xs
xsm
sm
md
lg

ปชช.หนุนไล่ส.ส.ปากสุนัข ไม่อยากเห็นพวกบิดเบือน-ป้ายสี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วันเดียวกันศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ผลสำรวจ เรื่อง “การทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภา” ระหว่างวันที่ 10 – 12 มีนาคม 2554 จากประชาชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน 1,201 หน่วยตัวอย่าง โดยสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นในการทำหน้าที่ของ ส.ส. ในสภาประชาชนเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 54.2 อยากเห็น ส.ส.ไม่บิดเบือนข้อมูลหรือป้ายสี รองลงมาคือไม่พูดจาหยาบคาย ยั่วยุส่อเสียด ร้อยละ 43 ไม่ประท้วงพร่ำเพรื่อ ร้อยละ 35.3 รวมถึงอภิปรายกระชับตรงประเด็น ร้อยละ 27.8
ส่วนพฤติกรรมของส.ส.ที่ประชาชนคาดว่าจะเห็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งนี้ พบว่าเกือบร้อยละ 60 เชื่อว่าจะเห็น ส.ส.แสดงวาจาหยาบคาย ก้าวร้าว รองลงมา คือ ส.ส.ค้านพร่ำเพรื่อ ร้อยละ 43.4 และไม่เคารพกติกาหรือประธานในที่ประชุมร้อยละ 41.4 โดยมีบางคนคาดว่าจะได้เห็นพฤติกรรมก้าวร้าว ถึงขั้นใช้กำลัง ร้อยละ 23.9 นอกจากนี้ผู้ตอบยังคาดว่าจะเห็น ส.ส.หลับในที่ประชุม ร้อยละ 10.7 ตลอดจนพูดคุยเล่นหรือคุยโทรศัพท์ในช่วงอภิปรายร้อยละ 10.2
ความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการ/บทลงโทษ ส.ส. ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในสภาระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า ควรลงโทษโดยการไล่ออกจากห้อประชุมร้อยละ 46.1 ตามด้วยการการตัดสิทธิลงคะแนนเสียง ร้อยละ 30.7 นอกจากนี้ ประชาชนยังเห็นว่า ควรลงโทษด้วยการตัดเงินเดือน และทำทัณฑ์บน ใกล้เคียงกันคือประมาณ ร้อยละ 19.0 ทั้งสองกลุ่ม
ส่วนทำหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎร สรุปได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ เห็นว่าประธานสภา ไม่เด็ดขาดในการควบคุมการประชุมร้อยละ 36.5 ซึ่งใกล้เคียงกับความเห็นที่ว่า ไม่เป็นกลางร้อยละ 35.2 และมีถึงร้อยละ 22.6 ที่เห็นว่า หลงประเด็น
ประเด็นที่ประชาชนให้ความสำคัญ หรืออยากฟังการอภิปราย พบว่า ประเด็นปัญหาทุจริต คอรัปชั่น ประชาชนให้ความสำคัญหรืออยากฟังมากเป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 59.9 รองลงมาคือ ปัญหายาเสพติดร้อยละ 19.3 เป็นที่สังเกตว่าปัญหาการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ และ ปัญหาเศรษฐกิจ ข้าวของแพง ประชาชนกลับอยากฟังเพียงร้อยละ 9.2 และร้อยละ 3.6 ตามลำดับ
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณะบดีฝ่ายวิชาการ และอาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นิด้า กล่าวว่า “ประชาชนเห็นว่า ส.ส.บ้านเมืองเรามักพูดไม่ค่อยจริง หรือจริงครึ่งไม่จริงครึ่ง หรือพูดอย่างทำอย่าง มักบิดเบือนข้อมูลเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนหรือพวกพ้อง ซึ่งสิ่งนี้ขัดกับคุณธรรมสำคัญของนักการเมือง”ตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา หากไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมพื้นฐานข้อนี้ ก็จะถูกกดดันให้ต้องพูดจริง หรือถึงขั้นให้ลาออกไป “การที่ประชาชนคาดว่าจะได้เห็น ส.ส.มีพฤติกรรมหยาบคาย ก้าวร้าว ค้านพร่ำเพรื่อก็เพราะเขาเห็นสิ่งนั้นในอดีตที่ผ่านมา ส.ส.ควรตระหนักในพฤติกรรมของตนที่แสดงออกต่อสังคมและสื่อต่างๆ ให้มากและไม่ควรแสดงพฤติกรรมดังกล่าว ”
ทั้งนี้ประชาชน สื่อต่างๆ ควรร่วมมือกันกดดัน เช่น แสดงความคิดเห็นโดยตรงไปที่ตัว ส.ส.คนนั้น หัวหน้าพรรค บุคคลใกล้ชิดของ ส.ส.คนนั้น โดยอาจใช้โทรศัพท์, (SMS), Facebook, หรือช่องทางอื่นๆ เช่น สื่อต่างๆ”
รศ. ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ประธานสภาคณาจารย์ นิด้า และประธานที่ประชุมสภาอาจารย์แห่งประเทศไทย (ปอมท.) กล่าวว่า “ประชาชนอยากเห็น ส.ส.ทำงาน อย่างตรงไปตรงมาและทำตามบทบาทหน้าที่ของตน ต้องการเห็นรัฐบาลทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ผู้คนมิได้อยากเห็น ส.ส. ใช้การอภิปรายในสภา พูดเรื่องความขัดแย้งนอกสภา หรือการใช้อภิสิทธิ์ความเป็นสส. มาพูดจาก้าวร้าว หยาบคายใส่กัน นั่นไม่ใช่พฤติกรรมที่ชาวบ้านคาดหวัง.

**ปชช.ให้คะแนนฝ่ายค้าน-รัฐบาลสูสี
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความคิดเห็นของประชาชนต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนที่ติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ใน 17 จังหวัดของประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.1 เห็นว่าการอภิปรายน่าสนใจและติดตาม และร้อยละ 21.9 ระบุไม่น่าสนใจ
ประชาชนเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 56.4 ระบุพึงพอใจต่อการทำหน้าที่ของประธานสภาโดยภาพรวมในระดับค่อนข้างมาก-มากที่สุด ร้อยละ 26.6 ระบุค่อนข้างน้อย และร้อยละ 17.0 ระบุน้อย-ไม่พึงพอใจเลยหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของพรรคฝ่ายค้าน พบว่า ร้อยละ 41.5 ระบุความนิยม ศรัทธาต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ลดน้อยลง ร้อยละ 40.4 ระบุนิยม ศรัทธาลดน้อยลง และร้อยละ 18.1 ระบุไม่มีความเห็น
สำหรับความนิยมต่อพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยที่ถูกฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ พบว่า เกินครึ่งเล็กน้อยหรือ ร้อยละ 50.4 ระบุความนิยมต่อพรรคประชาธิปัตย์ไม่ลดลง ในขณะที่ร้อยละ 51.1 ระบุความนิยมต่อพรรคภูมิใจไทยลดลง
ที่น่าสนใจ คือ ค่าคะแนนเฉลี่ยในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในวันแรก พบว่า กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนรัฐบาล 5.69 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน และให้คะแนนฝ่ายค้าน เท่ากับ 5.89 คะแนน
กำลังโหลดความคิดเห็น