xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถอดรหัส 4 เหล่าทัพ ตบเท้า “ไม่ปฏิวัติ” “มาร์ค”ยะเยือกถึงขั้วหัวใจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กลายเป็นปริศนาที่ก่อให้เกิดคำถามและสร้างความค้างคาใจให้กับสังคมอย่างยิ่ง สำหรับการที่ “พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์” ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ชักแถวบรรดาผู้บัญชาการเหล่าทัพที่ประกอบด้วย “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้บัญชาการทหารบก “พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์” ผู้บัญชาการ ทหารอากาศ “พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ” ผู้บัญชาการทหารเรือ และพ่วงท้ายด้วยตัวแทนของ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นั่นคือ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ยืนเรียงเป็นหน้ากระดานอยู่ด้านหลังพร้อมยืนยันว่า “ทหารจะไม่ปฏิวัติ”

แน่นอน การสำแดงพลังของ 3 กองทัพทหารกับอีก 1 กองทัพตำรวจ ย่อมมิได้เป็นผลมาจากกระแสข่าวการทำปฏิวัติรัฐประหารที่ดังกระหึ่มมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งจาก “นางสดศรี สัตยธรรม” หนึ่งในกรรมการการเลือกตั้ง ทั้งจากผู้บัญชาการทัพเสื้อแดงที่ชื่อ “จตุพร พรหมพันธุ์” หรือ “ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ” หรือ “นพ.เหวง โตจิราการ” รวมทั้งบรรดาสมุนไข่แม้วทั้งหลาย

มิใช่ออกมาเพื่อสยบการปลุกระดมมวลชนของคนเสื้อแดง หากแต่มีเบื้องหน้าและเบื้องหลังที่ไม่ธรรมดา

เพราะถ้าจะว่าไปแล้ว ตลอดห้วงเวลาของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่ว่าใครหน้าไหนก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่า ทหารจะไม่ปฏิวัติ เพราะแม้จะประกาศอย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะไม่ปฏิวัติ แต่สุดท้ายการปฏิวัติก็เกิดขึ้นจนได้

ยิ่งการที่ พล.อ.ทรงกิตติออกมาตีกันด้วยคำพูดประโยคที่ว่า "หากมีหน่วยใดเคลื่อนย้ายกำลังโดยไม่ได้รับ คำสั่งคือกบฏ ถ้ามีทหารกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดไปเกี่ยว ข้องทางการเมืองหรือไปกดดันท่านก็ร้องเรียน มา หากมีมูลก็จะทำการสอบสวน" ก็ยิ่งไม่เห็นว่าจะเป็นคำขู่ที่ได้ผลอย่างใด และไม่มีเหตุมีผลด้วยประการทั้งปวง เพราะก่อนตัดสินใจปฏิวัติ คนที่ทำย่อมรู้อยู่แก่ใจอยู่แล้วว่า ถ้าหากทำไม่สำเร็จโทษทัณฑ์ที่พวกเขาได้รับคือการเป็นกบฏ แต่หากสำเร็จเล่า พวกเขาก็จะเป็นคณะปกครองที่มีอำนาจสูงสุดในประเทศ เพราะประกาศคณะปฏิวัติคือกฎหมายสูงสุด

ดังนั้น นี่จึงเป็นอีกหนึ่งข้อพิรุธถึงความผิดปกติของ “ภารกิจลับลวงพราง”ในครั้งนี้

ขณะเดียวกันการที่นำทั้งทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ รวมทั้งตำรวจมายืนเรียงหน้ากระดานยืนยันว่าจะไม่ปฏิวัติก็เป็นการจัดฉากที่ไม่สมจริง เพราะตลอดประวัติศาสตร์การปฏิวัติที่ผ่านมา เหล่าทัพที่เป็นธงนำในการปฏิบัติการส่วนใหญ่คือทหารบก ส่วนเหล่าทัพอื่นๆ มีบทบาทน้อยถึงน้อยมาก ยิ่งตำรวจด้วยแล้วยิ่งไม่ต้องพูดถึง

ที่สำคัญคือ ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกก็ประกาศอย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะไม่ทำการปฏิวัติมาแล้ว ดังนั้น จึงไม่มีเหตุอันใดที่จะนำเหล่าทัพที่แทบไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์การปฏิวัติมาแถลงข่าวด้วย

ดังนั้น จึงไม่เกินเลยไปนักที่ทำให้มีการตั้งข้อสงสัยถึงความผิดปกติของ “ภารกิจลับลวงพราง” ดังกล่าว
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งข่าวทางทหารทำให้ได้ข้อมูลที่น่าสนใจยิ่งว่า เบื้องหลังการตบเท้าครั้งนี้ ผู้บัญชาการเหล่าทัพต้องการแสดงนัยสำคัญทางการเมืองบางประการให้ทั้งสังคมและนักการเมืองได้ประจักษ์

ประเด็นแรก เป็นไปได้หรือไม่ที่การตบเท้าของผู้บัญชาการเหล่าทัพครั้งนี้ จะเป็นการอาศัยจังหวะเวลาเพื่อส่งสัญญาณทางการเมืองต่อรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะโดยตรง ทั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นปึกแผ่นของเหล่าทัพว่า จะดำเนินนโยบายไปในทิศทางเดียวกัน ไม่มีแตกแถว เป็นกลุ่มอำนาจใหม่ที่ทรงพลังไม่แพ้พรรคการเมืองใดๆ

ยิ่งหัวขบวนของพวกเขาอย่าง “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สามารถสถาปนาอำนาจเอาไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดด้วยแล้ว ไม่ว่าพรรคการเมืองใดชนะการเลือกตั้ง พวกเขาก็พร้อมจะถูกอัญเชิญให้อยู่ในอำนาจสืบไป

มิใช่อยู่ภายใต้การชี้นำของพรรคประชาธิปัตย์แต่เพียงอย่างเดียว

และเมื่อนำไปผนวกกับความไม่พอใจของพี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ “ที่เป็นศูนย์กลางของอำนาจใหม่ในพ.ศ.นี้ ด้วยการประกาศกร้าวว่า “กูไม่ไปหรอก” ที่ตอบคำถามของรัฐมนตรีบางคนที่ถามว่า จะไปร่วมประชุมจีบีซีหรือไม่ และทางกองทัพมีท่าทีอย่างไรต่อเรื่องนี้ ก็ยิ่งเห็นเส้นบางๆ แห่งความแตกร้าวระหว่างรัฐบาลนายอภิสิทธิ์และกองทัพได้เป็นอย่างดี

เพราะต้องไม่ลืมว่า ในวันเดียวกับที่ ผบ.เหล่าทัพตบเท้าออกมาประกาศไม่ปฏิวัตินั้น เป็นวันเดียวกับที่ ผบ.เหล่าทัพประกาศพร้อมแสดงเหตุผลชัดเจนว่า จะไม่ร่วมประชุมจีบีซีระหว่างไทยกับกัมพูชาที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งกรณีดังกล่าว ผบ.เหล่าทัพแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ทหารมิใช่ต้องทำตามนโยบายที่ไม่ถูกต้องไม่ต้องของฝ่ายการเมืองเสมอไป

เป็นไปได้หรือไม่ว่า เหล่าทัพต้องการแสดงความเป็นปึกแผ่นเพื่อมิให้พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและนายสุเทพ เทือกสุบรรณกระหยิ่มยิ้มย่องในวิชาก้นหีบที่บีบบังคับทหารให้เลือกข้างจากการทิ้งทุ่นของนายสุเทพที่บอกว่า “เลือกเพื่อไทยได้ทักษิณ” เสมือนหนึ่งบังคับให้เลือกข้าง เพราะต้องยอมรับความจริงว่า นโยบายทางการเมืองของรัฐบาลชุดนี้ไม่ถูกไม่ต้องก็มีมิใช่น้อย

ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่า ทหารไทยในยุค พล.อ.ประวิตรและพล.อ.ประยุทธ์มิได้สนใจว่า ใครจะมาเป็นรัฐบาล เพราะเขาคือกลุ่มอำนาจที่มีรัศมีในตัวเอง ดังเช่นที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ครั้งหนึ่งว่า ไม่ว่าใครจะมา ผมก็ยังเป็น ผบ.ทบ.เหมือนเดิมโดยเฉพาะสายสัมพันธ์ที่พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์มีกับ นช.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งแม้จะสะดุดหยุดลง แต่ก็มิใช่ว่าจะเชื่อมกลับมาเหมือนเดิมไม่ได้

ประเด็นที่สอง เป็นไปได้หรือไม่ที่พวกเขาได้กลิ่นการปฏิวัติออกมาจริง แต่เป็นการปฏิวัติที่มิได้เกิดขึ้นภายใต้การบัญชาการของกลุ่มอำนาจใหม่ของพวกเขา ดังนั้น จึงตัดสินใจออกมาตีกันมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะต้องไม่ลืมว่า นอกจากผู้บัญชาการเหล่าทัพแล้ว แม่ทัพที่คุมกำลังในระดับรองๆ ลงไปที่คุมกำลังคนและอาวุธยุทโธปกรณ์ก็สามารถลุกขึ้นมาปฏิวัติได้เช่นกัน

และตลอดช่วงที่ผ่านมา กระแสการปฏิวัติที่มิใช่นำโดยผู้บัญชาการเหล่าทัพเหมือนเมื่อครั้ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ก็ปรากฏให้เห็นเช่นกัน เพราะต้องไม่ลืมว่า กระแสความไม่พอใจในท่าทีที่อ่อนแอของผู้บัญชาการเหล่าทัพในหลายกรณี โดยเฉพาะกรณีพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชาก็มีให้เห็นเช่นกัน

ดังนั้น จึงเป็นไปได้หรือไม่ว่า ด้วยกระแสที่คุกรุ่นอยู่ในกองทัพ ทำให้บรรดาผู้บัญชาการเหล่าทัพตัดสินใจออกมาดับการเคลื่อนไหวดังกล่าวเสียแต่เนิ่น ก่อนที่กระแสดังกล่าวจะลุกลามออกไปเป็นไฟลามทุ่งกระทั่งชิงอำนาจการนำของพวกเขาไป

เพราะต้องไม่ลืมว่า การผนึกกำลังที่เหนียวแน่นของผบ.เหล่าทัพซึ่งนำโดย พล.อ.ประวิตรย่อมมิเกรงกลัวการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะตราบใดที่ทั้ง 4 เหล่าทัพยังคงเป็นปึกแผ่น โดยสามารถชักแถวหัวขบวนของทุกเหล่าทัพออกมาต่อสายตาของสาธารณชนเยี่ยงนี้ ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลพวกเขาก็ไม่สนใจ

แม้ว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์จะพ่ายแพ้การเลือกตั้ง โดยพรรคเพื่อไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ทหารทุกเหล่าทัพก็จะยังคงอยู่ในตำแหน่งแห่งหนเหมือนเดิมมิมีเปลี่ยนแปลง ตราบใดที่ความเป็นปึกแผ่นยังคงดำรงอยู่เช่นนี้

และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ นี่อาจเป็นการประกาศอย่างตรงไปตรงมาโดยมิอ้อมค้อมถึงสถานการณ์ทางการเมืองในเบื้องหน้าว่า ด้วยความเป็นปึกแผ่นยังคงดำรงอยู่เช่นนี้ ถ้าฝ่ายการเมืองเข้ามาแตะต้องทหารแล้ว อาจมีปฏิบัติการพิเศษเกิดขึ้นก็เป็นได้

เพราะคำว่า “ไม่ปฏิวัติ” ย่อมมิอาจยืนยันได้ว่าจะไม่มีการ “ปฏิวัติ” เกิดขึ้นแต่ประการใด
กำลังโหลดความคิดเห็น