xs
xsm
sm
md
lg

“ทหาร” กลับลำ !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์
ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เหตุแห่งปัญหาสำคัญที่ทำให้ปัญหาระหว่างไทย-กัมพูชาที่บานปลายมาถึงทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะฝ่ายไทยเดินเกมในลักษณะที่เสียเปรียบกัมพูชาอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยินยอมและการเชื้อเชิญให้ทหารอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์ในประเทศไทย

ข้ออ้างที่รัฐบาลไทยและกระทรวงการต่างประเทศได้ใช้อธิบายกับคนไทยว่า “แผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 เฉพาะระวางดงรัก (ซึ่งรวมเขาพระวิหาร) ไม่ใช่ผลงานของคณะกรรมการปักปันของสยามกับฝรั่งเศส เพราะไทยได้เคยโต้แย้งเอาไว้แล้วในระหว่างการต่อสู้คดีปราสาทพระวิหาร เมื่อปี พ.ศ. 2505” นั้น ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลาที่เรามีเดิมพันระหว่างประเทศฝ่ายไทยกลับไม่ได้ใช้เหตุผลนี้ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราสามารถเห็นได้ชัดเจนการออกถ้อยแถลงของฝ่ายไทยในเวทีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 ว่าฝ่ายไทยไม่ได้ยืนยันเส้นเขตแดนของตัวเอง ในขณะที่ฝ่ายกัมพูชากลับยืนยันเส้นเขตแดนของตัวเองตามแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 แถมยังใส่ร้ายว่าประเทศไทยได้เป็นฝ่ายรุกรานกัมพูชาอีกด้วย

แปลว่าในช่วงเวลาทีเด็ดทีขาด ฝ่ายไทยไม่สามารถใช้เหตุผลที่อธิบายกับคนไทยในเวทีระหว่างประเทศ เป็นเพราะอะไร? หรือแท้ที่จริงแล้วเหตุผลที่ใช้อธิบายกับคนไทยนั้นใช้ไม่ได้ผลจริงในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

จะว่าไปแล้วทุกครั้งที่ฝ่ายไทยยกเหตุผลเรื่องแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ระวางดงรักว่าไม่ใช่ผลงานของคณะกรรมการปักปันของสยามฝรั่งเศสเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อใด ก็จะถูกกัมพูชาออกแถลงการณ์ตอบโต้กลับทุกครั้ง และการตอบโต้ทุกครั้งนั้นฝ่ายไทยต้องเงียบหุบปากไม่โต้แย้งกลับอีก

ตัวอย่างเช่นกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะมักชอบอ้างอยู่เสมอว่าฝ่ายได้ทำหนังสือไปยังกัมพูชาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ว่า แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ. 2543 ( MOU 2543)นั้น ไม่รวมระวางดงรัก ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะกลับไม่เคยเปิดเผยหนังสือดังกล่าวให้คนไทยได้รับทราบเลยแม้แต่น้อย และไม่เคยเปิดเผยด้วยว่ากัมพูชาตอบกลับมาด้วยเหตุผลว่าอะไร?

แต่มีกระแสข่าวว่าทันทีที่ฝ่ายกัมพูชาได้ตอบโต้หนังสือของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551 นั้น ทำให้ฝ่ายไทยต้องเงียบกริบและไม่สามารถตอบโต้กัมพูชากลับไปได้อีก และด้วยเหตุผลนี้ จึงน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ยอมเปิดเผยหนังสือฉบับวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551 มาจนถึงทุกวันนี้

แต่เหตุการณ์ที่เป็นหลักฐานซึ่งชัดเจนที่สุดก็คือ เมื่อกระทรวงการต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554 ยืนยันเส้นเขตแดนของตัวเองว่าวัดแก้วสิขะคีรีสะวารา และอธิบายว่า แผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ตาม MOU 2543 นั้นไม่ได้รวมระวางดงรัก ปรากฏว่ากัมพูชาได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้ทันทีให้เป็นที่ทราบกันทั่วโลกในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 โดยอ้างเครื่องมือ 2 ชนิด ผนวกเข้าด้วยกัน คือ MOU 2543 และ คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ.2505 ทำให้ไทยต้องยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ในการจัดทำหลักเขตแดนตาม MOU 2543

โดยกัมพูชานั้นได้อาศัย MOU 2543 ที่มีสภาพบังคับว่าไทยและกัมพูชาต้องพิจารณาแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ในทุกระวางเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และแม้ไทยจะอ้างว่าแผนที่ดังกล่าวไม่ใช่ผลงานการปักปันสยามกับฝรั่งเศส แต่กัมพูชาก็ได้อ้างเหตุผลอื่นที่เหนือกว่าโดยการอ้างการพรรณนาคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีปราสาทพระวิหารว่า เหตุผลที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารตกอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชาเพราะประเทศไทยนิ่งเฉย ดังนั้นภายใต้สภาพบังคับให้ไทยและกัมพูชาต้องพิจารณาแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ตาม MOU 2543 เส้นเขตแดนไทยจึงต้องเป็นไปตามแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 แต่เพียงอย่างเดียว

หลังการออกแถลงการณ์ของกัมพูชาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 ฝ่ายไทยก็ตอบกลับไม่ได้ จึงถือว่าในทางการเมืองระหว่างประเทศ ไทยถูกตอกหน้ากลับถึง 2 ครั้ง โดยที่ฝ่ายไทยโต้แย้งกลับไม่ได้ และจุดนี้เองน่าจะเป็นเหตุผลว่าทำไมในการออกถ้อยแถลงของฝ่ายไทยในเวทีสำคัญในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 ประเทศไทยจึงไม่กล้าใช้เหตุผลเดิม ไม่กล้ายืนยันเส้นเขตแดนของตัวเอง และไม่กล้าอ้างเหตุผลว่าแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ไม่รวมระวางดงรัก เพราะแท้ที่จริงแล้วไทยกลัวถูกกัมพูชาตอกหน้ากลับเป็นครั้งที่ 3 ในเวทีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ แล้วฝ่ายไทยจะตอบกลับไม่ได้ใช่หรือไม่!?

ผลจากการที่ประเทศไทยไม่ได้สามารถยืนยันเส้นเขตแดนของตัวเองในการออกถ้อยแถลงต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 ได้ก่อให้เกิดปัญหาใหม่และบานปลายมากขึ้น เพราเมื่อฝ่ายไทยยืนยันเส้นเขตแดนของตัวเองไม่ได้อยู่เพียงฝ่ายเดียวตาม MOU 2543 ฝ่ายไทยจึงไม่สามารถยกเหตุผลชี้แจงว่ากัมพูชาเป็นฝ่ายรุกรานไทยหรือเป็นฝ่ายละเมิด MOU 2543 ผลลัพธ์ก็คือทำให้ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติออกข้อเรียกร้องให้ไทยและกัมพูชาทำข้อตกลงหยุดยิงถาวร โดยไม่สนใจและไม่รู้ด้วยว่ากัมพูชาเป็นฝ่ายยึดครองดินแดนไทยอยู่

19 กุมภาพันธ์ 2554 ทหารไทยและทหารกัมพูชาในพื้นที่ทัพภาคที่ 2 มีการตกลงเพื่อให้ฝ่ายไทยและกัมพูชาหยุดยิงถาวร ทั้งๆที่ทหารฝ่ายกัมพูชาเป็นฝ่ายที่ยึดครองแผ่นดินไทยอยู่ โดยฝ่ายทหารไทยอ้างว่าเป็นเพียงแค่สัญญาลูกผู้ชายที่ไม่มีการลงนามในสัญญาใดๆทั้งสิ้น (หลังจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ทักท้วงว่าอาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่ไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา)

22 กุมภาพันธ์ 2554 ในคราวประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอาเซียน ปรากฏว่าฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชา ปรากฏว่าฝ่ายไทยก็ไม่ได้ยืนยันเส้นเขตแดนของตัวเองอีก ไม่มีการชี้ชัดว่าฝ่ายไทยเป็นฝ่ายรุกรานยึดครองแผ่นดินไทยอยู่ และไม่มีการระบุว่ากัมพูชาเป็นฝ่ายละเมิด MOU 2543 ผลก็คือที่ประชุมได้ข้อสรุปว่ายินดีที่จะเดินหน้าให้ไทยและกัมพูชาไม่ใช้กำลังทหาร และพร้อมใจกันเชิญอินโดนีเซียเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์เพื่อเป็นสักขีพยานไม่ให้มีการปะทะกัน โดยอ้างข้อตกลงกันระหว่างทหารไทยและทหารกัมพูชาเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2554 อีกด้วย

ผลการประชุมในเวทีอาเซียนเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 ถือเป็นการถลำลึกของฝ่ายไทยมากขึ้น เพราะนอกจากจะทำให้กัมพูชาสามารถใช้สิทธิ์ยึดครองแผ่นดินไทยได้ต่อไปอย่างไม่มีกำหนดระยะเวลา จนกว่าผลการเจรจาจะเป็นที่พอใจต่อฝ่ายกัมพูชา โดยที่ทหารไทยไม่สามารถใช้กำลังทหารผลักดันกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทยได้ และยังจะมีประเทศอินโดนีเซียมาสังเกตการณ์และเป็นสักขีพยานเพื่อไม่ให้ทหารไทยผลักดันกัมพูชาอีก

เพราะฉะนั้นหากกัมพูชาไม่ได้ผลการเจรจาเรื่องการจัดทำหลักเขตแดนตามที่กัมพูชาต้องการ กัมพูชาก็จะใช้สิทธิ์ครอบครองแผ่นดินไทยต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้นในทางปฏิบัติหากถลำลึกตามแถลงการณ์ของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเกิดขึ้นจริงเมื่อไร ก็เท่ากับประเทศไทยต้องเสียดินแดนอย่างถาวรในทางปฏิบัติแล้ว

ในเวลานั้น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทยได้ออกแถลงข่าวเพื่อชี้ให้เห็นอันตรายหลายครั้ง แต่ไม่มีใครสนใจ

ไม่เชื่อลองไปดูคำสัมภาษณ์วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2554 ของแต่ละคนในเวลานั้นว่ามีความปลื้มปิติแค่ไหนที่เราเชิญประเทศที่สาม มาเป็นสักขีพยานเพื่อให้ไทยต้องเสียดินแดนในทางปฏิบัติให้เขมร?

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “อาเซียนสนับสนุนให้ใช้กลไกทวิภาคีที่เราเสนอไป จะมีคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา(เจบีซี) คณะกรรมาธิการเขตแดนทั่วไป(จีบีซี)ไทย-กัมพูชา และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคไทย-กัมพูชา(อาร์บีซี) ขณะเดียวกันในพื้นที่จะมีผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซีย เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่มีการปะทะกัน”

ผู้สื่อข่าวถามว่าการส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามาจะถูกมองว่าถูกแทรกแซงจากประเทศที่ 3 หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “ไม่ ซึ่งเราคิดว่าดีเพราะเราไม่ได้เป็นฝ่ายยิงก่อน คนที่มาอยู่ในพื้นที่จะได้ทราบว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร”

นายกษิต ภิรมย์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ว่า “อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน จะเข้ามามีบทบาทส่งเสริมการเจรจา ซึ่งการตกลงกันระหว่างไทยและกัมพูชาแบ่งเป็นสองประเด็นหลัก ได้แก่หนึ่งไทยและกัมพูชาให้คำมั่นต่อกันและกันและกับอาเซียนว่าจะไม่ให้มีเหตุปะทะกันตามแนวชายแดนอีก รวมทั้งเห็นพ้องให้อินโดนีเซียส่งคณะผู้สังเกตการณ์ทางทหารเข้ามาประจำการบริเวณปราสาทพระวิหารและพื้นที่พิพาทฝั่งละ 15 นาย โดยเร็วที่สุด”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ให้สัมภาษณ์เมื่อถูกถามว่าหากอินโดนีเซียส่งผู้แทนมาสังเกตการณ์จะเป็นอย่างไร ผบ.ทบ.กล่าวว่า “เขา ส่งผู้แทนพิเศษมาอย่างแน่นอน ก็สั่งให้เตรียมที่พัก มาถึงก็มานอน ดูกันเอาเองว่าใครยิงก่อนยิงหลัง ซึ่งที่พักอาจเป็นกองทัพภาคที่ 2 หรือทางจังหวัดจัดให้ เมื่อถามว่า จะมองได้ว่าเป็นการแทรกแซงจากประเทศที่สามหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าไม่ใช่การแทรกแซง เป็นเรื่องของการเจรจาทวิภาคี และตกลงให้ประเทศอาเซียนมาสังเกตการณ์ เป็นเรื่องของอาเซียน เราไม่ได้อยู่ประเทศเดียวในโลก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานการณ์ตามแนวชายแดนไม่มีปัญหาอะไร มีแต่ภายในประเทศที่ยังมีสถานการณ์อยู่”

ไม่มีใครรู้เหตุผลที่แท้จริงว่าเหตุใด ทหารเพิ่งจะมา “กลับลำ”เอาใน 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาว่ากองทัพไทยจะไม่ไปประชุมคณะกรรมาธิการกิจการชายแดนทั่วไป (GBC) ที่ประเทศอินโดนีเซีย และไม่ยินยอมให้ทหารอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์ในปัญหาระหว่างไทย-กัมพูชา

ซึ่งแน่นอนว่าอาเซียนย่อมต้องมองว่าไทยพูดกลับไปกลับมา ทั้งๆที่ได้ไปตกลงกันในเวทีอาเซียนไปแล้ว จึงไม่แปลกใจที่กัมพูชาจะต้องโวยวายอย่างหนัก เพราะกัมพูชาพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อต้องการให้อินโดนีเซียเข้ามาเป็นสักขีพยานไม่ให้ทหารไทยใช้กำลังทหารไทยผลักดันกัมพูชาให้ถอยออกจากแผ่นดินไทย

อย่างน้อยที่สุดก็แสดงให้เห็นว่าเหตุผลที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและผู้ชุมนุมที่ออกมาปกป้องชาติแผ่นดิน ได้พูดและเรียกร้องมาก่อนหน้านี้เป็นความจริง และจะเป็นอันตรายต่อประเทศอย่างใหญ่หลวง

สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ผู้บัญชาการเหล่าทัพออกมาตบเท้าประกาศ “กลับลำ” และ “หัก” รัฐบาล ไม่ไปประชุมที่อินโดนีเซีย และไม่ยอมให้ทหารอินโดนีเซียในนามอาเซียนเข้ามาสังเกตการณ์ โดยไม่สนใจผลการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียนเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ที่รัฐบาลไทยไปถลำลึกเข้าไปในเกมของกัมพูชาซึ่งทำให้ไทยต้องเสียเปรียบ ถือเป็นการอารยะขัดขืนของกองทัพต่อนโยบายรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่เห็นชัดเจนและเปิดเผยในทางสาธารณะเป็นครั้งแรก

และการแถลงข่าวของผู้บัญชาการเหล่าทัพที่ส่งสัญญาณ “อารยะขัดขืน” ต่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในทางสาธารณะชัดเจนเช่นนี้ ก็คงกลัวจะถูกมองไปเป็นอย่างอื่น นั่นจึงน่าจะเป็นสาเหตุที่กองทัพต้องออกมาแถลงสำทับว่าจะไม่ปฏิวัติเด็ดขาด

ยิ่งเห็นภาพแถลงข่าวเรียงหน้าโดยผบ.เหล่าทัพขนาดนี้ถือว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดา นักการเมืองทั้งหลายน่าจะสบายใจได้แล้วว่าจะไม่ปฏิวัติเด็ดขาด จริงหรือไม่?

โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง ไม่ปฏิวัติเด็ดขาด !!!

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
กำลังโหลดความคิดเห็น