ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังจากที่รัฐบาลโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ส่งสัญญาณค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าจะประกาศยุบสภาภายในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะถือว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของประเทศไทยเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่ในขณะเดียวกันช่วงเวลาหลังจากนั้นไม่นานก็กลับมีกระแสข่าวลือหนาหูทำนองว่าจะไม่เกิดการเลือกตั้งแรงขึ้นมาจากทุกทิศทุกทาง
กระแสข่าวลือว่าจะไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ยิ่งขมวดปมซ้ำซ้อนเข้าไปอีก เมื่อ 1 ใน 5 เสือกกต. ที่ถือเป็นกลไกสำคัญยิ่งของการเลือกตั้ง อย่าง “นางสดศรี สัตยธรรม” กรรมการการเลือกตั้ง รับผิดชอบงานด้านกิจการพรรคการเมือง ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าขณะนี้ได้ไปสมัครเป็นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธานและถ้าได้รับการคัดเลือกจะลาออกจาก กกต.เพื่อไปทำหน้าที่ดังกล่าว จนทำให้หลายฝ่ายเกรงว่าจะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองและจนนำไปสู่ภาวะเดดล็อกขึ้นมาหรือไม่
ขณะเดียวกันนางสดศรีก็ยังได้ทิ้งปริศนาเอาไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องความกดดันในการทำหน้าที่ กกต. การยุบสภาที่จะเร็วกว่ากำหนด ปัญหากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับที่กำลังคาราคาซังในสภาผู้แทนราษฎรในเวลานี้ ความแตกแยกของ 5 กกต. รวมทั้งนัยของคำพูดที่ว่า “เลือกตั้งครั้งหน้ารุนแรง ดิฉันคิดว่า ถ้าปฏิวัติได้ปฏิวัติเลย”
ด้วยเหตุดังกล่าว ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ จึงได้ไปสนทนากับนางสดศรีเพื่อไขข้อข้องใจที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมในเวลานี้
**กรณีการออกมาประกาศเจตจำนงของคุณสดศรีเรื่องการลาออกจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีที่มาที่ไปอย่างไร
ไม่มีกฎหมายใดระบุว่า เมื่อคุณเป็น กกต.แล้วจะไม่สามารถไปที่อื่นได้ เราไม่ได้มีสัญญาจ้างกันไว้ว่าเมื่อเป็น กกต.แล้วจะไปสมัครหรือสอบเข้าที่ไหนไม่ได้อีก ในเมื่อสิทธิเสรีภาพของมนุษย์มันมีอยู่แล้ว จึงคิดว่าเราก็มีสิทธิไปไหนก็ได้ และก็เป็นไปตามวาระของกฎหมายที่ได้ระบุไว้ว่าให้ดำรงตำแหน่ง 7 ปี ถามว่าในช่วงเวลา 7ปี ท่านเห็นแล้วว่าสภาพของท่านจะไปไม่รอด ท่านมีสิทธิที่จะดิ้นรนหรือไม่ ซึ่งทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกไปหนทางที่ดีกว่า ก็เป็นของธรรมดา เผอิญว่าในช่วงเวลานี้ก็เกิดมีการเปิดรับสมัครกรรมการปฏิรูปกฎหมายซึ่งเป็นองค์กรในรัฐธรรมนูญ และเป็นปีแรกที่จะมีคณะกรรมการชุดจริงขึ้นมา โดยเมื่อก่อนยังเรียกว่าเป็นชุดรักษาการ ก็ลองไปสมัครดูเพราะเห็นว่างานดังกล่าวเราก็เคยทำมาแล้วเช่นการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา ประกอบกับดูแล้วทางนั้นอยากจะได้ผู้พิพากษาด้วย ซึ่งเราก็เป็นมาแล้วทุกอย่าง และเราก็ทำได้ทั้งงานบริหารหรือวิชาการ แต่ก็ไม่ได้หวังว่าจะได้เพราะมีคนมาสมัครมากถึง 234 คน เอาแค่ 11 คนเท่านั้นเอง
ที่ผ่านมามีหลายท่านที่เคยจะไป ซึ่งเป็น กกต.ท่านหนึ่ง แต่คงไม่เอ่ยชื่อ ท่านก็ยังเคยไปสมัครเป็นศาลรัฐธรรมนูญในช่วงเริ่มต้นชุดที่มีท่านชัช ชลวร เป็นประธาน แล้วต่อมาอย่างไรไม่ทราบจึงได้หยิบใบสมัครออก ท่านอาจจะเห็นว่าคู่ต่อสู้น่ากลัวทั้งนั้น มุมหนึ่งก็อาจจะอายที่ไม่ได้ แต่ผิดกับเราที่เป็นคนไม่อาย ก็คิดว่าไม่ได้ก็ไม่ได้ ไม่เห็นจะแปลกอะไร เพราะว่าเราไม่ได้สอบแต่เป็นเรื่องที่ทางนั้นคัดเลือกเรา ซึ่งนั้นแล้วว่าแต่กรรมการที่อาจเห็นว่าเราไม่เหมาะสมก็เป็นดุลยพินิจของท่าน การที่จะไปสมัครถือเป็นเรื่องธรรมดาและเราเป็นคนที่ชอบเสี่ยงอยู่แล้ว
**ถ้อยคำที่สื่อออกมาเหมือนกับว่าการทำหน้าที่เป็น กกต.มีแรงกดดัน จนไม่อยากทำงานต่อ
มันน่าจะถึงจุดหลายๆ อย่าง ที่พูดบ่อยที่สุดจะเป็นเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ ซึ่งมีความชัดเจนว่าปัญหาจะตกอยู่ที่กกต.อย่างยิ่ง โดยเฉพาะมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข ที่บอกว่าเมื่อแก้รัฐธรรมนูญแล้วภายใน 1 ปี ให้กกต.ดำเนินการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยส.ส. การได้มาซึ่ง ส.ว. ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี และถ้าทำไม่เสร็จก็ให้ กกต.ออกเป็นประกาศได้
แต่ลองมาดูการตีความของมาตราดังกล่าวในวรรคสองที่ระบุว่าในกรณีที่ไม่แล้วเสร็จก็ให้ กกต.มีอำนาจประกาศ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ จะเห็นว่าเมื่อตีความวรรคสอง เขาจะใช้เฉพาะให้ออกประกาศพระราชบัญญัติเพียงฉบับเดียว เรื่องว่าด้วยส.ส. การได้มาซึ่ง ส.ว. ไม่ได้ให้ฉบับอื่นเลย อย่างวรรคหนึ่งก็เหมือนกัน ระบุให้เฉพาะกฎหมายลูกเพียงฉบับเดียวที่ให้ทำได้ภายใน 1 ปี แต่อย่างไรก็ตามในภาวะธรรมดา คือในขณะที่มีสภาผู้แทนราษฎรยังอยู่ กกต.สามารถยื่นทั้ง2 ฉบับไปได้ตามอำนาจที่เรามี ซึ่งเราก็ได้ยื่นไปแล้วและได้ผ่านวาระแรกแล้ว แต่ก็บอกว่าถ้าเกิดมีการยุบสภากะทันหัน ทำไม่ได้ในเวลา 1ปี ก็ออกเป็นประกาศไป และประกาศที่ว่าก็ต้องมาตีความเรื่องว่าด้วยส.ส. การได้มาซึ่ง ส.ว.เท่านั้น
คราวนี้ก็จะมีปัญหา สมมุติว่านายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภากะทันหัน ซึ่งกกต.ก็ต้องทำหน้าที่ตามมาตรา 7 วรรคที่ 2 ซึ่งกกต.ออกได้เฉพาะประกาศในส่วนที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. เท่านั้น แต่อีก 2 ฉบับล่ะ จะทำยังไง เพราะ 2 ฉบับมันจะต้องไปด้วยกัน คำว่าส.ส.สัดส่วนจะไม่มีแล้ว จะเป็นส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ยังมีเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งก็ดี ก็ต้องมากำหนดกันใหม่ ปัญหาก็อยู่ที่ว่าเกิดออกประกาศฉบับเดียว และอีก 2 ฉบับจะทำยังไง จุดนี้เป็นจุดสำคัญว่าประกาศดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะว่าให้ออกประกาศได้อย่างเดียว
สำคัญที่สุดก็คือ ไม่มีคำว่าให้ผ่านการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ จะเห็นได้ว่าการที่จะให้องค์กรนึงออกประกาศ ทำเป็นกฎหมายเลยโดยไม่ผ่านการดำเนินงานของสภาผู้แทน จะเห็นว่าเป็นองค์กรที่มีอำนาจมาก แต่ถามว่าประกาศของกกต.จะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และไม่มีว่าให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อนจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉะนั้นเมื่อประกาศนี้มันจึงมีช่องโหว่ ซึ่งในเวลาข้างหน้าเราอาจจะโดนฟ้อง เช่นประกาศไม่ชอบด้วยกฎหมายนะ ไม่ผ่านศาลรัฐธรรมนูญตีความนะ การเลือกตั้งก็อาจจะไม่ชอบ มันจึงเป็นไปได้ทั้งนั้นที่จะเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นมา ไม่ใช่เป็นการปริวิตกหรืออะไรเกินไป
**แสดงว่าไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะยุบสภาตามที่เคยบอกไว้
การเมืองมันเป็นเรื่องที่ไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดเหตุอะไรขึ้นมาหรือไม่ ก่อนที่จะยุบสภา จะเห็นได้ว่ามีทั้งเรื่องเหตุคัดค้านเจบีซี ที่พันธมิตรฯ เรียกร้องกันอยู่ อย่างการประชุมสภาเรื่องนี้คนก็หายไปกันหมด ยังมีการนำเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีก มันมีประเด็นทางการเมืองเข้ามาตลอด ก็ต้องถามว่าความมั่นใจที่จะยุบสภามีหรือเปล่า
**ล่าสุดคุณสดศรีก็ออกมาพูดอีกว่า คุณอภิสิทธิ์จะยุบสภาเร็วกว่าที่ประกาศไว้ ทำไมถึงเชื่อเช่นนั้น และใครกดดันทำให้คุณอภิสิทธิ์ต้องตัดสินใจรีบยุบสภา
คิดว่าถ้าสภาล่มอีก น่าจะยุบสภาได้เลย (หัวเราะ) แต่ก็มาทราบภายหลังว่าจะนำเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งน่าเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจจะไม่ตีความให้ เพราะว่าอาจจะไม่ตรงว่าเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่ตีความให้ก็จะกลับมาที่สภาอีก คราวนี้ก็ต้องมาโหวตกัน ก็เป็นเรื่องที่เป็นประเด็นกันต่อไปว่า ถ้าไปไม่รอดแล้วจะทำอย่างไรกัน
**แต่ช่วงเวลาที่คุณสดศรีไปสมัครเป็นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ดูเหมือนประจวบเหมาะพอดีกับกระแสข่าวเรื่องไม่มีเลือกตั้ง และก่อนหน้านี้ก็มีกระแสข่าวเรื่อง กกต.ลาออกเพื่อให้เกิดเดดล็อกทางการเมือง
คือ เขาไปเห็นชื่อว่าเราสมัคร ก็เลยเป็นเรื่องฮือฮากันขึ้นมา ถามว่าทำไมถึงสมัครไม่ได้ ทางเลขากกต.ยังไปสมัครเป็น กสทช.ได้เลย อย่างคนอื่นก็เตรียมไปสมัครแต่อาจเห็นว่าคนสมัครเยอะก็ถอนตัว เราเป็นคนพูดตรงๆ บอกว่าสมัครก็สมัคร ไม่เห็นว่าจะแปลกตรงไหน เราไม่ใช่นางแอบ (หัวเราะ) ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราก็พูดอะไรตรงๆ อยู่แล้ว และก็ไม่เคยกลัวว่าการที่ทำแบบนี้จะเกิดการเลือกตั้งไม่ได้ เพราะว่าเขาก็ทำกันได้ อย่างที่ท่านสมชัย จึงประเสริฐ เคยให้สัมภาษณ์ว่าวันนี้มาประชุม 4 คน ท่านก็เคยโดดประชุมอยู่เรื่อยๆ
**ทำไมดูเหมือนว่าไม่มีใครอยากดำรงตำแหน่งเป็น กกต.
อาจใช้คำว่าประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เรากำลังมองว่ากกต.ชุดที่ 2 (ชุดพล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ) ท่านก็ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนั้น เพราะท่านก็ไม่คิดว่าการที่ท่านไม่ลาออก แต่มีวิธีการที่ว่าท่านต้องออกเพราะว่าท่านไม่ได้รับการประกันตัว ซึ่งท่านถูกขังแม้วันเดียว คุณสมบัติก็ขาดทันที สิ่งเหล่านี้มันเป็นไปได้ไหมที่จะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้งกับชุดที่ 3 ของเรา และในสภาพการเมืองปัจจุบันก็มีความเป็นไปได้ทั้งนั้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างๆ เราไม่เคยไปเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับเราตลอดเวลา แม้แต่เรื่องยุบพรรค เราก็โดนคนเสื้อแดงเอาโลงศพมาให้ ก็คิดว่าใครที่จะมาเป็นกกต.ต้องคิดหนัก จะเห็นได้ว่าตำแหน่งตอนที่ท่านสุเมธ อุปนิสากรปลดเกษียณไป ก็มีคนมาสมัครกันน้อยมาก ซึ่งต่อมาท่านวิสุทธิ์ โพธิแท่น ได้ตำแหน่งไป
แสดงว่าตำแหน่งนี้ไม่ได้น่าพิศวาส (หัวเราะ) เป็นเรื่องที่ต้องมาคิดแล้วว่า การที่กกต.ต้องมายืนบนปากเหว ปากเหวที่จะมีคนตั้งใจผลักเราลงไปหรือไม่ หรือกฎหมายมันเขียนอย่างนั้นเองหรืออะไรต่างๆ
เป็นเรื่องที่จะต้องมาทบทวนเลยว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ให้อำนาจ ให้ความรับผิดชอบ กกต.มากไปหรือไม่ เราสมควรไหมที่จะมีหน้าที่แค่จัดการเลือกตั้งอย่างเดียว ส่วนเรื่องการวินิจฉัยยุบพรรคหรืออะไรก็ดี โยนไปให้ศาลให้หมด ไม่ต้องให้กกต.กลั่นกรองก่อน ใบเหลือง ใบแดง ก็ส่งศาลเลย ซึ่งในต่างประเทศอย่างมาเลเซีย ก็จัดการเลือกตั้งอย่างเดียว เขาว่างขนาดเดินทางเที่ยวรอบโลกเลย เพราะนานๆจะมีการเลือกตั้ง อย่างเลือกตั้งท้องถิ่นก็ปล่อยให้ท้องถิ่นทำกันเอง
หรือที่สหรัฐอเมริกายิ่งสบายใหญ่ กกต.มีหน้าที่จัดเงินกองทุนให้กับพรรคการเมืองเท่านั้น ไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพราะเป็นเรื่องของมลรัฐและท้องถิ่นที่จะดำเนินการ ถ้าเกิดว่ามีเรื่องกันก็ฟ้องร้องต่อศาลฎีกาขึ้นไป ซึ่งเป็นการดีกว่า แต่ต่างจากของเราซึ่งโฟกัสทุกอย่างมาที่กกต. การเมืองก็เข้ามาที่กกต. มาโฟกัสคนแค่ 5 คนเท่านั้น ซึ่งบางครั้งมีปัญหาเกิดขึ้นที่ท้องถิ่นเช่นนับคะแนนไม่ชอบ กกต.กลาง 5 คนอยู่กทม.ก็ไม่พ้นความรับผิดชอบ เราก็โดนอยู่ดี เป็นจำเลยที่1-5 ตลอดเวลา
** ที่บอกว่าการเมืองกดดันใช่กรณีนี้หรือไม่
เอ่อ.. การเมืองกดดัน ท่านน่าจะได้คำตอบจากตัวท่านเองอยู่แล้ว การที่การเมืองเข้ามายุ่งกับกกต.มากไป การที่ออกกฎหมายไว้ว่ากกต.ต้องทำแบบนี้นะ ทั้งที่ภาวะของกกต.มันมีแค่จำกัด ถึงขนาดว่า ตอนม็อบมาล้อมก็ให้กกต.จัดการ ถามว่าเราจะจัดการได้ยังไง ทำไมไม่ให้ตำรวจจัดการล่ะ เรามีแต่มือเปล่าขืนไปจัดการก็เจอปาไข่เน่า เราไม่ใช่บุคคลพิเศษที่จะมาสั่งว่าอย่ามายุ่งกับนายกรัฐมนตรีนะ มันคงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะดำเนินการอย่างนั้นได้ อย่างไรก็ตาม กกต.มีคน 2,000 กว่าคนทั่วประเทศ ส่วนพวกเรา 5 คนทำงานไม่ได้เว้น ทำตลอดเวลา จะเอาอะไรกับเราอีก เงินเดือนเราก็เท่ากับองค์กรอิสระอื่น เงินเดือนก็ตก 60,000 กว่าบาท เงินประจำตำแหน่งอีก 40,000 กว่าบาท รวมเป็น 100,000 กว่าบาท แล้วขึ้นเงินเดือนตัวเองไม่ได้ ให้ค่าตอบแทนตัวเองไม่ได้ด้วย ถ้าเทียบกับการเป็นผู้พิพากษาอาวุโสยังน้อยกว่าด้วยซ้ำ กลับการที่เราต้องมาเสียสละทำงานตรงนี้ เรียกว่าหมดสิทธิเสรีภาพเลย (หัวเราะ)
**เคยคาดคิดไว้หรือไม่ ว่ามาเป็นกกต.ต้องมาเจอแบบนี้
ไม่เคยคิดเลยนะ
**แต่คุณสดศรีก็น่าจะเห็นบทเรียนในลักษณะนี้ของกกต.ชุดก่อนมาแล้ว
คือตอนที่เรามาเป็นนั้น ชุดที่สองจะเหลือวาระแค่เพียงปีเศษ เราก็คิดว่าเราจะเหลือเวลาทำงานช่วงสั้นๆ เท่านั้นเอง ตอนนั้นไม่มีสภาผู้แทน มีแต่ศาล ซึ่งทั้ง 5 คนมาจากที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 40 คิดว่าแค่สั้นๆ คงไม่มีอะไรมาก ลองมาดูซิว่าชีวิต กกต.เป็นยังไง มาลองแก้ปัญหาบ้านเมืองจะได้ไหม ก็ปรากฏว่ารัฐธรรมนูญปี 50 ให้ยืดเวลาการทำหน้าที่ต่อ
แต่ก็ต้องยอมรับว่า ดิฉันเป็นคนเดินเรื่องเอง มันมีประเด็นเรื่องที่ว่าองค์กรอื่นท่านให้เต็มวาระ แต่มีอยู่ 2 องค์กร ท่านให้ครึ่งวาระ เราก็ถามที่ประชุมสภาว่า ทำไมถึงเป็นแบบนี้ ทำไมท่านให้วาระกรรมการสิทธิมนุษยชน 6 ปี ทำไมให้ 2 องค์กรนี้ไม่ได้ ต่อมาก็ได้คำตอบจากที่ประชุมว่าเขาบอกว่า พวกท่านมาจาก คมช. ก็เลยถามในที่ประชุมเลยว่า บรรดาท่านที่นั่งอยู่ในห้องประชุมสภา ท่านมาจากคมช. ด้วยหรือไม่ ท่านมีกินอยู่ทุกวันนี้โดย คมช.ไหม (หัวเราะ) ทุกคนก็นิ่ง ถามว่าทำไมก็มาจาก คมช.ทั้งหมด แต่ทำไมต้องรังเกียจ 2 องค์กรนี้นักหนา ทุกคนก็ไม่สามารถตอบคำถามได้ ก็จำเป็นต้องทำให้เราเหมือนองค์กรอื่น ก็ปรากฏว่าชนะ กกต.ได้เวลา 7 ปี ทางด้าน ป.ป.ช.ก็ได้อานิสงส์ไปด้วย ซึ่งก็กลับมานั่งคิดว่าเราคิดผิดไปหรือเปล่านะ เราไม่น่ามาสู้ให้องค์กร 3 ปีครั้งตอนนั้นก็จบไปแล้ว ได้กลับไปเลี้ยงหลาน (หัวเราะ)
**ก่อนหน้านี้คือวันที่ 28 ก.พ.54 คุณสดศรีพูดชัดเจนว่า “เลือกตั้งครั้งหน้ารุนแรง ดิฉันคิดว่าถ้าปฏิวัติได้ปฏิวัติเลย ไม่อยากให้มีเลือกตั้ง" ทำไมถึงอยากให้มีการปฏิวัติมากกว่าการเลือกตั้ง ทั้งๆ ที่คุณสดศรีก็เป็น กกต.ที่มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง
ไม่ใช่อยากให้มีการปฏิวัติ วันนั้นเราประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ กกต. เราก็พูดให้กำลังว่าพวกท่านทำงานมาเหนื่อยมากนะ ทำไปแล้วเขาก็ไม่รู้ว่าเราทำอะไรไปบ้าง ทั้งมีฟีดแบ็ก กลับมาต่างๆ ทำอย่างนี้ไม่ชอบ และเราก็เห็นใจเพราะเห็นเขาเหนื่อยกันมามาก เราก็พูดทำนองว่าก็ดีเหมือนกันนะเกิดปฏิวัติ ก็ดีนะ ถามว่าปฏิวัติแล้ว กกต.ถูกยุบใช่ไหม แน่นอน เราก็สบายไม่ต้องมาทำงาน ทุกองค์กรก็โดนยุบหมดเช่นกัน โดยอำนาจของคณะปฏิวัติ และจากนั้นก็ตั้งขึ้นมาใหม่ได้ ส่วนรัฐธรรมนูญก็โดนลบไป องค์กรอิสระต่างๆ ก็ต้องเจอด้วย
ถามว่าทำไมเราต้องพูดเพื่อไม่ให้เรามีงานทำ ไม่ใช่อย่างนั้น โอเคเราพูดทำนองว่าทำงานเราเหนื่อยนะ ถ้าเกิดปฏิวัติคุณจะได้ไม่เหนื่อยแล้ว เราก็สงสารพวกท่านนะ ซึ่งส่วนของเราปลดเกษียณแล้วยังมีเงินบำนาญ แต่พวกข้าราชการส่วนใหญ่ยังไม่มี เมื่อไม่มีเขาทุบหม้อข้าวคุณแน่ เนื่องจากเรายังไม่ได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับเรื่ององค์กรเลย เพราะรัฐธรรมนูญให้ กกต.รีบออกกฎหมายภายใน 1 ปี เนื่องจากเวลาเกิดปฏิวัติ รัฐธรรมนูญล้ม กกต.ทั้ง 5 คนก็ต้องไป แต่ว่าจะเหลือองค์กรอยู่ ทั้งนี้ ปัญหาก็คือขณะนี้เจ้าหน้าที่เรายังไม่ทำ ทำไมคุณไม่ร่างพระราชบัญญัติรับรององค์กรไว้ เราก็พูดแล้วพูดอีกมา 4 ปีแล้ว ก็ไม่เห็นจะทำอะไร สงสัยว่าคงอยากไปเหมือนเราจริงๆ (หัวเราะ) ก็ไม่ทราบว่าทำไมถึงไม่ทำซักที เตือนแล้วเตือนอีกว่าปฏิวัติเมื่อไหร่ไปหมดเลยจริงๆนะ
**ส่วนตัวคิดว่าจะมีการปฏิวัติอีกหรือไม่
ประเทศไทยมีโอกาสตลอดเวลา
**เคยคาดคิดไว้หรือไม่ว่าจะต้องมาเจอกระแสแบบที่กำลังเจออยู่ ในช่วงที่กระแสปฏิวัติกำลังดังขึ้น ประกอบกับ กกต.มีข่าวลาออกพอดี
คิดว่าลาออกเสียคน กกต.ก็ยังทำงานได้ ซึ่งท่านกกต.หลายคนก็ออกมาพูดว่าท่านยังทำงานได้ แล้วก็คงชอบด้วยซ้ำที่เราจะออก ไม่มีปัญหาอะไรกัน อาจเพราะว่าเรามีความคิดไม่เหมือนทั้ง 4 ท่าน ความรู้สึก หรือความคิดต่างๆ เราอาจไม่เหมือนท่าน ท่านไม่คิดมาก แต่เราคิดมาก ซึ่งเราจะเป็นคนระวังมาก อย่างอันนี้ถ้าท่านส่งไปเดี๋ยวจะโดนนะ
พูดง่ายๆ อย่างตอนพิมพ์บัตรเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ระวังนะว่าบริษัทเอกชนจะฟ้องร้อง แล้วก็โดนจริงๆ ดีเอสไอมาเล่นงานเรา ทนายท่านหนึ่งมาเล่นงานเราบอกว่ากกต.ฮั้วกับบริษัทที่พิมพ์บัตรเลือกตั้ง เผอิญวันนั้นเราไม่ได้เข้าประชุม ซึ่งเราก็ประท้วงอยู่ตลอดเวลา เราก็ท้วงว่าให้ส่วนท้องถิ่นทำเสียดีกว่าไปให้บริษัทเอกชนทำ มันก็มีข้อติติงว่ากลัวจะทำไม่ทันอะไรต่างๆ นี่ก็เป็นเรื่องที่ความคิดไม่เหมือนกัน
ถ้าเราออกไปพวกท่านคงทำงานกันได้สบายใจขึ้น ทำอะไรก็อาจจะเอกฉันท์กันไปเลยไม่มีคนมาขวาง อย่างเราคิดว่าการที่จะให้ใบเหลือง ใบแดงใครจะต้องชัดเจนกว่านี้ พอไปชั้นศาลเราถูกยกฟ้องตลอด เพราะศาลท่านไม่ได้ใช้คำว่าเชื่อได้ว่า แต่ท่านใช้คำว่ามีน้ำหนักพอไหม พอเราบอกว่ามีพยานปากเดียวเชื่อได้ว่า ท่านก็ไม่เชื่อ
เกิดเป็นว่าเราเป็นผู้พิพากษาแต่โดนรุ่นน้องยกฟ้อง มันเสียหน้านะ (หัวเราะ)
**ประเด็นนี้ถือเป็นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณสดศรีอยากไปทำงานที่อื่น
พอมาถึงจุดมันจะมีความคิดอย่างหนึ่งว่า เราอายุมากแล้วนะ ทำไมเราจะต้องมาความดันสูง ทำไมต้องถกเถียง ก็เห็นแล้วว่ากฎหมายหรืออะไรต่างๆ กำลังวางอะไรให้กับเรา แล้วทำไมเราถึงต้องเดินไปในทางที่เขาวางไว้ ก็ถามตัวเองว่าเราไม่มีสิทธิ์ที่จะไม่เดินตามเขาหรือ
**นายกรัฐมนตรี บอกว่ากฎหมาย 3 ฉบับออกทันแน่นอน ที่กกต.ท้วงติงไปไม่น่าจะมีปัญหา เรื่องนี้มีใครไปกดดันหรือไม่
เห็นได้ว่าท่านตั้งเวลาไว้วันที่ 5-10 พ.ค. ถามว่าขณะนี้การพิจารณาของสภาผู้เทนราษฎร เพิ่งจะผ่านไปแค่วาระแรก และจะต้องแปรญัตติอีก 7 วัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ของเราที่ไปแปรญัตติมีการประท้วงอยู่หลายมาตรา ถึงขนาดบอกว่าในการพิมพ์บัตรนะ แต่ละจังหวัดจะต้องไม่เหมือนกัน แต่ถามว่าใครจะไปทำได้ ที่แต่ละเขตไม่ให้เหมือนกัน อีกทั้งยังมีที่ให้พิมพ์บัตรตามจำนวนประชากรของจังหวัดนั้นๆ ซึ่งทำได้ยากมากเว้นแต่จะให้ทางจังหวัดพิมพ์กันเอง คราวนี้ก็สนุกกันเลย เราจะควบคุมได้ยากมาก
**มีคนกีดกันไม่ให้การพิจารณากฎหมายลูก 3ฉบับ เสร็จจริงหรือเปล่า
จะจริงหรือไม่ คงต้องไปถามทางสภาผู้แทนเอง เห็นท่านบอกว่าไม่เห็นด้วยที่จะให้ยุบสภาก่อน ควรจะครบวาระ เห็นพูดกันบ่อยๆ ว่ายังไม่ได้มีการพิจารณาเรื่องงบประมาณเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้แค่ผ่านวาระแรก ยังต้องผ่านทาง ส.ว.อีก และไม่ใช่แค่นั้น หลังผ่านสองด่านแล้วยังต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 141 อีก ที่จะต้องพิจารณาภายใน 1เดือน ว่ากฎหมายจะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถามว่าลองมาเรียงขั้นตอนดูซิว่าจะทันหรือไม่ ถ้าไม่ทัน กกต.ก็เตรียมพร้อมที่จะออกประกาศ ก็จะติดปัญหาที่เคยว่าไปคือเราจะประกาศได้แค่ฉบับเดียวหรือ แล้วอีก 2 ฉบับจะทำยังไง แล้วพอออกประกาศมีคนบอกว่าไม่ชอบอีก เพราะไม่ผ่านศาลรัฐธรรมนูญ มันจะเป็นไปได้ไหม จะทำให้การเลือกตั้งมีปัญหาไหม จุดนี้จึงเป็นจุดสำคัญ ที่ส่วนตัวคิดว่ากฎหมายลูกทั้ง 3ฉบับ ยังไม่น่าจะเสร็จ
**คุณถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ให้สัมภาษณ์ตอบโต้ที่คุณสดศรีบอกว่า มีบางฝ่ายกีดกันไม่ให้การพิจารณากฎหมายลูก 3 ฉบับเสร็จว่า “ฝันไปไหม อย่าคิดไปเอง”
เราเป็นคนชอบฝัน (หัวเราะ) แต่ว่าฝันในเรื่องจริงดีกว่า เราต้องสมมุติฐานขึ้นเอง แต่ถ้าท่านร่วมมือร่วมใจกันก็คาดว่าน่าจะเสร็จทัน อีกทางหนึ่งก็ต้องไปบอกทางศาลรัฐธรรมนูญว่าจะต้องเสร็จภายในเวลาเท่าไหร่ ขณะนี้เวลามันเดินไปเรื่อยๆ ถ้าเกิดมันเดินไปถึงกำหนดเวลาที่ท่านพูด ท่านก็ต้องยุบสภาตามที่เคยให้คำพูดของลูกผู้ชายคนหนึ่ง ถ้าเกิดไม่เสร็จท่านก็จะมาบอกว่า กกต.มีอำนาจอยู่แล้ว ซึ่งกกต.ก็ทำงานด้วยความไม่มั่นใจ ว่าเราออกประกาศไปจะใช้ได้หรือเปล่า และไม่มีหลังพิงเสียด้วย ทางศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ยืนยันอีกต่างหาก
**ถ้าเรื่องมันเดินไปอย่างที่คาดไว้จริง คุณสดศรีจะทำหน้าที่ของกกต.ต่อไปหรือไม่
ประเด็นแรกคือ เขาไม่เลือกเราเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ประเด็นที่สองภารกิจยังไม่เสร็จสิ้น ก็คงจะทำหน้าที่ต่อ แต่การทำหน้าที่ต่อต้องขอใช้สิทธิ์ว่า จะต้องส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เว้นแต่ศาลท่านจะบอกว่าศาลไม่สิทธิ์พิจารณา กรณีกฎหมายลูกรัฐธรรมนูญระบุว่าต้องผ่านการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และประกาศของกกต.ที่ว่าก็คือกฎหมายลูกนั้นเอง เมื่อประกาศใช้แล้วก็ต้องเป็นกฎหมายแล้วทำไมศาลรัฐธรรมนูญถึงจะไม่รับ อาจจะต้องพิจารณากันต่อไปว่าท่านต้องรับของเรา แต่อันนี้เป็นแค่ความคิดของตัวเอง ส่วนทาง 4 ท่านเราก็ไม่รู้ ถ้าท่านเห็นว่าใช้ได้ก็ให้ท่านเซ็นไปทั้ง 4คน แต่เราก็คงไม่เห็นด้วยเหมือนเดิม ซึ่งท่านสมชัย ก็พูดอยู่ว่าปกติแล้วท่านทำงานกันแค่ 4 คน (หัวเราะ)
ถามว่ามีกกต.คนนึงออกไปเพราะต้องการไปทำงานอื่น ซึ่งทั้ง 4 ท่าน ก็ได้ให้สัมภาษณ์เยอะแยะเต็มไปหมดว่ายังทำงานกันได้ ท่านยังบอกอีกว่าก็สามารถเลือก กกต.เข้ามาใหม่ภายในเวลา 60 วัน ท่านให้สัมภาษณ์กันเสียงใสเลยว่า ดีจังเลยที่เราจะลาออก แต่ถ้าเป็นเรา ถ้ากรรมการเลือกตั้งคนใดจะลาออก เราจะไม่เลือกพูดแบบนี้ จะไม่พูดโง่ๆแบบนี้ จะพูดอีกอย่างว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียใจนะว่าท่านจะลาออกไป เพราะเราได้กอดคอร่วมกันมาถึง 4ปี แล้วท่านจะไปทำไม
นี่คือการให้กำลังใจกันของคนที่ทำงานร่วมกัน ไม่ใช่มาบอกว่าดีๆ จะลาออกแล้ว ถามว่าโดยมารยาทของสังคมท่านพูดออกมาแบบนี้ มันดีหรือไม่ เหมือนกับเวลาเราไปเยี่ยมคนป่วย เราไปบอกอาการคุณแย่แล้ว ตายแน่ กลับกันไปบอกว่าคุณหายแน่ไม่เป็นไรหรอก ขณะเดียวกันกรรมการเลือกตั้งที่ท่านให้สัมภาษณ์ลักษณะแบบนี้ ท่านไปคิดเป็นการบ้านดีกว่า ว่าเหมาะไหมที่ท่านจะพูดออกมาแบบนี้ ไม่ใช่ว่าคนนึงออกไปมาบอกว่ายังทำงานกันได้ มันไม่ใช่อย่างนั้น (เสียงสูง) โดยมารยาท ประเพณี และจรรยาบรรณ ของผู้ที่มีภาวะของผู้ที่ผ่านอาชีพอันสูงส่งมาแล้ว ไม่สมควรทำ
คุณดีใจหรือที่เพื่อนจะลาออก คุณดีใจคุณเก็บไว้ข้างในไม่ต้องมาแสดงออก สิ่งที่ควรจะพูดเช่นเราร่วมมือกันทำงานมา 4ปีนะ ผมไม่อยากให้ท่านออกก็พูดซิ ถึงจะพูดว่าที่เหลือทำกันได้แต่ว่าถ้ามีท่านอยู่ก็จะเป็นขวัญกำลังใจ ก็พูดไปซิ (เสียงสูง) มันสวยกว่าที่จะมาพูดว่ามันดีนะที่มีคนจะลาออก ทำไมพวกท่านยังสดชื่นกันนักหนา เราก็ยังไม่เข้าใจ (หัวเราะ)
เราคงเป็นคนที่เขาไม่ชอบนะ เพิ่งรู้ว่าเราทำงานหนักมาถึงขนาดนี้ เราเป็นตัวตั้งตัวตีให้กรรมการเลือกตั้งอยู่ได้ถึง 7ปี ทั้งเรื่องการเลือกตั้งก็ดี ประชามติก็ดี แต่ผลตอบรับที่กลับมาไม่ได้รับจากเพื่อนฝูงเลย จึงพูดด้วยความเศร้าใจ จากการให้สัมภาษณ์ของแต่ละท่านทั้ง 4 ท่าน เสียใจว่าทำไมท่านพูดแบบนั้น ท่านเล่นพูดจากใจจริงเลย ทำไมท่านไม่เสแสร้งบ้างละ ที่พูดออกมาจากใจจริงเรื่องสำคัญๆ ทำไมไม่เลือกพูด อย่างคดียุบพรรค (ประชาธิปัตย์) ทำไมท่านไม่พูดจากใจจริงละ ไม่ยุบเขาเพราะอะไรทำไมท่านไม่พูด เป็นคุณจะพูดแบบนี้ไหม ว่าเออ มันจะไปได้ ดีเลยรีบไป
**คิดว่าการเมืองที่จะมีการเลือกตั้งครั้งหน้าจะดุเดือด รุนแรงแค่ไหน
เรื่องนี้มันใช้เงินกันทุกยุคทุกสมัย อำนาจรัฐเป็นอำนาจที่หอมหวล ทุกคนอยากได้ทั้งนั้น การได้มาซึ่งอำนาจรัฐก็รู้ๆ กันว่าจะต้องใช้อะไรบ้าง ไม่ว่าจะปฏิวัติ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เงิน ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ชัดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้คือการแย่งกันเป็นรัฐบาล ขณะเดียวกันคนในชาติแตกแยกกันอย่างชัดเจน ถึงขนาดว่าอีกฝั่งเข้ามาหาเสียงไม่ได้ ถ้าเข้ามาจะรุมซ้อม มันก็มีประเด็นว่ากกต.จะทำยังไงดี จำเป็นต้องยกกำลังตำรวจเข้าไปหาเสียงเลยไหม สำหรับผู้ที่คาดว่าจะได้รับเลือกแน่ๆ อันตรายที่ว่าท่านจะถูกสั่งยิงหรือเปล่า แต่ทุกพรรคการเมืองอยากเป็นรัฐบาล