xs
xsm
sm
md
lg

ระเบิดครั้งที่ 2 ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยิ่งเพิ่มความน่ากลัว

เผยแพร่:   โดย: สุเวนทรินี คากูชิ

เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Second blast raises nuclear fears
By Suvendrini Kakuchi
14/03/2011

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดยักษ์ในจังหวัดฟูกูชิมะ เกิดการระเบิดครั้งที่ 2 เมื่อวันจันทร์(14) ภายหลังที่มีการบึ้มไปแล้วครั้งหนึ่งในวันเสาร์(12) โดยมีชนวนเหตุมาจากแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงมากถึงระดับ 9.0 ที่มีศูนย์กลางอยู่ตรงบริเวณนอกชายฝั่งของประเทศญี่ปุ่น พวกเจ้าหน้าที่ได้พยายามที่จะออกมาชี้ชวนปลุกปลอบให้เข้าใจกันว่า โรงงานแห่งนี้ซึ่งมีความสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าคิดเป็น 18% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ทั้งหมดของแดนอาทิตย์อุทัย ทว่าใช้งานกันมายาวนานถึง 40 ปีแล้วนั้น ไม่ได้กำลังตกอยู่ในอันตรายที่จะเกิดการหลอมละลายแต่อย่างใด ทว่าหลายๆ ฝ่ายยังระแวงสงสัยว่าความเป็นจริงน่าจะไม่ใช่เช่นนั้น

โตเกียว –ขณะที่ผู้คนยังไม่ทันคลายความอกสั่นขวัญแขวนจากการระเบิดครั้งแรกที่เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์(12) ณ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดฟูกูชิมะ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางเหนือประมาณ 250 กิโลเมตร โรงไฟฟ้ายักษ์แห่งนี้ก็เกิดการระเบิดขึ้นอีกคำรบหนึ่งในตอนเช้าวันจันทร์(14)

เพียงไม่นานหลังจากนายกรัฐมนตรี นาโอโตะ คัง กล่าวปราศรัยผ่านทางโทรทัศน์โดยระบุว่า โรงงานแห่งนี้กำลังอยู่ในภาวะ “น่าหวาดกลัว” หอเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ของโรงงานก็เกิดบึ้มขึ้นมา

สื่อมวลชนรายงานว่า ยากูโอะ เอดาโนะ (Yukio Edano) เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (chief cabinet secretary) ซึ่งตามระบบการเมืองญี่ปุ่นแล้วถือเป็นบุคคลทรงอำนาจหมายเลข 2 ในคณะรัฐบาล และทำหน้าที่เป็นหัวหน้าโฆษกรัฐบาลด้วยนั้น ได้ออกมาแถลงว่าผู้รับผิดชอบสูงสุดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนั้น ได้ยืนยันให้ความมั่นใจแก่ตัวเขาว่า คอนเทนเนอร์บรรจุน้ำที่สร้างล้อมรอบส่วนแกนกลางเตาปฏิกรณ์เอาไว้นั้น ยังคงไม่ได้แตกร้าวไม่ได้มีรอยรั่วอะไร

เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ที่มีขนาดความรุนแรงถึง 9.0 เมื่อวันศุกร์(12) ที่บริเวณนอกชายฝั่งของญี่ปุ่น และจุดชนวนให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิขนาดมหีมาถาโถมเข้าสู่แผ่นดินตอนใน เวลานี้คาดหมายกันว่าภัยพิบัติร้ายแรงคราวนี้น่าจะคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 10,000 คนทีเดียว และจากธรณีพิบัติคราวนี้นี่เอง ปัญหายุ่งยาก ณ โรงไฟฟ้าแห่งนี้ ก็ก่อตัวขึ้นมา โดยที่กำลังสร้างความหวาดกลัวกันว่าอาจจะกลายเป็นวิกฤตร้ายแรงถึงขั้นที่เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่แกนกลางของเตาปฏิกรณ์เกิดการหลอมละลาย (meltdown) อันจะทำให้กัมมันตรังสีจำนวนมากมายรั่วไหลออกมาสู่บรรยากาศภายนอก และสร้างความเสียหายในระดับหายนะ

ถึงแม้รัฐบาลจะพยายามออกมาปลุกปลอบสร้างความมั่นอกมั่นใจ อีกทั้งมีข้อเท็จจริงอยู่ว่าได้มีการสั่งอพยพประชาชนราว 180,000 คนออกมาจากอาณาบริเวณที่อยู่ในรัศมี 20 กิโลเมตรโดยรอบของเตาปฏิกรณ์ไปแล้ว ทว่าพวกผู้เชี่ยวชาญที่เป็นฝ่ายต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ ก็ยังคงออกมาแสดงความวิตกห่วงใย “คำอธิบายของรัฐบาลยังคงมีหลายๆ จุดมากที่ไม่กระจ่างชัดเจน จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงยังไม่สามารถยอมรับได้ว่า ปัญหาที่นั่นมีการตีแผ่ออกมาอย่างโปร่งใสแล้ว” ศาสตราจารย์ ฮิโรอากิ โคอิวะ (Hiroaki Koiwa) แห่ง สถาบันวิจัยเตาปฏิกรณ์ (Research Reactor Institute) มหาวิทยาลัยเกียวโต (Kyoto University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น บอกกับสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service)

จากภาพยนตร์ข่าวโทรทัศน์ที่นำออกเผยแพร่ในช่วงบ่ายวันเสาร์ และตอนเช้าวันจันทร์ แสดงให้เห็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกูชิมะ หมายเลข 1 แห่งนี้ ในสภาพที่มี “บาดแผล” ร้ายแรงจากการระเบิด และมีกลุ่มควันสีขาวๆ ลอยออกมาจากอาคาร บริเวณเพดานและกำแพงหลายด้านได้รับความเสียหาย อาคารหลังนี้เป็นส่วนหนึ่งของเตาปฏิกรณ์รวม 4 เตา ซึ่งรวมกันแล้วมีความสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าคิดเป็น 18% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังนิวเคลียร์ทั้งหมดของแดนอาทิตย์อุทัย

ตลาดหุ้นในญี่ปุ่นร่วงลงอย่างหนักในการซื้อขายเมื่อวันจันทร์ จนกระทั่งหลุดลงจากระดับจิตวิทยาสำคัญที่ 10,000 จุด กล่าวคือในตอนปิดตลาด ดัชนีสำคัญ นิกเกอิ 225 หล่นลง 6.18% มาอยู่ที่ 9,620.49 ขณะที่ดัชนี โตปิกซ์ ที่คำนวณจากหุ้นจำนวนมากกว่า ลดลง7.5% อยู่ที่ 846.96 นับเป็นการร่วงลงมาในรอบวันครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2008 เป็นต้นมา สืบเนื่องจากนักลงทุนเกิดความหวาดกลัวกันว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกูชิมะ จะส่งผลกระทบในระยะยาว โดยอาจทำให้ซัปพลายกระแสไฟฟ้าขาดแคลนไม่พอใช้

แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นคราวนี้ ได้ทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้เกิดการปิดตัวหยุดทำงานอย่างอัตโนมัติ ทว่ามันก็ก่อให้เกิดปัญหาติดตามมา เนื่องจากมีแก๊สไฮโดรเจนกัมมันตรังสีสะสมเพิ่มขึ้นอยู่ภายในอาคารหอเตาปฏิกรณ์ บริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ (Tokyo Electric Power Company ใช้อักษรย่อว่า TEPCO) ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ จึงจำเป็นต้องระบายแก๊สไฮโดรเจนปริมาณมากออกมา เพื่อเป็นการลดแรงดันภายในอาคาร ขณะเดียวกันก็มีรายงานระบุว่า เป็นไปได้ว่าเชื้อเพลิงแกนกลางในหอเตาปฏิกรณ์นี้ได้เกิดการหลอมละลาย

สื่อมวลชนญี่ปุ่นได้อ้างความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายรายที่ชี้ว่า ถ้าหากเกิดสภาพการหลอมละลายที่แกนกลางขึ้นมาจริงๆ แล้ว ก็จะทำให้กัมมันตรังสีหลุดออกมาปนเปื้อนสร้างอันตรายอย่างกว้างขวาง ทว่าทั้งบริษัทเท็ปโก และสำนักงานคณะกรรมการความปลอดภัยทางนิวเคลียร์แห่งญี่ปุ่น (Japan Nuclear Safety Commission) รายงานว่า การที่มีผู้ออกมาประมาณการเบื้องต้นว่า ระดับกัมมันตรังสีขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ราว 1,000 เท่าของระดับปกตินั้น เป็นการให้ตัวเลขที่เกินเลยไปมาก

เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เอดาโนะ บอกกับสื่อมวลชนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า แท้ที่จริงแล้ว เท็ปโกประสบความสำเร็จในการลดแรงดันของไฮโดรเจน จากที่กำลังก่อตัวเพิ่มสูงขึ้นภายในคอนเทนเนอร์ล้อมรอบแกนกลางเตาปฏิกรณ์ โดยที่คอนเทนเนอร์นี้ทำจากคอนกรีตที่แข็งแกร่งมาก ปกติแล้วจะมีความหนาถึงราว 1.2 เมตร “หลังจากที่มีการปล่อยไฮโดรเจนออกมา บริษัทเท็ปโกรายงานว่าระดับของกัมมันตรังสีได้ลดลงมาอยู่ที่ 75 หน่วยซิเบล (siebel unit) ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์” เขากล่าว ทั้งนี้ตามเกณฑ์ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในทางระหว่างประเทศนั้น ระดับกัมมันตรังสีสูงสุดที่คนสามารถทนได้อยู่ที่ 1,000 หน่วยซิเบล ต่อปี

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์โคอิวะชี้ว่า ถ้าหาก เท็ปโก สามารถปล่อยแรงดันไฮโดรเจนออกมา โดยใช้ระบบจ่ายไฟฟ้ามาเดินเครื่องปั๊มแล้ว การที่บริษัทรายงานเอาไว้ว่า เตาปฏิกรณ์แห่งนี้ได้ปิดตัวลงอย่างอัตโนมัติภายหลังเกิดแผ่นดินไหวนั้น ก็ไม่น่าที่จะเป็นความจริง

นอกจากนั้น ยังมีนักวิจัยหลายรายแสดงความข้องใจเกี่ยวกับความถูกต้องของตัวเลขการรั่วไหลของกัมมันตรังสีล่าสุดที่ทางเท็ปโกระบุออกมา โดยที่นักวิจัยเหล่านี้ชี้ว่า ทิศทางการพัดของลมน่าจะมีบทบาทสำคัญมากในการทำให้ตัวเลขยังดูเหมือนกับว่า กัมมันตรังสีไม่ได้มีการรั่วไหลเกินมาตรฐาน

ฮิเดกิ บัง (Hideki Ban) นักเคลื่อนไหวต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ระดับแกนนำ และเป็นผู้อำนวยการของ ศูนย์ข่าวมูลนิวเคลียร์ของฝ่ายพลเมือง (Citizen's Nuclear Information Center) กล่าวในการจัดการประชุมแถลงข่าวเมื่อค่ำวันเสาร์(12)ว่า ความเสียหายอันน่าตื่นตระหนกที่บังเกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะคราวนี้ ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า จำเป็นที่จะต้องคอยเฝ้าติดตามการรั่วไหลของกัมมันตรังสีอย่างใกล้ชิดต่อไป ถึงแม้รัฐบาลและบริษัทเท็ปโก พยายามที่จะออกมาอ้างว่ากำลังสามารถคลี่คลายปัญหาไปได้เป็นลำดับ

“การระเบิดที่โรงงานฟูกูชิมะ เป็นสัญลักษณ์ของภัยอันตรายอันร้ายแรงยิ่งที่กำลังคุกคามความปลอดภัยของมนุษย์ในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้งเหลือเกิน ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอีกครั้งหนึ่งที่จะยุติการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีอันตรายมากเช่นนี้” เขากล่าวกับสื่อมวลชน

เนื่องจากมีรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์บางกระแส บ่งบอกเป็นนัยว่ากัมมันตรังสีได้เกิดการรั่วไหลออกไปอย่างกว้างขวาง โดยไปไกลถึงกรุงโตเกียวทีเดียว ประชาชนทั้งหลายจึงเกิดความไม่สบายใจ และกำลังพากันเที่ยวช็อปปิ้งกว้านซื้อพวกอาหารพื้นฐานต่างๆ มาเก็บตุนเอาไว้ จนทำให้พวกซูเปอร์มาร์เก็ตจำนวนมากรายงานว่า สินค้าเหล่านี้ขายหมดเกลี้ยง ตามชั้นวางมีแต่ความว่างเปล่า

บังโต้แย้งว่า จริงๆ แล้วแรงดันไฮโดรเจนในหอเตาปฏิกรณ์ยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แลละกุญแจสำคัญที่จะควบคุมไม่ให้เกิดการรั่วไหลของกัมมันตรังสีขนาดใหญ่ๆ เวลานี้จึงอยู่ในมือของเท็ปโก ซึ่งจะต้องใช้ความพยายามอย่างหนักที่สุดเพื่อระบายแรงดันให้ได้

พวกนักเคลื่อนไหวต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์ยังชี้ด้วยว่า โรงงานฟูกูชิมะนั้นสร้างขึ้นมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 และด้วยเหตุนี้จึงไม่ได้มีระบบความปลอดภัยอันทันสมัยตามระดับมาตรฐานที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงในญี่ปุ่นเวลานี้ก็คือ ไฟฟ้าที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันประมาณ 1 ใน 3 ได้มาจากนิวเคลียร์ และเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แห่งหลักๆ ต่างตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว อันที่จริงโรงงานเหล่านี้ได้เคยเกิดอุบัติภัยมาแล้วหลายครั้งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้ทำให้มีคนงานเสียชีวิตและประชาชนก็ต้องอพยพหลบภัยครั้งแล้วครั้งเล่า

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น