xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปค.สั่ง2 คดีบิ๊กมท. กรณี"มงคล-วงศ์ศักดิ์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ (21 เม.ย.) ศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ ได้ส่งคำพิพากษา กรณีของนายมงคง สุรสัจจะ อธิบดีกรมการปกครอง (ผู้ฟ้องคดี) ฟ้องคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม ที่ได้มีกากรพิจารณาไปเมื่อวันที่ 11 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งไม่รับคำขอทุเลาการบังคับตามคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดี กรณีนายมงคล ร้องศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลมีคำพิพากาษา หรือคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ผู้ถูกฟ้องคดี) ที่สั่งให้ยกเลิกคำสั่งกระทรงมหาดไทย ที่ 165/2553 ลงวันที่ 27 เม.ย. 53 ที่ให้นายวงศ์ศักดิ์ รักษาการในตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 165/2553 ลงวันที่ 27 เม.ย. 53 ที่ นายมงคล รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครอง ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน และให้ข้าราชการพลเรือนพ้นจากตำแหน่ง ลงวันที่ 4 มิ.ย. 53 ที่ให้นายวงศ์ศักดิ์ พ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครอง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักปลัดกระทรวง และที่ให้ผู้ฟ้องคดี ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย ที่302 /2553 ลงวันที่ 21 ก.ค. 53 เรื่องให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ ขาดจากอัตราเงินเดือน และได้รับเงินเดือน เฉพาะรายนายวงศศักดิ์ และผู้ฟ้องคดี และที่ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายกรัฐมนตรี ดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของ คณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม ซึ่งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ ดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ศาลเห็นว่าเป็นข้อพิพาททางคดีที่ต้องวินิจฉัย และเมื่อพิเคราะห์ข้อเท็จจริง ที่มีอยู่ในขณะนี้แล้วยังไม่สามารถชี้ขาดได้ว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรม จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งศาลจะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาก่อน ต่อไปหากศาลเห็นว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีคำพิพากษาให้เพิกถอนแล้ว มาตรา 72 วรรคสอง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ได้บัญญัติให้ศาลมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขอย่างใดก็ได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน หรือเสียหายแก่นายมงคล ด้วยความเป็นธรรมตามควรแก่กรณี แต่ในกรณีที่ศาลเห็นว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ เป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว การให้ทุเลาการบังคับตามคำขอของผู้ฟ้องคดีในขณะนี้ ย่อมจะทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าไม่สมควรมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ ตามที่นายมงคลขอมา จึงมีคำสั่งไม่รับคำขอทุเลาการบังคับตามคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดี

ในวันเดียวกันนี้ ศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งกรณีไม่รับฟ้องคดีที่ นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย (ผู้ถูกฟ้องคดี) ได้ยื่นฟ้อง นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ถูกฟ้อง เรื่องเป็นเจ้าพนักงานปกครอง กระทำการโดยมิชอบ กรณีปลัดกระทรวงมหาดไทยไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัย คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ที่ให้ นายวงศ์ศักดิ์ กลับไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครอง โดยให้คำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย. 53 เป็นต้นมา โดยปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังคงให้ นายมงคล ปฏิบัติหน้าที่เป็นอธิบดีกรมการปกครองอยู่ ซึ่งผู้ฟ้องเห็นว่า เป็นการจงใจหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือ เอื้อประโยชน์บุคคลอื่นโดยทุจริต จึงขอให้ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. ฉบับลงวันที่ 11 มี.ค. 54
โดยศาลปกครองพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะคู่กรณีในการร้องทุกข์จะต้องปฎิบัติตามคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. แต่ตามกฎหมายก็ไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่ปลัดกระทรวงมหาดไทย จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของก.พ.ค. ไว้เป็นการเฉพาะ และคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ก็มิได้กำหนดระยะเวลาที่จะต้องดำเนินการตามคำวินิจฉัยเช่นกัน
ดังนั้นระยะเวลาอันสมควรที่ปลัดกระทรวงฯ ต้องพิจารณาดำเนินการตามคำวินิจฉัยให้แล้วเสร็จ จึงมีกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. เมื่อวันที่ 11 มี.ค.54 การที่ผู้ฟ้องคดีนี้ได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 54 จึงยังอยู่ในช่วงระยะเวลาที่ผู้ถูกฟ้องคดีพิจารณาดำเนินการอยู่ จึงถือได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดียังมิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย หากต่อมาปรากฏว่าพ้นกำหนด 90 วันแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดียังไม่ได้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. นายวงศ์ศักดิ์ มีสิทธิ์มายื่นฟ้องคดีใหม่ได้ ดังนั้นศาลจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง
นายเจษฎา จันทร์ดี ทนายความนายวงศ์สวัสดิ์ กล่าวว่า หากพ้นกำหนด 90 วันยังไม่ได้รับการแต่งตั้งให้กลับไปตามที่คณะกรรมการพิทักษ์ มีคำวินิจฉัยก็อาจจะยื่นฟ้องอีกครั้ง เพราะศาลยังไม่ได้วินิจฉัยในเนื้อหา
แต่อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็เคยออกมาพูดก่อนหน้านี้แล้วว่า ปลัดกระทรวงมหาดไทยควรทำตามคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. ภายในกำหนด 60 วัน เรื่องนี้ปลัดฯสามารถทำได้โดยง่ายภายใน 3 วัน แค่ยื่นเรื่องเสนอรัฐมนตรีฯ นำเข้าสู่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบก็จบ จึงมองว่าอาจเป็นการประวิงเวลา จึงได้ยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบการทำงานของปลัดกระทรวงมหาดไทยแล้ว
------------
กำลังโหลดความคิดเห็น