xs
xsm
sm
md
lg

พรรคการเมืองใหม่ : บทเรียนการเมืองภาคประชาชน

เผยแพร่:   โดย: วิทยา วชิระอังกูร


กิเลสโลภหลงทางการเมือง ไม่เข้าใครออกใครจริงๆ ไม่เว้นแม้แต่พรรคการเมืองใหม่พรรคใหม่ ที่เออออห่อหมกว่าตั้งขึ้นโดยมติของมวลชนคนเสื้อเหลือง มาบัดนี้ก็เริ่มจะมีอาการแปลกๆ ให้เห็น เนื้อแท้และพฤติกรรมบางส่วนที่ชักจะส่อแสดงว่าจะใช่การเมืองใหม่สมชื่อพรรคหรือไม่?

ผมต้องเขียนเรื่องนี้ เพราะเป็นคนหนึ่งที่สวมใส่เสื้อเหลืองไปที่สนามกีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2552 และกลายเป็นเสียงส่วนน้อยที่ต้านทานกระแสเฮโลสาระพาของคนเสื้อเหลืองส่วนใหญ่ไม่ไหว ยังจำได้ว่าหงุดหงิดมากกับแบบสอบถามที่ปรากฏชื่อคุณสนธิ ลิ้มทองกุล แคนดิเดตให้คนเลือกเป็นหัวหน้าพรรคด้วย เพราะไม่อยากให้คุณสนธิต้องกลายเป็นคนตระบัดสัตย์ ที่เคยประกาศต่อมวลชนคนเสื้อเหลืองว่าจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ถึงขั้นท้าทายให้คนถอดรองเท้าขว้างหรือถุยน้ำลายใส่ ถ้าไม่ทำตามคำพูด

และผมก็เคยปรารภเสียความรู้สึกและเสียใจอย่างมาก เมื่อคุณสนธิ ลิ้มทองกุล เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งก็ได้รับคำปลอบประโลมจากผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ และพรรคพวกร่วมอุดมการณ์หลายต่อหลายคนว่า อย่าเพิ่งถอดใจ และลองเปิดใจกว้างๆ ดูกันไปอีกสักพัก ความคิดต่อต้านไม่เห็นด้วยกับการตั้งพรรคการเมืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผมอาจจะเป็นฝ่ายตีตนไปก่อนไข้หรือคิดผิดเองก็เป็นได้

ผมก็ยอมรับทำใจเรื่อยมา บางช่วงบางตอนอดรนทนไม่ไหว ก็ระบายออกทางบทกวี หรือบทความบ้าง แต่ก็โดยการแสดงออกเยี่ยงกัลยาณมิตร ที่ยังรักและเชื่อมั่นในจุดยืนอุดมการณ์ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยโดยส่วนรวมเสมอมา

เหตุผลที่ผมไม่เห็นด้วยและยังไม่อยากให้ตั้งพรรคการเมือง ก็เพราะเห็นว่า อานุภาพของพลังมวลชนคนเสื้อเหลืองในการชุมนุมยืดเยื้อ 193 วัน เป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการเมืองภาคประชาชนที่สามารถจะยับยั้งความไม่ถูกต้องและสิ่งชั่วร้ายจากการใช้อำนาจรัฐของรัฐบาลที่ไม่ซื่อตรงต่อบ้านเมืองได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งที่เสริมสร้างเขี้ยวเล็บให้การเมืองภาคประชาชน ก็คือ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล และสื่อสารมวลชนในเครือข่ายผู้จัดการ และ ASTV นั่นเอง เพราะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่การชุมนุมประท้วงของภาคประชาชนมีการถ่ายทอดทางทีวี 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด และเป็นการชุมนุมประท้วงที่มีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ มาให้ข้อมูลความรู้ในรูปแบบของ มหาวิทยาลัยราชดำเนิน ที่จุดเทียนทางปัญญาได้แพร่หลายอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ผมจึงอยากเห็นคุณสนธิเป็นหัวขบวนสานต่อการเมืองภาคประชาชน ให้เป็นปึกแผ่นมั่นคงมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นจังหวะเวลาและโอกาสที่จะสามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดีในขณะนั้น โดยผมหวังอยากจะเห็นการเมืองภาคประชาชนเป็นส่วนหนึ่งในการมีส่วนร่วมบริหารจัดการอำนาจรัฐ ให้เอื้อประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยส่วนรวมอย่างแท้จริง

เหตุผลอีกส่วนหนึ่งก็คือ โครงสร้างและองคาพยพทางการเมือง ที่ถูกบรรดานักการเมืองปู้ยี่ปู้ยำจนกลายเป็นธุรกิจทางการเมือง การตั้งพรรคการเมืองเหมือนตั้งบริษัทจำกัด เป็นพรรคเฉพาะกิจของนายทุน และการเลือกตั้งทุกครั้ง ก็เหมือนการลงทุนเก็งกำไร โดยใช้เงินทองมูลค่ามหาศาลมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เมื่อได้อำนาจรัฐ ก็ถอนทุนบวกกำไร โดยประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนถูกจัดเป็นลำดับรองลงไปสำคัญน้อยกว่าการค้ากำไรงบประมาณแผ่นดิน

โครงสร้างและองคาพยพอย่างนี้หรือ ที่พรรคการเมืองใหม่คิดว่าจะแทรกตัวเข้าไปร่วมสังฆกรรมกับเขาได้ และจะมีหนทางใดไปปรับเปลี่ยนปรับแก้อะไรได้ การเลือกตั้ง ส.ก., ส.ข.ใน กทม.ที่ผ่านมา ก็น่าจะเป็นบทเรียนที่ควรจะต้องตระหนักรู้ และประเมินกำลังตนเองได้ ผมเองเคยปรารภผ่านบทความ “คิดถึงเมืองไทย” ครั้งหนึ่งว่า ผมยังนึกไม่ออกว่า พรรคการเมืองใหม่จะให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคที่ต้องทรงศีลทรงธรรมอย่างเคร่งครัด ไปสู้กับคู่ต่อสู้ที่มีอาวุธครบมือและพร้อมที่จะทำได้ทุกรูปแบบให้ชนะศึกเลือกตั้งได้อย่างไร?

และเมื่อเหตุการณ์เดินทางมาถึงจุดที่การเมืองภาคประชาชน ไม่มีทางหลบเลี่ยงที่จะต้องไปเลือกตั้งในโครงสร้างและองคาพยพที่เลวร้ายนั้น ทางเลือกสุดท้ายของภาคประชาชนจึงกำหนดยุทธวิธี “เข้าคูหา กาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน” หรือที่เรียกกันติดปากว่า Vote No เพื่อแสดงออกถึงการปฏิเสธไม่เอานักการเมืองและระบบการเมืองน้ำเน่า อันเป็นการต่อสู้ตามวิถีทางประชาธิปไตย โดยสงบ สันติ อหิงสา เยี่ยงอารยชนอย่างแท้จริง

และผมเคยเขียนร้องขอวิงวอนพรรคการเมืองใหม่ว่า อย่าร่วมสังฆกรรมกับการเลือกตั้งในครั้งต่อไป เพื่อมารวมพลังกันทำให้คะแนนเสียง Vote No มีพลังและศักยภาพพอที่จะเปลี่ยนแปลงการเมืองประเทศนี้ให้ดีขึ้น

การประชุมใหญ่พรรคการเมืองใหม่เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2554 ที่เสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกพรรคมีมติให้พรรคงดส่งสมาชิกพรรคลงสมัครรับเลือกตั้ง และให้ร่วมรณรงค์การใช้สิทธิ Vote No ร่วมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่ดูเหมือนคณะกรรมการบริหารพรรคกลับมีท่าทีขัดแย้ง โดยหยิบยกกฎระเบียบพรรคการเมืองมาอ้างว่า เป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหารที่จะพิจารณาตัดสินชี้ขาด มติของที่ประชุมสมาชิกพรรค เป็นแค่การเสนอความคิดเห็นต่อพรรคเท่านั้น โดยคณะกรรมการบริหารพรรคจะประชุมพิจารณาในวันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม 2554

แล้ววันที่ 29 พ.ค. นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ก็ยื่นหนังสือลาออกจากแกนนำ พธม. พร้อมทั้งแถลงการณ์ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ โดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน แถลงถอนตัวออกจาก พธม. เป็นการแสดงออกอย่างค่อนข้างชัดแจ้งว่า พรรคการเมืองใหม่ โดยฝ่ายผู้นำแรงงานทั้งสองคนนั้น เลือกที่อยากจะเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ โดยไม่แยแสเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกพรรค

จึงอาจเกิดปรากฏการณ์กิเลสการเมืองที่ไม่ใหม่ โดยมติคณะกรรมการบริหารพรรคออกมาสวนทางกับเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ด้วยเหตุผลที่ฟังแล้วอาจพะอืดพะอมกันทั้งประเทศไทย

และสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ขอให้เป็นบทเรียนที่มวลชนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะต้องทบทวนเรียนรู้เพื่อให้ก้าวย่างต่อไปของการเมืองภาคประชาชน ดำเนินต่อไปอย่างรอบคอบสุขุมคัมภีรภาพ ให้ทุกก้าวย่างมีธรรมนำหน้าอย่างแท้จริงตลอดไป
กำลังโหลดความคิดเห็น