xs
xsm
sm
md
lg

“ผู้ได้รับผลกระทบน้ำเมา” เสนอปันส่วนค่าปรับตาม พ.ร.บ.คุมเหล้า หวังสร้างแรงจูงใจตรวจ-จับ-ปรับช่วงสงกรานต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำเมาบุก สตช. ชี้ผลโพลคนกรุง 85.8% หนุนห้ามดื่มเหล้าท้ายกระบะ 33% ระบุอยากเล่นสงกรานต์ที่กทม. ส่วน 87.9% ต้องการพื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า พร้อมเสนอไอเดียใหม่ให้ปันส่วนค่าปรับ ตาม พ.ร.บ.คุมเหล้า หวังสร้างแรงจูงใจตรวจ-จับ-ปรับ ขณะที่ สตช.ตั้งเป้าลดอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ 5% สั่งคุมเข้มเล่นสงกรานต์-ก๊งเหล้าท้ายกระบะ

วันนี้ (7 เม.ย.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมด้วยเครือข่ายเฝ้าระวังแอลกอฮอล์กรุงเทพ และผู้พิการ กว่า 30 คน เดินทางมายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ผ่านทาง พล.ต.ต.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้มีมาตรการควบคุมการเล่นน้ำท้ายกระบะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้

น.ส.เกสร ศรีอุทิศ ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า พฤติกรรมและปัญหาการเล่นน้ำสงกรานต์ที่ไม่เหมาะสมนับวันยิ่งมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เช่น การดื่มเหล้าขณะเล่นน้ำ การบรรทุกผู้โดยสารท้ายกระบะตระเวนเล่นสาดน้ำ การเล่นสาดน้ำที่รุนแรง การทะเลาะวิวาท ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตตามมา อย่างไรก็ตามจากที่เครือข่ายฯได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นเรื่อง “ทัศนคติต่อการเล่นน้ำสงกรานต์ ปี 2554” ของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ อายุ 20 ปีขึ้นไป จำนวน 1,000 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-5 เมษายน 2554 พบว่า กลุ่มตัวอย่างกว่า 37.5% ต้องการจะเดินทางไปเล่นสงกรานต์ที่ต่างจังหวัด ส่วน 33% เลือกที่จะพาครอบครัวอยู่เล่นสงกรานต์ในกรุงเทพฯ และ 29.5% บอกว่าจะอยู่บ้านเฉยๆ ทั้งนี้ ประชาชนเกินครึ่งหรือ 55% มองว่าการเล่นสงกรานต์ในกรุงเทพฯ จะมีความปลอดภัยต่อเด็กและเยาวชนมากกว่า

น.ส.เกสรกล่าวต่อว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในการเล่นสงกรานต์คือ ทะเลาะวิวาท 27.9% ตามด้วยอุบัติเหตุ 26.8% นอกนั้นเป็นการแต่งกายโป๊ เล่นน้ำรุนแรง และถูกลวนลาม อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจชี้ชัดว่า 49% ปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุมาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ 87.9% สนับสนุนให้ กทม.เพิ่มพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดเหล้าเพราะมองว่ามีความปลอดภัย และเมื่อถามถึงการมีมาตรการห้ามดื่มเหล้าบนรถหรือท้ายกระบะ ขณะวิ่งหรือจอดบนทางสาธารณะ กลุ่มตัวอย่าง 85.8% สนับสนุนมาตรการนี้ อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจดังกล่าวสอดคล้องกับผลสำรวจของเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ต่อความคิดเห็นของผู้ปกครองใน 33 จังหวัด หรือจำนวน 1,330 ราย เมื่อปี 2553 โดยระบุว่า 75% หนุนมาตรการห้ามดื่มเหล้าบนรถหรือท้ายกระบะ เชื่อว่าช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ได้

ขณะที่ นายภูเมธ กมลศุภกิตต์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังแอลกอฮอล์ กทม.กล่าวว่า การเล่นน้ำสงกรานต์บนรถหรือท้ายกระบะ มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิต เพราะถ้าในรถมีคนนั่งท้ายกระบะ 10 คน จะมีความเสี่ยงต่อการพลิกคว่ำถึง 2 เท่า และถ้าลุกขึ้นยืนทั้งหมดจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเป็น 4 เท่า และยิ่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไป ยิ่งมีความเสี่ยงเป็นทวีคูณ ดังนั้นเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนเครือข่ายฯจึงขอเสนอแนวทางเพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาตินำไปพิจารณา คือ 1.บังคับใช้กฎหมายควบคุมไม่ให้เกิดการเล่นน้ำสงกรานต์ที่อันตราย โดยเฉพาะบนรถหรือท้ายกระบะในทุกจังหวัด 2.เร่งรัดในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 พ.ร.บ.สุรา พ.ศ. 2493 รวมถึงประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 ว่าด้วยการควบคุมเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ 3.ผลักดันมาตรการห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถหรือท้ายกระบะ ขณะอยู่บนที่หรือทางสาธารณะให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ที่ปรึกษาเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในช่วงเทศกาลสงกรานต์ตน ขอเสนอแนวทางสนับสนุนให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พิจารณาจัดให้มีปันส่วนค่าปรับจากความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ในทำนองเดียวกับค่าปรับจากความผิดการจราจรทางบก ซึ่งน่าจะนำหลักการมาเทียบเคียงได้ นอกจากนี้ ตนมั่นใจว่าการห้ามเล่นน้ำท้ายกระบะ เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ค่อนข้างควบคุมอย่างได้ผล ส่วนที่เป็นปัญหาหนักคงจะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างจังหวัดเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจจะดูแลไม่ทั่วถึง และยังมีการปล่อยปละละเลย ดังนั้นจึงขอให้มีมาตรการที่จริงจังสามารถบังคับใช้กฎหมายจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

ด้าน พล.ต.ต.ประวุฒิ กล่าวภายหลังจากรับข้อเสนอของทางเครือข่ายว่า สตช.จะนำเรื่องนี้ไปดำเนินการ โดยเฉพาะการคาดเข็มขัดนิรภัย การสวมหมวกกันน็อก และการดื่มเหล้าเล่นน้ำท้ายกระบะเพราะหากดูจากสถิติการเกิดอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาจะพบว่ามีมากถึง 3,516 ครั้ง มีคนเสียชีวิตมากถึง 361 ราย ซึ่ง 40% มีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้ตนยอมรับว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์มีการผ่อนปรนในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายบ้าง ดังนั้น สงกรานต์ปีนี้ สตช.ตั้งเป้าในการลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นให้ได้ 5% อย่างไรก็ตาม คงต้องจับตาถนนสายหลักที่จะมุ่งหน้าเดินทางภาคเหนือ อีสาน เพราะเกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุด รวมไปถึงเข้มงวดการดื่มสุราด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น