ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับเดือนเมษายน...เดือนที่สร้างเซอร์ไพร้ส์อะไรอะไรหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะอากาศในบ้านเราที่ผิดปกติ จนนำเอาอากาศหนาวและฝนมาผิดฤดู...ส่วนบรรยากาศการลงทุนเอง ต้องบอกว่าสร้างเซอร์ไพร้ส์ได้เช่นกัน เพราะตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นทำสถิติใหม่ล่าสุดตั้งแต่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยดัชนีทะยานขึ้นไปเหนือ 1,100 จุดได้ในรอบ 14 ปี 8 เดือน...ปัจจัยสนับสนุนหลักๆ มาจากเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ล่าสุด นักลงทุนต่างชาติซื้อสะสมแล้วถึง 26,979.99 ล้านบาท (1 ม.ค. 2554 - 4 พ.ค.)
ในขณะที่ราคาน้ำมันเอง ก็ทยอยปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความไม่สงบทางการเมืองในประเทศตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในลิเบียซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันรายสำคัญของโลก รวมถึงปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากมาเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามินั่นเอง
และจากราคาที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องนี่เอง ส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานของกองทุนรวมที่ออกไปลงทุนในน้ำมันกันถ้วนหน้า ซึ่งจากการสำรวจผลการดำเนินงานล่าสุด 4 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา ปรากฏว่ากองทุนน้ำมันที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดอยู่ในระดับสูงถึง 21% ซึ่งสูงกว่าการลงทุนในประเทศพอสมควรทีเดียว
โดยข้อมูลจากลิปเปอร์ ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 29 เมษายน 2554 กองทุนต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด 10 อันดับแรก ล้วนแล้วแต่เป็นกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งประกอบด้วย
อันดับ 1 กองทุนเปิด K Oil ของบลจ.กสิกรไทย ด้วยผลตอบแทน 21.82%
อันดับ 2 กองทุนเปิด TMB Oil ของบลจ.ทหารไทย ด้วยผลตอบแทน 21.76%
อันดับ 3 กองทุนเปิด Asset Plus Oil ของบลจ.แอสเซทพลัส ด้วยผลตอบแทน 20.6%
อันดับ 4 กองทุนเปิด ทิสโก้ อากริคัลเจอร์ ยูโร ฟันด์ ของบลจ.ทิสโก้ ด้วยผลตอบแทน 20.19%
อันดับ 5 กองทุนเปิด ซีมิโก้ ออยล์ แทรคกิ้ง ฟันด์ ของบลจ.ซีมิโก้ ด้วยผลตอบแทน 20.07%
อันดับ 6. กองทุนเปิด TISCO Oil ของบลจ.ทิสโก้ ด้วยผลตอบแทน 19.23%
อันดับ 7 กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ แพลทตินัม โกลบอล ฟันด์ ของบลจ.ไทยพาณิชย์ ด้วยผลตอบแทน 18.32%
อันดับ 8 กองทุนเปิด MFC International Oil ของบลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ด้วยผลตอบแทน 18.05%
อันดับ 9 กองทุนเปิด KRUNGSRI Oil ของบลจ.อยุธยา ด้วยผลตอบแทน 17.22%
อันดับ 10 กองทุนเปิด UOB Smart Commodity ของบลจ.ยูโอบี (ไทย) ด้วยผลตอบแทน 17.07%
เกาะติดแนวโน้มราคาน้ำมันโลก
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ จำกัด รายงานแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกว่า ราคาน้ำมันได้ทยอยปรับตัวสูงขึ้น โดยการปรับตัวขึ้นของน้ำมันในช่วงแรก หรือประมาณ กลางปี 2010 จนถึงต้นปี 2011 นอกจากจะเป็นเหตุผลมาจากการปรับขึ้นตาม Risky Asset อื่นๆ ทั่วโลกแล้ว การปรับขึ้นดังกล่าวก็เป็นผลมาจากปัจจัยพื้นฐานด้าน Demand เป็นหลัก กล่าวคือ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณความต้องการน้ำมันของโลกปรับเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยความต้องการน้ำมันของโลกขยายตัว 2.8 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2010 ซึ่งนับเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2004 ปริมาณความต้องการน้ำมันคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องในปีนี้ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ดังเช่น สหรัฐฯ และยุโรป
อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นของราคาน้ำมันตั้งแต่ประมาณเดือน ก.พ. เป็นต้นมา จน Brent Crude Oil สูงเกิน $115/bbl เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ส.ค.2008 สาเหตุหลักของการปรับขึ้นในรอบนี้ไม่ได้เกิดจากเรื่องปริมาณความต้องการน้ำมันแล้ว แต่เกิดจากความกังวลในเรื่อง Supply ของน้ำมันว่าจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือหรือไม่ เหตุการณ์ความไม่สงบดังกล่าวเริ่มจากประเทศอียิปต์และตูนีเซีย แต่เนื่องจากทั้งสองประเทศไม่ได้ส่งออกน้ำมันมากนัก ความกังวลเรื่อง Supply จึงไม่มากเท่ากับเหตุการณ์ความไม่สงบในลิเบียในขณะนี้ เนื่องจากลิเบีย เป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับ 13 ของโลก ส่งออกน้ำมันประมาณ1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปัญหาความไม่สงบในลิเบีย คาดว่าจะส่งผลกระทบให้ปริมาณการผลิตน้ำมันหายไปประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 2 ใน 3 ของปริมาณน้ำมันที่ลิเบียส่งออกในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตที่หายไปดังกล่าว สามารถทดแทนได้จาก 1) กำลังการผลิตสำรองของ OPEC ในปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 5.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งปริมาณการผลิต ในขณะนี้ยังต่ำกว่าปริมาณการผลิตสูงสุดในปี 2008 2) ซาอุดิอาระเบีย ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งปัจจุบันผลิตน้ำมันประมาณ 8.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 8.4 ล้านบาร์เรลต่อวันตอนต้นปี ซึ่งน้อยกว่าระดับการผลิตสูงสุดในปี 2008 ที่ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน 3) ปริมาณสำรองน้ำมันในแต่ละประเทศเอง โดย ใน OECD องค์การระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว มีปริมาณสำรองน้ำมันโดยรวมอยู่ประมาณ 1.6 ล้านบาร์เรล
ทั้งนี้ การปรับขึ้นของราคาน้ำมันในขณะนี้ นอกจากจะเป็นเรื่องของปัจจัยพื้นฐานอันได้แก่ Demand และ Supply ดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว การเก็งกำไรในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวผลักดันราคาน้ำมัน ดังจะเห็นได้จากปริมาณ Net Long ในตลาดสัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าซึ่งอยู่ในระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์
ในขณะที่การเข้ามาเก็งกำไรในตลาดซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากการคาดการณ์ว่า ความไม่สงบทางการเมืองในตะวันออกกลางมีความเป็นไปได้ที่จะลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ เนื่องจากอียิปต์และตูนีเซีย ซึ่งเป็น2 ประเทศแรกที่ประสบปัญหานี้ การประท้วงเป็นผลสำเร็จ โดยผู้นำประเทศยอมลงจากอำนาจ และ หลายประเทศในภูมิภาคนี้มีปัญหาทางสังคม, การเมือง และ เศรษฐกิจ คล้ายๆ กัน, Bank of America Merrill Lynch ได้ทำการศึกษาถึงความเปราะบางในระบบการเมืองและเศรษฐกิจของแต่ละประเทศซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการเกิดความไม่สงบในประเทศนั้นๆ
ทั้งนี้ หากสถานการณ์ความไม่สงบลุกลามไปยังประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก อาจส่งผลให้ปริมาณน้ำมันสำรองไม่เพียงพอได้ ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นไปมากกว่านี้ จนส่งผลกระทบในทางลบต่อปริมาณความต้องการน้ำมันและเศรษฐกิจโลกได้ในที่สุด
จากการที่น้ำมันปรับขึ้นมาค่อนข้างแรงดังกล่าว ส่งผลให้นักวิเคราะห์ในตลาดหลายสำนัก ปรับประมาณการณ์น้ำมันในปีนี้ขึ้น โดยให้ราคาน้ำมันเฉลี่ยในปี 2011 อยู่ในช่วงประมาณ $103/bbl ถึง $110/bbl โดยส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะสูงสุดใน Q2 และ ต่ำสุดใน Q4 เนื่องจากคาดว่าลิเบียจะสามารถกลับมาผลิตได้ในช่วงนั้น อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังมองว่าราคาน้ำมันในระยะยาวยังน่าจะอยู่ในช่วง $90-100/bbl