xs
xsm
sm
md
lg

ยื้อขัง2คนไทยเขมรเสียงแข็งปัดอภัยโทษ "วีระ-ราตรี"กต.เมินช่วย-เดินหน้าถกJBC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน- รัฐบาลกัมพูชาหวังให้ "วีระ-ราตรี" ตายคาคุกเขมร! ปฏิเสธข้อเรียกร้องของไทย ขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ผู้ถูกคุมขัง อ้างตามกม.ต้องรับโทษจำคุก 2 ใน 3 ก่อน ถึงมาขออภัยโทษ พันธมิตรฯเห็นด้วยที่ทหารยืนยันไม่ปฏิวัติ ขอให้ทำหน้าที่ขับเขมรออกจากดินแดนไทย เชื่อเหตุกองทัพเมินเวที จีบีซี เพราะทหารเห็นตรงกับพันธมิตรฯถึงผลเสียหายที่ตามมา "มาร์ค" ชี้เขมรไม่พร้อมจัดจีบีซี ไทยก็ไม่เดือดร้อน อ้างเวทีเจบีซี สำคัญกว่า มอบ"กษิต" ชี้แจงอินโดฯในเวทีอาเซียน-ญี่ปุ่น ลั่นผู้สังเกตการณ์ต้องไม่ติดอาวุธ มีอำนาจไม่ต่างจากเจ้าหน้าที่ทูต "กษิต" โบ้ยอำนาจตัดสินใจประชุมจีบีซีอยู่ที่กองทัพ ขณะที่ทหารยืนยันไม่ได้ใช้ระเบิดพวงตอบโต้ทหารกัมพูชา

เขมรปัดอภัยโทษ"วีระ-ราตรี "

ความเคลื่อนไหวในการช่วยเหลือนายวีระ สมความคิด และนางราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ให้ออกมาจากการจำคุกในกัมพูชานั้น สถานการณ์อาจจะแย่ลง เมื่อสำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา กล่าวที่อากาศยานระหว่างประเทศพนมเปญ ก่อนเดินทางไปอินโดนีเซีย ว่ากฎหมายกัมพูชาบัญญัติไว้ว่าผู้ต้องโทษคดีอาญาจะต้องรับโทษจำคุก 2 ใน 3 ก่อน จึงจะได้รับการพิจารณาเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ แต่นายวีระและน.ส.ราตรี ยังไม่มีคุณสมบัติในเรื่องนี้

ทางด้านนายกอย เกือง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา กล่าวว่า สถานทูตไทยในกรุงพนมเปญได้รับแจ้งเรื่องนี้แล้ว โดยทางการกัมพูชาส่งหนังสือชี้แจงว่า ตามกฎหมายของกัมพูชา ผู้กระทำผิดต้องรับโทษจำคุกอย่างน้อย 2 ใน 3 ก่อน หลังจากนั้นจึงจะได้รับการพิจารณาอภัยโทษ

นายกอย เกือง กล่าวด้วยว่า คดีของนายวีระและน.ส.ราตรี แตกต่างจากคดีของนายศิวรักษ์ โชติพงษ์ วิศวกรชาวไทยที่ถูกทางการกัมพูชาจับกุมเมื่อเดือนพ.ย.2552 ในข้อหาจารกรรมข้อมูลเที่ยวบินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย โดยนายศิวรักษ์ได้รับการปล่อยตัวภายในเวลาไม่กี่วันด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม

พธม.ชื่นชมทหารไม่ประชุมจีบีซี

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมด้วยผู้นำ 4 เหล่าทัพ แถลงจุดยืนว่าจะไม่ทำการปฏิวัติ พร้อมยืนยันว่าจะไม่เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) ในระหว่างวันที่ 7-8 เม.ย.ที่ประเทศอินโดนีเซีย ว่า ในส่วนของภาคประชาชน ก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการปฏิวัติรัฐประหาร และการออกมาแถลงยืนยันเช่นนี้ ถือเป็นการกำหนดทิศทางที่ถูกต้อง ซึ่งภาคประชาชนเห็นด้วย และขอชื่นชม

อย่างไรก็ตาม ตนอยากขอเรียกร้องให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และกระทรวงกลาโหม ร่วมกันออกมาทำหน้าที่ปกป้องดินแดนอธิปไตย รวมไปถึงการให้ทหารเข้าผลักดันชุมชน และกองกำลังชาวกัมพูชา ให้ออกจากพื้นที่ประเทศไทยด้วย

นายปานเทพ กล่าวว่า การที่กองทัพยืนยันจะไม่เข้าร่วมประชุมจีบีซี ที่ประเทศอินโดนีเซียนั้น ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลแล้ว เนื่องจากกองทัพไม่สามารถตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมประชุมหรือไม่โดยพลการได้

ส่วนการที่กระทรวงกลาโหม และเหล่าทัพไม่เห็นด้วยที่จะมีการประชุมในประเทศที่ 3 รวมทั้งไม่เห็นด้วยให้เชิญประเทศที่ 3 เข้ามาสังเกตการณ์ในพื้นที่พิพาท หรือชายแดนไทย-กัมพูชานั้น แม้จะอยู่บนพื้นฐานของการสังเกตการณ์เพื่อไม่ให้มีการปะทะกัน แต่ก็เชื่อว่ามีความพยายามที่ต้องการให้ประเทศที่ 3 เข้าสังเกตการณ์ในพื้นที่ เพื่อไม่ให้ทหารไทยผลักดันชาวกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รัฐบาล และกระทรวงการต่างประเทศ กำลังดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด

ดังนั้น การที่ทหารออกมาแถลงเป็นการยืนยันชัดเจนว่า สิ่งที่กลุ่มพันธมิตรฯ เตือนมาตลอดนั้นเป็นเรื่องจริงทั้งสิ้น ทั้งนี้ตนอยากขอเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดความรับผิดชอบ และแสดงท่าทีในเวทีนานาประเทศให้ชัดเจน รวมไปถึงการประสานกับกระทรวงกลาโหมให้มีแนวทางที่เป็นเอกภาพมากยิ่งขึ้น และไม่ใช่เพียงต้องการสร้างภาพลักษณ์ว่า แสวงสันติภาพมากกว่าการปกป้องดินแดนอธิปไตยของชาติ

ส่วนกรณีการรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง และกาในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน หรือ “โหวตโน” หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นนั้น โฆษกพันธมิตรฯ เปิดเผยว่า หลังเทศกาลสงกรานต์ พรรคการเมืองหลายพรรคจะมีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง โดยพันธมิตรฯ ก็จะมีการรณรงค์เช่นเดียวกัน ว่าให้ประชาชนร่วมกันโหวตโน หากมีการเลือกตั้ง พร้อมกับรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์โหวตโนกันมากๆ เพื่อชี้ให้เห็นว่า การเลือกตั้งไม่ใช่ความหวังในการแก้ปัญหาประเทศ โดยล่าสุดพบว่า มีหลายองค์กรที่เห็นด้วยกับความเห็นโหวตโน ของกลุ่มพันธมิตรฯ แม้จะเป็นกลุ่มที่ไม่ชอบพันธมิตรฯ มาตั้งแต่แรก และจากการเริ่มรณรงค์ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก พบว่า มีเสียงตอบรับค่อนข้างมากเช่นกัน

เขมรไม่จัดจีบีซีไทยไม่เดือดร้อน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป หรือ จีบีซี ในระหว่างวันที่ 7-8 เม.ย. ซึ่งแต่เดิมประเทศกัมพูชาจะเป็นเจ้าภาพ แต่มีการเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด ว่า ไม่มีปัญหาอะไร เมื่อวันอังคารที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา ตนได้คุยกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม และนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศไปแล้วว่า เมื่อทางกัมพูชาจัดที่กรุงพนมเปญไม่ได้ ก็ไม่ต้องประชุม เพราะไม่มีประเด็นอะไร และให้แยกกันระหว่างจีบีซี กับการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือ เจบีซี เมื่อไม่มี จีบีซี เราก็ไม่เดือดร้อน จนกว่าเขาจะมีประเด็นที่ตกลงกันได้ เพราะเรื่องหลักๆ ที่อยากให้เดินมันอยู่ในเจบีซี มากกว่า เพราะอันนั้นเป็นกลไกหลักที่ต่างชาติเขาจับตาดู ส่วนจีบีซี เป็นเรื่องทั่วๆไปในพื้นที่

ส่วนกรณีเรื่องผู้สังเกตการณ์นั้นไม่ต้องไปผูกติดอยู่กับจีบีซี อยู่แล้ว และเรื่องข้อตกลงหยุดยิงถาวร เราก็ไม่มีข้อตกลงอะไรต่างๆ อยู่แล้ว เพราะเจบีซี เขาจะทำเรื่องภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อมาสนับสนุนเรื่องการจัดทำปักปันเขตแดน ซึ่งอาจทำได้ต่อเนื่องจากกรอบการเจรจา ซึ่งสภาให้ไว้แล้ว และไม่ไปกระทบกับบันทึก 3 ฉบับ ที่ค้างอยู่

ขณะเดียวกันเป็นการแสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่า มันมีกลไกทวิภาคี ซึ่งทำงานเรื่องนี้ต่อได้ก็ประชุมไป ส่วนจีบีซี เดิมเรานึกว่า ถ้าพื้นที่อยากจะดูปัญหาเกี่ยวกับผู้สังเกตการณ์ แต่เมื่อประชุมไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร สามารถไปใช้กลไกอื่นได้ ซึ่งนายกษิต ก็จะต้องเดินทางไปกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย เพื่อไปร่วมประชุมอาเซียน-ญี่ปุ่น (วันที่ 9 เม.ย. นี้) อาจจะใช้โอกาสตรงนั้นพบปะพูดคุยกับทางอินโดนีเซีย กับข้อเสนอเรื่องการส่งผู้สังเกตการณ์มา

เมื่อถามว่า การจัดการประชุม จีบีซี ถ้าไม่ใช่ไทย กับกัมพูชา จะไม่มีการไปประชุมที่อื่นใช่ไหม นายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีการประชุม ถ้าทางกัมพูชาบอกไม่พร้อมจัด ก็รอไป เมื่อถามว่าจะกระทบกับบริเวณพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์ในพื้นที่ไม่มีอะไร เรื่องจีบีซี กัมพูชามีหน้าที่ต้องจัดที่กรุงพนมเปญ เมื่อถามอีกว่า กัมพูชาให้เหตุผลอะไรที่ไม่พร้อมจัด นายกฯ กล่าวว่า ไม่ค่อยชัดเจน อยากจะไปประชุมประเทศที่ 3 เมื่อถามต่อว่า ไทยไม่พร้อมที่จะไปประเทศที่ 3 ใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เราก็บอกว่าความจริงเขาน่าจะจัดได้ แต่ถ้ายังจัดไม่ได้ ก็รอไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า จีบีซี ไม่เกิด การเจรจาระดับทวิภาคี จะเกิดได้อย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็เจบีซี ไงยังเดินหน้าอยู่ แต่จีบีซีนั้น ไม่มีประเด็นที่ชัดเจน แต่เจบีซี มีกรอบของมันอยู่แล้ว

ไม่ให้ผู้สังเกตการณ์อินโดฯติดอาวุธ

เมื่อถามว่า จะถูกโยงหาว่าเราไม่ให้ความร่วมมือในการรับผู้สังเกตการณ์หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องผู้สังเกตการณ์ ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพียงแต่ต้องดูว่า พื้นที่ของผู้สังเกตการณ์อยู่ที่ไหน ถ้ากัมพูชา จะเอาผู้สังเกตการณ์มาอยู่ในดินแดนเรา เราก็บอกว่าไม่ได้ พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร เราก็บอกว่าดินแดนเรา คุณจะเอาผู้สังเกตการณ์เข้ามาในส่วนของกัมพูชาไม่ได้ ก็ต้องไปคุยกันตรงนี้ ซึ่งทางอินโดนีเซีย ก็เข้าใจ

เมื่อถามว่า ทางกองทัพยืนยันชัดเจนว่าจะไม่ให้ผู้สังเกตการณ์เข้ามาใช่ไหม นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ แต่เป็นการพูดถึงทหารต่างชาติ และเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ตนก็ได้พูดคุยกับทางผบ.ทบ. อยู่ การเข้ามาต้องไม่ติดอาวุธ เพราะไม่ได้มีหน้าที่มาทำเหมือนรักษาสันติภาพ แต่มีหน้าที่มาสังเกตการณ์อย่างเดียวว่า สภาพในพื้นที่สงบเรียบร้อย สถานะของเขาขณะนี้เราตกลงว่า เหมือนกับเป็นเจ้าหน้าที่ของสถานทูตที่อยู่ที่นี้ และจะไปที่ไหนก็ต้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถตกลงกันได้ มันจะคนละกรณีกับการที่เราส่งไปทหารไปติมอร์ ดาฟู มันคนละเรื่องกัน

เมื่อถามว่าวันนี้ยังจำเป็นต้องให้ผู้สังเกตการณ์เข้ามาหรือไม่ ในเมื่อสถานการณ์ในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว นายกฯ กล่าวว่า ต้องให้อินโดนีเซีย เตรียมมาปรึกษากัน เพราะตอนที่เขาเสนออันนี้ขึ้นมาเป็นในกรอบของอาเซียน

กต.ชี้ถกจีบีซี ขึ้นอยู่กับกองทัพ

นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่กองทัพจะไม่เดินทางไปประชุม จีบีซี ที่ประเทศอินโดนีเซีย ว่า การประชุมจีบีซีที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่มีการเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชา ว่าด้วยคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย ที่จะเข้ามาในพื้นที่ไทย-กัมพูชา เพื่อดูแลไม่ให้มีการปะทะกัน

ดังนั้น ถ้ายังไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะเรายืนยันตลอดว่าจะไม่ให้ผู้สังเกตการณ์เข้าไปในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ดังนั้นเมื่อฝ่ายทหารยังตกลงกันไม่เรียบร้อย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด จึงบอกว่ายังไม่มีการประชุม และถ้าจะประชุมก็อยากให้ประชุมที่ไทย หรือกัมพูชา แต่ทางอินโดนีเซียพยายามอำนวยความสะดวกให้ ดังนั้นการตัดสินใจอยู่ที่กองทัพ และฝ่ายความมั่นคง

ถกเจบีซีไม่ทำไทยเสียดินแดน

นายอัษฎา ชัยนาม ประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือ เจบีซี นำคณะร่วมประชุมเจบีซี ที่เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซียแล้ว โดยยืนยันว่าแม้ที่ประชุมรัฐสภายังไม่รับรองผลบันทึกการประชุมเจบีซี ทั้ง 3 ฉบับ จะไม่กระทบต่อการประชุม ซึ่งในการหารือ จะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์การดำเนินการแผนที่ทางอากาศในการสำรวจปักปันเขตแดน โดยให้ความมั่นใจว่า จะไม่มีการลงนามสัญญาใดๆที่จะทำให้ไทยเสียอธิปไตยในดินแดน

นายอัษฎาย้ำว่า การหารือครั้งนี้จะเป็นไปในแบบทวิภาคีเท่านั้น โดยอินโดนีเซีย เป็นเพียงผู้ให้สถานที่การประชุม แต่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุม หรือเป็นคนกลางเข้ามาสังเกตการณ์ได้

ด้านนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ไม่ได้เข้าร่วมเจบีซีครั้งนี้ด้วย โดยเตรียมเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน กับรัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะจัดขึ้นที่อินโดนีเซีย ในวันที่ 9 เม.ย. นี้

ทหารยันไม่ได้ใช้ระเบิดพวงตอบโต้กัมพูชา

แหล่งข่าวทางทหาร เปิดเผยถึงกรณีเครือข่ายความร่วมมือต่อต้านระเบิดดาวกระจาย (ซีเอ็มซี) ระบุว่า ทหารไทยได้ใช้ระเบิดดาวกระจายตอบโต้ทหารกัมพูชาว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับนิตยสารของสหรัฐอเมริกา ลงข้อมูลเนื้อหาการปะทะกันระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชา โดยเฉพาะการตอบโต้ของทหารไทยด้วยการใช้ระเบิดพวง แต่เรื่องนี้ก็ไม่อยากพูดถึง เพราะบางอย่างพูดไปก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ แต่ยืนยันว่าทหารไทยไม่ได้ใช้ระเบิดพวงในการตอบโต้กับทางกัมพูชา ส่วนที่มีข่าวว่าทางเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสหรัฐอเมริกายังยอมรับกับนิตยสารดังกล่าวนั้น ไม่รู้ว่าเป็นข้อเท็จจริงเพียงใด แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทหารไทยปฏิบัติหน้าที่อย่างสมศักดิ์ศรีในการปกป้องอธิปไตยของประเทศไทย ดังนั้นการที่มีประเทศหนึ่งประเทศใดใช้กำลังในการตอบโต้ หรือ บุกรุกเข้ามายังประเทศไทย ทหารไทยในฐานะที่ดูแลปกป้องผืนแผ่นดินไทยก็จะต้องรักษาและปกป้องให้ถึงที่สุด

“ไม่ว่าทหารไทยจะใช้อาวุธอะไรตอบโต้กับผู้ที่รุกรานประเทศไทยไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ทหารไทยจะไม่ยอมให้ใครมาบุกรุกแผ่นดินไทยแม้แต่ตารางนิ้วเดียว ทหารไทยไม่ยอมอยู่แล้ว ดังนั้นอย่าเอาเรื่องนี้ขึ้นมาจุดประเด็นเลย เพราะมันไม่เกิดประโยชน์ และอีกอย่างเรื่องนี้มันก็จบไปแล้วเช่นกัน และกองทัพก็ชี้แจงรายละเอียดเรื่องนี้ไปหมดแล้ว และยืนยันมาตลอดว่าไม่ได้มีการใช้ระเบิดพวงในการตอบโต้กับเหตุการณ์ที่ผ่านมา ส่วนเรื่องการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา หรือ จีบีซี นั้น ทาง ผบ.เหล่าทัพ ยืนยันแล้วว่า จะไม่มีการจัดการประชุมในประเทศที่ 3 อย่างแน่นอน การประชุม จีบีซี จะเกิดขึ้นได้จะต้องประชุมเพียงแค่ประเทศไทยและ กัมพูชาเท่านั้น” แหล่งข่าวระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น