xs
xsm
sm
md
lg

จากม็อบมือถือ 35 ถึงพลังโหวตโน 54

เผยแพร่:   โดย: สำราญ รอดเพชร

วันที่ 19 พ.ค.เมื่อ 19 ปีที่แล้วหรือในช่วงเหตุการณ์“พฤษภาทมิฬ 2535” กลุ่มนักศึกษาประชาชนที่ยังไม่ถูกจับกุมปราบปรามที่ถนนราชดำเนินได้ย้ายการชุมนุมไปที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และดูเหมือนจะเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้สถานการณ์พลิกกลับให้ฝ่ายประชาชนเป็นฝ่ายชนะ...

เพราะในวันต่อมา (20 พ.ค. 2535) พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้นำการต่อสู้คนสำคัญที่ถูกทหารควบคุมตัวในวันที่ 18 พ.ค., พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมกัน โดยผู้นำเข้าเฝ้าฯ คือพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ต่อมาวันที่ 24 พ.ค. 2535 พล.อ.สุจินดา ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมเวลาอยู่ในตำแหน่งแค่ 47 วัน ทั้งๆ ที่มี 4 เหล่า 3 ทัพสนับสนุน..

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ครบรอบ 19 ปีย่างสู่ปีที่ 20 อย่างเงียบเหงาจนหลายคนที่แม้จะเคยร่วมชุมนุมก็อาจจะลืมๆ เลือนๆ ไปแล้ว โดยมีเหตุการณ์ “พฤษภาเผาเมือง” เมื่อ 19 พ.ค.2553 ของคนเสื้อแดงเข้ามายึดพื้นที่ข่าวไปครอบครองแทนแทบจะสิ้นเชิง...

วันนี้ (19 พ.ค. 2554) นปช.เขาคงรำลึกวันครบรอบปี สดุดีวีรชนในความหมายของพวกเขาด้วยความฮึกเหิม คึกคะนอง....

ไม่ว่าใครจะคิดอย่างไร แต่ในความเข้าใจของผมยังยืนยันว่า การต่อสู้ของคนเสื้อแดงเมื่อ 19 พ.ค. 2553 ลึกๆ ก็คือการใช้ “พฤษภา(ทมิฬ)โมเดล” หวังก่อเหตุรุนแรงเพื่อให้พระองค์ท่านลงมาเป็นคนกลางยุติเหตุการณ์ โดยหวังว่าคนชื่อ “ทักษิณ” จะได้รับการปลดปล่อยไปพร้อมๆ กันด้วย...แต่เหตุการณ์ไม่เป็นไปตามนั้น แหละนั่นทำให้คนชื่อ “ทักษิณ” ต้องเปลี่ยนเกมใหม่ เดินหน้าสู่เกมเลือกตั้งและเป่านกหวีดสู้แบบหมดหน้าตักในวันนี้...

เหตุการณ์พฤษภา 2553 ของคนเสื้อแดงจะนำไปสู่อะไรต่อไปในอนาคตก็คอยดูกันต่อไป...

แต่ที่แน่นอนเหตุการณ์พฤษภา 2535 ของประชาชนที่เรียกกันว่า “ม็อบมือถือ” ในครั้งนั้น ทำให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากคนที่เป็น ส.ส.และเป็นเชื้อชนวนสำคัญทำให้เกิดการปฏิรูปการเมือง เกิดสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ชุดแรกหรือ ส.ส.ร. 1 ผู้ทำคลอดรัฐธรรมนูญปี 2540 นั่นเอง และบ้านเมืองซึ่งว่างเว้นการรัฐประหารมาตั้งแต่ปี 2535 ก็ต้องเกิดรัฐประหารอีกครั้งเมื่อ 19 ก.ย. 2549 ด้วยเหตุผลจริงๆ คือ “หยุดทักษิณ” ที่กำลังทำร้ายทำลายประเทศในหลายๆ มิติ

รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ทำให้เกิด ส.ส.ร. 2 ทำคลอดรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันและมีการแก้ไขกันไปแล้ว 2-3 มาตรา และดูเหมือนว่าในอนาคตไม่ช้าก็เร็วรัฐธรรมนูญปี 2550 อาจจะถูกรื้อใหญ่หรือถูกยกเลิก..!?

หลายคนบอกว่า ถ้าจะทำคลอดรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปการเมืองหรือแม้กระทั่งปฏิรูปประเทศกันใหม่ ก็ต้องมี ส.ส.ร. 3 คำถามมีอยู่ว่า ส.ส.ร. 3 ถ้าจะเกิดขึ้น ด้วยเหตุปัจจัยอะไรเล่า

มองอย่างกว้างๆ อาจมีความเป็นไปได้ใน 3 หนทาง

1) ด้วยด้วยพลังของ “โหวตโน” ในการเลือกตั้ง 3 ก.ค. 2554 ซึ่งกำลังพิสูจน์ตัวเองว่าจะเป็นนวัตกรรมใหม่ทางการมืองได้หรือไม่

2) บางฝ่ายก็เชื่อว่าจะเกิดจากน้ำมือของฝ่าย(นัก)การเมืองและภาคส่วนต่างๆ ที่อาจเกิดสำนึกหรือเห็นจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญปี 2550

3) บางฝ่ายเชื่อว่าสุดท้ายแล้วสังคมไทยก็หนีไม่พ้นต้องรบราฆ่าฟันกันอีกรอบ และจะนำมาซึ่ง ส.ส.ร. 3 ทำคลอดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ผมค่อนข้างสิ้นหวังกับข้อ 2 ข้อ 3 เพราะหากกล่าวถึงฝ่าย(นัก)การเมืองที่จะริเริ่มการปฏิรูปการเมืองที่ล้มเหลวด้วยตัวเองหรือเกิดจิตสำนึกที่ดีขึ้นมา ดูเหมือนจะต้องรอถึงชาติหน้าตอนบ่ายๆ ในขณะที่หากจะรออำนาจนอกระบบอำนาจพิเศษอะไรนั่นก็พอจะเห็นๆ กันอยู่ว่ายากมาก ขนาดเกิดเหตุเผาบ้านเผาเมือง ฆ่ากันตายกลางบ้านกลางเมือง 91 ศพ บาดเจ็บอีก 2,000 คน ก็หาได้เกิดอะไรที่มันมีลักษณะปฏิรูปรังสรรค์ประเทศนี้ไม่ ตรงข้ามกลับเลือกหนทางแบบลากลู่ถูกังนำพาประเทศไปสู่แนวโน้มแห่งความยุ่งเหยิงยุ่งยากอีกครั้งหนึ่ง ด้วยอาจจะเชื่อว่าการยุบสภาคือการคืนอำนาจประชาชน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงหรือเนื้อแท้แห่งสถานการณ์มันก็คือการคืนอำนาจให้กับกลุ่มการเมืองหน้าเดิมที่ยังอยู่ในขั้วความขัดแย้ง แต่ต่างฝ่ายต่างชูธงคำว่า “ปรองดอง” โดยที่ยังไม่รู้เลยว่าจะปรองดองปูดองกันแบบไหน อย่างไร

ผมสารภาพว่าโดยส่วนตัวผมไม่ได้เห็นด้วยกับ “โหวตโน” ชนิดดื่มด่ำ กล่าวคือเห็นด้วยในระดับเข้าใจและเห็นถึงคุณค่าของตัวมันเอง แต่พิเคราะห์ดูแล้วสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ “โหวตโน” น่าจะเป็นเครื่องมือเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่ ส.ส.ร. 3 หรือความเปลี่ยนแปลงในเชิงปฏิรูปการเมืองได้ไม่มากก็น้อย ขึ้นอยู่กับปริมาณและคุณภาพของ “โหวตโน”

ตัวเลขของผู้กาช่อง “ไม่ประสงค์ลงคะแนน” หรือโหวตโนเมื่อคราวการเลือกตั้ง 23 ธ.ค. 2550 ก็คือ ในระบบสัดส่วนหรือบัญชีรายชื่ออยู่ที่ 935,306 คะแนนคิดเป็น 2.85% ของผู้มาใช้สิทธิในระบบเขตมีจำนวน 1,499,707 คะแนนหรือ 4.58% แน่นอนคนที่โหวตโนทั้งสองแบบอาจจะซ้ำกัน แต่ก็พูดตัวเลขกลมๆ ได้เลยว่าตัวเลขคนกาโหวตโนเมื่อปี 2550 คือ 1 ล้านคะแนน หากวันที่ 3 ก.ค.ตัวเลขเพิ่มขึ้น 100% ก็จะเป็น 2 ล้านคะแนน ถ้าโตขึ้น 200% ก็คือ 3 ล้านคะแนน....

ผมยังไม่อยากคาดหมายว่าโหวตโนหนนี้จะจอดป้าย ณ ตัวเลขใด รู้เพียงอย่างเดียวว่าสถานภาพของโหวตโนครั้งนี้เป็นทั้งยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของความเคลื่อนไหว และดูเหมือนจะเป็นเพียงอาวุธเดียวที่ประชาชนที่เบื่อหน่าย(นัก)การเมืองแต่ต้องไปเลือกตั้งพอจะมีอยู่ในมือท่ามกลางความเวิ้งว้างแห่งความหวัง...

มีความเป็นไปได้ว่า หากการรณรงค์โหวตโนเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ แปรความเคียดแค้นชิงชังความผิดหวังในอดีตและปัจจุบันที่ประชาชนหวังพึ่งใครไม่ได้นอกจากตัวเองให้เป็นพลังทางปัญญาจริงๆ อัตราความเติบโตของโหวตโนหรือพลังของโหวตโนก็อาจจะเป็นเสมือนพลังม็อบมือถือในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ก็ได้...

จะอย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมาทั้งหมดไม่ได้หมายถึงว่า ผมกำลังเสนอสูตรสำเร็จของการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปประเทศว่ายังไงๆ ก็ต้องมี ส.ส.ร.ชุดใหม่หรืออีกชุดหนึ่งขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่เท่านั้น เพราะพลังโหวตโนหากมีปริมาณมากพอยังเป็นนัยสำคัญของความเปลี่ยนแปลงได้อีกมากมายหลายอย่าง เพียงแต่ ส.ส.ร. 3 หรือ ส.ส.ร.ชุดใหม่ก็จะทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงกติกาประเทศกติกาการเมืองกันใหม่ในความหมายของการปฏิรูป...

บางท่านอาจมีคำถามว่าตัวผมสังกัดพรรคการเมืองใหม่แล้ว ทำไมไม่ไปลงสมัครรับเลือกตั้งขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมืองทางโน้น หลายท่านอาจจะทราบแล้วว่าเพราะคำว่า “โหวตโน” นี่แหละที่กระตุกให้พรรคตระหนักว่า...ควรจะมาร่วมกันขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมืองอีกครั้ง ก่อนที่จะเดินหน้ากันต่อ..หรือไม่อย่างไร...!?

เรื่องมันยาว...ครบรอบ 3 ปีของเหตุการณ์ 193 วัน และครบรอบ 2 ปีของพรรคการเมืองใหม่ในวันที่ 25 พ.ค. 2554 ผมกับคุณสุริยะใส กตะศิลา และกรรมการบริหารพรรคเสียงข้างมากที่เห็นว่าพรรคควร “เว้นวรรค” จะได้ขอโอกาสชี้แจงบนเวทีการชุมนุมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ถ้าไม่มีอะไรติดขัดคงได้พูดจาปราศรัยกันยาวๆ

พร้อมๆ กับร่วมรำลึกวีรชน 193 วันของพันธมิตรฯ และวีรชนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น