xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นเพิ่มระดับเตือนภัยนิวเคลียร์ เล็งใช้วิธีเทคอนกรีตฝังเตาปฏิกรณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์/เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - ญี่ปุ่นประกาศวานนี้(18) เพิ่มระดับเตือนภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ขณะที่บิ๊กบอสองค์กรชำนัญพิเศษด้านพลังงานปรมาณูของยูเอ็นระบุว่า การต่อสู้กับวิกฤตคราวนี้เป็น “การวิ่งแข่งขันกับเวลา” พร้อมบอกว่าปัญหานี้ใหญ่โตเกินกว่าแดนอาทิตย์อุทัยชาติเดียวจะรับมือไหว ทางด้านความพยายามในการแก้ไขวิกฤตนั้น เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นยังคงเน้นเรื่องลดอุณหภูมิของแท่งเชื้อเพลิงที่อยู่ในสภาพร้อนจัด ด้วยการส่งขบวนรถดับเพลิงระดมเข้าฉีดน้ำผสมสารหล่อเย็น พร้อมกับพยายามซ่อมสายไฟฟ้าที่ต่อไปยังเตาปฏิกรณ์ด้วยความหวังที่จะทำให้สามารถเปิดใช้ระบบสูบน้ำขึ้นมาใหม่ แต่ในเวลาเดียวกัน ทีมงานวิศวกรของโรงไฟฟ้าก็ยอมรับเป็นครั้งแรกว่า ในที่สุดแล้วอาจจะต้องหันไปพึ่งพาวิธีการสุดท้ายแบบที่ใช้ในโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลเมื่อปี 1986 อันได้แก่การเททรายและคอนกรีตปิดฝังเตาปฏิกรณ์ที่เกิดความเสียหายร้ายแรง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดมหันตภัยแห่งการแผ่กัมมันตภาพรังสีสู่บรรยากาศ สำหรับยอดผู้เสียชีวิตและสูญหายจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว-คลื่นสึนามิคราวนี้ เพิ่มขึ้นทะลุ 17,000 คน ในด้านเศรษฐกิจการเงินนั้น กลุ่มประเทศจี-7 ประกาศจับมือกันแทรกแซงตลาด ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนตัวลงมา หลังจากที่พุ่งขึ้นแข็งโป๊กเป็นประวัติการณ์

ทางการญี่ปุ่นประกาศเพิ่มระดับความรุนแรงของวิกฤตที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ คราวนี้ จากระดับ 4 เป็นระดับ 5 ตามมาตราส่วนความรุนแรงของเหตุทางนิวเคลียร์และรังสีวิทยาระหว่างประเทศ (International Nuclear and Radiological Event Scale หรือ ไอเอ็นอีเอส) มาตราส่วนนี้จัดทำขึ้นโดยทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ที่เป็นองค์กรชำนัญพิเศษด้านพลังงานนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ

ฮิเดฮิโกะ นิชิยามะ โฆษกสำนักงานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น ระบุว่า เหตุที่ต้องเพิ่มระดับเนื่องจากเจ้าหน้าที่ทราบชัดแล้วว่า เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ของเตาปฏิกรณ์ 3 เครื่องในโรงไฟฟ้าที่เกิดวิกฤตแห่งนี้ ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงไปอย่างน้อย 3% ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าแกนกลางของเตาปฏิกรณ์เหล่านี้ได้หลอมละลายไปเป็นบางส่วนแล้ว และปล่อยกัมมันตภาพรังสีออกสู่บรรยากาศ

มาตราส่วนนี้มีอยู่ 7 ระดับ โดยระดับ 4 ถือเป็นเหตุรุนแรงที่มีผลกระทบจำกัดในท้องถิ่น ขณะที่ระดับ 5 เป็นเหตุรุนแรงที่ผลกระทบกว้างขวางมากขึ้น การปรับเพิ่มระดับเช่นนี้ ทำให้เหตุการณ์คราวนี้มีความรุนแรงระดับเดียวกับอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าทรีไมล์ไอส์แลนด์ ในสหรัฐฯเมื่อปี 1979 แต่ยังไม่ถึงขั้นโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลที่อยู่ในระดับ 7

การประกาศของญี่ปุ่นคราวนี้ ยังเกิดขึ้นภายหลังญี่ปุ่นถูกนานาชาติตำหนิวิจารณ์มาหลายวันว่า ดูเบาความสาหัสร้ายแรงของวิกฤตคราวนี้จนเกินไป โดยที่เมื่อวานนี้เอง ยูกิยะ อามาโนะ ผู้อำนวยการใหญ่ของไอเออีเอคนปัจจุบันซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นแท้ๆ ด้วย ก็ได้กล่าวภายหลังเข้าพบนายกรัฐมนตรี นาโอโตะ คัง ที่กรุงโตเกียวว่า อุบัติภัยคราวนี้มีความร้ายแรงสาหัสอย่างยิ่ง และการแก้ไขวิกฤต เป็น “การวิ่งแข่งขันกับเวลา”

อามาโนะซึ่งเดินทางมาพร้อมทีมผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ 4 คน บอกด้วยว่า เรื่องนี้ไม่ควรที่ญี่ปุ่นจะเข้ารับมือจัดการอยู่เพียงฝ่ายเดียว แต่ประชาชนทั่วโลกควรต้องร่วมมือกับญี่ปุ่นและประชาชนในพื้นที่ประสบภัยพิบัติด้วย

เมื่อวานนี้เป็นวันครบรอบ 1 สัปดาห์ของการเกิดธรณีพิบัติวัดความรุนแรงได้ 9.0 ที่บริเวณนอกชายฝั่งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น แล้วติดตามมาด้วยการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิที่มีความสูงถึง 10 เมตรโถมซัดใส่ดินแดนตอนใน ทำให้เกิดความเสียหายทั้งด้านชีวิตผู้คนและด้านทรัพย์สินต่างๆ อย่างกว้างขวาง และส่งผลกระทบกระเทือนถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ จนกลายเป็น “วิกฤตนิวเคลียร์” ซึ่งยังไม่มีเค้าลางว่าจะสามารถแก้ไขคลี่คลายได้ในเร็ววัน

เวลานี้ในบรรดาเตาปฏิกรณ์ทั้ง 6 เครื่องของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ จุดที่พวกผู้เชี่ยวชาญรู้สึกวิตกและให้ความสนใจมากที่สุดก็คือ เตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ที่คาดคะเนกันว่าเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ตรงแกนกลางได้เกิดการหลอมละลายบางส่วน และร้อนขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่บ่อพักแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วก็อาจจะเหลือน้ำหล่อเย็นอยู่น้อย โดยที่เมื่อแท่งเชื้อเพลิงเมื่อสัมผัสกับอากาศ ก็จะเกิดการละลาย ประเด็นที่ห่วงใยกันมากคือ เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ของเตาปฏิกรณ์เครื่องนี้ มีส่วนผสมของพลูโตเนียมด้วย ซึ่งจะเป็นพิษภัยรุนแรงกว่าเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ของเตาปฏิกรณ์เครื่องอื่นๆ

นอกจากนั้น จุดที่น่าห่วงมากอีกจุดหนึ่งคือ เตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ซึ่งแม้ตอนที่เกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ จะไม่ได้เปิดเครื่องเพราะอยู่ระหว่างการซ่อมบำรุง ทว่าปัญหาอยู่ที่บ่อพักแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วของเตาเครื่องนี้ ซึ่งกำลังมีอุณหภูมิร้อนจัดขึ้นเช่นกัน

ตั้งแต่วันพฤหัสบดี(17) กองกำลังป้องกันตนเอง (กองทัพ) ของญี่ปุ่น ได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ขนส่งแบบ 2 ใบพัดรุ่น ซีเอช-47 ชีนุก จำนวน 4 ลำ ออกมาขนน้ำจำนวนกว่า 7 ตันโปรยปรายใส่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 นอกจากนั้นยังมีการส่งรถดับเพลิง 5 คันออกมาช่วยฉีดน้ำทางภาคพื้นดินด้วย

สำหรับวานนี้ ชิเกรุ อิวาซากิ เสนธิการกองกำลังป้องกันตนเอง แถลงว่า ได้ส่งรถดับเพลิง 6 คัน และรถบรรทุกน้ำ 1 คันเข้าปฏิบัติการฉีดน้ำอีก

ยูกิโอะ เอดาโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีและหัวหน้าโฆษกรัฐบาลญี่ปุ่น แถลงว่า จากการโปรยและฉีดน้ำเข้าไปที่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ในวันพฤหัสบดี ไม่ต้องสงสัยเลยว่าน้ำจะต้องเข้าไปถึงบ่อพักแท่งเชื้อเพลิง แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าในบ่อยังเหลือน้ำเป็นปริมาณเท่าใด

เขาระบุด้วยว่า ระดับกัมมันตภาพรังสีที่โรงไฟฟ้าเมื่อวานนี้ วัดได้ราว 100 มินิซีเวิร์ต ซึ่งยังไม่เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของมนุษย์ ทั้งนี้หากถึงระดับ 1,000 มินิซีเวิร์ต (หรือ 1 ซีเวิร์ต) ก็จะทำให้ผู้ได้รับรังสีเกิดอาการเจ็บป่วยชั่วคราว เช่น คลื่นไส้อาเจียร

นอกจากการฉีดน้ำแล้ว เอดาโนะแจ้งว่า คนงานของโรงไฟฟ้ายังคงพยายามซ่อมแซมสายไฟฟ้าที่ต่อเข้าไปในเตาปฏิกรณ์ เพื่อให้สามารถเดินระบบสูบน้ำของเตาเหล่านี้ได้ โดยที่นิชิยามะ โฆษกสำนักงานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ระบุว่า วางแผนกันไว้ว่าในขั้นแรกจะซ่อมให้ไฟฟ้าเข้าถึงระบบสูบน้ำของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 และ 2 ในวันเสาร์(19) และหมายเลข 3 กับ 4 ในวันอาทิตย์(20)

ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า เมื่อสามารถส่งกระแสไฟฟ้าเข้าถึงเตาปฏิกรณ์เหล่านี้แล้ว ระบบสูบน้ำจะใช้การได้หรือไม่ ในสภาพที่เตาปฏิกรณ์เหล่านี้ต่างเกิดการระเบิดและไฟไหม้

เมื่อถูกถามว่า มีความคิดกันหรือไม่ที่จะใช้วิธีขั้นสุดท้ายแบบโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล นั่นคือการเททรายและคอนกรีตเข้าไปปิดตายเตาปฏิกรณ์ นิชิยามะตอบว่า “ในความคิดของพวกเราก็ตระหนักถึงหนทางแก้ปัญหาเช่นนี้อยู่เหมือนกัน ทว่าตอนนี้เรากำลังโฟกัสไปที่การหาวิธีทำให้เตาปฏิกรณ์เย็นลงมา”

ทางด้านเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งของบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ (เท็ปโก) บริษัทผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ เมื่อถูกถามด้วยคำถามนี้ระหว่างการแถลงข่าววานนี้ ได้ตอบว่า “มันไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้ที่จะปิดฝังเตาปฏิกรณ์เหล่านี้ด้วยคอนกรีต ทว่าสิ่งที่ถือเป็นความสำคัญลำดับแรกของเราในตอนนี้ก็คือ จะต้องพยายามทำให้เตาเหล่านี้เย็นตัวลงมาก่อน”

นอกจากเรื่องวิกฤตนิวเคลียร์แล้ว ชะตากรรมของผู้รอดชีวิตหลายแสนคนซึ่งไร้ที่อยู่อาศัยเนื่องจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ ก็กำลังเลวร้ายลง ภายหลังที่กระแสอากาศหนาวได้ทำให้เกิดหิมะตกหนักในหลายบริเวณที่ประสบภัย

เวลานี้ตามศูนย์อพยพต่างๆ น้ำดื่มน้ำใช้, น้ำมันให้ความร้อน, และเชื้อเพลิง ต่างมีเหลืออยู่น้อยแล้ว บ่อยครั้งที่ต้องมีการปันส่วนอาหาร ขณะที่คนเฒ่าคนแก่จำนวนมากก็ไม่ได้รับยาเวชภัณฑ์ที่ถูกต้องเหมาะสม

รัฐบาลญี่ปุ่นแถลงวานนี้ว่า กำลังพิจารณาที่จะโยกย้ายผู้อพยพจำนวนสักหลายแสนคน ไปยังส่วนอื่นๆ ของประเทศที่ไม่ได้รับความกระทบกระเทือนจากภัยพิบัติ

ทางด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติรายงานวานนี้ว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติคราวนี้ที่ยืนยันได้มี 6,911 คน มากกว่าผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวที่เมืองโกเบในปี 1995 ที่มี 6,434 คนแล้ว ขณะที่ยังมีผู้สูญหายอีก 10,316 คน

รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงยืนยันมาตรการป้องกันผลกระทบของรังสีสำหรับประชาชนที่อยู่ใกล้ๆ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ นั่นคือ สำหรับทุกคนที่พำนักอยู่ภายในรัศมี 20 กิโลเมตรให้อพยพออกมา ส่วนผู้ที่อยู่ภายในรัศมี 20-30 กิโลเมตรให้อยู่แต่ภายในอาคาร ถึงแม้ทางการสหรัฐฯยังแนะนำพลเมืองอเมริกันมาหลายวันแล้ว ให้ออกมานอกรัศมีโรงไฟฟ้าแห่งนี้ 80 กิโลเมตร หรือไม่ก็ให้อยู่แต่ในอาคาร

สำหรับกรุงโตเกียวที่อยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ราว 240 กิโลเมตร ประชาชนหลายล้านคนของมหานครแห่งนี้ ยังคงใช้วิธีอยู่บ้านและทำงานจากบ้าน เนื่องจากหวั่นกลัวรังสีที่จะถูกลมพัดพามาจากการระเบิดที่เกิดขึ้นหลายๆ ครั้งของโรงไฟฟ้าเมื่อหลายวันก่อน ถึงแม้รัฐบาลญี่ปุ่นและไอเออีเอจะยืนยันว่า ระดับรังสีในเมืองหลวงญี่ปุ่นแห่งนี้ยังไม่มีอันตรายอะไร

**จี7ร่วมแทรกแซงตลาดฉุดค่าเงินเยนอ่อนตัว**

ทางด้านรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่ม 7 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี-7) ซึ่งประชุมกันทางโทรศัพท์ในตอนเช้าวานนี้ ได้มีมติร่วมมือกันเข้าแทรกแซงตลาด ภายหลังจากที่เงินเยนมีค่าเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ปรากฏว่าความร่วมมือเช่นนี้ ได้ทำให้เงินเยนอ่อนตัวลงมากว่า 2 เยน โดยตอนเย็นวานนี้ที่โตเกียว 1 ดอลลาร์แลกได้ 81.80 เยน เทียบกับตอนที่ขึ้นไปสูงสุดในวันพฤหัสบดี ซึ่ง แลกได้เพียง 76.25 เยน
กำลังโหลดความคิดเห็น