xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

บีโอไอ: ภาษีธุรกิจเฉพาะ

เผยแพร่:   โดย: ธรรมรัตน์ รัตนพันธ์

ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นภาษีตามประมวลรัษฎากรประเภทหนึ่ง จัดเก็บจากการประกอบกิจการเฉพาะอย่าง แทนภาษีการค้าที่ถูกยกเลิก ภาษีธุรกิจเฉพาะเริ่มใช้บังคับใน พ.ศ. 2535 พร้อมกันกับภาษีมูลค่าเพิ่ม

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้แก่ ผู้ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ไม่ว่าผู้ประกอบกิจการดังกล่าวจะประกอบกิจการในรูปของบุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล กองมรดก ห้างหุ้นส่วนสามัญ กองทุน หน่วยงานหรือกิจการของเอกชนที่กระทำโดยบุคคลธรรมดาตั้งแต่สองคนขึ้นไปอันมิใช่นิติบุคคล องค์การของรัฐบาล สหกรณ์ และองค์กรอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นนิติบุคคล

ในกรณีผู้ประกอบกิจการอยู่นอกราชอาณาจักร ให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการประกอบกิจการรวมตลอดถึงลูกจ้าง ตัวแทน หรือผู้ทำการแทนซึ่งมีอำนาจในการจัดการแทนโดยตรง หรือโดยปริยายที่อยู่ในราชอาณาจักร เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีร่วมกับผู้ประกอบกิจการดังกล่าวข้างต้น

กิจการที่จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะได้แก่ การประกอบกิจการดังต่อไปนี้ในราชอาณาจักร โดยกิจการนั้น ไม่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ

1. การธนาคาร ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ หรือกฎหมายเฉพาะ

2. การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์

3. การรับประกันชีวิต ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต

4. การรับจำนำ ตามกฎหมายว่าด้วยโรงรับจำนำ

5. การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ เช่น การให้กู้ยืมเงินค้ำประกัน แลกเปลี่ยนเงินตรา ออก ซื้อ หรือขายตั๋วเงิน หรือรับส่งเงินไปต่างประเทศด้วยวิธีต่างๆ

6. การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้มาโดยวิธีใดก็ตาม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 (ใช้บังคับตั้งแต่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไป)

7.การขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในตลาดหลักทรัพย์

8. การประกอบกิจการอื่น ตามกำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา

กำหนดให้กิจการซื้อและขายคืนหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์เป็นกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เนื่องจากการประกอบกิจการซื้อหรือขายคืนหลักทรัพย์โดยมีสัญญาหรือซื้อคืนดังกล่าวมีลักษณะอื่นที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ (พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 350) พ.ศ. 2524

กำหนดให้การประกอบธุรกิจแฟกเตอริงเป็นกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เนื่องจากการประกอบธุรกิจดังกล่าวมีลักษณะคล้ายคลึงกับการให้กู้ยืมเงินที่เป็นการประกอบกิจการโดยปกติ เยี่ยงธนาคารพาณิชย์ (พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 358) พ.ศ.2542)

คำว่า “ธุรกิจแฟกเตอริง” หมายความว่า ธุรกิจที่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการตกลงจะโอนทรัพย์สินที่จะได้รับจากการชำระหนี้เนื่องจากการขายสินค้าหรือการให้บริการระหว่างตนกับลูกหนี้ของตน ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจแฟกเตอริง โดยผู้ประกอบธุรกิจแฟกเตอริงตกลงจะให้สินเชื่อซึ่งรวมถึงการให้กู้ยืมและการทดรองจ่ายแก่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการและรับที่จะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

(ก) จัดให้มีบัญชีทรัพย์สินที่จะได้รับการชำระหนี้

(ข) เรียกเก็บทรัพย์สินที่จะได้รับจากการชำระหนี้

(ค) รับผิดชอบในหนี้ที่ลูกหนี้ของผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการผิดนัด

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3590/2549 ป.รัษฎากรฯ มาตรา 91/1 (4) ให้คำนิยามคำว่า ขาย ว่า หมายความรวมถึงสัญญาจะขาย ขายฝาก แลกเปลี่ยน ให้เช่าซื้อ หรือจำหน่าย จ่าย โอน ไม่ว่าจะมีประโยชน์ตอบแทนหรือไม่ ฉะนั้น แม้โจทก์จะโอนที่ดินให้แก่กรมทางหลวงตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ ก็ถือว่าเป็นการขายตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 91/1 (4)

แม้ตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 91/2 ประกอบ พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) มาตรา 4 (5) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่นิติบุคคลผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่เมื่ออสังหาริมทรัพย์ที่ขาย โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลจำเป็นต้องมีไว้ใช้ในการประกอบกิจการ เพราะต้องใช้เป็นโรงงานผลิตสินค้าจำหน่าย ไม่ใช่มีไว้เพื่อขาย และการที่โจทก์ต้องโอนทรัพย์ก็เนื่องจากมี พ.ร.ฎ.ออกมากำหนดให้ที่ดินของโจทก์ในส่วนที่โอนอยู่ในบริเวณที่ที่จะต้องถูกเวนคืนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ

หากโจทก์ไม่ตกลงกับเจ้าหน้าที่ก็ต้องถูกเวนคืน การที่โจทก์ยอมตกลงโอนทรัพย์ให้แก่กรมทางหลวงจึงเกิดจากสภาพบังคับไม่ใช่การโอนโดยเจตนาหรือเพื่อประโยชน์ในกิจการของโจทก์ ดังนั้น จึงไม่เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่ง ป.รัษฎากรฯ

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2553-8111 หรือที่ head@boi.go.th
 
กำลังโหลดความคิดเห็น