xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตตะวันออกกลางอาจจะทำให้ราคาน้ำมันแพงอีกนาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตั้งแต่ปลายปี 2553 ที่มีการเผาตัวประท้วงในตูนิเซียจนนำไปสู่วิกฤติการเมืองในประเทศ และได้ลุกลามไปหลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (Middle East and North Africa: MENA) จนกลายเป็นวิกฤติการณ์ทางการเมืองที่ประชาชนลุกฮือขึ้นเพื่อขับไล่ผู้นำประเทศ หรือเรียกร้องให้มีการปฎิรูปการเมือง การที่ภูมิภาค MENA เป็นแหล่งผลิตน้ำมันหลักของโลก จึงทำให้อุปทานน้ำมันขาดแคลนและราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้วิกฤติยังทำให้การใช้จ่ายเกี่ยวกับสวัสดิการสังคมเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งแม้ว่าในอนาคตปัญหาอาจจะบรรเทาลง แต่ราคาน้ำมันอาจจะไม่ลดลงสู่ระดับก่อนวิกฤติตามที่เราคาดหวังไว้

**ผมเคยเขียนถึงเรื่องนี้ในคอลัมน์นี้ และหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นแล้วว่า วิกฤติการเมืองในภูมิภาค MENA เกิดจากปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม จากการที่มีการปกครองแบบเผด็จการ ส่งผลให้รายได้และความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มผู้นำ และจากระบบเศรษฐกิจที่อิงกับระบบทุนนิยมโดยรัฐ (State Capitalism) ที่นำโดยรัฐวิสาหกิจและภาคราชการ ทำให้เศรษฐกิจพัฒนาช้าเพราะขาดประสิทธิภาพ ผลที่ตามมาก็คือประชาชนส่วนใหญ่ยากจน และอัตราการว่างงานสูง โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานที่มีอายุน้อย**

วิกฤติที่เกิดขึ้นส่งผลให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นจากเหตุผล 2 ประการคือ การที่ภูมิภาค MENA เป็นแหล่งผลิตน้ำมันหลักของโลก และความจำเป็นของประเทศในภูมิภาคนี้ที่ต้องใช้จ่ายในด้านสวัสดิการสังคมมากขึ้น ประการแรก ภูมิภาค MENA เป็นแหล่งผลิตน้ำมันและน้ำมันสำรองมากที่สุดในโลก เมื่อเกิดวิกฤติการเมือง ทำให้ราคาน้ำมันโลกพุ่งขึ้น และด้วยเหตุที่วิกฤติมาจากสาเหตุด้านโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ดังนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงไม่สามารถแก้ได้ในเวลาอันสั้น และมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อไปอีกนาน ซึ่งจะส่งผลให้ระดับราคาน้ำมันจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย อย่างไรก็ตาม สำหรับผมแล้ว ปัจจัยนี้ยังเป็นปัจจัยรอง ปัจจัยหลักคือความจำเป็นในการใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคม

ประการที่ 2 การที่ปัญหาส่วนหนึ่งมาจาก ความยากจนและการว่างงานจำนวนมาก ดังนั้น วิธีหนึ่งที่จะบรรเทาปัญหาก็คือการใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมให้มากขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ประเทศผลิตน้ำมันในภูมิภาคนี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาระดับราคาน้ำมันไว้ให้สูง เพื่อนำรายได้จากการขายน้ำมันมาใช้จ่ายในด้านสวัสดิการสังคม ตัวอย่างเช่น ซาอุดิอาระเบีย (ซาอุฯ) ได้ใช้จ่ายด้านนี้เพิ่มขึ้นถึง 129,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม จากการศึกษาของสถาบัน Institute of International Finance (IIF) ประเมินว่า การที่รัฐบาลซาอุฯต้องเพิ่มรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคมในปี 2554 และ 2555 และเพื่อให้มีรายได้มาสนับสนุนรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น ระดับราคาน้ำมันต้องอยู่ที่ 88 และ 110 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เป็นอย่างต่ำ ตามลำดับ ขณะที่ สถาบันการเงิน Merrill Lynch ประเมินว่าราคาน้ำมันควรจะอยู่ที่ 96 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล งบประมาณปี 2554 ของประเทศซาอุฯ จึงจะสมดุล

ประเด็นนี้มีความสำคัญมากต่อทิศทางราคาน้ำมันโลก เนื่องจากในอดีต ซาอุฯ ซึ่งเป็นประเทศสมาชิก OPEC ต้องการให้ราคาน้ำมันไม่สูงเกินไปนัก โดยให้อยู่ระดับประมาณ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตรงข้ามกับบางประเทศ เช่น เวเนซูเอล่า ที่ต้องการให้ราคาน้ำมันสูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งแนวทางของซาอุฯ ได้ทำให้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับไม่สูงนักมาโดยตลอด เพราะซาอุฯ เป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันและมีกำลังการผลิตสำรองมากที่สุด (มากกว่าร้อยละ 80 ของกำลังการผลิตสำรองของโลก) จึงมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมัน และที่ผ่านมาซาอุฯ ก็ทำหน้าที่สร้างเสถียรภาพของราคาน้ำมันด้วยการควบคุมการผลิต โดยในกรณีที่ราคาสูงเกินไปก็จะผลิตเพิ่มขึ้น และถ้าราคาต่ำเกินไปก็จะลดการผลิตลง แต่จากความจำเป็นในการใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคม รัฐบาลซาอุฯ จึงไม่สามารถทำเช่นนั้นอีกต่อไป แต่จะผลักดันให้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง ซึ่งล่าสุด ซาอุฯ ได้ปรับลดการผลิตน้ำมันลงถึง 800,000 บาร์เรลต่อวัน เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันไม่ให้ลดลง นอกจากนี้ เลขาธิการ OPEC ได้ให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่า OPEC จะไม่เพิ่มการผลิตน้ำมัน เนื่องจาก ปริมาณน้ำมันเพียงพอแก่ความต้องการอยู่แล้ว แสดงถึงจุดยืนที่เปลี่ยนไปของ OPEC เช่นเดียวกัน

**ผู้อ่านคงจะเห็นภาพแล้วว่า วิกฤติการเมืองในภูมิภาค MENA จะส่งผลให้ราคาน้ำมันอยู่สูงต่อไป และแม้ว่าวิกฤติจะบรรเทาลงก็คาดว่าราคาน้ำมันจะไม่ลดลงตามไปด้วย เพราะพฤติกรรมของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะประเทศซาอุดิอาระเบียได้เปลี่ยนแปลงไปอันเป็นผลสืบเนื่องจากวิกฤติการเมือง เราคงต้องทำใจยอมรับว่าราคาน้ำมันจะสูงขึ้นอีกนาน ดังนั้น ประเทศไทยควรเตรียมพร้อมที่จะรองรับสถานการณ์ราคาน้ำมันแพง และมีมาตรการประหยัดพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม**
กำลังโหลดความคิดเห็น