอนประกัน(12 พ.ค.)
เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ได้นัดไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว 9 แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ประกอบด้วย นายวีระ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช. ,นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีต ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. ,นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ,นพ.เหวง โตจิราการ ,นายก่อแก้ว พิกุลทอง ,นายขวัญชัย สาราคำ หรือไพรพนา ,นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก ,นายนิสิต สินธุไพร ,และนายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย จำเลยในคดีร่วมกันก่อการร้าย หลังจากจำเลยทั้ง 9 คนได้ขึ้นเวทีปราศรัยเมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา ในงานครบรอบ 1 ปีเหตุการณ์สลายการชุมนุมบริเวณสี่แยกคอกวัว ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) และพนักงานอัยการเห็นว่าคำปราศรัยบางตอนหมิ่นเบื้องสูง จึงขอให้ศาลถอนประกันแกนนำ นปช.ทั้ง 9 คน ฐานขัดคำสั่งของศาลที่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว แต่ห้ามยุยงปลุกระดมหรือก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง

ทั้งนี้ ก่อนที่การไต่สวนจะเริ่มขึ้น นายจตุพรได้ขอให้ศาลจำหน่ายคำร้องในส่วนของ 8 แกนนำ นปช.ออกไป ให้เหลือเฉพาะตนเพียงคนเดียว เพราะบุคคลทั้ง 8 คนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ด้านศาลบอกว่าต้องรับฟังข้อเท็จจริงของทั้ง 2 ฝ่าย

สำหรับประเด็นที่นายจตุพรเบิกความต่อศาลนั้น นายจตุพรอ้างว่า คำปราศรัยที่ดีเอสไอถอดเทปออกมาและอัยการได้ส่งมอบต่อศาลนั้น ถูกตัดทอนออก ซึ่งแตกต่างจากเทปวิดีทัศน์ที่แกนนำ นปช.ได้มอบให้ศาล ขณะที่นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก 1 ใน 9 แกนนำ นปช.ที่ถูกยื่นถอนประกันด้วย เบิกความต่อศาลโดยอ้างว่า ตนปราศรัยโดยพูดในทำนองตลกขบขัน ไม่มีเจตนายุยงปลุกปั่นประชาชน ด้านศาลได้นัดคู่ความฟังคำสั่งคดีในวันที่ 12 พ.ค.

ซึ่งเมื่อถึงกำหนด(9 พ.ค.) ศาลมีความเห็นว่า พฤติกรรมของแกนนำ นปช.7 คน ไม่ผิดเงื่อนไขคำสั่งของศาล จึงไม่เป็นเหตุให้ต้องเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว แต่กรณีนายจตุพรและนายนิสิต ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโดยละเอียดแล้วเห็นว่า พฤติการณ์และคำพูดของจำเลยทั้งสองมีลักษณะส่อไปในทางที่อาจจะทำให้ประชาชนทั่วไปสับสนในข้อเท็จจริง จนถึงขั้นก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง นับว่าเป็นการก่อเหตุอันตรายและเป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร จึงมีคำสั่งเพิกถอนสัญญาประกันของนายจตุพรและนายนิสิต

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังรู้ผลว่าศาลถอนการประกันตัว นายจตุพรถึงกับมีสีหน้าเคร่งเครียด ที่จะต้องถูกควบคุมตัวในเรือนจำ เนื่องจากที่ผ่านมานายจตุพรใช้เอกสิทธิ ส.ส.คุ้มครอง ทำให้ได้รับการประกันตัว ไม่ต้องถูกคุมขังในเรือนจำเหมือนแกนนำ นปช.คนอื่นๆ ด้านนายนิสิต สินธุไพร ยอมรับว่า แกนนำ นปช.ไม่ได้เตรียมการรองรับกรณีถูกถอนประกันตัว เพราะเชื่อมั่นว่าศาลจะให้ประกันตัวต่อไปเหมือนที่ผ่านๆ มา

อย่างไรก็ตาม แม้ศาลจะมีคำสั่งถอนประกันนายจตุพรและนายนิสิต แต่นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความนายจตุพร ก็ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เงินสด 2 ล้านบาท เพื่อขอประกันตัวนายจตุพรและนายนิสิตอีกครั้ง โดยรับปากว่าพร้อมจะปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ หากได้รับการประกันตัว นอกจากนี้ยังอ้างความเป็น ส.ส.และอดีต ส.ส.หลายสมัย ประกอบกับกำลังจะมีการเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้นี้ จึงขอโอกาสในการปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง ด้านศาลพิเคราะห์แล้วมีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัวบุคคลทั้งสอง เนื่องจากเห็นว่าหากปล่อยตัวชั่วคราว อาจไปกระทำอันตรายอย่างอื่นอีก

หลังศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวนายจตุพรและนายนิสิต เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัวบุคคลทั้งสองไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยญาติจะไม่สามารถขอเยี่ยมบุคคลทั้งสองได้ระหว่างวันที่ 13-17 พ.ค. เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการ

ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. ยืนยันว่า แม้นายจตุพรและนายนิสิตจะถูกควบคุมตัว แต่การชุมนุมของคนเสื้อแดงในวันที่ 19 พ.ค.เพื่อรำลึกเหตุการณ์สลายการชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์จะยังมีขึ้นเหมือนเดิม เพราะแกนนำที่เหลือสามารถเคลื่อนไหวได้และไม่จำเป็นต้องปรับรูปแบบการปราศรัย เพราะทุกคนไม่มีพฤติการณ์ที่จะฝ่าฝืนเงื่อนไขการประกันตัว

ขณะที่พรรคเพื่อไทย นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรค ก็ยืนยันว่า พรรคจะยังคงส่งนายจตุพรลงสมัครรับเลือกตั้ง แม้เจ้าตัวจะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำก็ตาม เพราะเชื่อว่ากรมราชทัณฑ์จะอนุญาตให้นายจตุพรออกจากเรือนจำมาลงสมัครรับเลือกตั้งได้เช่นเดียวกับที่เคยอนุญาตให้นายก่อแก้ว พิกุลทอง ออกจากเรือนจำมาลงสมัครรับเลือกตั้งก่อนหน้านี้ นายปลอดประสพ ยังชี้ด้วยว่า การสั่งขังนายจตุพร จะทำให้คนเสื้อแดงออกมาเลือกพรรคเพื่อไทยอย่างถล่มทลายแน่นอน

3. ไทย-กัมพูชา ได้ข้อสรุป “โรดแมป”แก้ปัญหาพิพาท ก่อนไฟเขียวผู้สังเกตการณ์อินโดฯ เข้าพื้นที่ ด้าน “อภิสิทธิ์” ถาม “ฮุน เซน” สติวปิดหรือ!

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี หารือกับสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกฯ กัมพูชา โดยมีประธานาธิบดีอินโดนีเซียเป็นผู้ประสานงาน(8 พ.ค.)
ความคืบหน้ากรณีที่อินโดนีเซียจะส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามาในพื้นที่ 4.6 ตร.กม.รอบปราสาทพระวิหาร ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทที่ไทยและกัมพูชาต่างอ้างความเป็นเจ้าของ โดยไทยได้แสดงจุดยืนให้อินโดนีเซียทราบว่า ไทยพร้อมให้ผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์ แต่มีเงื่อนไขว่ากัมพูชาต้องถอนทหารออกจากพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ก่อน เพราะถือว่าละเมิดบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู)ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา พ.ศ.2543 แต่ฝ่ายกัมพูชายืนยันว่าจะไม่ถอนทหารออกจากพื้นที่ 4.6 ตร.กม.โดยอ้างว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นของกัมพูชา และพร้อมให้อินโดนีเซียส่งผู้สังเกตการณ์เข้าไปในพื้นที่นั้น

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ประเทศอินโดนีเซีย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งเดินทางไปร่วมประชุมด้วย ได้เปิดการหารือกับสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาอย่างไม่เป็นทางการ โดยมีนายสุศีโล บัมบัง ยุทโธโยโน ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน เป็นผู้ประสานงาน ซึ่งสมเด็จฯ ฮุน เซน เผยหลังหารือ โดยยืนยันว่า กัมพูชาตอบรับให้คณะผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียเข้าพื้นที่ 4.6 ตร.กม.รอบปราสาทพระวิหาร แต่กัมพูชาจะไม่ถอนทหารออกจากพื้นที่ตามที่ไทยเสนอ เพราะเป็นเรื่องที่รับไม่ได้

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็ยืนยันว่า ไทยไม่มีปัญหาที่ผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียจะเข้ามาสังเกตการณ์ในพื้นที่ 4.6 ตร.กม. แต่ปัญหาอยู่ที่ทหารกัมพูชายังอยู่ในพื้นที่ ซึ่งได้เกิดเหตุการณ์ปะทะกันมา 2 เดือนแล้ว ดังนั้นจึงได้เน้นย้ำว่า สิ่งที่สำคัญกว่าการมีผู้สังเกตการณ์เข้ามา ก็คือการทำให้พื้นที่มีความสงบอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ รายงานแจ้งว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเจรจาระหว่างนายอภิสิทธิ์และสมเด็จฯ ฮุน เซนไร้ข้อสรุป เนื่องจากนายอภิสิทธิ์ได้ย้ำจุดยืนของไทยว่า ต้องให้กัมพูชาถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาทให้หมด ทั้งบริเวณปราสาทตาควาย ,ปราสาทตาเมือนธม และพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร 4.6 ตร.กม. แต่สมเด็จฯ ฮุน เซน ก็ยืนยันไม่ถอนทหารกัมพูชาออกจากพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร โดยอ้างว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของกัมพูชา นายอภิสิทธิ์ จึงยืนยันไปว่า พื้นที่ 4.6 ตร.กม.ถือว่าเป็นของไทยเหมือนกัน ถ้าอยากจะแก้ปัญหาก็ต้องถอนทหารออกให้หมด ขณะที่สมเด็จฯ ฮุน เซน ออกอาการหงุดหงิดทันที พร้อมกับบอกว่า ที่ผ่านมามีการกล่าวหาว่ากัมพูชาเอาทหารเข้าไปในพื้นที่เขาพระวิหาร เขาไม่สติวปิด(โง่) พอที่จะทำ ด้านนายอภิสิทธิ์ได้ถามกลับไปว่า แล้วคุณสติวปิดหรือเปล่า? ถ้าคุณไม่สติวปิดก็อย่าทำ จากนั้นการเจรจาจึงตึงเครียดขึ้น ก่อนปิดฉากลงโดยไร้บทสรุป

เมื่อการหารือระหว่างนายกฯ ไทยและกัมพูชาไม่ได้ข้อสรุป จึงได้มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ 3 ฝ่ายในวันต่อมา(9 พ.ค.) ประกอบด้วย นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ,นายฮอ นัมฮง รองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา และนายมาร์ตี้ นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ประสานงาน โดยหลังประชุม นายนาตาเลกาวา เผยว่า ผลประชุมน่าพอใจ โดยได้ข้อสรุปว่า จะใช้แนวทางแก้ปัญหาเป็นแพคเกจ(package solution) หรือใช้หลายวิธีไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นการหาทางออกทางการทูตแบบใหม่ที่จะใช้แก้ปัญหาระหว่างไทย-กัมพูชา

ด้านนายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ขยายความผลหารือระหว่างนายกษิตและนายฮอ นัมฮง ให้ทราบอีกครั้งในเวลาต่อมาว่า ที่ประชุมเห็นพ้องให้แต่ละฝ่ายไปเสนอรัฐบาลของตัวเองให้พิจารณาขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติ(โรดแมป)เกี่ยวกับการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างกัน รวมถึงการลงนามในหนังสือแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับขอบเขตอำนาจหน้าที่(ทีโออาร์)ของคณะผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียที่จะเข้ามาในพื้นที่พิพาท นอกจากนี้ให้มีการจัดประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา(เจบีซี) และการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป(จีบีซี) รวมทั้งให้กัมพูชาถอนทหารและชาวบ้านออกจากบริเวณปราสาทพระวิหาร วัด ตลาด และชุมชน ก่อนที่จะให้ทีมผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียเข้ามาในพื้นที่พิพาท

อย่างไรก็ตาม ขณะที่เริ่มเห็นแนวทางแก้ปัญหาระหว่างไทยและกัมพูชา ปรากฏว่า นายริชาร์ด ไรออต ยาเอ็ม รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศมาเลเซีย กลับออกมากล่าวโจมตีไทย หาว่าไทยเป็นฝ่ายที่ทำให้เกิดการปะทะตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาขึ้นมา เพราะไทยไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงที่ไทยและกัมพูชาตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ที่จะให้คณะผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียเข้าไปในพื้นที่พิพาท “มีการทำความตกลงกันแล้ว (ไทย)ควรจะปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว ผมไม่อยากจะพูดว่าไร้ความน่าเชื่อถือ แต่เขาไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลง”

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาโต้กลับว่า รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศมาเลเซียคงไม่รู้เรื่องถึงได้พูดแบบนั้น เพราะเรื่องการส่งคณะผู้สังเกตการณ์ได้มีการหารือ 3 ฝ่ายจบไปแล้ว ซึ่งในส่วนของไทย จะมีการนำผลหารือดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันที่ 18 พ.ค. นายอภิสิทธิ์ ยังย้ำอีกครั้งว่า หากกัมพูชาไม่ถอนทหารออกจากพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ไทยก็จะไม่อนุญาตให้อินโดนีเซียส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามาในพื้นที่

4. พันธมิตรฯ ขึ้นป้ายรณรงค์โหวตโน “อย่าปล่อยสัตว์เข้าสภา” ขณะที่ ตร.ทนไม่ได้ รีบสั่งปลด ด้านหัวหน้า “ก.ม.ม.” ยังดื้อส่งคนลงเลือกตั้ง!

 ป้ายรณรงค์โหวตโนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์
หลังเกิดปัญหาในพรรคการเมืองใหม่(ก.ม.ม.) ที่มีนายสมศักดิ์ โกศัยสุข อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นหัวหน้าพรรค โดยสมาชิกพรรคส่วนใหญ่หนุนให้พรรคไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง และให้ร่วมรณรงค์โหวตโนกับพันธมิตรฯ แต่นายสมศักดิ์ไม่เห็นด้วย พร้อมประกาศลาออกจากการเป็นแกนนำพันธมิตรฯ โดยอ้างว่าพันธมิตรฯ เปลี่ยนจุดยืน ขณะที่แกนนำพันธมิตรฯ ที่เหลืออีก 4 คนต่างยืนยันว่า จุดยืนของพันธมิตรฯ ไม่เคยเปลี่ยน คือเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องแผ่นดินมาโดยตลอด หลังจากนั้นกรรมการบริหารพรรคเสียงข้างมากในพรรคการเมืองใหม่ เช่น นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรค ,นายสำราญ รอดเพชร รองหัวหน้าและโฆษกพรรค ฯลฯ ได้ออกแถลงการณ์ว่า กรรมการบริหารพรรคเสียงส่วนใหญ่จำนวน 10 คน จากทั้งหมด 19 คน เห็นควรงดส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งในครั้งนี้โดยเคารพต่อความต้องการของสมาชิกพรรคส่วนใหญ่ ด้านนายสมศักดิ์ ซึ่งต้องการส่งคนลงเลือกตั้ง ไม่พอใจการแถลงข่าวดังกล่าว พร้อมประกาศจะดำเนินการตามกฎหมายกับนายสุริยะใสจนถึงที่สุด ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ อ้างว่า นายสุริยะใสไม่มีสิทธิแถลง เพราะการไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งถือว่าขัดต่อกฎหมายจัดตั้งพรรคการเมืองที่มีเจตจำนงเพื่อส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง ไม่เท่านั้น นายสมศักดิ์ ยังอ้างต่อว่า มีคนบางคนสมคบกับกรรมการบริหารพรรคบางคนกลั่นแกล้งพรรคและกรรมการบริหารพรรคให้ได้รับความเสียหาย เพราะต้องการครอบงำพรรค เมื่อครอบงำไม่ได้ จึงทำลายพรรค

ล่าสุด นายสมศักดิ์ และกรรมการบริหารพรรคอีก 4 คนได้เปิดแถลงข่าวอีกเมื่อวันที่ 12 พ.ค.โดยยืนยันว่า พรรคการเมืองใหม่จะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งครั้งนี้แน่นอน ทั้งแบบสัดส่วน และแบบแบ่งเขต รวม 21 จังหวัด โดยกรรมการบริหารพรรคจะลงสมัครแบบสัดส่วน และว่า พรรคจะเปิดตัวผู้สมัครหลังจากยื่นรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.แบบสัดส่วนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ในวันที่ 19 พ.ค.นี้ นายสมศักดิ์ ยังดิสเครดิตนายสุริยะใสด้วยว่า นายสุริยะใสยังค้างเงินพรรคอีก 6 แสนกว่าบาทจากการขายบัตรระดมทุนเข้าพรรค ซึ่งตนได้รายงานให้ กกต.ทราบแล้ว

ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ ได้ออก จม.เปิดผนึกในวันนี้(13 พ.ค.) โดยชี้ว่า การแถลงข่าวของนายสมศักดิ์ว่าพรรคจะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งนั้น เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของนายสมศักดิ์และกรรมการบริหารพรรคอีก 4 คน ไม่มีมติพรรครองรับ และว่า กรรมการบริหารพรรคเสียงส่วนใหญ่ 10 คน จะยื่นหนังสือพร้อมบันทึกการประชุมของพรรคเพื่อยืนยันว่าเห็นควรงดส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งต่อ กกต.ในสัปดาห์หน้า

นายสุริยะใส ยังชี้แจงกรณีถูกนายสมศักดิ์อ้างว่าค้างเงินพรรค 6 แสนกว่าบาทด้วยว่า นายสมศักดิ์นำตัวเลขเก่ามาพูดเพื่อทำลายความชอบธรรมของตน ทั้งที่ความจริงได้มีการเคลียร์เรื่องดังกล่าวเรียบร้อยแล้วที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคก็ทราบดี นายสุริยะใส ยังประกาศจุดยืนของตนและกรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่เสียงข้างมากทั้ง 10 คนด้วยว่า จะคัดค้านความพยายามของกรรมการบริหารพรรคบางคนและสาขาบางสาขาที่ไม่เคารพเสียงของสมาชิกพรรค โดยเฉพาะกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มที่พยายามใช้พรรคการเมืองใหม่เป็นเครื่องมือเพื่อกล่าวหาโจมตีการเคลื่อนไหวของพี่น้องพันธมิตรฯ และทำลายความชอบธรรมของการรณรงค์โหวตโน โดยขบวนการดังกล่าวถือเป็นไส้ติ่งของพันธมิตรฯ และพรรคการเมืองใหม่ที่ต้องต่อต้านและกำจัดออกไปให้ถึงที่สุด

ส่วนความเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น ล่าสุด ได้เริ่มรณรงค์โหวตโนด้วยการขึ้นป้ายขนาดใหญ่ใกล้พื้นที่ชุมนุมบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยมีข้อความว่า “อย่าปล่อยสัตว์เข้าสภา” และ “ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง กาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน” นอกจากนี้ยังมีภาพประกอบเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น สุนัข ตะกวด เสือ ควาย และลิง อยู่ในชุดสูทด้วย

ด้านศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทนเห็นภาพดังกล่าวไม่ได้ จึงออกมาเตือนให้พันธมิตรฯ ปลดป้ายดังกล่าวลง โดยอ้างว่าป้ายดังกล่าวไม่เหมาะสม รวมทั้งจะทำหนังสือสอบถาม กกต.ด้วยว่า การขึ้นป้ายดังกล่าวผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ ขณะที่นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ ได้แนะให้ตำรวจไปเปิดกฎหมายดู ไม่ใช่ออกมาพูดลอยๆ ว่าป้ายดังกล่าวไม่เหมาะสม พร้อมย้ำว่า การขึ้นป้ายดังกล่าวเป็นสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของการชุมนุม และไม่ได้มีการกล่าวหานักการเมืองคนใด อีกทั้งบนป้ายก็เขียนข้อความโหวตโนชัดเจน ประชาชนย่อมตัดสินใจเองได้ว่า ใครมีพฤติกรรมแบบนี้ นายปานเทพ ยังยกตัวอย่างด้วยว่า ในอดีตพันธมิตรฯ ก็เคยขึ้นป้ายประกาศจับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ที่ถูกออกหมายจับ ซึ่งก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร ดังนั้นพันธมิตรฯ จะไม่ปลดป้ายดังกล่าวลง แต่จะมีการติดป้ายคัตเอาต์เพิ่มมากขึ้นกว่านี้ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น