xs
xsm
sm
md
lg

พธม.ยื่นหนังสือเตือน ส.ส.-ส.ว.ครั้งที่ 3 แฉ “มาร์ค” พล่ามบิดเบือนกลางสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ปานเทพ” ยื่นหนังสือแทนกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ครั้งที่ 3 เตือนสมาชิกรัฐสภา รับรองเจบีซี 3 ฉบับ พร้อมโต้ “มาร์ค” บิดเบือนกลางเวทีสภา

วันนี้ (28 มี.ค.) ที่รัฐสภา นายปานเทพ พัวพังษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เดินทางมายื่นหนังสือของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้แทนคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้สมาชิกรัฐสภาไม่รับรองบันทึกผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ทั้ง 3 ฉบับ โดยได้มีการชี้แจงเนื้อหาการประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมาในกรณีดังกล่าว เนื่องจากมีการพูดพาดพิง และบิดเบือนข้อเท็จจริง จนอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้

โดยมีรายละเอียดของหนังสือ ดังนี้

วันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๔

เรื่อง ขอให้ไม่รับรองบันทึกผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ทั้ง ๓ ฉบับ (ครั้งที่ ๓)

เรียน ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ

อ้างถึง ๑. หนังสือถึงท่านสมาชิกรัฐสภาเรื่อง ขอให้ไม่รับรองบันทึกผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ทั้ง ๓ ฉบับ ลงนามโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้แทนคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ลงวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

๒. หนังสือถึงท่านสมาชิกรัฐสภาเรื่อง ขอให้ไม่รับรองบันทึกผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ทั้ง ๓ ฉบับ (ครั้งที่ ๒) ลงนามโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้แทนคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ลงวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

ตามที่กระผม พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้แทนคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทยได้ส่งหนังสือ ถึงท่านสมาชิกรัฐสภาเรื่อง ขอให้ไม่รับรองบันทึกผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ทั้ง ๓ ฉบับ ๒ ครั้ง แล้วนั้น (ตามอ้างถึง ๑ และ ๒)

ต่อมาได้มีการประชุมสมาชิกรัฐสภาเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ปรากฏว่ามีการพูดพาดพิงและการชี้แจงในที่ประชุมรัฐสภามีลักษณะบิดเบือนและคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อาจทำให้สมาชิกรัฐสภาเกิดความเข้าใจผิด และมีความจำเป็นที่กระผมต้องขอชี้แจงเพิ่มเติมดังท่านต่อไปนี้


๑. ประเด็นที่ว่าบันทึกผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ต้องผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาหรือไม่?


ในบันทึกผลการประชุม JBC ทั้ง ๓ ฉบับนั้นมีการประชุมเรื่องหนังสือสัญญาเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศไทยในส่วนของร่างข้อตกลงชั่วคราวระหว่างไทย-กัมพูชาว่าด้วยปัญหาชายแดนในพื้นที่ปราสาทพระวิหารซึ่งต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๙๐

ดังนั้นหากสมาชิกรัฐสภาเห็นว่าร่างข้อตกลงชั่วคราวฯที่เป็นผลจากการประชุมของ JBC ยังไม่ได้ข้อยุติ ไม่ใช่กรอบการเจรจา และจะยังไม่มีการลงนาม ก็ไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะมาขอความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๙๐ และไม่สมควรที่จะนำบันทึกผลการประชุม JBC ทั้ง ๓ ฉบับมาขอความเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาหรือเพื่อให้สมาชิกรัฐสภารับทราบเช่นกัน เพราะไม่ใช่หน้าที่ของที่ประชุมรัฐสภาที่จะมารับทราบหรือเห็นชอบบันทึกผลการประชุมที่ไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตหรือเห็นชอบร่างข้อตกลงที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ยกเว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลมีวาระซ่อนเร้นโดยรู้อยู่แล้วว่าบันทึกผลการประชุมของ JBC ทั้ง ๓ ฉบับ (ไม่ว่าจะแนบหรือไม่แนบหรือร่างข้อตกลงชั่วคราวฯ) มีข้อความซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะถูกตีความได้ว่ามีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตในทางเป็นโทษต่อประเทศจึงต้องมาขอความเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๙๐

การนำบันทึกผลการประชุมของ JBC ทั้ง ๓ ฉบับ และบันทึกร่างข้อตกลงชั่วคราวฯดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ชัดเจนที่จะดำเนินการจัดทำหลักเขตแดนใหม่ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะได้ปักปันเสร็จสิ้นไปแล้วระหว่างสยามกับฝรั่งเศสเมื่อ ๑๐๓ ปีที่แล้ว

๒. กรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี อ้างว่า ในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ. ๒๕๔๓ (MOU ๒๕๔๓) นั้นแผนที่มาตราส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐ ไม่รวมระวางดงรัก เพราะไม่ใช่ผลงานการปักปันสยาม-ฝรั่งเศส โดยได้อ้างว่าได้ทำหนังสือถึงกัมพูชาเพื่อยืนยันในเรื่องดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ และ การแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๔ และอ้างว่ามีความคิดเห็นตรงกันกับ ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล

ต่อคำกล่าวอ้างดังกล่าว แม้ในความเป็นจริงศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะตัดสินเฉพาะตัวปราสาทพระวิหาร และไม่ได้มีบทปฏิบัติการของคำพิพากษาในส่วนของแผนที่และเส้นเขตแดนตามแผนที่มาตราส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐ แต่การปรากฏข้อความถึงแผนที่ชื่อเรียกเดียวกันกับแผนที่ซึ่งใช้ในคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. ๒๕๐๕ ใน MOU ๒๕๔๓ กัมพูชาจะสามารถอาศัยเป็นฐานว่าไทยและกัมพูชามีข้อผูกพันที่จะต้องพิจารณาแผนที่มาตราส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐ เป็นครั้งแรกตาม MOU ๒๕๔๓ หลังจากนั้นจึงสามารถอ้างการพรรณนาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศถึงมูลเหตุที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ตัดสินให้ตัวปราสาทพระวิหารให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชาว่ามาจากเหตุผลที่ว่าสยามและประเทศไทยไม่ปฏิเสธแผนที่มาตราส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐ หรือที่เรียกว่า กฎหมายปิดปากให้อยู่เหนือกว่าเหตุผลอื่น ซึ่งในทางปฏิบัติกัมพูชาก็ทำเช่นนั้นจริงๆ

ชื่อข้อความแผนที่มาตราส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐ ที่ปรากฏอยู่ใน MOU ๒๕๔๓โดยมิได้ระบุว่ามีการยกเว้นระวางใดทั้งสิ้นใด ย่อมทำให้กัมพูชาสามารถนำมาอ้างได้ทั้งกับประเทศไทยและองค์การระหว่างประเทศว่า ไทยและกัมพูชามีสภาพบังคับให้ต้องพิจารณาแผนที่มาตราส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐ ตาม MOU ๒๕๔๓ และเมื่อพิจารณาประกอบการพรรณนาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๐๕ เกี่ยวกับกฎหมายปิดปาก ไทยต้องอยู่ในสภาพที่เสียเปรียบทันที

ด้วยเหตุผลดังกล่าวการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้แอบอ้างว่า ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุลเห็นด้วยกับตนเองว่าแผนที่ดังกล่าวไม่ใช่ผลงานการปักปันของสยาม-ฝรั่งเศสเป็นการอ้างเพียงท่อนเดียว แต่แท้ที่จริงแล้ว ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล นั้นแสดงความไม่เห็นด้วยกับ MOU ๒๕๔๓อย่างยิ่ง เพราะจะเป็นมหันตโทษต่อประเทศไทยที่สุ่มเสี่ยงทำให้ต้องสูญเสียดินแดนจากข้อความในเรื่องแผนที่มาตรส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐

ทั้งนี้ “ก่อน”ที่จะมี MOU ๒๕๔๓ นั้น กัมพูชาจะไม่สามารถใช้ประโยชน์จากแผนที่มาตราส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐ ได้เลยด้วยเหตุผล ๔ ประการคือ

๒.๑ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ได้เขียนระบุชัดเจนว่าแผนที่มาตราส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐ และเส้นเขตแดนตามแผนที่ดังกล่าวไม่ใช่บทปฏิบัติการของคำพิพากษาในคดีปราสาทพระวิหาร กัมพูชาจึงไม่สามารถใช้แผนที่มาตราส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐ โดยอาศัยคำพิพากษาท้ายสุด

๒.๒ หลังคำตัดสินไทยคำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ไทยได้สงวนสิทธิ์ที่จะทวงคืนปราสาทพระวิหารในอนาคต โดยได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และที่ประชุมใหญ่องค์การสหประชาชาติโดยปราศจากข้อโต้แย้งใดๆทั้งสิ้น จึงชัดเจนว่าไทยยังคงยึดขอบหน้าผาเป็นสันปันน้ำและเป็นเส้นเขตแดนเหมือนเดิม และเป็นที่รับทราบกันทั่วโลก

๒.๓ หลังคำตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร ประเทศไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกโดยการล้อมรั้วเฉพาะรอบตัวปราสาทพระวิหาร กัมพูชาก็ยอมสภาพที่ถูกล้อมรั้วตามที่ฝ่ายไทยได้ล้อมรั้วให้ อีกทั้งกัมพูชาก็ไม่ได้อุทธรณ์ให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศให้ขยายความเพิ่มเติมหรือตีความใหม่ในช่วง ๑๐ ปีหลังคำพิพากษา ทำให้กัมพูชาหมดหนทางจะอุทธรณ์หรือขยายความในคำพิพากษาเพื่อรุกรานแผ่นดินไทยตามแผนที่มาตราส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐ นอกจากนี้ประเทศไทยหลังจากคดีปราสาทพระวิหารประเทศไทยก็ไม่ได้ต่ออายุการบังคับอำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นกัมพูชาและศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจึงไม่สามารถบังคับไทยเพิ่มเติมได้อีกหากไทยไม่ยินยอม

๒.๔ ประเทศไทยได้มีแสนยานุภาพทางการทหารสูงกว่ากัมพูชามาก กัมพูชาจึงไม่มีโอกาสที่จะเป็นฝ่ายรุกรานไทยได้เลย หากประเทศไทยไม่ยินยอม

ดัวยเหตุผลดังกล่าวทั้ง ๔ ประการข้างต้น แผนที่ดังกล่าวจะไม่สามารถผูกพันระหว่างไทย-กัมพูชาได้เลย และไม่มีเวทีที่จะพิจารณาแผนที่ดังกล่าวด้วย แต่เมื่อมี MOU ๒๕๔๓ จึงเท่ากับเป็นการผูกพันให้ไทยและกัมพูชาต้องพิจารณาแผนที่มาตราส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ทำให้กัมพูชาสามารถขยายผลกฎหมายปิดปากที่พรรณนาในคำพิพากษาของศาลยุติธรรมได้เป็นครั้งแรก อีกทั้งยังสามารถรุกรานและยึดครองแผ่นดินไทยได้มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ส่วนคำกล่าวอ้างที่ว่ารัฐบาลไทยมีจุดยืนว่าแผนที่มาตราส่วน ๑: ๒๐๐,๐๐๐ นั้นไม่รวมระวางดงรักนั้น ก็เป็นเพียงเหตุผลที่อ้างเอาเองฝ่ายเดียวขึ้นมาในภายหลังเพื่อเยียวยาความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจาก MOU ๒๕๔๓ ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับต่อกัมพูชาและในเวทีนานาชาติ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีอ้างว่าได้ส่งหนังสือแสดงจุดยืนดังกล่าวเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ แต่หนังสือในวันดังกล่าวกลับไม่เคยเปิดเผยให้ประชาชนและสมาชิกรัฐสภาได้รับทราบ เพราะแท้ที่จริงแล้วหนังสือฉบับดังกล่าวนั้นได้ถูกโต้แย้งจากฝ่ายกัมพูชามาแล้ว และฝ่ายไทยก็ไม่สามารถโต้แย้งกลับได้อีกหลังจากนั้น ดังนั้นนายกรัฐมนตรีควรเปิดเผยหนังสือที่ฝ่ายไทยส่งไปให้กับกัมพูชา และหนังสือที่ฝ่ายกัมพูชาโต้แย้งกลับมาโดยที่ฝ่ายไทยไม่สามารถโต้แย้งกลับไปได้หลังจากนั้นด้วยว่ามีเนื้อความว่าอย่างไร

เช่นเดียวกันกับแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ที่กระทรวงการต่างประเทศได้อ้างว่าได้ยืนยันว่า แผนที่มาตราส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐ ไม่รวมระวางดงรักเพราะไม่ใช่ผลงานการปักปันระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส นั้นปรากฏว่าฝ่ายกัมพูชาได้ออกแถลงการณ์โต้แย้งกลับมาทันทีเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔ โดยใช้ข้ออ้างว่า MOU ๒๕๔๓ มีสภาพบังคับให้ต้องพิจารณาแผนที่มาตราส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐ ทุกระวางตามที่ตกลงกับไทย ผนวกกับการอ้างคำพรรณากฎหมายปิดปากซึ่งปรากฏคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. ๒๕๐๕ เพื่อสรุปว่าภายใต้ MOU ๒๕๔๓ นั้นไทยต้องยึดถือเส้นเขตแดนตามแผนที่มาตราส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐ แต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งปรากฏว่าฝ่ายไทยก็นิ่งเฉยไม่แถลงการณ์ตอบโต้กลับอีกเช่นกัน

ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อถึงในช่วงเวลาสำคัญในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔ ในการส่งถ้อยแถลงที่ประเทศไทยและกัมพูชาชี้แจงกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
กรณีการปะทะกันระหว่างวันที่ ๔-๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔ ปรากฏว่าฝ่ายกัมพูชาคือฝ่ายที่ยืนยันเส้นเขตแดนของตัวเองตามแผนที่มาตราส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐ โดยอาศัยเหตุผลเดิมอย่างหนักแน่นที่ยึดเอา MOU ๒๕๔๓ ผนวกเข้ากับการพรรณนาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. ๒๕๐๕ ส่วนไทยกลับเป็นฝ่ายที่ไม่สามารถยืนยันเส้นเขตแดนของตัวเองได้ และไม่มีการอ้างเรื่องแผนที่ ๑:๒๐๐,๐๐๐ ใน MOU ๒๕๔๓ ว่าไม่รวมระวางดงรักดังที่เคยอ้างมาก่อนด้วย ย่อมแสดงให้เห็นว่าข้ออ้างเรื่องแผนที่มาตราส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐ ใน MOU ๒๕๔๓ ที่ไม่รวมระวางดงรัก เป็นข้ออ้างที่ไม่ได้ใช้ และใช้ไม่ได้ผลจริงในเวทีระหว่างประเทศ และจากถ้อยแถลงดังกล่าวที่ฝ่ายไทยไม่ยืนยันเส้นเขตแดนของตัวเอง ทำให้สหประชาชาติและอาเซียนได้ออกข้อเรียกร้องให้ไทย-กัมพูชาทำข้อตกลงหยุดยิงถาวรทั้งๆที่ในความเป็นจริงแผ่นดินไทยนั้นถูกยึดครองโดยฝ่ายกัมพูชา อันสืบเนื่องมาจากที่ฝ่ายไทยไม่สามารถยืนยันเส้นเขตแดนของตัวเองได้ตามแผนที่มาตราส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐ ซึ่งแตกต่างจากช่วงเวลาก่อนที่จะมี MOU ๒๕๔๓ อย่างสิ้นเชิง

๓. ประเด็นที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีอ้างว่าหากที่ประชุมรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบบันทึกผลการประชุม JBC ทั้ง ๓ ฉบับ จะทำให้กัมพูชาสามารถร้องเรียนและจะทำให้เรื่องเขตแดนไทยกัมพูชากลายเป็นปัญหาพหุภาคีได้ และหากไม่มี MOU ๒๕๔๓ ก็จะทำให้กัมพูชาอ้างแผนที่มาตราส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐ ได้แต่เพียงฝ่ายเดียวและสามารถนำมาใช้ได้ในเวทีนานาชาติ


เนื่องจากประเด็นความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชานั้นเป็นการปะทะเพราะมีความขัดแย้งที่จำกัดขอบเขต (Border Conflict) มิใช่เป็นสงครามที่ผลกระทบต่อภูมิภาค มิใช่ผลกระทบในระดับนานาชาติได้ หรือมีลักษณะฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ความขัดแย้งที่จำกัดขอบเขตลักษณะนี้เกิดขึ้นเป็นปกติทั่วโลกโดยที่ไม่มีองค์การระหว่างประเทศเข้าไปแทรกแซงได้ ดังนั้นหากไทยไม่อ่อนด้อยทางการเมืองระหว่างประเทศ จะไม่มีทางที่องค์การสหประชาชาติและอาเซียนที่จะเข้ามาสามารถแทรกแซงได้ “หากไทยไม่ยินยอม”

ทั้งนี้ตามกฎบัตรสหประชาชาติมาตรา ๒ (๗) และกฎบัตรอาเซียนข้อ ๒ (จ) ต่างระบุตรงกันที่ไม่ให้อำนาจกับองค์การสหประชาชาติ และอาเซียน เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่น แต่กรณีที่อาจจะกระทบอธิปไตยของประเทศไทยเกิดขึ้นเพราะวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ในการออกถ้อยแถลงต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ฝ่ายกัมพูชาซึ่งเป็นฝ่ายยึดครองดินแดนไทยอยู่ ได้อ้างเส้นเขตแดนของตัวเองตามแผนที่มาตราส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐ โดยอ้างอิง MOU ๒๕๔๓ ซึ่งมีผลผูกพันและมีสภาพบังคับให้ไทย-กัมพูชาต้องพิจารณาแผนที่ดังกล่าวเป็นฐาน แล้วจึงอ้างการพรรณนาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายปิดปาก ในขณะที่ฝ่ายไทยกลับไม่สามารถหาเหตุผลมาโต้แย้งกัมพูชาได้ในเรื่องแผนที่มาตราส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐ ก่อนหน้านี้ จึงทำให้ฝ่ายไทยไม่ได้ยืนยันในเส้นเขตแดนของตัวเอง โดยอ้างเพียงว่าเส้นเขตแดนจะชัดเจนเมื่อการจัดทำหลักเขตแดนให้แล้วเสร็จตาม MOU ๒๕๔๓ เมื่อไทยเป็นฝ่ายที่ไม่สามารถยืนยันเส้นเขตแดนของตัวเองได้เป็นผลทำให้ไทยไม่สามารถใช้กฎบัตรสหประชาชาติมาตรา ๒ (๗) และไม่สามารถใช้กฎบัตรอาเซียนข้อ ๒ (จ)ได้ จึงทำให้สหประชาชาติและอาเซียนหลงผิดออกข้อเรียกร้องให้ไทยและกัมพูชาทำข้อตกลงหยุดยิงถาวร โดยไม่ได้เห็นข้อพิจารณาจากฝ่ายไทยในการยืนยันเส้นเขตแดนของตัวเอง และเมื่อไทยไม่มีความชัดเจนในเรื่องเส้นเขตแดนของตัวเองประเทศไทยก็ไม่สามารถชี้แจงในกรณีที่ฝ่ายกัมพูชาได้รุกรานและยึดครองแผ่นดินไทยอยู่ได้ ซ้ำร้ายรัฐบาลไทยกลับยินดีและเชื้อเชิญอินโดนีเซีย (ในนามอาเซียน) เข้ามาสังเกตการณ์และเป็นสักขีพยานว่าจะไม่มีการปะทะกัน ซึ่งเท่ากับเป็นการนำชาติที่สามเข้ามาห้ามทหารไทยผลักดันกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย และภายใต้เงื่อนไขนี้กัมพูชาจะอาศัยสิทธิ์ยึดครองแผ่นดินไทยต่อไปจนกว่าผลการเจรจาจะเป็นที่พอใจกับฝ่ายกัมพูชาเท่านั้น ในทางปฏิบัติจึงเท่ากับประเทศไทยต้องสูญเสียดินแดนไปอย่างไม่มีกำหนดระยะเวลา

และหากจะนับมูลเหตุที่ทำให้ปัญหาไทย-กัมพูชาได้กลายเป็นปัญหาในองค์การระหว่างประเทศ ได้นั้น ก็เพราะฝ่ายกัมพูชาเป็นฝ่ายละเมิด MOU ๒๕๔๓ โดยที่ฝ่ายไทยกลับเป็นฝ่ายเคร่งครัดและไม่ใช้ทหารไทยปกป้องอธิปไตย ผลก็คือทหารกัมพูชาซึ่งเดิมไม่มีศักยภาพที่จะทำร้ายโจมตีฝ่ายไทยได้ เพราะเดิมอยู่ตีนหน้าผาฝั่งกัมพูชา แต่ฝ่ายไทยก็ได้ปล่อยให้กัมพูชาสร้างถนนและแก้ปัญหาตาม MOU ๒๕๔๓ ด้วยการประท้วงนับร้อยฉบับแต่ก็ไม่สามารถหยุดการสร้างถนนได้ เป็นผลทำให้กัมพูชาสามารถใช้ถนนที่สร้างขึ้นเข้ามาในดินแดนไทย ขนอาวุธยุทโธปกรณ์เข้ามาขึ้นสู่ยอดหน้าผาและยอดเขาฝั่งไทย เช่นวัดแก้วสิขะคีรีสะวารา ภูมะเขือ ซึ่งเป็นผลทำให้กัมพูชาสามารถยิงอาวุธสงครามจากแผ่นดินไทยทำร้ายราษฎรไทยจนเสียชีวิต บาดเจ็บ และทรัพย์สินเสียหายระหว่างวันที่ ๔-๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ได้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนจึงเป็นผลร้ายตามมาทำให้การปะทะที่เป็นผลมาจากการละเมิด MOU ๒๕๔๓ ของฝ่ายกัมพูชา และการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตาม MOU ๒๕๔๓ ฝ่ายไทย ได้ขยายผลไปยังองค์การสหประชาชาติและอาเซียน

๔. กรณีมีสมาชิกรัฐสภาท่านหนึ่งได้อ้างจากบริเวณหลักเขตที่ ๑ ที่ ช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ โดยอ้างจากจุดดังกล่าวว่าเขตแดนไทย-กัมพูชามิได้เป็นหน้าผาซึ่งเป็นสันปันน้ำตลอดแนว มีเพียง บางส่วนเท่านั้นที่มีหน้าผาเป็นสันปันน้ำซึ่งความชัดเจน จึงมีความจำเป็นต้องจัดทำหลักเขตแดนทางบกใหม่ทั้งหมดจาก ช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ ไปทางทิศตะวันออกจนถึงช่องบก จ.อุบลราชธานี


กรณีดังกล่าวเป็นการอ้างอิงการนำภาพการเดินสำรวจ หลักเขตที่ ๑ ช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นจุดปลายของทิวเขาดงรัก ซึ่งไม่ใช่ประเด็นปัญหา และสยามกับฝรั่งเศสก็ได้เห็นประเด็นนี้แล้วว่ามีความไม่ชัดเจนในช่วงปลายของทิวเขาดงรัก ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการจัดทำหลักเขตแดนทางบกที่ ๑ บริเวณดังกล่าว ดังปรากฏข้อความในคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ว่า พันเอก แบร์นาร์ด กรรมการสำรวจและปักปันเขตแดนผสมฝ่ายฝรั่งเศส ได้กล่าวบรรยายที่กรุงปารีสเกี่ยวกับงานปักปันเขตแดน ๓ ครั้ง ในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๐๕ ถึง ค.ศ. ๑๙๐๗ มีความตอนหนึ่งว่า

“แทบทุกหนทุกแห่ง สันปันน้ำประกอบเป็นเส้นพรมแดนและจะมีปัญหาโต้เถียงกันได้ ก็แต่เพียงเกี่ยวกับจุดปลายสุดของทั้งสองด้านเท่านั้น

การไม่จัดทำหลักเขตแดนก็เพราะเขตแดนบริเวณทิวเขาดงรักสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ดังปรากฏในบันทึกรายงานของ พันเอก มองกิเอร์ ประธานกรรมการฝ่ายฝรั่งเศสในคณะกรรมการสำรวจและปักปันเขตแดนผสมสยามกับฝรั่งเศส ชุดที่ ๒ ได้ยืนยันตามผลงานการสำรวจและปักปันเขตแดนของคณะกรรมการชุดที่ ๑ ว่า

“เส้นเขตแดนเดินไปตามเส้นสันปันน้ำ ซึ่งอยู่ที่หน้าผา เห็นได้จากตีนภูเขาดงรัก

แม้ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๑๙ สยามกับฝรั่งเศสก็ได้เดินสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนคอนกรีตอีกครั้ง ก็ไม่เคยต้องทำหลักเขตแดนใดๆทั้งสิ้นในบริเวณทิวเขาดงรัก จึงเท่ากับว่าคณะกรรมการปักปันเขตแดนผสมสยาม-ฝรั่งเศสถึง ๓ ชุด ที่ได้เดินสำรวจและปักปันสามารถมองเห็นหน้าผาเป็นสันปันน้ำและยึดเป็นเส้นเขตแดนในบริเวณเขาพระวิหารอย่างเห็นได้ชัด จนไม่มีการทำหลักเขตแดนถึง ๓ ชุด

แต่แท้ที่จริงแล้วการอ้างข้อความดังกล่าวเป็นการเบี่ยงเบนประเด็น เพราะบันทึกผลประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ทั้ง ๓ ฉบับ มุ่งเน้นในเรื่องบริเวณปราสาทพระวิหารและเขาพระวิหาร ซึ่งเป็นหน้าผาสูงชันและเห็นสันปันน้ำชัดเจนที่สุดสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่บันทึกผลการประชุมมีเจตนาที่จะจัดทำหลักเขตแดนทางบกในบริเวณดังกล่าว และมีลักษณะข้อความที่ทำให้เขตแดนไทยไม่มีความชัดเจนและต้องมาตกลงกันใหม่ระหว่างไทย-กัมพูชา

๕. การที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนายกรัฐมนตรี อ้างว่า MOU ๒๕๔๓ ไม่ได้การมัดแสนยานุภาพทางการทหาร เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดการปะทะกันระหว่างวันที่ ๔-๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔


การอ้างด้วยข้อความดังกล่าวนั้นไม่เป็นความจริง เพราะเหตุการณ์ในระหว่างวันที่ ๔-๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔ เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไทยใช้รถแทรกเตอร์เพื่อสร้างถนนเข้าไปในบริเวณเขาพระวิหาร กัมพูชาจึงเป็นฝ่ายเริ่มต้นยิงตอบโต้ฝ่ายไทยก่อน ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับคำว่ามัดแสนยานุภาพทางการทหารนั้นหมายถึง ฝ่ายไทยปล่อยให้กัมพูชา สร้างตลาด สร้างวัด สร้างถนน ในดินแดนไทย และฝ่ายไทยไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากการประท้วงอย่างเดียว ขนอาวุธยุทโธปกรณ์ จากตีนหน้าผาฝั่งกัมพูชา ขึ้นมาจนถึงยอดหน้าผาฝั่งไทย ทั้งบริเวณวัดแก้วสิขะคีรีสะวารา และภูมะเขือ จนในที่สุดสามารถยิงอาวุธสงครามใส่ราษฎรไทยได้ดังที่ปรากฏเหตุการณ์เมื่อวันที่ ๔-๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔

๖. ประเทศไทยยังไม่เสียดินแดน เพราะแม้กัมพูชาจะยึดครองแผ่นดินไทยอยู่ แต่ก็ไม่ได้สิทธิ์ในการครอบครองจนกว่าการจัดทำหลักเขตแดนจะแล้วเสร็จกัมพูชาก็จะต้องออกจากแผ่นดินไทย


คำอธิบายดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าภายใต้นโยบายดังกล่าวประเทศไทยจะต้องสูญเสียดินแดนไปอย่างถาวรแล้ว เพราะ การลงนามใน MOU ๒๕๔๓ ไม่ได้คำนึงถึงแผ่นดินที่กัมพูชาอพยพเข้ามายึดครองดินแดนไทยมาก่อน อีกทั้งฝ่ายไทยไม่สามารถผลักดันทหารและชุมชนกัมพูชาที่รุกคืบในการยึดครองดินแดนไทยได้เพิ่มเติมหลังการลงนามใน MOU ๒๕๔๓ ดังนั้นหากรอผลการเจรจากก็ต้องหมายถึงว่าฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชายินยอมและตกลงกันได้ แต่หากกัมพูชาไม่ยินยอมกัมพูชาก็จะอาศัยสิทธิ์ในการครอบครองแผ่นดินไทยได้ตลอดไปอย่างไม่มีกำหนดระยะเวลา จึงเท่ากับว่าประเทศไทยได้เสียดินแดนในทางปฏิบัติไปแล้วอย่างไม่มีกำหนดระยะเวลาเช่นกัน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีแยกคำว่า “การครอบครอง” และ “สิทธิ์” ออกจากกัน แต่ในทางปฏิบัติแล้ว “สิทธิ์” ที่ว่านั้นก็คืออธิปไตยเหนือดินแดน ซึ่งกัมพูชาได้แสดงออกนอกจากการยึดครองในทางปฏิบัติแล้ว เช่น การเชิญธงกัมพูชาขึ้นสู่ยอดเสาในดินแดนไทยฝ่ายเดียว เช่น วัดแก้วสิขะคีรีสะวารา การใช้กองกำลังทหารยึดครองและปกครองโดยอำนาจรัฐกัมพูชา และการใช้อำนาจอธิปไตยทางศาลในดินแดนไทย เช่น บ้านหนองจาน โดยที่ประชาชนไทยไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวได้ ดังนั้น ในทางปฏิบัติแล้วนอกจากประเทศไทยจะถูกยึดครองแผ่นดินไทยไปแล้วยังเสียสิทธิ์ในเรื่องอำนาจอธิปไตยด้วย

และเมื่อการครอบครอง และการสำแดงอำนาจอธิปไตยสามารถทำได้อย่างไม่มีกำหนดระยะเวลาจนกว่ากัมพูชาจะพอใจในผลการเจรจา ก็เท่ากับประเทศไทยก็ต้องสูญเสียทั้งการถูกครอบครองและอธิปไตยไปอย่างให้กับกัมพูชาอย่างถาวร

๗. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีจะแก้ไขปัญหาชาวบ้านหนองจาน ต.โนนหมากมุ่น อ.โคกสูง จ.สระแก้ว ด้วยการไม่เก็บภาษีที่ดินจากชาวบ้านที่สูญเสียที่ดินเพราะถูกกัมพูชายึดครองที่ดินทำกิน


คำกล่าวนั้นถือเป็นการปัดความรับผิดชอบในการที่จะหาหนทางทวงคืนแผ่นดิน เพราะการจัดเก็บภาษีเป็นการสำแดงอำนาจอธิปไตยประเภทหนึ่ง เพื่อให้รู้ว่าประชาชนยังต้องการรักษาสิทธิ์ในการครอบครองที่ดิน หากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี สละการเรียกเก็บภาษีเช่นนี้ นอกจากจะได้สูญเสียดินแดนจากการยึดครองแผ่นดินโดยอำนาจทหาร และสูญเสียอธิปไตยในอำนาจปกครอง และอำนาจทางศาล ให้กับกัมพูชาในบริเวณดังกล่าวแล้ว ยังเท่ากับสละการแสดงอำนาจอธิปไตยผ่านการเรียกเก็บภาษีอีกด้วย จึงเป็นหนทางที่ไม่ถูกต้องและไม่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาทวงคืนแผ่นดินให้กับราษฎรไทย

นอกจากนี้ MOU ๒๕๔๓ นั้น ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และไม่ได้มีการลงพระปรมาภิไธยโดยพระมหากษัตริย์
จึงถือว่าเป็นสัญญาที่กระทำผิดต่อบทบัญญัติมาตรา ๒๒๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ความว่า:

“มาตรา ๒๒๔ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศ หรือกับองค์การระหว่างประเทศ

หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตอำนาจแห่งรัฐ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

ดังนั้นเมื่อ MOU ๒๕๔๓ ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และไม่ได้มีการลงพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ MOU ๒๕๔๓ จึงเป็นโมฆะมาตั้งแต่ต้น และการกระทำต่อๆกันมาก็ต้องถือว่าเป็นโมฆะด้วยเช่นกัน สมาชิกรัฐสภาจึงไม่สามารถที่จะลงมติให้ความเห็นชอบหรือรับทราบบันทึกผลการประชุม JBC ทั้ง ๓ ฉบับซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจาก MOU ๒๕๔๓ ที่ผิดกฎหมายได้ อีกทั้งรัฐสภาไม่สมควรจะเห็นชอบหรือรับทราบในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญากับนานาประเทศที่ปราศจากพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการละเมิดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

จึงเรียนมาเพื่อขอให้ท่านสมาชิกรัฐสภาผู้ทรงเกียรติได้โปรดช่วยกันแก้ไขวิกฤตการณ์ครั้งนี้โดยการลงมติไม่รับรองบันทึกผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ทั้ง ๓ ครั้ง ซึ่งจะเป็นหนทางให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ให้ได้ ในทางตรงกันข้ามหากท่านสมาชิกรัฐสภาลงมติรับรองผลบันทึกการประชุมดังกล่าว นอกจากจะต้องถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ชั่วลูกชั่วหลานว่าทำให้ประเทศไทยสูญเสียอธิปไตยและดินแดนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนแล้ว การกระทำเช่นนั้นก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๙, ๑๒๐ และ ๑๕๗ ที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต ซึ่งกระผมและพวกจำเป็นต้องดำเนินคดีอาญาต่อไปอย่างถึงที่สุด

ขอแสดงความนับถือ

พลตรี จำลอง ศรีเมือง
ผู้แทนคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย





กำลังโหลดความคิดเห็น