xs
xsm
sm
md
lg

กพค.เปิดศึกฝ่ายการเมือง จุดยืนคุณธรรม-ไม่ก้าวล่วงนายกฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 13.00 น. วานนี้(5 เม.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) นายศราวุธ เมนะเศวต ประธานคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) แถลงชี้แจงภายหลังหารือในที่ประชุมก.พ.ค. ว่า ได้นำประเด็นที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเมื่อวันที่ 4 เม.ย. ในเรื่องของการคืนตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครอง ของนายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิพาณิชย์ ซึ่งได้มอบให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ ก.พ.ค. ซึ่งตามมาตรา 31 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ให้อำนาจ ก.พ.ค. วินิจฉัย ได้ทั้งเรื่องอุทธรณ์และเรื่องร้องทุกข์
ซึ่งกรณีดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องร้องทุกข์ที่มีต้นเหตุมาจากปลัดกระทรวงมหาดไทยที่ทำให้เกิดความคับข้องใจ อันเนื่องมาจากการกระทำที่ไม่สุจริต หรือมีลักษณะที่เลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมหรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ซึ่งกรณีย้ายผู้ร้องทุกข์ออกจากตำแหน่งของอธิบดีกรมการปกครองให้ไปดำรง ตำแหน่งผู้ตรวจราชการนั้น เรื่องดังกล่าวนี้ จึงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของก.พ.ค.และเป็นไปตามเงื่อนไขที่รับพิจารณาไว้
กรณีของนายวงศ์ศักดิ์ นั้น เป็นการย้ายตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ซึ่งเป็นอำนาจของปลัดกระทรวงได้ใช้ดุลพินิจแล้วนำเสนอต่อครม. พร้อมทั้งเหตุผลของการตัดสินใจดังกล่าว เพื่อให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดนำเสนอต่อครม. เพื่อพิจารณาอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบตัวบุคคล ซึ่งหลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีจึงนำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯ ต่อไป และคำวินิจฉัยของก.พ.ค. จึงมีผลผูกพันต่อคู่กรณีในการร้องทุกข์ คือปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความคับข้องใจ เนื่องจากการกระทำที่ใช้ดุลพินิจโดยมิชอบในการออกคำสั่งโยกย้าย ซึ่งต่อมานายกรัฐมนตรีได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การโยกย้ายเป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด โดย ก.พ.ค. มิได้มีคำวินิจฉัยก้าวล่วงในส่วนอำนาจของครม.
“ก.พ.ค. ขอย้ำจุดยืนว่า การมี ก.พ.ค. เพื่อคุ้มครองระบบคุณธรรมและคุ้มครองการทำงานระหว่างข้าราชการประจำกับฝ่าย การเมือง ซึ่งฝ่ายการเมืองสามารถใช้อำนาจดุลพินิจโดยมีเหตุผล กรณีนี้ ก.พ.ค. มิได้ล่วงอำนาจดุลพินิจของรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี แต่ได้วินิจฉัยในส่วนของกระบวนการในการโยกย้ายอธิบดีกรมการปกครอง” นายศราวุธ กล่าว
ทั้งนี้ ก.พ.ค. ได้ใช้มาตรฐานเดียวกันกับอธิบดีกรมการปกครองในการวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ กับอีกสองกรณีของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งข้อเท็จจริงแตกต่างไปจากกรณีของนายวงศ์ศักดิ์ ที่มีหลักฐานสนับสนุนว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบของปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งก.พ.ค. ไม่ได้วินิจฉัยในเรื่องของโครงการเช่าคอมพิวเตอร์ของสำนักทะเบียนกลางกรมการ ปกครอง และการจัดทำบัตรสมาร์ทการ์ดหรือบัตรประชาชนเอนกประสงค์ เนื่องจากยังไม่มีข้อยุติและอยู่ระหว่างการพิจารณาของ ป.ป.ช.
ส่วนกรณีของนายมงคล สุระสัจจะ ที่ได้รับผลกระทบจากคำวินิจฉัยของก.พ.ค.ในวันนี้ที่ประชุมก.พ.ค.มีมติไม่รับเรื่องร้องทุกข์ของนายมงคล ที่มายื่นต่อ ก.พ.ค.เนื่องจากนายมงคลสามารถใช้สิทธิฟ้องศาลปกครองในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากคำนิจฉัยของ ก.พ.ค. ซึ่งจะมีทั้งฝ่ายที่พอใจและฝ่ายไม่เห็นด้วย และตามคำวินิจฉัยถือว่าเป็นที่สุดตามกฏก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยร้องทุกข์ พ.ศ.2551
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ครม.ให้กฤษฎีกาไปดูอำนาจหน้าที่ของ ก.พ.ค.ว่ามีแค่ไหน จะเป็นการขีดเส้นอำนาจหน้าที่ของ ก.พ.ค. หรือไม่ นายศราวุธ กล่าวว่า ไม่สามารถขีดเส้นได้ เพราะก.พ.ค.ดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายทุกอย่าง เราทำในขอบเขตที่พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือนให้อำนาจ ถ้านอกกฎหมายก.พ.ค.คงไม่ไปก้าวร่วมวินิจฉัย และเราก็ไม่หนักใจในเรื่องนี้ ส่วนกรณีที่ครม.ให้รอจนกว่าจะมีคำสั่งเรื่องของนายมงคล สุระสัจจะ นั้น นายศราวุธ กล่าวว่า เป็นคนละส่วนกันกับการที่จะให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามคำวินิจฉัย ไม่มีกฎหมายตรงไหนที่ให้รอคำวินิจฉัยของศาลปกครอง เมื่อก.พ.ค.วินิจฉัยไปอย่างไร กฎหมายก็ให้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.
เมื่อถามต่อว่า จากกรณีนี้อาจทำให้ดูว่า ก.พ.ค. มีอำนาจหน้าที่มากเกินไป จะเป็นอุปสรรคในการโยกย้ายกรณีอื่นๆหรือไม่ นายศราวุธ กล่าวว่า ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะก.พ.ค.มีหน้าที่ในการดูแลข้าราชการพลเรือนสามัญ คุ้มครองระบบคุณธรรมไม่ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบ
เมื่อถามถึงกรณีที่เกิดขึ้น นายมานิต วัฒนเสน อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ทำหนังสือร้องเรียนมาใช่หรือไม่ นายศราวุธ กล่าวว่า ใช่ แต่ทั้งคู่ไม่ใช่คู่กรณี เพียงแต่บอกว่าการดำเนินการตั้งแต่ต้นนั้นไม่ชอบตามระบบคุณธรรม เราไม่ได้ก้าวล่วงถึงใคร แม้แต่นายกรัฐมนตรีที่บอกให้ยกเลิกประกาศ เราก็ไม่ได้บอกว่านายกรัฐมนตรีทำไม่ชอบไม่เคยก้าวล่วงลงไปเลย เราไม่ได้มีการก้าวล่วงไปถึงใคร
ถามต่อว่า จากคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ที่ระบุว่าการโยกย้ายแต่งตั้งนายวงศ์ศักดิ์ไม่ชอบ จะส่งผลต่อการพิจารณาของป.ป.ช.ด้วยหรือไม่ นายศราวุธ กล่าวว่า เป็นคนละส่วนกัน แม้ป.ป.ช.จะสอบแล้วว่าเรื่องนี้ไม่ผิด แต่กระบวนการที่เข้าไปสั่งการโดยไม่ชอบเป็นคนละเรื่องกัน ไม่ส่งผลต่อการพิจารณาของป.ป.ช.แต่อย่างใด ส่วนอำนาจการตัดสินก.พ.ค.ขอยืนยันว่ายังมีอำนาจอยู่ แต่ก.พ.ค.ก็ไม่ใช่ศาล ที่จะบอกว่ายกเลิกอันนั้นอันนี้เลยก็ไม่ใช่.
กำลังโหลดความคิดเห็น