xs
xsm
sm
md
lg

“เครือข่ายงดเหล้า” วอนจัดโซนนิงสงกรานต์ปลอดเหล้า ออก กม.ห้ามขาย-ดื่มท้ายกระบะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ผู้จัดการ สคล.วอนคุมเข้มทุกจังหวัดจัดโซนนิงสงกรานต์ปลอดเหล้า แนะประสาน สธ.เร่งออกกฎหมายเพิ่ม ห้ามขาย-ห้ามดื่มท้ายกระบะ เชื่อลดอุบัติเหตุ เจ็บ-ตายสงกรานต์ได้ ขณะที่ภาคประชาชน ปลื้ม 44 จว.จัดกาชาดปลอดเหล้า หนุนมาตรการไม่รับสปอนเซอร์จากบริษัทน้ำเมา แจงยังมีหลายพื้นที่แหกคอก ดื่ม-ขายในงาน ขณะที่ “ชวรัตน์” ลั่นเตรียมปัดฝุ่น ปัญหาน้ำเมาช่วงสงกรานต์ ภายหลังเครือข่ายงดเหล้า เข้าร้องเรียน

วันนี้ (7 เม.ย.) ที่กระทรวงมหาดไทย นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) พร้อมด้วยเครือข่ายประชาคมงดเหล้า กว่า 30 คน เดินทางเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอความร่วมมือจากทางกระทรวงให้สนับสนุนการรณรงค์สงกรานต์ปลอดภัย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า พร้อมทั้งหารือถึงมาตรการป้องกันการเกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ด้วย ทั้งนี้ นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นผู้รับเรื่องแทน

นายธีระ กล่าวว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา มีมากถึง 3,516 ครั้ง เสียชีวิต 361 ราย บาดเจ็บกว่า 3,802 ราย สาเหตุส่วนใหญ่ยังเกิดจากเมาแล้วขับมากถึง 39.36% นอกจากนี้การทำผิดกฎหมายจราจรกรณีเมาแล้วขับ มีมากถึง 9,952 ราย โดยพบว่าผู้ถูกดำเนินคดียังเป็นเด็กและเยาวชนอายุน้อยกว่า 20 ปี มากกว่า 10.61 % และตั้งแต่ปี 2549-2553 หลายจังหวัดมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูงอย่างต่อเนื่อง อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย นครสวรรค์ นครศรีธรรมราช เป็นต้น

นายธีระ กล่าวต่อว่า เพื่อให้การเล่นน้ำสงกรานต์ปีนี้อยู่ในขนบธรรมเนียมที่ดีงาม และลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ทางเครือข่ายจึงขอเสนอแนวทางเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เพื่อลดอุบัติเหตุทางท้องถนน ดังนี้ 1.มีนโยบายไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยจัดทำเขตพื้นที่ (Zoning) เล่นน้ำสงกรานต์ให้ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะสามารถลดปัญหาอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท ลวนลามอนาจาร และการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมต่างๆ ได้ ตามที่เครือข่ายได้ดำเนินการร่วมกับบางท้องถิ่นมาแล้ว เช่น ที่จังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น มหาสารคาม สุรินทร์ เป็นต้น รวมทั้งขอให้มีการทำรายงานผลการดำเนินงาน เพื่อเป็นการประเมินผลพัฒนาในปีต่อไปด้วย 2.พิจารณาเร่งรัดไปยังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ออกกฎกระทรวงเพิ่มเติม ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เช่น ห้ามดื่มท้ายรถกระบะ ให้เขตพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์เป็นเขตห้ามดื่ม ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นข้อเสนอของ ศปถ.จะทำให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต

ขณะที่นายพิจิตร ปัญญาพิชิต ผู้แทนเครือข่ายองค์กรงดเหล้าและประชาคมงดเหล้าสิงห์บุรี กล่าวว่า นอกจากแนวทางแก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์แล้วทางเครือข่ายยังขอชื่นชมกระทรวงมหาดไทยที่สนับสนุนออกเป็นคำสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ จัดงานกาชาดปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด แต่ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลของประชาคมงดเหล้าในการจัดงานกาชาดที่ผ่านมา ยกเว้นในกรุงเทพมหานคร ปี 2553 จนถึงเดือน เม.ย.2554 พบว่า มีการจัดงานกาชาด แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.จังหวัดที่จัดงานโดยไม่รับสปอนเซอร์ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์จากภาคธุรกิจเลยรวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ใช้ตราสัญลักษณ์ใกล้เคียงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น น้ำดื่ม หรือ โซดา และยังมีมาตรการป้องปรามการดื่มการขายในการจัดงานจริง จำนวน 44 จังหวัด 2.จังหวัดที่จัดงานโดยไม่รับสปอนเซอร์จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ยังรับสปอนเซอร์จากผลิตภัณฑ์ที่มีตราสัญลักษณ์ใกล้เคียงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น น้ำดื่ม โซดา จำนวน 5 จังหวัด 3.จังหวัดที่รับสปอนเซอร์ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์จากธุรกิจโดยตรง และมีการดื่มการขายในงาน จำนวน 23 จังหวัด 4.จังหวัดที่ยังไม่ได้จัดงาน 2 จังหวัด และ จัดแล้วไม่รับสปอนเซอร์ แต่ไม่มีมาตรการห้ามปราม 1 จังหวัด

“ภาคประชาชนต้องขอชื่นชม 44 จังหวัด อาทิ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา สิงห์บุรี นครนายก พัทลุง สงขลา ที่ให้ความร่วมมือกันจัดงานกาชาดปลอดเหล้า รวมถึงไม่รับสปอนเซอร์จากบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่ครั้งนี้ ยังพบว่ามีลานเบียร์ในงานกาชาดที่หลายจังหวัดท้าทายนโยบาย และการบังคับใช้ ดังนั้น จึงอยากให้ทางกระทรวงนำเรื่องนี้ไปพิจารณาด้วย” นายพิจิตร กล่าว

ด้าน นายชวรัตน์ กล่าวภายหลังจากรับหนังสือจากทางเครือข่าย ว่า จากปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ ตนจึงอยากนำสโลแกน เมาไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น ซึ่งตนตั้งขึ้นมาเองให้นำไปใช้โดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่ใกล้เข้ามาถึงนี้ อย่างไรก็ตาม จากข้อเสนอของทางเครือข่าย กระทรวงยินดีและเห็นด้วยพร้อมที่จะผลักดันแต่คงต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม และที่สำคัญ จะเร่งปัดฝุ่นในจังหวัดที่ยังปล่อยปละละเลย หากในพื้นที่ไหนยังไม่ควบคุมการห้ามขายห้ามดื่มตามนโยบายของกระทรวง คงต้องมีการสั่งย้าย เพื่อเป็นการลงโทษในทางวินัย ทั้งนี้ หากเครือข่ายมีข้อมูลและหลักฐานต่างๆ ก็ให้รายงานมาที่กระทรวงได้ทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น