xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สุวิทย์ “ขอถอน” ต่อรองอภิสิทธิ์ หักดิบ “กษิต ภิรมย์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - จากกรณีที่ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าผู้แทนการเจรจาฝ่ายไทย ได้แจ้งขอถอนตัวจากการเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนการเจรจามรดกโลกฝ่ายไทย รวมทั้งขอถอนตัวจากการเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการไปประชุมคณะกรรมการมรดกโลกระหว่างวันที่ 19 - 29 มิถุนายน ที่ประเทศฝรั่งเศส

โดยการขอถอนตัวของนายสุวิทย์ครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นที่สนใจของหลายฝ่ายเป็นอย่างมาก ถึงแม้สุดท้ายนายสุวิทย์จะกลับลำอยู่นั่งตำแหน่งต่อตามคำขอของนายกรัฐมนตรี แต่การขอถอนตัวของนายสุวิทย์ครั้งนี้ ก็สะท้อนให้เห็นว่า “ปัญหา” ในคณะกรรมการมรดกโลกนั้นมีอยู่จริง ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นายสุวิทย์ตัดสินใจลาออก

อย่างไรก็ตาม นอกจากการขอถอนตัวของนายสุวิทย์แล้ว ยังมีเรื่องของ “บันทึกเจบีซีอัปยศ” ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ถอดออกจากวาระการประชุมร่วมของรัฐสภา หลังจากที่รัฐบาลดื้อแพ่งนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมสภา จนทำให้สภา “ล่ม” แล้ว "ล่ม" อีก จน “บันทึกเจบีซีอัปยศ” ไม่มีวี่แววว่าจะผ่านการรับรองจากรัฐสภาอย่างที่นายอภิสิทธิ์ และพรรคพวกอยากให้เป็น

สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า ความพยายามผลักดันของนายอภิสิทธิ์และรัฐบาลที่จะนำร่างบันทึกการประชุมเจบีซีเข้าที่ประชุมรัฐสภาตลอด 2 ปีที่ผ่านมานั้น เป็นความพยายามที่ผิด ! และนี่ก็คือความ “ห่วยแตก” ไร้ประสิทธิภาพ และบริหารประเทศแบบ “มั่วนิ่ม” ของนายอภิสิทธิ์ !!

สุวิทย์งึกๆ งักๆ หนีมรดกโลก
มาร์คตะล่อม-กล่อมจนอยู่หมัด

สืบเนื่องมาจากกรณีที่ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะหัวหน้าผู้แทนการเจรจาฝ่ายไทย ได้แจ้งขอถอนตัวจากการเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนการเจรจามรดกโลกฝ่ายไทย ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ซึ่งมีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งนายสุวิทย์ต้องทำหน้าที่ในการเจรจาระดับทวิภาคีระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชากรณีเขาพระวิหาร ที่ประเทศฝรั่งเศสในวันที่ 25 พฤษภาคมรวมทั้งขอถอนตัวจากการเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการไปประชุมคณะกรรมการมรดกโลกระหว่างวันที่ 19 - 29 มิถุนายน ที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือการเจรจาเรื่องแผนบริหารจัดการเขาพระวิหารที่ค้างมาจาการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ประเทศบราซิล เมื่อปี 2553

ทั้งนี้ รายงานระบุว่า นายสุวิทย์ ให้เหตุผลต่อที่ประชุมว่า ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาของการเลือกตั้งพอดี ทำให้ไม่มีเวลาไปประชุม ดังนั้น จึงขอให้ที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศส่งตัวแทนไปร่วมประชุมแทน

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา นายสุวิทย์ได้กล่าวถึงกรณีการถอนตัวออกจากหัวหน้าคณะผู้แทนเจรจามรดกโลกฝ่ายไทย ว่า สาเหตุที่ถอนตัวต่อที่ประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกเมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมานั้น ข้อเท็จจริงไม่เกี่ยวกับการออกไปเพื่อเตรียมเลือกตั้งครั้งใหม่ แต่มีสาเหตุจากนโยบายของกระทรวงการต่างประเทศกับของตนไม่ตรงกัน

ทั้งนี้ นายสุวิทย์บอกว่า เพราะมีนโยบายการดำเนินการเป็น 2 แนวทาง คือ ในส่วนของตนต้องการให้มีการปักปันเขตแดนไทย-กัมพูชาให้ชัดเจนก่อน เนื่องจากในแผนบริหารจัดการพื้นที่ของกัมพูชาที่เสนอเข้ามายังมีการรุกล้ำชายแดนไทยอยู่ ขณะที่ความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ กลับต้องการทำให้มีการจัดทำแผนบริหารจัดการร่วมกันระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว ที่สำคัญยังเห็นว่าเป็นการเลยขั้นตอนนี้มาแล้ว เพราะถ้าไปทำแผนจัดการร่วมกันสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียอำนาจอธิปไตยของประเทศ และจะเป็นจุดอ่อนช่องว่างในการเจรจาที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้

“ต้องการให้การเจรจากรณีการขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหารในส่วนของประเทศไทย มีความเป็นเอกภาพ เพราะที่ผ่านมาการทำงานของประเทศไทยยังไม่มีความเป็นเอกภาพ ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาจึงต้องการลาออก เพื่อมอบให้กระทรวงการต่างประเทศในฐานะผู้รับผิดชอบดำเนินการแต่ฝ่ายเดียว เพราะตำแหน่งหัวหน้าคณะเจรจาฯ ไม่ได้ผูกพันกับตำแหน่งรัฐมนตรี ที่เป็นรองประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ที่เป็นโดยตำแหน่ง อีกทั้งการเป็นหัวหน้าคณะเจรจาฯ ก็เป็นการอาสากับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพราะเคยเป็นผู้คัดค้านในรัฐบาลชุดก่อน อย่างไรก็ตาม ผมจะคุยกับนายกรัฐมนตรี โดยยังยืนยันให้ยึดเอาผลประโยชน์เป็นที่ตั้ง เพื่อไม่ให้ไทยต้องเสียอธิปไตย” นายสุวิทย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการพูดคุยกับนายอภิสิทธิ์ นายไตรรงค์ และนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ นายสุวิทย์ก็เปลี่ยนใจยอมนั่งอยู่ในตำแหน่งต่อ โดยอ้างว่าท่านนายกฯ ขอ...

“ท่านนายกฯ ยังขอให้ผมเป็นหัวหน้าคณะ เป็นประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจชุดนี้อยู่ ผมเห็นว่าสิ่งใดที่ผมจะทำให้กับชาติบ้านเมืองได้ในการปกป้องอำนาจอธิปไตยเขตแดนแล้วก็ทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างไทย - กัมพูชา ผมก็ยินดีที่จะทำ ฉะนั้นในแนวทาง ทิศทางที่เป็นเอกภาพในการทำงานที่เป็นระบบมากขึ้นโดยการสนับสนุนของนายกฯ และนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาล คิดว่าตรงนี้ก็ดำเนินการต่อไปได้” นายสุวิทย์ ให้ความเห็น

**เบื้องหลัง”สุวิทย์ “ กลับลำ
คือความพ่ายแพ้ของ “กษิต ภิรมย์”

สำหรับเบื้องหลังการกลับหลังหัน 360 องศาของนายสุวิทย์นั้น แหล่งข่าวระดับสูงเปิดเผยว่า เป็นผลมาจากชัยชนะของนายสุวิทย์ที่มีเหนือกระทรวงการต่างประเทศ เพราะการที่รัฐบาลมอบหมายให้นายสุวิทย์ทำหน้าที่ต่อไปนั้น หมายถึงรัฐบาลยอมรับตามข้อเสนอของนายสุวิทย์ และสะท้อนให้เห็นว่าแนวทางของกระทรวงการต่างประเทศไม่ถูกต้องและผิดพลาดมาโดยตลอด เสี่ยงต่อการทำให้ไทยต้องเสียดินแดน

นอกจากนั้น การขอถอนตัวของนายสุวิทย์ยังสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาในคณะกรรมการมรดกโลกนั้นมีอยู่จริง จึงเป็นเหตุทำให้นายสุวิทย์ ในฐานะผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีในการไปเจรจากับคณะกรรมการมรดกโลกได้ตัดสินใจลาออก เพราะในความเป็นจริงนายสุวิทย์ ได้พยายามขอถอนตัวมาเป็นครั้งที่ 4 แล้ว ตั้งแต่เมื่อครั้งการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2553 ที่ประเทศบราซิล

โดยครั้งนั้น ได้เกิดความขัดแย้งอย่างสูงระหว่างนายสุวิทย์ กับนายอภิสิทธิ์ เนื่องจากนายสุวิทย์ เห็นว่าในเวลานั้นคณะกรรมการมรดกโลกเตรียมที่จะอนุมัติปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาเพียงฝ่ายเดียว และเสนอให้ถอนตัวออกจากการเป็นภาคีมรดกโลก แต่ในที่สุดนายกฯ ได้สั่งการให้นายสุวิทย์ลงนามในร่างประนีประนอม 3 ฝ่าย ระหว่างไทย-กัมพูชา และคณะกรรมการมรดกโลก ทำให้มีผลผูกพันมาถึงทุกวันนี้ ว่าไทยไม่ปฏิเสธในมติคณะกรรมการมรดกโลกก่อนหน้านั้น และพร้อมที่จะเดินหน้าในการตั้งคณะกรรมการ 7 ชาติ ที่จะมาบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร

ส่วนเหตุการณ์ความขัดแย้งครั้งที่ 2 เกิดจากการปีนเกลียวกันระหว่างนายสุวิทย์ กับกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งหลายครั้งในที่ประชุมครม. นายสุวิทย์ ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอ จากกระทรวงการต่างประเทศ เนื่องจากมาจากคนละพรรคการเมือง และมีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องมรดกโลกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

นอกจากนี้ ยังมีความขัดแย้งในกรณีที่นายสุวิทย์พยายามเสนอให้มีการใช้กำลังทหารผลักดันกองกำลัง และชุมชนกัมพูชาออกจากพื้นที่ และตรึงอยู่ในพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร เพื่อไม่ให้กัมพูชาสามารถขออนุมัติแผนบริหารจัดการมรดกโลกได้ รวมทั้งการเสนอให้ตัดการส่งน้ำมัน และพลังงานให้แก่กัมพูชา แต่ไม่ได้รับการตอบสนองแม้แต่น้อย

หลายปัจจัยเหล่านี้ หากนายสุวิทย์ยังทำหน้าที่ในฐานะเป็นผู้เจรจาต่อไป ก็ต้องเผชิญหน้ากับการเป็น “แพะรับบาป” จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ในปลายเดือน มิถุนายน นี้ จึงน่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้นายสุวิทย์ตัดสินใจลาออกจากการเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนการเจรจามรดกโลกฝ่ายไทย ในครั้งนี้

“การที่นายสุวิทย์กลับลำ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยอมรับตามข้อเสนอของนายสุวิทย์ และสะท้อนให้เห็นว่าแนวทางของกระทรวงการต่างประเทศไม่ถูกต้องและผิดพลาดมาโดยตลอด อีกทั้งยังเป็นการย้ำว่า สิ่งที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และภาคประชาชนเรียกร้องว่า การขึ้นทะเบียนมรดกโลกทำให้ไทยต้องสูญเสียดินแดนหากยอมรับแผนบริหารจัดการมรดกโลกของฝ่ายกัมพูชา, เป็นสิ่งที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ยังไม่ได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในเดือน มิ.ย. นี้ ว่าจะคัดค้านหรือสนับสนุนการอนุมัติให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ตรงนี้รัฐบาลต้องออกมาแสดงจุดยืนให้ชัดเจน ซึ่งผมขอสนับสนุนแนวทางการดำเนินการของนายสุวิทย์ ที่ต้องการให้มีการจัดทำหลักเขตแดนให้แล้วเสร็จก่อน จึงค่อยเจรจาแนวทางการขึ้นทะเบียนหรือแผนบริหารจัดการต่อกัน” นายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทยวิเคราะห์

ทั้งนี้ นายประพันธ์ยังยืนยันว่า การถอนตัวจากมรดกโลกของไทยนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะนายสุวิทย์ ก็เป็นผู้ยอมรับเองว่า 21 ประเทศที่เป็นกรรมการมรดกโลกในตอนนี้มีแนวโน้มในการสนับสนุนกัมพูชาเป็นหลัก ผ่านการล็อบบี้ของบรรดามหาอำนาจที่มีผลประโยชน์กับกัมพูชา ตรงนี้จะทำให้ไทยเสียเปรียบในเวทีมรดกโลกทันที เพราะถือเป็นเสียงส่วนน้อยในที่ประชุม หากเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกไม่กระทบเขตแดนไทย ไทยคงยากที่จะคัดค้านได้

“ดังนั้น, การที่นายสุวิทย์เห็นว่าไม่สมควรขึ้นทะเบียนได้ และกระทรวงการต่างประเทศเองก็จะทำการศึกษาพื้นที่โดยรอบเพื่อเสนอให้ขึ้นทะเบียนร่วมกันนั้น ก็ที่จะชะลอการพิจารณา หรือหากไม่สามารถทัดทานได้ ก็ควรที่จะถอนตัวออกจากการเป็นภาคีมรดกโลกเสียก่อน...” นายประพันธ์ ให้ความเห็น

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากเหตุผลดังกล่าวที่ทำให้นายสุวิทย์กลับลำยอมนั่งอยู่ในตำแหน่งต่อไปแล้ว ยังมีการวิเคราะห์กันวงในด้วยว่า เป็นผลมาจากการตกลงกันทางใจระหว่างนายสุวิทย์กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่จะต้องเชิญพรรคกิจสังคมของนายสุวิทย์เข้ามาเป็นรัฐบาลหากพรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งในครั้งหน้า

ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมานายสุวิทย์พยายามที่จะฟื้นพรรคกิจสังคมขึ้นมาเป็นพรรคระดับกลาง เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับพรรคแกนนำเชิญเข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาล ถึงกลับมีการจ้างทีมงานประชาสัมพันธ์เพื่อเข้ามาจัดการพรรคกิจสังคมให้มีภาพลักษณ์ใหม่ทั้งหมด ซึ่งรายงานข่าวแจ้งว่า พรรคกิจสังคมนอกจากนายสุวิทย์แล้ว ยังมีแกนนำแบบเงียบๆ เช่น นายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ สามีนางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ อีกด้วย

**ถอด “บันทึกเจบีซีอัปยศ” !
รัฐบาล “มาร์ค” จำนนต่อความจริง

นอกจากปมปัญหามรดกโลกเขาพระวิหารที่ทำให้นายสุวิทย์ออกอาการงึกๆ งักๆ “อยากถอน” แล้ว ยังมีเรื่องของ “บันทึกเจบีซีอัปยศ” ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ถอดออกจากวาระการประชุมร่วมของรัฐสภา หลังจากที่รัฐบาล โดยการนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ดึงดันและดื้อด้านนำผลบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือเจบีซี 3 ฉบับ เข้าพิจารณาในที่ประชุมสภา จนทำให้สภา “ล่ม” แล้ว "ล่ม" อีก จน “บันทึกเจบีซีอัปยศ” ไม่มีวี่แววว่าจะผ่านการรับรองจากรัฐสภาอย่างที่นายอภิสิทธิ์ และพรรคพวกอยากให้เป็น กระทั่งในที่สุด คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ถอดร่างบันทึกผลการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือเจบีซี 3 ฉบับออกจากวาระการประชุมร่วมของรัฐสภา

สิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า ความพยายามผลักดันของนายอภิสิทธิ์และรัฐบาลที่จะนำร่างบันทึกการประชุมเจบีซีเข้าที่ประชุมรัฐสภาตลอด 2 ปีที่ผ่านมานั้น เป็นความพยายามที่ผิด ! ขณะเดียวกัน ก็เป็นการพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า การชุมนุมและข้อเรียกร้องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวมถึงคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย และภาคประชาชน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ จากการที่รัฐสภามีมติเห็นชอบให้คณะกรรมการประสานงาน (วิป) รัฐบาล ถอนร่างบันทึกผลการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ไทย-กัมพูชาทั้ง 3 ฉบับ พร้อมร่างข้อตกลงชั่วคราว จากวาระการประชุมสภา ถือว่าเป็นความพยายามของภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวต่อต้านเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมสภา ตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค. 2553 ซึ่งเป็นวันที่ ครม.ได้นำเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสภาเป็นผลสำเร็จ

นอกจากนี้ ยังสะท้อนให้เห็นว่า กระบวนการทั้งหมดไม่เป็นที่ยอมรับของรัฐสภา ซึ่งจะเห็นได้จากการประชุมที่ไม่ครบองค์ประชุม มี ส.ส. ตัดสินใจไม่เข้าประชุมจำนวนมาก จนทำให้ ครม. ต้องยอมรับ และถอนบันทึกออกจากที่ประชุมสภา และส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเพื่อเป็นการแก้เกี้ยว

สุดท้าย สิ่งที่เกิดขึ้นได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ในที่สุดแล้วความดื้อแพ่งของรัฐบาลก็ไม่อาจต้านทานข้อเท็จจริงและข้อมูลที่ถูกต้องของประชาชน ซึ่งรัฐบาลจะต้องแสดงความรับผิดชอบ รวมทั้ง นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ จะต้องลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบด้วยเช่นกัน !!


กำลังโหลดความคิดเห็น