xs
xsm
sm
md
lg

“สุวิทย์”ชิ่งหนี“มรดกโลก” งง!วิปรัฐดันสภาร่วมรับข้อสังเกตเจบีซี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา วานนี้(18 เม.ย.) นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ทั้งนี้มีนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะหัวหน้าผู้แทนการเจรจาฝ่ายไทย ร่วมประชุมด้วย ขณะเดียวกันนายนายอัษฎา ชัยนาม ประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม ( JBC) ฝ่ายไทย ได้เข้ามารายงานและให้ความเห็นผลการประชุมเจบีซีล่าสุดที่อินโดนีเซียด้วย
ระหว่างการประชุมนายสุวิทย์ ในฐานะหัวหน้าผู้แทนการเจรจาฝ่ายไทย ได้แจ้งขอถอนตัวจากการเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนการเจรจามรดกโลกฝ่ายไทย ซึ่งต้องทำหน้าที่ในการเจรจาระดับทวิภาคีระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชากรณีเขาพระวิหาร ที่ประเทศฝรั่งเศสในวันที่ 25 พ.ค.นี้ รวมทั้งขอถอนตัวจากการเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการไปประชุมคณะกรรมการมรดกโลกระหว่างวันที่ 19 – 29 มิ.ย.นี้ ที่ประเทศฝรั่งเศส อีกด้วย ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือการเจรจาเรื่องแผนบริหารจัดการเขาพระวิหารที่ค้าง มาจาการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ประเทศบราซิล เมื่อปี 2553
รายงานระบุว่า นายสุวิทย์ ให้เหตุผลต่อที่ประชุมว่า ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาของการเลือกตั้งพอดี ทำให้ไม่มีเวลาไปประชุม ดังนั้นจึงขอให้ที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ ส่งตัวแทนไปร่วมประชุมแทน
“เรื่องดังกล่าวนายไตรรงค์ ได้ตำหนินายสุวิทย์ ต่อที่ประชุมว่าที่ผ่านมา มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มอบให้ทส. ทำหน้าที่ในการเจรจาและนายสุวิทย์ ก็ทำหน้าที่มาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจะไปมอบให้กระทรวงการต่างประเทศไปเจรจาแทนได้อย่างไร แตเรื่องนี้จะต้องนำเข้าที่ประชุม ครม.ในวันที่ 20 เม.ย.นี้ เพื่อหารือว่าจะให้ใครเป็นผู้แทนในการเจรจาต่อไป ซึ่งอาจจะเป็นกระทรวงการต่างประเทศหรือนายอัษฎา ชัยนาม ประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม ( JBC) ฝ่ายไทย”
อย่างไรก็ตามมีการวิเคราะห์ว่า สำหรับสาเหตุการขอถอนตัวของนายสุวิทย์ มาจากปัญหาถูกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยฟ้องร้องกรณีไปเซ็นรับรองเอกสารจากที่ประชุมมรดกโลกที่ประเทศบราซิล เมื่อปี 2553 และเกรงว่าจะมีผลผูกพันตามมา ขณะนี้ก่อนหน้านี้ประมาณ 1 – 2 เดือนที่ผ่านมา นายสุวิทย์ได้ปฎิเสธมาตลอดถึงการลาออกจากหัวหน้าคณะ ผู้แทนการเจรจามรดกโลกฝ่ายไทย
วันเดียวกันสำนักเลขาธิการรัฐสภา ได้ทำหนังสือแจ้งว่านายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา มีคำสั่งให้นัดประชุมร่วมรัฐสภา ในวันที่ 19 เม.ย. เวลา 09.30 น. โดยมีวาระการประชุมสำคัญ คือ การรับทราบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ กรณีนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์พร้อมคณะอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ประกอบมาตรา 154 (1) เข้าชื่อเสนอคำร้องต่อประธานรัฐสภา เพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยว่าบันทึกการประชุมคณะกรรมรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) รวม 3 ฉบับ เป็นหนังสือสัญญาที่ต้องผ่านได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วว่าเรื่องดังกล่าวยังไม่เข้าข่ายมาตรา 190 เพราะยังไม่ถือว่าเป็นหนังสือสัญญา
นอกจากนั้นในวาระที่พิจารณาเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วเสร็จ พบว่า ได้มีการนำรายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาบันทึกการประชุมเจบีซี รวม 3 ฉบับ
น.ส.ผ่องศรี ธราภูมิ ส.ส.ลพบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะคณะกรรมการประสานงานร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยว่าในส่วนของเจบีซีนั้น เบื้องต้นได้ถอนบันทึกการประชุมเจบีซี 3 ฉบับออกจากระเบียบวาระแล้วหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ายังไม่ถึงขั้นตอนที่ต้องขอความเห็นจากที่ประชุมรัฐสภา ทั้งนี้การประชุมจำเป็นต้องให้ความเห็นในรายงานของกมธ.เจบีซี ที่มีนายเจริญ คันธวงศ์ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน
นายเจริญ กล่าวว่า แม้ครม.จะมีมติให้ถอนเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่ต้อนผ่านการเห็นชอบจากสภาว่าให้ถอนหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้วิปรัฐบาล ได้มีการหารือกันแล้วว่าจะเสนอในที่ประชุมร่วม ให้ถอนเรื่องดังกล่าวออกจากวาระการประชุม เพราะเมื่อถอนแล้วก็ต้องถอนทั้งหมด ทั้งบันทึกข้อตกลงทั้ง 3 ฉบับ และความเห็นของกมธ.ที่ตนเป็นประธานออกด้วย
ก่อนหน้านั้นเวลา 03.30 น. ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 (บน.6) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ก่อนออกเดินทางเยือนประเทศอินโดนีเซียตามคำเชิญของรมว.กลาโหม อินโดนีเซีย โดยมี พล.อ.กิตติพงษ์ เกษโกวิท ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และคณะนายทหารระดับสูงของกระทรวงกลาโหมร่วมเดินทาง ว่า เนื้อหาที่จะมีการพูดคุยในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของทั้ง 2 กองทัพ และการเปลี่ยนแปลงการศึกษา การฝึกร่วม จะไม่มีการพูดถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะกรณีที่จะให้ผู้สังเกตการณ์ทางด้านการทหารของประเทศอินโดนีเซีย เพราะเรื่องนี้จบไปแล้ว และขั้นตอนทั้งหมดอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการ
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า ในส่วนของเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชา ต้องติดตามผลการประชุมที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเมื่อกองทัพมีความชัดเจน ที่ไม่ให้ทหารอินโดนีเซีย เข้ามาสังเกตการณ์ในพื้นที่ 4.6 ตร.กม.รอบปราสาทพระวิหาร
กำลังโหลดความคิดเห็น