xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” ปูดยูเนสโกฮั้วไทยขอบูรณะพระวิหารแลกเลื่อนถกแผน จี้ถอนตัวมรดกโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (แฟ้มภาพ)
โฆษกพันธมิตรฯ ยันถึงเลื่อนพิจารณาแผนบริหารพระวิหารปัญหาก็คาราคาซังยันรัฐบาลชุดใหม่ ซัดพรรคไหนก็ไม่มีนโยบายชัด ยันต้องถอนตัวมรดกโลก ชี้ฝ่ายไทยถลำสู้ศาลโลกส่อทำสถานการณ์บานปลาย ระบุปล่อยให้รัฐหน้าตัดสินสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง เชื่อมีการเจรจาแลกยูเนสโกบูรณะพระวิหาร มัดหลักฐานพื้นที่ของเขมร “จำลอง” จี้เลิกวาระผู้สังเกตการณ์


 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ให้สัมภาษณ์  

วันนี้ (27 พ.ค.) ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวจากฝ่ายรัฐบาลว่า ทางคณะกรรมการมรดกโลกเห็นคล้อยตามกับฝ่ายไทยในการขอให้เลื่อนวาระการพิจารณาแผนบริหารจัดการมรดกโลกออกไปก่อนจนกว่าจะมีการปักปันดินแดนไทย-กัมพูชาแล้วเสร็จว่า กรณีนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าในท้ายที่สุดจะสามารถเลื่อนออกไปได้ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พยายามกล่าวอ้างหรือไม่ เพราะทั้งฝ่ายกัมพูชาก็ยังไม่มีท่าทีว่ายอมรับหรือไม่ รวมทั้งคณะกรรมการมรดกโลกเองก็ไม่ได้มีความชัดเจนออกมา เนื่องจากเป็นเพียงการกล่าวอ้างถึงความเห็นของผู้อำนวยการองค์การยูเนสโกเท่านั้น ยังไม่ได้เป็นที่สิ้นสุดว่าจะมีการเลื่อนในหัวข้อดังกล่าวจริงหรือไม่

นายปานเทพกล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ความเชื่อที่ว่าการเลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการได้นั้นเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะแท้ที่จริงแล้วไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาเลยแม้แต่น้อย กลับทำให้ปัญหาคาราคาซังยืดเยื้อไปถึงรัฐบาลชุดหน้า โดยที่ไม่มีหลักประกันว่าจะมีแนวทางต่อเรื่องนี้อย่างไร เพราะไม่มีพรรคการเมืองให้ใดนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องนี้เลย ดังนั้น การปล่อยผ่านไปถึงรัฐบาลชุดหน้าก็เสมือนเป็นการปัดสวะ โยนเผือกร้อน ไม่แก้ปัญหาให้เสร็จสิ้น ผลักภาระให้ตกอยู่ภายใต้การตัดสินใจของรัฐบาลชุดถัดไป โดยจากผลการสำรวจล่าสุดก็มีแนวโน้มว่าพรรคเพื่อไทยมีโอกาสเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล แต่หากมีการสูญเสียในเวทีมรดกโลกในรัฐบาลชุดหน้า ก็จะโทษแต่รัฐบาลชุดหน้าไม่ได้ ต้องโทษรัฐบาลชุดนี้ที่ทิ้งปัญหา ไม่แก้ไขและปล่อยให้ยืดเยื้อถึงรัฐบาลชุดหน้า

“แนวทางของพันธมิตรฯ และภาคประชาชนได้ยืนยันมาโดยตลอดว่า ปัญหาเรื่องนี้ควรแก้ไขให้เสร็จสิ้นทันทีก่อนสิ้นสุดรัฐบาลชุดนี้ด้วยการถอนตัวออกจากการเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลก เพื่อประท้วงต่อมติคณะกรรมการมรดกโลกทั้งหมด และไม่ให้ปัญหาบานปลายไปถึงรัฐบาลชุดหน้า แต่รัฐบาลนี้ก็เพิกเฉยไม่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวราวกับว่ามีความพยายามในการสมรู้ร่วมคิดให้เรื่องนี้ตกอยู่ภายใต้การตัดสินใจของรัฐบาลชุดหน้า ซึ่งก็รู้ดีแก่ใจแล้วว่าจะเป็นใครมาเป็น” นายปานเทพระบุ

โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวอีกว่า ถ้อยแถลงของฝ่ายไทยทั้งนายอภิสิทธิ์ และนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ กลับเดินแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยอ้างเพียงว่าการจัดทำเขตแดนยังไม่แล้วเสร็จ เรื่องนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะเป็นการไม่ยอมยืนยันในเส้นเขตแดนของตัวเอง แล้วกลับไปเดินหน้าถลำลึกไปต่อสู้ในประเด็นเนื้อหาบนเวทีศาลโลก ทั้งที่สามารถปฏิเสธการยอมรับอำนาจของศาลโลกได้ในหลายเหตุผล

“การที่ฝ่ายไทยถลำเข้าไปต่อสู้ในศาลโลก อาจทำให้สถานการณ์บานปลาย โดยศาลโลกอาจอกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวที่เป็นประโยชน์กับฝ่ายกัมพูชาได้ และทำให้มรดกโลกที่ไทยทำได้เพียงถ่วงเวลาออกไปนั้น ก็จะมีปัญหาในที่สุด” นายปานเทพกล่าว

ส่วนกรณีที่โฆษกกระทรวงกลาโหม กัมพูชา ออกมาแถลงข่าวตอบโต้ว่าสิ่งที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม เปิดเผยกับชาวไทยนั้นไม่เป็นความจริง ในกรณีที่จะมีการเปิดประชุมจีบีซี โดยกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ นายปานเทพกล่าวว่า ในเรื่องนี้ทางกัมพูชาเปิดเผยข้อเท็จจริงที่ว่า หากต้องการให้มีการเปิดประชุมนั้น ฝ่ายไทยต้องทำการยืนยันในชุดทางออก (Package of Solutions) ที่เป็นผลจากการประชุม รมว.ต่างประเทศ 3 ฝ่าย เมื่อวันที่ 9 พ.ค.เสียก่อน แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เราพูดมาตลอดเป็นความจริงทุกประการ ว่าก่อนจะมีการประชุมจีบีซีจะต้องมีผู้สำรวจเข้ามาจากต่างชาติ ซึ่งอยู่ภายใต้ทีโออาร์ที่รัฐบาลไปตกลงมา และมีข้อมูลบางประการที่รัฐบาลยังปกปิดอยู่ไม่ให้ประชาชนได้รับรู้ ทั้งที่ในความเป็นจริงการดำเนินการใดๆเกี่ยวกับต่างชาติ จะไปลงนามใดๆไม่ได้ ต้องผ่านรัฐสภามาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญเสียก่อน ตั้งแต่ขั้นตอนการขอกรอบการประชุม เพราะฉะนั้นรัฐบาลชุดนี้ไม่ควรที่จะใช้อำนาจที่เกินขอบเขตไม่ได้โดยเด็ดขาด

ผู้สื่อข่าวถามว่า จุดยืนของพันธมิตรฯยังยืนยันที่ฝ่ายไทยต้องถอนตัวออกจากภาคีมรดกโลก แม้จะมีการเลื่อนวาระการประชุมแล้วก็ตาม นายปานเทพกล่าวว่า เรื่องนี้ยังมีความเสี่ยงในอนาคตอยู่มาก เพราะการเลื่อนพิจารณาแผนบริหารจัดการก็เป็นเพียงแค่การหนีเอาตัวรอดของรัฐบาลชุดนี้ เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าที่ผ่านมาถลำลึกไปมาก จึงไม่ทำการหยุดยั้ง หรือไม่พยายามทำให้เลิกการทำแผนหรือเลิกมติคณะกรรมการมรดกโลกย้อนหลังที่ให้ร้ายกับประเทศไทย ดังนั้น การหยุดยั้งโดยการถอนตัวจากภาคีมรดกโลกตั้งแต่ตอนนี้คือ ทางออกสุดท้ายก่อนที่จะสิ้นวาระของรัฐบาลชุดนี้ การปล่อยให้รัฐบาลชุดหน้าเป็นผู้ตัดสินใจก็เป็นความเสี่ยงอย่างยิ่ง โดยไม่มีหลักประกันใดๆ ทั้งสิ้น ในขณะที่พรรคการเมืองต่างๆก็ไม่ได้มีนโยบายในเรื่องนี้เลย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราต้องรณรงค์โหวตโน เมื่อฝ่ายการเมืองไม่เป็นความหวังในการแก้ปัญหาดินแดนอธิปไตยของชาติ

เมื่อถามว่า หากมีการเลื่อนวาระการพิจารณาแผนบริหาร จะมีผลต่อการชุมนุมต่อไป หรือยุติการชุมนุมหรือไม่ นายปานเทพกล่าวว่า ต้องมีการประชุมกันอีกครั้ง หากมีการเลื่อนอย่างชัดเจนแล้ว แต่ตอนนี้ยังคลุมเครืออยู่มาก

โฆษกพันธมิตรฯ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หากมีการเลื่อนจริงตามข่าว ก็เชื่อได้ว่ามีการเจรจาแลกเปลี่ยนต่อรองระหว่างกัน โดยที่ตนได้รับรู้มา คือ หากคณะกรรมการมรดกโลกตัดสินใจเลื่อนจริงตามที่ฝ่ายไทยเสนอ ก็ต้องแลกมาด้วยการขอเข้ามาบูรณะปราสาทพระวิหารและพื้นที่โดยรอบ ตรงนี้ต้องย้ำว่าตัวปราสาทและพื้นที่ขอบๆนั้นได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกไปแล้วตั้งแต่ปี 51 เหลือเพียงแผนบริหารจัดการเท่านั้นที่ยังมีปัญหาอยู่ โดยที่ฝ่ายไทยก็ไม่ได้มีท่าทีในการปฏิเสธในสิ่งที่คณะกรรมการมรดกโลกได้อนุมัติไปแล้ว การเดินหน้าบูรณะปฏิสังขรณ์ก็เป็นการตอกย้ำว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของกัมพูชา เพราะเป็นการร้องขอโดยฝ่ายกัมพูชา โดยอ้างว่าได้มีความเสียหายเกิดขึ้นจากการปะทะของฝ่ายไทย เป็นการรุกคืบสร้างหลักฐานเพื่อนำไปใช้ในเวทีนานาชาติ ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 05 เช่นเดียวกับที่ยูเนสโกสนับสนุนเงิน 5 หมื่นเหรียญสหรัฐให้กัมพูชานำมาซ่อมและสร้างตลาดในดินแดนประเทศไทย เป็นการละเมิดอธิปไตยของไทยโดยยูเนสโกชัดเจน

“สิ่งที่ยูเนสโกพยายามทำอยู่เป็นการละเมิดธรรมนูญของยูเนสโกเอง ที่จุดชนวนสงครามโดยยูเนสโก และคณะกรรมการมรดกโลก ที่สมควรต้องประณาม เพียงเท่านี้ไทยก็มีความชอบธรรมที่จะถอนตัวออกจากภาคีมรดกโลกแล้ว” นายปานเทพกล่าว

ด้าน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาคประชาชนได้แสดงความเห็นมานานแล้วว่า เราไม่เห็นด้วยกับการให้มีผู้สังเกตการณ์จากทั้งอินโดนีเซีย หรือประเทศอื่นๆเข้ามา แต่รัฐบาลกลับเลี่ยงใช้คำว่าคณะผู้สำรวจล่วงหน้าแทน ซึ่งมีหน้าที่ในการสำรวจดูที่พักของคณะผู้สังเกตการณ์ ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องซับซ้อนที่ต้องมีคณะล่วงหน้ามาก่อน เหมือนว่าฝ่ายไทยยอมทำตามที่กัมพูชาต้องการทั้งหมด ส่วนเรื่องที่อยู่ในคณะกรรมการมรดกโลกนั้น ตนเห็นว่าไม่ต้องทำอะไรให้ยุ่งยาก ขอให้ยกเลิกวาระการประชุมดังกล่าวไปเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น