โฆษกพันธมิตรฯ ชี้ “สุวิทย์” ลาออก หัวหน้าคณะเจรจามรดกโลก แสดงปัญหามีอยู่จริง หลังเจ้าตัวขัดแย้ง “มาร์ค-กต.” ไม่ถูกตอบสนองตามข้อเสนอ เชื่อลาออกเหตุกลัวเป็นแพะรับบาป แนะรัฐส่งตัวแทนไปถอนตัวภาคีอนุสัญญามรดกโลก แต่รับให้ กต.ทำก็น่าห่วง
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ให้สัมภาษณ์
วันนี้ (19 เม.ย.) ที่สะพานมัฆวานฯ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีที่นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถอนตัวออกจากการเป็นหัวหน้าคณะเจรจามรดกโลกฝ่ายไทยว่า เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่เราได้พูดถึงปัญหาในคณะกรรมการมรดกโลกนั้นมีอยู่จริง จึงเป็นเหตุทำให้นายสุวิทย์ ในฐานะผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีในการไปเจรจากับคณะกรรมการมรดกโลกได้ตัดสินใจลาออก ในความเป็นจริงคุณสุวิทย์ได้พยายามถอนตัวมาเป็นครั้งที่ 4 แล้ว ตั้งแต่เมื่อครั้งการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก วันที่ 29 ก.ค.53 ที่ประเทศบราซิลนั้น ได้เกิดความขัดแย้งอย่างสูงระหว่างนายสุวิทย์ กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เนื่องจากนายสุวิทย์ เห็นว่าในเวลานั้นคณะกรรมการมรดกโลกเตรียมที่จะอนุมัติปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาเพียงฝ่ายเดียว และเสนอให้ถอนตัวออกจากการเป็นภาคีมรดกโลก แต่ในที่สุดนายกฯ ได้สั่งการให้คุณสุวิทย์ลงนามในร่างประนีประนอม 3 ฝ่าย ระหว่างไทย กัมพูชา และคณะกรรมการมรดกโลก ทำให้มีผลผูกพันมาถึงทุกวันนี้ว่าไทยไม่ปฏิเสธในมติคณะกรรมการมรดกโลกก่อนหน้านั้น และพร้อมที่จะเดินหน้าในการตั้งคณะกรรมการ 7 ชาติที่จะมาบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร
นายปานเทพกล่าวต่อว่า เหตุการณ์ความขัดแย้งครั้งที่ 2 เกิดจากการปีนเกลียวกันระหว่างนายสุวิทย์ กับกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งหลายครั้งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายสุวิทย์ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอจากกระทรวงการต่างประเทศ เนื่องจากมาจากคนละพรรคการเมือง และมีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องมรดกโลกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งยังมีความขัดแย้งในกรณีที่นายสุวิทย์ พยายามเสนอให้มีการใช้กำลังทหารผลักดันกองกำลังและชุมชนกัมพูชาออกจากพื้นที่ และตรึงอยู่ในพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร เพื่อไม่ให้กัมพูชาสามารถขออนุมัติแผนบริหารจัดการมรดกโลกได้ รวมทั้งการเสนอให้ตัดการส่งน้ำมันและพลังงานให้แก่กัมพูชาอีกด้วย แต่ไม่ได้รับการตอบสนองแม้แต่น้อย
“หลายปัจจัยเหล่านี้หากคุณสุวิทย์ ยังทำหน้าที่ในฐานะเป็นผู้เจรจาต่อไป ก็ต้องเผชิญหน้ากับการเป็นแพะรับบาปจากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ในปลายเดือน มิ.ย.นี้ จึงน่าจะเป็นสาเหตุหลักที่คุณสุวิทย์ ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง” นายปานเทพกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การถอนตัวของนายสุวิทย์ จะส่งผลดีหรือเสียอย่างไรในเวทีมรดกโลก เนื่องจากที่ผ่านมานายสุวิทย์มีแนวทางที่ใกล้เคียงกับภาคประชาชน นายปานเทพกล่าวว่า บทบาทของนายสุวิทย์ ไม่ได้อยู่ในส่วนของคณะกรรมการมรดกโลกฝ่ายไทย ซึ่งมีนางโสมสุดา ลียะวณิช เป็นประธานฝ่ายไทย แต่นายสุวิทย์ทำหน้าที่ในนามตัวแทนของรัฐบาลไทยที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี เพื่อไปบอกกับคณะกรรมการมรดกโลกว่าพื้นที่เขาพระวิหารนั้นมีปัญหา แต่เมื่อตัวแทนรัฐบาลไทยไปลงนามผูกพันในร่างประนีประนอมตามคำสั่งของนายกฯก็มีผลเสียหายอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในการประชุมมรดกโลกเดือน มิ.ย.นี้ นอกจากนางโสมสุดา ที่เป็นตัวแทนฝ่ายไทยแล้ว รัฐบาลก็ควรที่จะส่งตัวแทนของรัฐบาลเข้าร่วมการประชุมด้วย เพื่อยืนยันว่าไม่สามารถอนุมัติแผนบริหารจัดการมรดกโลกได้ และควรดำเนินการตามที่พันธมิตรฯเสนอในการถอนตัวออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลกตามที่นายสุวิทย์เสนอไว้ด้วย แต่หากไม่ทำรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง
เมื่อถามต่อว่า มองว่าการถอนตัวของนายสุวิทย์ เป็นการผลักภาระหรือไม่ นายปานเทพ กล่าวว่า ไม่ควรมองว่าเป็นการผลักภาระ เพราะนายสุวิทย์ ตั้งใจอาสาไปดำเนินการภารกิจนี้ตั้งแต่แรก แต่ในช่วงหลังมีความขัดแย้งกับกระทรวงการต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายในเรื่องมรดกโลก หากดูจากเมื่อครั้งที่ผู้แทนมรดกโลกเดินทางมาเยือนประเทศไทย นายสุวิทย์ กลับไม่ได้เป็นผู้เจรจา คนที่ไปเจรจากลับเป็นนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการประการต่างประเทศ ที่ไปเห็นชอบเห็นดีเห็นงามกับแผนบริหารจัดการ และยังบอกด้วยว่าไม่เคยคิดให้ถอนปราสาทพระวิหารออกจากบัญชีมรดกโลกอีกด้วย โดยแลกเปลี่ยนเพียงแค่ให้เปิดพื้นที่ท่องเที่ยวให้คนไทยไปได้เท่านั้น บ่งบอกได้ว่าหากมีการเจรจาตามกรอบนี้จริง นายสุวิทย์ ที่ไม่มีส่วนร่วม แต่ให้ไปรับผิดชอบคงไม่ได้
ต่อข้อถามที่ว่า หากกระทรวงการต่างประเทศทำหน้าที่ตัวแทนรัฐบาลไทยในเวทีมรดกโลกมีผลแตกต่างอย่างไร นายปานเทพกล่าวว่า ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะปัญหาเดิมที่ไปลงนามในร่างประนีประนอมตั้งแต่วันที่ 29 ก.ค.53 นั้น มีผลผูกพันในระดับนานาชาติ เพราะหากคนที่ไปเจรจาไม่มีความเข้าใจอย่างแท้จริงก็จะเพลี่ยงพล้ำในเวทีมรดกโลกอย่างแน่นอน เมื่อเป็นเช่นนี้ภาคประชาชนจึงได้เสนอให้ถอนตัวออกมานานแล้ว เพราะเป็นอันตรายหากไปเข้าร่วมประชุมสร้างความชอบธรรมให้กับกัมพูชา โดยที่เราเป็นเสียงส่วนน้อยที่ต้องยอมรับกติกาเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก
โฆษกพันธมิตรฯ ยังได้กล่าวถึงวาระการประชุมเพื่อพิจารณารับรองบันทึกผลการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ไทย-กัมพูชา ของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ในวันนี้ (19 เม.ย.) ว่า ต้องจับตาดูว่ายังมีความพยายามจากฝ่ายรัฐบาลที่ต้องการเดินหน้าให้ที่ประชุมรัฐสภารับรองข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการศึกษาบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับที่นายเจริญ คันธวงศ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เป็นประธาน ซึ่งตนต้องขอย้ำว่าคณะกรรมาธิการชุดนี้ถูกตั้งขึ้นจากการที่รัฐบาลได้เสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบบันทึกเจบีซี 3 ฉบับ และร่างข้อตกลงชั่วคราว ที่เข้าข่ายมาตรา 190 (2) ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่มีบทบัญญัติที่ให้กรรมาธิการมาตั้งข้อสังเกต มีเพียงการรับรองหรือไม่เท่านั้น ดังนั้นสมาชิกรัฐสภาไม่ควรที่จะรับรองข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการดังกล่าวเลย
“สิ่งที่ควรทำในตอนนี้คือรัฐบาลควรนำเสนอวาระใหม่เพื่อแก้ไขกรอบการเจรจาให้ถูกต้อง โดยไม่รับเอ็มโอยู 2543 ไม่รับแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน และไม่ยอมรับการจัดทำหลักเขตแดนในระวางดงรัก ซึ่งรัฐบาลกลับไม่ยอมทำและไม่เดินหน้า จึงเห็นว่าสิ่งที่เราได้เสนอในการยกเลิกเอ็มโอยู 2543 เป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดที่สุด” นายปานเทพกล่าว