ป่านนี้ นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรรัตน์ นายพายัพ ปั้น เกตุ นายอดิศร เพียงเกตุ นายวิสา คัญทัพ และ ผู้ต้องหา เผาบ้านเผาเมือง ที่หลบหนีคดี คนอื่นๆ คงจะเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋า เรียบร้อย พร้อมจะเดินทางกลับประเทศไทย เพื่อมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
หลังจากนั้น จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวอย่างแน่นอน โดยวางเงินประกันตัวเพียงคนละ 6 แสนบาท เท่านั้น ถือว่า คุ้มที่ตัดสินใจหนีเสียตั้งแต่ตอนแรก ไม่ต้องถูกจองจำ หมดอิสรภาพถึง 9 เดือนเต็ม เหมือน แกน นนปช. 7 คน ที่ศาลอาญาเพิ่งจะให้ประกันตัวเมื่อวานนี้
เพราะบัดนี้ ศาลอาญามีดุลพินิจใหม่แล้วว่า มีข้อเท็จจริงบางประการที่ทำให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งไปจากเดิมได้ จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว แกนนำ นปช. ทั้ง 7 ได้แก่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นพ.เหวง โตจิราการ, นายก่อแก้ว พิกุลทอง, นายนิสิต สินธุไพร, นายขวัญชัย ไพรพนา, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย และ นายยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก
ศาลยังมีเมตตา ลดวงเงินประกันตัวจากเดิมที่นายประกันเคยยื่นไว้ คนละ 2 ล้านบาท ในการยื่นขอประกันตัวครั้งก่อนๆ มาครั้งนี้ ศาลลดราคาให้มากกว่า 200% เหลือคนละ 6 แสนบาทเท่านั้น
ข้อเท็จจริงใหม่ ที่ศาลอ้างเป็นเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งใหม่นั้น ไม่มีรายละเอียดว่าคืออะไร คงไมใช่การชุมนุมของคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 13กุมภาพันธ์และ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เพื่อกดดันศาลให้ปล่อยตัวแกนนำทั้ง 7 คนแน่นอน เพราะสุภาษิต กฎหมายมีอยู่ข้อหนึ่งว่า
"จงประสาทความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที"
ขนาดฟ้าจะถล่ม ดินจะทลาย ศาลยังไม่หวั่น ขอยืนหยัดผดุงความยุติธรรม มีหรือ ที่จะหวั่นไหวกับการกดดันของคนเสื้อแดง
ถึงแม้ว่า จะมีผู้มองโลกในแง่ร้าย มองศาลในแง่ลบ ตั้งข้อสังเกตว่า นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ยื่นประกันตัว วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ศาลนัดไต่สวนวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ทอดเวลาออกไปเกือบ 2 สัปดาห์ ไม่มีคำสั่งทันที เหมือนการยื่นขอประกันตัว ครั้งก่อน ราวกับจะรอม็อบขู่ศาลเสียก่อน
แต่การตั้งข้อสังเกตเช่นนี้ ไม่เป็นธรรมกับศาล อีกทั้งยังไม่คำนึงถึงสุภาษิตกฎหมายที่ว่า "จงประสาทความยุติธรรม แม้ฟ้าจะถล่มก็ตามที"
แต่ถ้าอนุมานเอาจาก การให้การของพยาน อย่างเช่น พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ นายคณิต ณ นคร ฯลฯ แล้ว น่าจะเป็น บรรยากาศของบ้านเมืองที่กำลังเรียกร้องการปรองดอง สมานฉันท์ และจำเลยบางคนอย่างนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ให้การว่า การชุมนุมของ คนเสื้อแดง เมื่อปีที่แล้วนั้น เป็นการชุมนุมโดยสันติ ไม่มีความรุนแรง คำให้การเหล่านี้ อาจจะเป็นข้อเท็จจริงใหม่ ที่ทำให้ศาล เปลี่ยนไปก็ได้
อย่างไรก็ตาม ในการยื่นขอประกันตัว แกนนำ นปช. ครั้งก่อนๆ รวมแล้ว 5 ครั้ง รวมทั้ง การอุทธรณ์คำสั่งหนึ่งครั้งนั้น เหตุผลในการไม่ให้ประกันตัวคือ คดีนี้ มีอัตราโทษสูง เกรงว่า จำเลยจะหลบหนี ทั้ง 5 ครั้ง ศาลยืนยันเหตุผลนี้มาตลอด ด้วยถ้อยคำว่า "ยังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น"
จึงน่าสงสัยว่า ข้อเท็จจริงบางประการ ที่ทำให้ศาลอาญา เปลี่ยนแปลงคำสั่งเป็นอย่างอื่น เมื่อวานนี้นั้น เป็นข้อเท็จจริง ชุดเดียว กับ ข้อเท็จจริง ที่ศาลอาญา และศาลอุทธรณ์ ใช้พิจารณาในการออกคำสั่งเมื่อ 5 ครั้งก่อนหรือไม่ คือ ข้อเท็จจริง ที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายที่กำหนดอัตราโทษของคดีที่สูงถึงขั้นประหารชีวิต เพราะจนถึงวานนี้ อัตราโทษของคดีนี้ ก็ยังเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง
หากเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ ทางการเมือง การปรองดองของรัฐบาล เพื่อให้บ้านเมืองสงบสุข ลดความแตกแยกของคนในชาติ ก็แสดงว่าศาลอาญาคำนึงถึง ปัจจัยทางการเมือง ประกอบการใช้ดุลพินิจด้วย ไม่ได้ใช้แต่ข้อกฎหมายเท่านั้น เหมือนที่ศาลมักจะยืนยันในความเที่ยงธรรมว่าการพิจารณาคดีทุกอย่างเป็นไปตาม ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ไม่มีปัจจัยอื่นๆมาเกี่ยวข้อง
อย่างนี้แล้ว ตาชั่งที่เคยสมดุลระหว่างข้อเท็จจริงข้างหนึ่งกับข้อกฎหมายข้างหนึ่ง บัดนี้มีเรื่องการเมือง ถูกใส่เข้ามาในข้างหนึ่งของตาชั่งด้วยจะทำให้เสียสมดุลไปหรือไม่
หลักคิดในเรื่อง การขังผู้ต้องหา โดยอำนาจศาลนั้นมีสาระสำคัญว่า
"การขังผู้ต้องหาซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินกระบวนการทางอาญา ซึ่งเป็นการขังโดยอำนาจศาล ซึ่งมีมาตรการทางกฎหมายตามหลักอาชญาวิทยาและฑัณทวิทยา ทั้งนี้เพื่อมิให้อาชญากรนั้นออกไปอยู่ร่วมกับสังคมภายนอก โดยที่อาชญากรนั้นเป็นอันตราย หรือมีพฤติการณ์ที่เป็นอันตรายต่อสังคมภายนอก จึงต้องจำกัดสถานที่เพื่อแยกอาชญากรนั้นออกจากสังคม และเพื่อให้หลาบจำในการกระทำความผิดในชั้นหนึ่งก่อน และตามหลักวิชาการทางกฎหมายอันเป็นหลักสากลที่ปฏิบัติต่อผู้ต้องหาในการให้ประกันตัวผู้ต้องหานั้น รัฐ (หมายถึงองค์กรของรัฐทุกองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งฝ่ายบริหารและศาล) จะต้องคำนึงถึงการรักษาผลประโยชน์ได้เสียของสังคม โดยรัฐจะต้องมีความเชื่อมั่นว่า ผู้ต้องหาจะไม่ไปกระทำความผิดเดิมนั้นเพิ่มอีก หรือไปกระทำความผิดอื่นๆอีกในระหว่างการประกันตัว (Commit further crimes or any crimes before trial)
รัฐจะต้องดำเนินการโดยคำนึงความปลอดภัยของบุคคลและสังคมที่ความผิดนั้นได้เกิดขึ้น (safety of person and the community) โดยรัฐต้องทราบถึงพฤติกรรมส่วนตัวของผู้ต้องหา ต้องรู้ว่าผู้ต้องหาเป็นบุคคลที่มีแนวโน้มที่น่าจะก่อให้เกิดอันตราย หรือมีการกระทำความผิดในอดีตอย่างไรมาแล้ว และผู้ต้องหามีความผูกพันเกี่ยวข้องในสังคมและกระทำต่อสังคมนั้นอย่างไร ต้องรู้ถึงภยันตรายที่ได้เกิดขึ้นหรือจะเกิดต่อสาธารณะหรือไม่ (public dangerousness) กับต้องรู้ถึงความที่น่าจะเกิดอันตรายบังเกิดขึ้นหากให้ประกันตัวไป"
ตัวอย่างในกรณีของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ที่ใช้เอกสิทธิ์ ส.ส. ประกันตัวออกไปเคลือนไหวกดดันศาลนั้น ก็มีให้เห็นกันอยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร
กรณีศาลมีคำสั่งปล่อยตัวแกนนำ นปช. ทั้ง 7 คน ยังมีเรื่องชวนคิดต่อไปได้ว่า หากมี ผู้ต้องหาคดีลอบวางเพลิง ที่ศาลไม่ให้ประกันตัว ร้องต่อศาลขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีพยานชื่อ สนั่น และคณิตมาให้การว่า บัดนี้เพลิงสงบไปนานแล้ว และไม่ปรากฎว่า มีการลอบวางเพลิงขึ้นอีกเลย อีกทั้ง ผู้บัญชาการเรือนจำยังให้การว่า ระหว่างที่ถูกขังอยู่ ผู้ต้องหามีความประพฤติเรียบร้อย ไม่มีพฤติกรรมที่ชอบเล่นสิ่งของที่ทำให้เกิดประกายไฟ สัญญาว่า ถ้าได้รับการปล่อยตัว จะไม่หลบหนี จะไม่ไปวางเพลิงที่ไหนอีก
กรณีดังว่านี้จะลงเอยอย่างไร
คนเสื้อแดงเขียนแปะข้างฝาเอาไว้เลยว่า อีกไม่นาน ทักษิณ จะกลับมา อย่างสง่า ผ่าเผย