ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เห็นข่าว ส.ส.ญี่ปุ่น เห็นพ้องกันตัดเงินเดือนตนเอง เพื่อนำเงินไปพัฒนาประเทศ จากเหตุการณ์ภัยพิบัติแล้ว อดนึกเอามาเปรียบเทียบกับส.ส.บ้านเราไม่ได้
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น ( DPJ), พรรคเสรีประชาธิปไตยญี่ปุ่น (LDP), และพรรคญี่ปุ่นใหม่ (Komei) ได้เห็นพ้องกันในการประชุมสภาที่จะตัดเงินเดือนตนเองลง 3 ล้านเยน ( เดือนละ 5 แสนเยน เป็นเวลาครึ่งปี ) เพื่อนำเงินไปช่วยฟื้นฟูประเทศ
สำหรับสภานิติบัญญัติแห่งชาติญี่ปุ่น (Kokkai) ที่เรียก “ไดเอ็ต” เป็นระบบสองสภา ประกอบด้วย
สภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่น หรือ Shugi-in เป็นสภาล่าง มีสมาชิก 484 คน ( สี่ร้อยแปดสิบคน ) ซึ่งมีวาระดำรงตำแหน่งสี่ปี และมนตรีสภาญี่ปุ่น หรือ Sangi-in เป็นสภาสูง มีสมาชิก 242 คน ( สองร้อยสี่สิบสองคน ) ซึ่งมีวาระดำรงตำแหน่งหกปี
เลือกตั้งล่าสุด สภาล่างของญี่ปุ่นมีสมาชิก 480 คน ปัจจุบันพรรค LDP พรรครัฐบาล มีที่นั่งในสภาล่าง 300 ที่นั่ง ขณะที่พรรค DPJ มีที่นั่ง 112 ที่นั่ง
ชื่อ “พรรคประชาธิปไตยญี่ปุ่น ( DPJ)” ถ้าพูดง่ายๆ ก็เหมือนกัน“พรรคประชาธิปัตย์” บ้านเรา
จากอัตราแลกเปลี่ยนล่าสุด เงินเยนญี่ปุ่น ( 100 ) เท่ากับ 37.51 บาท ดังนั้น “3 ล้านเยน” ที่เขาบริจาคก็ประมาณ 9 แสนกว่าบาทบ้านเรา ถือเป็นน้ำใจของนักการเมืองบ้านเขา
จากข้อมูลเมื่อ 5 ปีที่แล้ว รายได้ต่อปีของนักการเมืองญี่ปุ่น เช่น นักการเมืองระดับจังหวัด มีรายได้ต่อปี 20.97 ล้านเยน สมาชิกรัฐสภา มีรายได้ ต่อปี 22.28 ล้านเยน รัฐมนตรีมีรายได้ต่อปี 30.41 ล้านเยน และนายกรัฐมนตรี มีรายได้ต่อปี 41.65 ล้านเยน นักการเมืองญี่ปุ่นเหล่านี้ จึงล้วนมีเงินเดือน ประมาณที่ 800,000 เยน/เดือน
ขณะที่ นักข่าวหนังสือพิมพ์ ญี่ปุ่น มีรายได้ 8.01 ล้านเยนต่อปี หรือ ประมาณ 600,000 เยน/เดือน
กลับมาที่ “นักการเมืองไทย” ที่ขณะนี้มีส.ส.สองระบบ เหลือจำนวน 474 คน และส.ว.เลือกตั้งอีก 76 คน รวมกับส.ว.แต่งตั้ง ที่ไม่ลาออกอีกจำนวหนึ่ง โดยที่ขณะนี้ “ส.ส.-ส.ว.” มีเงินเดือนๆ ละ 113,560 บาท และยังมีทีท่าว่าจะได้ปรับขึ้นค่าตอบแทนร้อยละ 14.7-14.9 เป็นเดือนละ 104,330 บาท แถมจะปรับเบี้ยประชุม และเบี้ยประชุมอนุกรรมาธิการด้วย ในสมัยหน้า
เดี๋ยวจะหาว่า “นักการเมืองไทย”ไม่เคยบริจาค บ้านเราแม้จะเคยมีข่าวว่า ส.ส.เสนอในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร หักเงินเดือนบ้าง หักเงินเบี้ยประชุมกรรมาธิการ หักเบี้ยประชุมต่างๆ บ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นส่วนน้อย เพราะส.ส.บ้านเรา เงินเดือนไม่สูงมากเท่ากับญี่ปุ่น อย่างบ้านเขาก็คงไม่มีซองกฐิน ซองผ้าป่า ซองงานศพ งานบวช งานแต่ง ฯลฯ ถี่เหมือนบ้านเรา
อุทกภัย วาตภัย แผ่นดินไหว ทั้งที่เกิดในประเทศไทย และที่เกิดในต่างประเทศใครว่า “นักการเมืองไทย” ไม่เคยบริจาค อย่างน้ำท่วมใหญ่ภาคกลาง อีสาน และใต้ก่อนหน้านี้ ก็เห็นพ้องด้วยการตัดเงินเดือนตัวเอง เดือนละ 3 พันบาท เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อนำเงินฟื้นฟูจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม ทำก่อนนักการเมืองญี่ปุ่นซะอีก
เห็นว่า เดือน ต.ค.53 ถูกหักคนละพัน เดือนพ.ย. 53 ก็ถูกหักคนละ 2 พันบาท แถมผู้ช่วย ผู้เชี่ยวชาญ และที่ปรึกษาประจำตัวส.ส. ก็ถูกหักคนละ 1 พันบาท ในส่วนของคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาฯ จำนวน 35 ชุด ก็ได้รับความร่วมมืองดรับเบี้ยประชุม เบี้ยรับรอง ได้เงินคราวนั้นประมาณ 7-8 ล้านบาท
หรือคราวสึนามีญี่ปุ่น ส.ส.ประชาธิปัตย์ ก็รวบรวมจากเงินเดือนของส.ส.คน ละ 3 พันบาท ได้ตั้ง 500,000 บาท ไปช่วยญี่ปุ่น เป็นต้น
แต่ที่ผ่านมาหากจะช่วยเงินเกินกว่า 3 พันบาท กลับมาติดกฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง 50 มาตรา 89 ประกอบประกาศ กกต. เรื่องจำนวนหลักเกณฑ์ และวิธีการให้เงินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ ตามปกติประเพณีของพรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง และ ส.ส.หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2551
ก็ว่าล่ะ! มียาแรง อย่างนี้ส.ส.-ส.ว.ก็กลัวกัน แต่ที่ผ่านมา ส.ส.-ส.ว. บ้านเรามักจะบริจาคแบบขอตั้งศูนย์ช่วยเหลือ ศูนย์บริจาค ด้วยการออกรายการโทรทัศน์ระดมทุน เอาหน้าซะหน่อย ก็ไม่ว่ากัน ดังจะเห็นบ่อยๆ เช่น สภารวมใจช่วยภัยน้ำท่วม ฯลฯ แต่ก็ได้เงินช่วยเหลือมากโข แถมไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้งด้วย
ที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสียงข้างมาก จะเห็นว่าการบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยของส.ส. เป็นการให้ตามปกติประเพณีตามมาตรา 89 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 ซึ่งพรรคการเมือง และ ส.ส.สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ไม่เกิน 3 พันบาท แต่หากเกิน 3 พันบาท จะต้องนำมูลค่าส่วนเกินไปรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งต่อไปตามมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรธน.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ.2550 และ มาตรา 89 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 โดยที่ไม่ได้มีบทลงโทษทางอาญาแต่อย่างใด ส่วนกรณีการให้เงินช่วยเหลือครอบครัวละ 5 พันบาทของรัฐบาล ไม่ได้อยู่ในบทบังคับมาตรา 89
นอกจากนี้ ทางสำนักกฎหมายและคดี ยังให้ความเห็นไว้ด้วยว่าการบริจาคของ ส.ส.แต่ละคน สามารถบริจาคได้หลายโอกาส แต่ต้องไม่เกินครั้งละ 3 พันบาท โดยให้ถือเป็นการบริจาคตามโอกาส และ กกต.เห็นว่าการช่วยเหลือถือเป็นการช่วยเหลือในเรื่อง “มนุษยธรรม”
ดังนั้น การบริจาค!! ของนักการเมืองไทย จึงต้องถูกแช่แข็งที่ 3 พันบาท แต่นักการเมืองไทย ที่ผ่านมา สันดานมันต่างกันเยอะ กับนักการเมืองญี่ปุ่น ที่เคยเห็นกันจะๆ ยังต้องเอานามบัตรตัวเองไปใส่ซองของบริจาคของภาคเอกชน หรือของรัฐ เอากันซะหน่อย ต่างกับกฎหมายการบริจาคของนักการเมืองญี่ปุ่น เช่น นักการเมืองรับเงินบริจาคจากคนต่างชาติไม่ได้ แถมยังมีแผนที่จะออกกฎหมายห้ามบริษัท และองค์กรต่างๆ บริจาคเงินให้กับนักการเมือง และพรรคการเมือง เห็นได้ว่าจริยธรรมต่างกันเยอะ
ส่วนประชาชนทั่วไป “กรมสรรพากร” ท่านก็วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบริจาคเงินหรือสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม แบ่งเป็นบุคคลธรรมดา บริจาคเงินสด หรือโอนเงินเข้าบัญชีช่วยเหลือผู้ประสบภัย สามารถนำยอดเงินบริจาคนั้นมาหักลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว และบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคมาหักรายจ่ายได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิในปีที่บริจาค และทรัพย์สินหรือสินค้าที่นำไปบริจาค ก็ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยไม่ถือเป็นการขาย
สำหรับ ผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหาย และได้ลงทะเบียนไว้กับศูนย์ หรือหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือของทางราชการ เมื่อได้รับเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคจะได้รับการยกเว้นเงินได้พึงประเมิน เท่าจำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคนั้น โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีในปีภาษีนั้นๆ สำหรับบุคคลธรรมดา เมื่อได้รับการช่วยเหลือหรือชดเชยที่มีมูลค่าไม่เกินความเสียหาย จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ จากเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับจริง และรวมถึงกรณีที่ผู้ประสบอุทกภัยที่ได้รับเงินชดเชยจากภาครัฐ ก็ให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ด้วย เช่นเดียวกับการช่วยเหลือไปยังผู้ประสบภัยในประเทศญี่ปุ่น
แถมสื่อมวลชนที่เป็นผู้นำในการระดมทุนในการช่วยเหลือ และรับบริจาค ก็จะได้อานิสงส์จากการหักภาษีด้วย