xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พิบัติภัยแผ่นดินไหว-สึนามิ ระเบิดเวลาลูกใหม่ของ “นาโอโตะ คัง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวการเกิดพิบัติภัยแผ่นดินไหวและสึนามิที่เกาะฮอนชูของญี่ปุ่น รวมถึงข่าวคราวเกี่ยวกับผลกระทบที่ตามมาหลังจากนั้น ถือเป็นข่าวใหญ่ที่ผู้คนทั่วทั้งโลกต่างให้ความสนใจ เพราะไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า แผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงถึงระดับ 9 ริกเตอร์เมื่อวันศุกร์ที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมาจะสร้างหายนะให้กับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นชาติที่ได้ชื่อว่า มีมาตรการรับมือแผ่นดินไหวดีที่สุดในโลกได้มากถึงเพียงนี้

ตามรายงานของ "ยูเอสจีเอส" หรือ “สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งชาติของสหรัฐฯ” ระบุว่า แผ่นดินไหวใต้ทะเลครั้งนี้มีศูนย์กลางอยู่ลึกลงไปในมหาสมุทรแปซิฟิกราว 32 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากเกาะฮอนชูไปทางตะวันออกราว 130 กิโลเมตร โดยหลังเกิดแผ่นดินไหวเพียงไม่นานก็ได้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิที่มีขนาดความสูงถึง 10 เมตรเคลื่อนตัวเข้าถล่มชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะฮอนชูอย่างรุนแรง จนมีผู้เสียชีวิตและสูญหายรวมกันไม่ต่ำกว่า 11,000 รายในพื้นที่ 16 จังหวัดของญี่ปุ่นตามข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแดนปลาดิบ

ขณะเดียวกันสึนามิที่เกิดขึ้นยังแผ่อิทธิพลไปโจมตีชายฝั่งของอีกกว่า 20 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา ยังไม่รวมความเสียหายอัน "มิอาจประเมินค่าได้" จากการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์อีกหลายแห่งของญี่ปุ่น โดยเฉพาะที่จังหวัดฟุกุชิมา

นายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คัง ผู้นำญี่ปุ่น ออกมาประกาศว่า ภัยพิบัติที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญในครั้งนี้ถือเป็นสิ่งที่เลวร้ายรุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นกับพลเมืองของตนนับตั้งแต่มหาสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

ขณะที่ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan : BOJ) ก็ออกมาประเมินในเบื้องต้นว่า ภัยพิบัติคราวนี้ซึ่งถูกจัดให้เป็นเหตุแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงติด 1 ใน 5 ของโลกได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจแก่ญี่ปุ่นคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 34,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.05 ล้านล้านบาท

หลังเกิดเหตุ ภาพของความอดทนและความเคร่งครัดในระเบียบวินัยของชาวญี่ปุ่นแม้ในยามที่พวกเขาต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งร้ายแรงได้ก่อให้เกิดเสียงชื่นชมมากมายจากผู้คนทั่วโลก จนนำไปสู่การระดมสรรพกำลังช่วยเหลือชาวญี่ปุ่นอย่างขนานใหญ่ตามมาจากประเทศต่างๆ ทั่วทุกสารทิศ

ทว่า เสียงชื่นชม รวมถึงความรู้สึกในเชิงบวกดังกล่าว ดูจะไม่เล็ดรอดมาถึงรัฐบาลญี่ปุ่นชุดปัจจุบันภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คัง วัย 64 ปี และพรรคเดโมเครติก ปาร์ตี้ ออฟ เจแปน หรือ "ดีพีเจ" เท่าใดนัก

ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่ญี่ปุ่นจะเผชิญกับเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิ รัฐบาลญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรีคังกำลังอยู่ในสภาพที่ "ร่อแร่" และ "เจียนอยู่เจียนไป" อย่างมากจากปัญหานานัปการ โดยเฉพาะจากข่าวอื้อฉาวล่าสุดที่นายเซอิจิ มาเอฮาระ รัฐมนตรีต่างประเทศขวัญใจมหาชน ผู้ถูกวางตัวเป็น "ทายาททางการเมือง" ของนายคัง มีอันต้องประกาศลาออกจากตำแหน่ง หลังไปรับเงินบริจาคทางการเมืองแบบผิดกฎหมายจากบุคคลสัญชาติเกาหลี

รวมถึงผลงานอันไม่น่าประทับใจของรัฐบาลพรรคดีพีเจ ในการแก้ปัญหาความซบเซาทางเศรษฐกิจของประเทศ

ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ทำให้บรรดานักวิเคราะห์พากันลงความเห็นว่า นายกรัฐมนตรีซึ่งก้าวขึ้นมาบริหารประเทศตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีก่อนรายนี้อาจต้องกระเด็นตกจากเก้าอี้ในไม่ช้า

แม้เหตุแผ่นดินไหวและสึนามิที่เกิดขึ้นจะถูกมองว่าไม่ต่างอะไรจาก "เสียงระฆังหมดยก" ที่เข้ามาช่วยยืดอายุรัฐนาวาของนายคังให้สามารถประคองตัวรอดพ้นจากการถูก "น็อกเอาต์"ไปได้อีกสักระยะ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ดูเหมือนบรรดาผู้สันทัดกรณีด้านการเมืองญี่ปุ่นต่างลงความเห็นว่า ภัยพิบัติคราวนี้ไม่ต่างจาก "ระเบิดเวลาลูกใหม่" สำหรับรัฐบาลญี่ปุ่นด้วยเช่นเดียวกัน

เพราะภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้นำมาซึ่งความไม่พอใจของชาวญี่ปุ่นต่อการประกาศเตือนภัยสึนามิที่ล่าช้า การจัดการกับสถานการณ์ภัยพิบัติที่ไม่มีประสิทธิภาพของทางการ การรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฯลฯ และสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็น "ปัญหาใหม่" ที่ถาโถมเข้ามาซ้ำเติมรัฐบาลญี่ปุ่นที่กำลังคลอนแคลนอยู่แล้ว ให้ยิ่งซวนเซไปกันใหญ่ จนหลายฝ่ายเริ่มสงสัยแล้วว่า ญี่ปุ่นอาจถึงคราต้องเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีอีกรอบ หลังจากที่มีการเปลี่ยนตัวผู้นำรัฐบาลมาแล้วถึง 5 คนภายในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

ถึงตอนนี้ เชื่อว่าหลายฝ่ายอาจหวนระลึกถึงคำแถลงของนายกรัฐมนตรีคัง เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ที่ระบุว่า “I’m convinced that we can overcome the crisis.” หรือ "ผมเชื่อมั่นว่าเราสามารถผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้" เพราะถึงแม้ชาวญี่ปุ่นจะผ่านพ้น "วิกฤติทางธรรมชาติ" ครั้งนี้ไปได้ แต่ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ตัวของนายกรัฐมนตรีคังจะรอดพ้น "วิกฤติทางการเมือง" ไปได้หรือไม่ หรืออาจมีอันต้องถูกสึนามิซัดถล่มจนต้องอำลาตำแหน่งในไม่ช้า.
กำลังโหลดความคิดเห็น