“ณ บ้านพระอาทิตย์”
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
พ้นสัปดาห์นี้ไปก็ถือว่าการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการชุมนุมที่ชื่อว่ารวมพลังปกป้องแผ่นดิน โดยการควบคุมและตัดสินใจในเชิงนโยบายโดยคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทยนั้น ก็ได้ผ่านการชุมนุมมาถึง 90 วัน หรือประมาณ 3 เดือนแล้ว
3 เดือนแห่งการพิสูจน์ความจริง และเป็นการยืนยันความถูกต้องในการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนให้เห็นเด่นชัดมาเป็นลำดับ
แม้การชุมนุมในรอบนี้จะถูกปรามาสว่ามีคนน้อยกว่าการชุมนุมเมื่อปี 2551 แต่ในความจริงแล้ว แกนนำและผู้ชุมนุมกลับยืนหยัดที่จะชุมนุมอย่างยืดเยื้อเพื่อพิสูจน์ความจริงว่าเหตุผลที่ประชาชนจำนวนหนึ่งต้องออกมาชุมนุมนั้นเป็นความจริงหรือความเท็จ?
คำถามที่สังคมไทยควรจะต้องคิดใคร่ครวญมีอยู่ว่า...
การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติที่ถูกอีกชาติหนึ่งรุกรานและยึดครองอยู่นั้น เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษต่อประเทศชาติ?
ก่อนหน้าที่จะมีการชุมนุมนั้น ทหารไทยได้ปรับกำลังถอนตัวออกจากวัดแก้วสิขะคีรีสะวารา โดยที่รัฐบาลได้ปฏิเสธมาโดยตลอด แต่ด้วยเทคโนโลยีข่าวสารที่รวดเร็วและทันสมัยทำให้ภาคประชาชนต้องหยิบข่าวป้ายแผ่นหินที่ฝ่ายกัมพูชามาทำพิธีเปิดเพื่อประจานใส่ร้ายไทยว่าเป็นฝ่ายรุกรานกัมพูชาและระบุว่าทหารไทยถอนกำลังออกจากวัดแก้วสิขะคีรีสะวาราตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม 2553 ทำให้เราได้รู้ว่าทหารไทยได้ถอยออกจากดินแดนไทยนั้นเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นจริง จนเกิดแรงกดดันจากสังคมทำให้เกิดการทุบทำลายแผ่นหินของกัมพูชาออกจากบริเวณดังกล่าวในที่สุด
ไม่มีกรณีแผ่นหินที่ใส่ร้ายประจานทหารไทย ก็คงไม่มีใครสนใจวัดแก้วสิขะคีรีสะวาราที่อยู่แผ่นดินไทยว่าได้มีธงชาติกัมพูชาอยู่บนยอดเสาเพียงฝ่ายเดียว ทำให้เราได้รู้อย่างชัดเจนว่าเมื่อกระทรวงการต่างประเทศออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2554 ว่ากัมพูชาต้องถอนธงชาติกัมพูชาออกจากวัดแก้วสิขะคีรีสะวารา จนถึงบัดนี้ก็ไม่มีผลใดๆเกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยไม่มีน้ำยาที่จะแก้ไขปัญหาการแสดงอำนาจอธิปไตยของกัมพูชาบนแผ่นดินไทยให้เป็นรูปธรรมได้เลยแม้แต่น้อย
ไม่มีคนไทยทั้ง 7 คน ที่เสียสละเข้าไปถูกทหารกัมพูชาจับกุม จนถูกนำตัวพิพากษาโดยศาลกัมพูชา ประชาชนชาวไทยทั่วไปคงไม่มีวันได้รู้ว่า ที่ดินของราษฎรไทยได้ถูกรุกรานและยึดครองโดยกัมพูชานั้นเป็นเรื่องจริง และรัฐบาลไทยไม่มีความสามารถในการกดดันกัมพูชาให้ทำตามข้อตกลงระหว่างไทย-กัมพูชาว่าจะไม่นำตัวคนที่พลัดหลงเข้าไปในไทยหรือกัมพูชาขึ้นสู่การพิจารณาของศาล
ในระหว่างการชุมนุมเราได้ข้อพิสูจน์เห็นว่าเหตุผลที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีที่อ้างกับคนไทยเสมอว่า แผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ใน บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกระหว่างไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2543 (MOU 2543) นั้นไม่รวมระวางดงรัก พอถึงเวลาจริงกับเป็นฝ่ายที่เถียงกัมพูชาไม่ได้ และไม่ใช้เหตุผลเหล่านี้ในเวทีสำคัญทั้งในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และเวทีอาเซียน
ตัวอย่างข้างต้นคือ “ความจริง” ที่ได้ปรากฏออกมาหลังจากมีการชุมนุมรวมพลังปกป้องแผ่นดินที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์
นอกจากความจริงข้างต้นที่ทำให้สังคมได้รับรู้มากขึ้นแล้ว ยังปรากฏชัยชนะสำหรับคนไทยทั้งประเทศในการชุมนุมมา 90 วันรอบนี้ก็คือ เราสามารถหยุดการถลำลึกในความเสียเปรียบของไทยในเวทีการเมืองระหว่างประเทศได้เป็นผลสำเร็จถึง 2 ประการคือ
ประการแรก คือสามารถหยุดยั้งประเทศอินโดนีเซียในนามอาเซียน ไม่ให้มาแทรกแซง หรือสังเกตการณ์ห้ามทหารไทยใช้กำลังผลักดันกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทยได้สำเร็จ
ทั้งนี้ประเทศไทยจากเดิมที่เสียท่ากัมพูชาในการเจรจาความเมืองระหว่างประเทศในเวทีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 ที่กัมพูชาเป็นฝ่ายยืนยันเส้นเขตแดงของตัวเองตามแผนที่มาตรส่วน 1:200,000 ในขณะที่ฝ่ายไทยกลับไม่สามารถยืนยันเส้นเขตแดนของตัวเอง จนเป็นผลทำให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ได้เรียกร้องให้ไทยและกัมพูชาได้ทำข้อตกลงหยุดยิงถาวรต่อกัน โดยไม่สนใจว่าแท้ที่จริงแล้วกัมพูชาได้เป็นฝ่ายรุกรานและยึดครองแผ่นดินไทยอยู่แล้ว
ผลจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 ทำให้ไทยถลำลึกในเกมของกัมพูชาในคราวประชุมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอาเซียนเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ได้เห็นชอบโดยฝ่ายไทยเดินเกมผิดพลาดหรือไม่ก็สมรู้ร่วมคิดกับกัมพูชาที่ประกาศว่าพร้อมหยุดยิงและเชื้อเชิญอินโดนีเซียในนามตัวแทนอาเซียนเข้ามาสังเกตุการณ์อย่างมีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้ทั้งสองฝ่ายมีการยิงต่อกัน ผลก็คือทหารไทยจะไม่สามารถใช้กำลังผลักดันกัมพูชาให้ออกจากแผ่นดินไทยได้จนกว่าผลการเจรจาจะทำให้กัมพูชาพอใจ ซึ่งก็คือให้ไทยยินยอมจัดทำหลักเขตแดนตามแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 หรือไม่เช่นนั้นกัมพูชาก็จะอาศัยสิทธิ์ครอบครองแผ่นดินไทยได้อย่างไม่มีกำหนดระยะเวลาหากฝ่ายไทยไม่ยินยอมตามที่กัมพูชาต้องการ โดยมีอินโดนีเซียซึ่งมาในนามอาเซียนเข้ามาเป็นสังเกตุการณ์และเป็นสักขีพยานในการเดินหน้าให้ไทยต้องเสียดินแดนให้กับกัมพูชาอีกด้วย
ผลก็คือเท่ากับว่าฝ่ายไทยได้เสียดินแดนให้กับกัมพูชาอย่างถาวรแล้วนั่นเอง!!!
จากเดิมที่ทั้งฝ่ายการเมืองและกระทรวงกลาโหมของไทยต่างให้สัมภาษณ์ยินดีที่จะดำเนินการตามเกมของกัมพูชาโดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากประชาชนในช่วงแรก แต่ภายหลังจากที่ภาคประชาชนได้ออกมาเปิดโปงและต่อต้านอย่างต่อเนื่องจนถึงขั้นทำหนังสือไปยังสถานทูตอินโดนีเซียเพื่อมิให้ทหารอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์ในประเทศไทย ก็ได้ปรากฏว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ “เปลี่ยนท่าที”เป็นคนแรกที่ไม่เห็นด้วยที่จะไปประชุมคณะกรรมาธิการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา (GBC) ในประเทศอินโดนีเซีย และไม่เห็นด้วยที่จะให้ทหารอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์โดยเด็ดขาด ต่อมาลามไปเป็นจุดยืนเดียวกันนี้ในนามผู้บัญชาการทุกเหล่าทัพ กระทรวงกลาโหม กระทรวงกาต่างประเทศ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
ประการที่สอง สามารถหยุดยั้งไม่ให้รัฐสภาได้ลงมติให้ความเห็นชอบบันทึกผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ทั้ง 3 ฉบับ ได้สำเร็จ หลังจากการคัดค้านอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2553
บันทึกผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) นั้นมีการแนบร่างข้อตกลงชั่วคราวที่หวังว่าจะให้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาเพื่อที่จะได้ลงนามในร่างข้อตกลงชั่วคราวซึ่งจะมีผลทำให้ทหารไทยต้องถอยออกจากแผ่นดินไทยบริเวณวัดแก้วสิขะคีรีสะวาราจนจะเกิดความสุ่มเสี่ยงที่กัมพูชาจะนำผืนแผ่นดินในบริเวณดังกล่าวให้มาเป็นส่วนหนึ่งของแผนบริหารจัดการมรดกโลกปราสาทพระวิหารของกัมพูชาฝ่ายเดียว อีกทั้งยังปรากฏข้อความในบันทึกผลการประชุมที่มีผลร้ายที่ทำให้ไทยต้องถลำลึกยอมรับความเสียเปรียบในเรื่องเขตแดนกับกัมพูชา
นอกจากบันทึกผลการประชุมดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศไทยอย่างมากมายแล้ว ภาคประชาชนยังเห็นด้วยว่าหากเป็นไปตามที่รัฐบาลอ้างว่าไม่มีเจตนาที่จะลงนามในร่างข้อตกลงชั่วคราวในครั้งนี้และยังมีโอกาสแก้ไขต่อไปได้นั้นก็ไม่สมควรอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะนำเสนอบันทึกผลการประชุมดังกล่าวเข้ามาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรค 2 เพราะหากรัฐสภาผ่านตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรค 2 แล้ว รัฐบาลจะสามารถลงนามในเอกสารดังกล่าวได้ทันที ถือเป็นการซ่อนรูปลักไก่ให้รัฐสภาพิจารณาอย่างผิดขั้นตอน
ผลการคัดค้านในหลายรูปแบบ ทั้งการยื่นฟ้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ การปราศรัยบนเวที การชุมนุมอย่างต่อเนื่อง การแจกใบปลิว การเผยแพร่ข้อความทางอินเตอร์เน็ตโดยประชาชน และการยื่นหนังสือของพลตรีจำลอง ศรีเมือง ถึงสมาชิกรัฐสภาถึง 3 ฉบับ เพื่อโต้แย้งความเข้าใจผิดและการบิดเบือนของฝ่ายการเมือง ทำให้การประชุมรัฐสภาล่มแล้วล่มอีกไม่สามารถประชุมได้ จนเป็นผลทำให้คณะรัฐมนตรีต้องบีบให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถอนบันทึกผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ทั้ง 3 ฉบับออกจากวาระการประชุมของรัฐสภา และรัฐสภาก็เห็นชอบในการถอนร่างดังกล่าวออกไปในที่สุด หลังจากที่ภาคประชาชนคัดค้านมาเป็นเวลา 8 เดือนกว่า
แม้ว่าการเรียกร้องจะยังไม่ยุติเพราะไทยยังไม่สามารถทวงคืนแผ่นดินกลับมาได้ และยังมีความล่อแหลมที่สุ่มเสี่ยงในการประชุมมรดกโลกที่กำลังจะมาถึงในปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2554 แต่อย่างน้อยการชุมนุมมาตลอด 90 วันนั้น ได้มีผลทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการถลำลึกในทางเลวร้ายกว่าเดิมที่จะทำให้ประเทศไทยต้องเสียดินแดนอย่างถาวร
และนี้คือบทพิสูจน์ว่าการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนตลอดระยะเวลา 90 วันมานั้น เป็นเรื่องที่เป็นความจริง และสามารถรักษาแผ่นดินไม่ให้เสียเปรียบไปมากกว่านี้ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ
อย่างน้อยถือว่าไม่เสียชาติเกิดแล้ว!!!