ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ทักษิณ ชินวัตร อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ สุเทพ เทือกสุบรรณ เสนาะ เทียนทอง บรรหาร ศิลปอาชา เนวิน ชิดชอบ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ชวรัตน์ ชาญวีรกุล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สุวัจน์ ลิปตพัลลภ พ.อ.อภิวันทน์ วิริยะชัย การุณ โหสกุล จตุพร พรหมพันธุ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กษิต ภิรมย์ ศิริโชค โสภา สาทิตย์ วงศ์หนองเตย โสภณ ซารัมย์ พรทิวา นาคาศัย ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก สมศักดิ์ เทพสุทิน ว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณฉวี พินิจ จารุสมบัติ เทพไท เสนพงศ์ พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ฯลฯ
ถามว่า ส่วนหนึ่งของรายชื่อบุคคลที่ปรากฏข้างต้นนี้ เคยทำคุณงามความดีให้กับประเทศชาติให้จดจำบ้างหรือไม่?
แต่ที่แน่ๆ คือในการเลือกตั้งครั้งหน้าที่กำลังจะมาถึงอันเป็นผลมาจากการประกาศยุบสภาของนายกรัฐมนตรี คนเหล่านี้ ร่างทรง ตลอดรวมถึง “ทายาทอสูร” ของคนเหล่านี้ จะกลับเข้ามาทำหน้าที่เป็น “ผู้แทนปวงชนชาวไทย” อีกครั้ง และหลายคนจะมีโอกาสสถาปนาตัวเองขึ้นไปเป็นรัฐบาลในการทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน
ที่สำคัญคือ เหตุการณ์การเมืองไทยนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะหลังที่ทุนนิยมสามานย์เข้าครอบงำหนักข้อขึ้น การเมืองไทยมิอาจหลุดพ้นจากกับดักทางการเมืองในทำนองที่ว่า “อัปรีย์ไป จัญไรมา“ เลยแม้แต่น้อย
ดังนั้น ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนคนไทยผู้มีสิทธิในการเลือกตั้งจะต้องตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ด้วยการไปใช้สิทธิเลือกตั้งและกากบาทลงในช่อง “ไม่ประสงค์” ลงคะแนนให้ใคร
เพื่อเป็นการปกป้อง “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และประชาชน” รวมทั้งปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในประเทศไทยให้เป็นระบอบที่ทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
VOTE NO คืออะไร?
ทำไมต้อง VOTE NO?
หลังจากที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศตัดสินใจเปิดแคมเปญ VOTE NO เพื่อสั่งสอนบรรดานักลากตั้งทั้งหลาย ก็ปรากฏว่า นักลากตั้งจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบโดยตรงพยายามใช้วิชามารบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิในการไปลงคะแนนเลือกตั้ง แต่ตัดสินใจกากบาทในช่อง “ไม่ประสงค์ลงคะแนน” ให้กับใครว่า ไม่ใช่วิถีทางของระบอบประชาธิปไตยบ้าง กล่าวหาว่า เป็นการปูทางไปสู่การไม่มีการเลือกตั้งหรือเปิดช่องให้มีการรัฐประหารบ้าง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการที่ สถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ นำเสนอรายการเพื่อคัดค้านการรณรงค์ให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งลงคะแนนในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะพยายามใช้สื่อของตนเองเกลี้ยกล่อมประชาชนให้เชื่อตาม
ทั้งๆ ที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว มิได้เป็นอย่างที่กล่าวหาเลยแม้แต่น้อย
นายสมชัย จึงประเสริฐ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการสืบสวนสอบสวน และวินิจฉัย ยืนยันว่าว่า เรื่องการโหวตโนถือเป็นการใช้สิทธิเลือกตั้งเหมือนกัน ถ้าไม่เห็นด้วยหรือไม่ถูกใจก็ไม่เป็นไร หรือแม้แต่เสียงโหวตโนมากกว่าพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงการเลือกตั้งก็ไม่มีปัญหา และถือว่าการเลือกตั้งไม่ได้ล้มเหลว แต่ต้องไปถามนักการเมืองและพรรคการเมืองว่าทำไมประชาชนไม่เลือก
ที่สำคัญคือ ไม่ใช่เป็นความล้มเหลวของ กกต. มิหนำซ้ำยังถือว่า กกต.ประสบความสำเร็จในการจัดการเลือกตั้งด้วยซ้ำไป เพราะ กกต.มีหน้าที่ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งให้มากที่สุด
เฉกเช่นเดียวกับ ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต และผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอก วิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก ที่ระบุว่า “ถ้าผมไม่พอใจใครสักคนเลย ผมก็มีสิทธิสงวนที่จะไม่ลงคะแนนให้ใครเลย นี่เป็นสิทธิของแต่ละคน”
นี่ต่างหากคือความหมายที่แท้จริงของการ VOTE NO และการ VOTE NO ก็คือ การสำแดงพลังที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีนัยสำคัญยิ่ง
นัยที่ว่านั้นคือการปฏิเสธนักการเมือง ปฏิเสธระบบการเลือกตั้งที่ล้มเหลว ยิ่งถ้าตัวเลข VOTE NO มากเท่าไหร่ก็ยิ่งส่งผลสะเทือนมากขึ้นเท่านั้น
“ถ้ามีความรู้สึกว่าระบบทั้งหมดมันใช้ไม่ได้แล้วพากันโหวตโน สมมุติสัก 5% -10% มันก็เป็นสิทธิส่วนตัว ไม่มีสิทธิไปว่าเขา แต่ถ้าโหวตโนไป 55% มันไม่ใช่เรื่องปัจจัยบุคคลแล้ว แต่มันคือการปฏิเสธระบบทั้งระบบ แสดงว่าไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งจึงโหวตโน สมมุติผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีทั้งหมด 30 ล้านคน โหวตโนสัก 15 ล้านเสียง หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งมันก็ฉิบหายแล้ว คุณเป็นรัฐบาลภาษาอะไร ระบบนี้ใช้ไม่ได้แล้ว”ศ.ดร.ลิขิตขยายความ(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในบทสัมภาษณ์หน้า 11)
ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยจะปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ต้องบอกว่า เป็นระบอบประชาธิปไตยที่ “ล้มละลาย” เนื่องเพราะหลักการพื้นฐานสำคัญถูกทำลาย บิดเบือนและแปรรูปเปลี่ยนสภาพโดยนักการเมืองและเครือข่ายบริวารของพวกเขา
กล่าวคือทั้ง ส.ส.ที่เลือกตั้งแบบแบ่งเขตพื้นที่และเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ มิได้เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง เพราะเป็นการเลือกตั้งที่ใช้ “เงิน” เป็นตัวตัดสิน ใครหรือก๊กใดพรรคใดมีเงินเยอะก็สามารถกวาดต้อน ส.ส.มาเข้าสังกัดตัวเองได้เป็นจำนวนมาก
และระบบดังกล่าวก็พากันผลิตนักการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลที่ฉ้อฉลและไร้ประสิทธิภาพในการบริหารเข้ามากอบโกยผลประโยชน์เข้ากระเป๋าของตัวเองและพวกพ้องกันอย่างมิเกรงกลัวต่อบาปกรรม กลายเป็นธุรกิจที่ทำกำไรให้อย่างมหาศาลและไม่มีอาชีพใดที่จะรวยเร็วเท่ากับนักการเมืองอีกแล้ว ขณะที่ประชาชนที่ไปลงคะแนนให้ก็ยังคงมีสภาพชีวิตที่เหมือนเดิม
กลายสภาพเป็น “ทาสในเรือนเบี้ย” ที่ถูกควบคุมโดย “หัวคะแนน” ที่นำเงินมาซื้อเสียงและไปลงคะแนนให้ด้วยสำนึกในเศษเงินที่นักการเมืองโยนมาให้อย่างโงหัวไม่ขึ้น
ดังเช่นที่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกล่าวว่า เมืองไทยต้องการผู้นำที่จะมาแก้ไขปัญหาชาติบ้านเมืองที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทั่วโลก และทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เงินทุกบาททุกสตางค์จะต้องลงสู่ประชาชน ทำให้ประเทศน้ำไม่ท่วม พืชผลออกมามาก กำหนดทิศทางไปสู่การเกษตร ไม่ใช่อุตสาหกรรม เมืองไทยทำแบบนี้ไม่ได้ ถ้ามีนักการเมืองแบบนี้อยู่ เพราะฉะนั้นการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งหน้าต้องโหวตโน คือไม่เลือกพรรคไหน เพื่อประท้วงนักการเมือง ให้โหวตโนทุกพรรค ไม่ว่าพรรคไหน
“วันนี้สังคมไทย ถูกนายทุนครอบงำหมด พวกเราต้องรับใช้นายทุน แล้วนายทุนก็ไปครอบงำรัฐบาลอีกต่อหนึ่ง นั่นคือคณาธิปไตย เป็นการเมืองของหมู่คณะ คนจะเล่นการเมืองต้องมีพรรค และทุกคนต้องสังกัดพรรคเหมือนบริษัท ซึ่งจะทำให้สามารถใช้เงินซื้อได้ง่าย กลายเป็นธนาธิปไตย คือเอาเงินมาครอบ และก็จะจบลงด้วยโจราธิปไตย คือการเมืองของพวกโจร”
“เราพูดมาตลอดเวลาว่าการเมืองครั้งนี้เป็นการเมืองที่สกปรก อัปรีย์ไปจัญไรมา เราต้องยุติการเป็นตัวประกันให้พรรคประชาธิปัตย์ที่เอาไปพูดว่าไม่เลือกเราเขามาแน่ ทั้งที่จริงๆ แล้วถึงเลือกเราเขาก็มา เพราะมันเลวทั้งคู่ พวกเราถึงรณรงค์ให้โหวตโนซึ่งนัยของมันคือ การปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย”
“โหวตโน คือสิทธิทางประชาธิปไตย เหมือนการเอากับข้าวมาวางบนโต๊ะ แล้วให้เราเลือกว่าจะกินอะไร เราเลือกไม่กินก็ได้ เพราะเรารู้ว่าคนทำมันเกลียดเรามันแอบถุยน้ำลายใส่กับข้าว และมันทำกับข้าวสกปรก อุปมาอุปมัยเหมือนการเมืองขณะนี้ที่มันเลวหมด อัปรีย์ไปจัญไรมา เราไม่เอา เราต้องการอาหารบนโต๊ะที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ” นายสนธิแจกแจง
ด้วยเหตุดังกล่าว การ VOTE NO เป็นการแสดงสิทธิ์ของประชาชนที่ปฏิเสธกลุ่มการเมืองในระบบทั้งหมด ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ไม่ยินยอมให้สิทธิ์ตัวเองถูกข่มขืนเพื่อเลือกพรรคการเมืองหนึ่งเพราะกลัวอีกพรรคการเมืองหนึ่งจะมา ดังเช่นที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์งัดวิชามารออกมาใช้ด้วยการเปิดแคมเปญ “ไม่เลือกเราเขามาแน่” เพื่อหยุดยั้งสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนที่จะไปกากบาทในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน
ขณะเดียวกัน การ VOTE NO คือการไม่ยินยอมให้สิทธิ์ของตัวเองเป็นเครื่องมือให้คนที่เลือกเข้าไปนั้นสนับสนุนยกมือกลุ่มการเมืองของตัวเองโดยไม่สนใจผิดชอบชั่วดี เป็นการแสดงสิทธิ์ส่วนตัวเพื่อไม่ให้เป็นตราบาปให้กับตัวเองว่าเลือกคนชั่วมาครองเมืองและทำร้ายประเทศชาติ หรือเลือกคนที่คิดว่าดีแต่กลับยกมือสนับสนุนโจรให้โกงบ้านกินเมืองหรือขายชาติขายแผ่นดิน ถือเป็นการสั่งสอนนักการเมืองโดยสิทธิ์ของประชาชนอย่างมีการจัดการ
ทั้งนี้ หากประชาชนมีนัดหมายไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งแล้วกากบาทในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน และหากมีผู้ใช้สิทธิ์ไม่เลือกใครรวมกับผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิ์เกินกว่าครึ่งหนึ่ง จะมีความหมายว่าการเมืองในระบบทั้งหมดเป็นเพียงเสียงข้างน้อยของคนในประเทศนี้ และความชอบธรรมของนักการเมืองในการปกครองประเทศลดลง และความชอบธรรมในการปฏิรูปประเทศย่อมสูงขึ้น
“รัฐบาลอภิสิทธิ์ กลายเป็นรัฐบาลไก่อ่อน ไปปรองดองกับกลุ่มคนเสื้อแดง โดยปล่อยตัวผู้ก่อการร้าย ที่ก่อเหตุเผาบ้านเมืองออกมาเป็นอิสระ เพื่อเดินหน้าจัดการเลือกตั้ง และเชื่อว่า พรรคอั้งยี่ ที่มีความพร้อมด้านกระสุนดินดำ-ซ่องสุมกำลังพล และวางแผนด้านการข่าวมากกว่าที่รัฐบาล ปชป.ประเมินไว้ จะชนะการเลือกตั้งและกลับเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล เพราะมีประสบการณ์ และกองกำลังที่เข้มแข็งมากกว่าเดิม เมื่อนั้นการเมืองก็จะกลับเข้าสู่วิกฤตมากกว่ายุคนายสมัคร และนายสมชาย ดังนั้น การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเมืองในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ แม้จำเป็นจะต้องใช้มาตรการทั้งปัจจัยด้านบวกและลบควบคู่กันไป แต่ถือว่าเป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น และเรียกร้องให้ประชาชนร่วมใจกันใช้สิทธิโหวตโน เพื่อคัดค้านการเลือกตั้ง ที่ไม่ชอบธรรมอีกครั้ง”นายปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการอิสระให้เหตุผลอย่างตรงไปตรงมา
“VOTE NO แล้วพรรคการเมืองใหม่ตั้งมาทำไม?”
สุดท้าย คงหนีไม่พ้นคำถามสำคัญที่พุ่งเป้าไปที่ “พรรคการเมืองใหม่” และ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” โดยตรง นั่นคือ 2 คำถามที่ว่า พรรคการเมืองใหม่และพันธมิตรฯ แตกกันจริงหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับแกนนำ และสอง-เมื่อพันธมิตรฯ ตัดสินใจเดินเข้าสู่ถนนการเมือง แต่กลับประกาศยุทธศาสตร์ VOTE NO แล้วพรรคการเมืองใหม่ที่พันธมิตรฯ มีมติให้ตั้งพรรคการเมืองพรรคนี้ขึ้นมากับมือเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 จะตั้งขึ้นมาทำไม
สำหรับต้นเหตุและที่มาของคำถามแรกคือพรรคการเมืองใหม่และพันธมิตรฯ แตกกันจริงหรือไม่นั้น เป็นผลมาจากขณะที่พันธมิตรฯ ประกาศบนเวทีด้วยการเปิดแคมเปญรณรงค์ VOTE NO โดยมีเป้าหมายเพื่อสำแดงพลังให้นักการเมืองเห็นและนำไปสู่การปฏิรูปทางการเมือง เพราะไม่เห็นว่าการเลือกตั้งจะเป็นคำตอบในการแก้ไขวิกฤตของบ้านเมืองพรรคการเมืองใหม่ที่ถือว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพันธมิตรฯ กลับยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ มิหนำซ้ำยังมีกระแสเสียงจากแกนนำพรรคการเมืองใหม่หลายต่อหลายคนเป็นไปในทิศทางที่ไม่เห็นด้วยกับท่าทีของพันธมิตรฯ
ดังเช่นที่ “นายสุริยะใส กตะศิลา” เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ให้ข้อเท็จจริงว่า “เป้าหมายของพันธมิตรฯ กับพรรคนั้น เจตนารมณ์สูงสุดคือการสร้างการเมืองใหม่ แต่ที่เกิดข้อถกเถียงขณะนี้อาจเป็นวิธีการที่มองคนละมุม ยืนคนละจุดยืนกัน...กระแสโหวตโนของพันธมิตรฯ ค่อนข้างเข้มข้นและเอาจริงเอาจังมาก ขณะเดียวกันเสียงของสมาชิกพรรคก็บอกว่าหยุดไม่ได้ ไม่ลงเลือกตั้งไม่ได้....แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องรอที่ประชุมใหญ่พรรคในวันที่ 24 เมษายน”
อย่างไรก็ตาม แม้มีความเห็นที่แตกต่าง แต่ไม่ใช่ความแตกแยก เนื่องเพราะทั้งสองฝ่ายมีเป้าประสงค์ที่แตกต่างกัน
นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอธิบายถึงสิ่งที่หลายคนมองเห็นเป็นความขัดแย้งว่า ไม่ว่าพรรคการเมืองใหม่จะมีมติเรื่องโหวตโนอย่างไร พันธมิตรฯ ก็เคารพประชาธิปไตยในพรรค เพราะสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ก็คือพันธมิตรฯ ย่อมเข้าใจว่าพันธมิตรฯ คิดอะไร และแน่นอนความเป็นพันธมิตรฯ กับความเป็นพรรคการเมืองใหม่ กฎกติกาย่อมต่างกัน แต่จิตใจไม่ต่างกัน การเมืองใหม่เกิดจากพันธมิตรฯ ดังนั้น พันธมิตรฯ ไม่มีวันทำลายพรรคการเมืองใหม่เด็ดขาด
ทั้งนี้ แม้ในทางการเมืองอาจมีช่วงจังหวะที่ความคิดทางการเมืองไม่เหมือนกัน การแยกก็แยกเฉพาะช่วงที่คิดไม่เหมือนกัน แต่สุดท้ายก็ไปสู่จุดเดียวกันคือสร้างการเมืองสะอาด
“เราเคารพประชาธิปไตย พี่น้องพันธมิตรฯ ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ เราต้องพิสูจน์ว่าพรรคเกิดจากพันธมิตรฯ แต่ก็มีกฎหมายเฉพาะ และพิสูจน์ให้เห็นว่าการเมืองใหม่มีความเป็นประชาธิปไตย และสมาชิกพรรคต้องใช้ความเป็นประชาธิปไตยบนปัญญา ความรู้ และความสะอาด ผมเชื่อมั่นในเรื่องพรรคการเมืองใหม่ เชื่อมั่นในตัวสมศักดิ์ด้วย เช่นเดียวกับสุริยะใสที่เป็นเลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ ใครก็รู้ว่าผมรักนายสุริยะใสมากเพียงใด”
“พี่น้องพันธมิตรฯ และแกนนำ ร่วมทุกข์ร่วมสุขมาขนาดนี้จะแตกแยกได้อย่างไร วันนี้พี่น้องบางส่วนอาจไม่เห็นด้วยในบางเรื่อง ไม่เข้าร่วมในบางประเด็น สุดท้ายจิตวิญญาณรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไม่ไปไหน วันหนึ่งมันจะกลับมาบรรจบกัน การโหวตโน การต่อสู้เรื่องดินแดน มันมาถึงจุดที่สังคมเริ่มเข้าใจมากขึ้น รัฐสภาก็เริ่มโลเล อภิสิทธิ์ก็แกว่งไปแกว่งมา อาการเหมือนทักษิณตอนปลายสมัย ทักษิณช่วงเป็นรัฐบาลครั้งที่ 2 เสียงมากมายชี้เป็นชี้ตายประเทศได้เลย แต่ประมาทพันธมิตรฯ หลงระเริงกับอำนาจ สุดท้ายอาการแกว่งของทักษิณนำไปสู่การยุบสภาเหมือนอภิสิทธิ์วันนี้ไม่มีผิด ขอให้มั่นใจว่าแกนนำกับพันธมิตรฯไม่มีวันแตกแยก เพราะภารกิจยังไม่สิ้นสุด และต่อให้ภารกิจสิ้นสุดก็ไม่แตกเพราะเราหลอมรวมกันมา ไม่ใช่พี่น้องก็เป็นพี่น้องกันแล้ว ไม่ใช่สายเลือดเดียวกัน ไม่ใช่พ่อแม่เดียวกัน ก็เหมือนพ่อแม่เดียวกันแล้ว ขอให้มั่นใจว่าแกนนำ 5 คน ไม่มีวันแตกแยก และจะร่วมต่อสู้กับพี่น้องพันธมิตรฯ จนกว่าการเมืองจะสะอาด”นายพิภพให้เหตุผล
เช่นเดียวกับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่อธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า จากการหารือระหว่างแกนนำพันธมิตรฯ ทั้ง 2 รุ่น และคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย เราได้แจ้งจุดยืนให้พรรคการเมืองใหม่ทราบถึงการรณรงค์โหวตโนแล้ว ซึ่งก็อยู่ที่ว่าทางพรรคการเมืองใหม่จะเห็นอย่างไร เพราะเมื่อถึงเวลาเราก็ไม่ลงคะแนนให้แม้แต่พรรคการเมืองใหม่ ซึ่งไม่ใช่ความขัดแย้ง แต่ได้ให้สิทธิในการตัดสินใจต่อกรรมการบริหารพรรค การเลือกตั้งครั้งก่อนมีบางจังหวัดที่ช่องไม่ลงคะแนนได้มากกว่าผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเสียอีก
....อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้จะยังไม่เป็นที่ชัดเจนถึงการตัดสินใจของพรรคการเมืองใหม่ว่าจะเลือกเส้นทางเดินใด แต่เชื่อว่า ในการประชุมใหญ่ของพรรคที่จะมาถึงในวันที่ 24 เมษายนนี้ ทุกอย่างจะกระจ่างชัดขึ้น