xs
xsm
sm
md
lg

เข้มสงกรานต์ลดอุบัติเหตุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (7 เม.ย.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมด้วยเครือข่ายเฝ้าระวังแอลกอฮอล์กรุงเทพ และผู้พิการ กว่า 30 คน เดินทางมายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ผ่านทาง พล.ต.ต. ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษก สตช. เพื่อให้มีมาตรการควบคุมการเล่นน้ำท้ายกระบะในช่วงเทศกาลสงกรานต์

น.ส.เกสร ศรีอุทิศ ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า พฤติกรรมและปัญหาการเล่นน้ำสงกรานต์ที่ไม่เหมาะสม นับวันยิ่งมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เช่น การดื่มเหล้าขณะเล่นน้ำ การบรรทุกผู้โดยสารท้ายกระบะตระเวนเล่นสาดน้ำ การเล่นสาดน้ำที่รุนแรง การทะเลาะวิวาท ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตตามมา อย่างไรก็ตาม จากที่เครือข่ายฯได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นเรื่อง“ทัศนะคติต่อการเล่นน้ำสงกรานต์ ปี 2554” ของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ อายุ 20 ปีขึ้นไป จำนวน1,000 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-5 เม.ย. พบว่า กลุ่มตัวอย่างกว่า 37.5 % ต้องการจะเดินทางไปเล่นสงกรานต์ที่ต่างจังหวัด ส่วน 33% เลือกที่จะพาครอบครัวอยู่เล่นสงกรานต์ในกรุงเทพฯ 29.5 % บอกว่าจะอยู่บ้านเฉยๆ ทั้งนี้ประชาชนเกินครึ่งหรือ 55 % มองว่าการเล่นสงกรานต์ในกรุงเทพฯ จะมีความปลอดภัยต่อเด็กและเยาวชนมากกว่า

นายภูเมธ กมลศุภกิตต์ ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ กล่าวว่า การเล่นน้ำสงกรานต์บนรถหรือท้ายกระบะ มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิต เพราะถ้าในรถมีคนนั่งท้ายกระบะ 10 คน จะมีความเสี่ยงต่อการพลิกคว่ำถึง 2 เท่า และถ้าลุกขึ้นยืนทั้งหมดจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเป็น 4 เท่า และยิ่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป ยิ่งมีความเสี่ยงเป็นทวีคูณ

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ที่ปรึกษาเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตนเสนอให้ สตช. ร่วมกับคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พิจารณาจัดให้มีปันส่วนค่าปรับจากความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ในทำนองเดียวกับค่าปรับจากความผิดการจราจรทางบก

ขณะที่ พล.ต.ต. ประวุฒิ กล่าวภายหลังรับข้อเสนอของทางเครือข่ายว่า สตช.จะนำเรื่องนี้ไปดำเนินการ โดยเฉพาะ การคาดเข็มขัดนิรภัย การสวมหมวกกันน๊อค และการดื่มเหล้าเล่นน้ำท้ายกระบะ เพราะหากดูจากสถิติการเกิดอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาจะพบว่ามีมากถึง 3,516 ครั้ง มีคนเสียชีวิตมากถึง 361 ราย ซึ่ง 40% มีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ตนยอมรับว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์มีการผ่อนปรนในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายบ้าง ดังนั้นสงกรานต์ปีนี้สตช.ตั้งเป้าในการลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นให้ได้ 5 % อย่างไรก็ตามคงต้องจับตาถนนสายหลักที่จะมุ่งหน้าเดินทางภาคเหนือ อีสาน เพราะเกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุด รวมไปถึงเข้มงวดการดื่มสุราด้วย

วันเดียวกัน นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) เดินทางเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอความร่วมมือจากทางกระทรวงให้สนับสนุนการรณรงค์สงกรานต์ปลอดภัย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า พร้อมทั้งหารือถึงมาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ด้วย ทั้งนี้นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นผู้รับเรื่องแทน

นายธีระ กล่าวว่า เพื่อให้การเล่นน้ำสงกรานต์ปีนี้อยู่ในขนบธรรมเนียมที่ดีงาม และลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ทางเครือข่ายจึงขอเสนอแนวทางเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.)เพื่อลดอุบัติเหตุทางท้องถนน ดังนี้ 1.มีนโยบายไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยจัดทำเขตพื้นที่(Zoning)เล่นน้ำสงกรานต์ให้ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะสามารถลดปัญหาอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท ลวนลามอนาจาร และการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมต่างๆได้ ตามที่เครือข่ายได้ดำเนินการร่วมกับบางท้องถิ่นมาแล้ว เช่น ที่จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น มหาสารคาม สุรินทร์ เป็นต้น 2.เร่งรัดไปยัง สธ. เพื่อให้ออกกฎกระทรวงเพิ่มเติม ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เช่น ห้ามดื่มท้ายรถกระบะ ให้เขตพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์เป็นเขตห้ามดื่ม ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นข้อเสนอของ ศปถ. จะทำให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต

นายชวรัตน์ กล่าวภายหลังจากรับหนังสือจากทางเครือข่ายฯว่า จากปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ ตนจึงอยากนำสโลแกน เมาไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น ซึ่งตนตั้งขึ้นมาเองให้นำไปใช้โดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่ใกล้เข้ามาถึงนี้ อย่างไรก็ตามจากข้อเสนอของทางเครือข่าย กระทรวงยินดีและเห็นด้วยพร้อมที่จะผลักดันแต่คงต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง และจะปัดฝุ่นในจังหวัดที่ยังปล่อยปละละเลย คงต้องมีการสั่งย้าย เพื่อเป็นการลงโทษในทางวินัย ทั้งนี้หากเครือข่ายฯมีข้อมูลและหลักฐานต่างๆ ก็ให้รายงานมาที่กระทรวงได้ทันที

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สธ. กล่าวว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตประมาณ 12,000 คน บาดเจ็บอีกกว่า 1 ล้านคน และผู้พิการอีกหลายหมื่นคน สาเหตุเกิดจากสภาพยานพาหนะ พื้นผิวการจราจร และที่สำคัญคือพฤติกรรมของผู้ขับขี่ มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนขับขี่ และขับรถเร็ว ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปีนี้จะดำเนินการควบคู่กันทั้งมาตรการป้องกันและมาตรการรักษาพยาบาล เพื่อมุ่งเน้นให้สงกรานต์ปีนี้เป็นสงกรานต์ปลอดเหล้า ปลอดภัย โดยมาตรการป้องกัน ประการแรกจะบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเคร่งครัด ทั้งเรื่องอายุ สถานที่ และเวลาห้ามขาย ประการที่ 2 ขอฝากเตือนผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะต่างๆต้องไม่ประมาทและคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ที่สำคัญคือ ต้องไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เด็ดขาด

นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินฯ หรือศูนย์นเรนทร จะเน้นหนักในการดูแลผู้ป่วยจากจุดเกิดเหตุมาโรงพยาบาล ขณะนี้มีบุคลากรกู้ชีพประมาณ 100,000 คน มีรถปฏิบัติการกู้ชีพกู้ภัยฉุกเฉินกว่า 10,000 คัน รวมทั้งได้ทำสัญญากับเรือกู้ชีพกู้ภัยอีกกว่า 1,000 ลำ และเฮลิคอปเตอร์พยาบาลอีก 100 กว่าลำ พร้อมปฏิบัติการที่จุดเกิดเหตุ โดยรับแจ้งเหตุที่หมายเลข 1669 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมงทั่วประเทศ และในปีนี้จะให้รถพยาบาลไปประจำจุดเสี่ยงของกรมทางหลวงที่มีทั้งหมด 100 กว่าจุดเพิ่มเติมด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น