ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แม้ว่า “นางสดศรี สัตยธรรม” จะยกแม่น้ำทั้งห้าเพื่อให้เหตุผลต่อการเตรียมลาออกจากการเป็น “กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ต่างๆ นานาก็ตาม แต่เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า การประกาศเจตจำนงครั้งนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังที่ไม่ธรรมดา และน่าจะมีเป้าประสงค์ที่เหนือความคาดหมายทีเดียว
ทั้งนี้ ในการประกาศเตรียมทิ้งเก้าอี้ กกต. นางสดศรีให้เหตุผลว่า “ได้ไปสมัครเข้าทำงานในองค์กรปฏิรูปกฎหมาย เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งไปสมัครวันสุดท้าย เพราะเห็นว่างานปฏิรูปกฎหมายเป็นงานที่สนใจและเรียนมาโดยตรงน่าจะเหมาะกับนิสัย ทั้งนี้การทำงานในฐานะกกต. หรือกรรมการในองค์กรปฏิรูปกฎหมายถือว่าดีทั้งสองอย่าง แต่การเลือกไปทำงานปฏิรูปกฎหมายจะได้ไปใช้ชีวิตเงียบๆสงบๆ ส่วนงานกกต. เป็นงานที่ไปแตะการเมืองมาก มีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ลาออกจนกว่าจะมีการประกาศผลว่าผ่านการคัดเลือกให้ทำงานในองค์กรปฏิรูปกฎหมายหรือไม่ ซึ่งถ้าผ่านจะต้องลาออกจากตำแหน่งกกต.ภายใน 15 วัน หลังทราบผลโดยจะมีการแจ้งผลการคัดเลือกในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. แต่ถ้าไม่ผ่านการคัดเลือกก็จะทำงานกกต.ต่อ”
องค์การปฏิรูปกฎหมายที่ว่านั้น มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย” ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงยุติธรรม
คำถามที่ตามมาก็คือ ทำไมนางสดศรีถึงได้ตัดสินใจทิ้งเก้าอี้ กกต.เพื่อไปเป็นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ทั้งๆ ที่จะว่าไปแล้ว ด้วยศักดิ์ศรีและอำนาจแล้ว กกต.น่าจะมีภาษีดีกว่าหลายต่อหลายเท่า
ด้วยเหตุดังกล่าวสังคมจึงไม่เชื่อว่า เหตุผลที่นางสดศรีให้ไว้จะเป็นเหตุผลที่แท้จริง
“ตอนนี้เราก็คิดแล้วว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้เราเหมือน กกต.ชุดที่สองหรือไม่ เพราะกฎหมายก็ไม่เรียบร้อย และลักษณะการเลือกตั้งก็ดูแปลกๆ เหมือนกันจะโยนลูกให้ กกต.รับทั้งหมด ไม่ใช่จะกลัว มาถึงขนาดนี้แล้ว ก็ต้องทำทุกอย่าง เบื่อตรงนี้ ถ้าหากดิฉันออกก็คงจะมีคนดีใจอีกเยอะ ที่ผ่านมา ทุกวันนี้โดนโจมตีทุกอย่างแล้ว ไม่มีอะไรหนักหนาสาหัสไปกว่านี้แล้ว หากจะโดนโจมตีเรื่องไปสมัครเป็นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายก็คงจะไม่เป็นไร จากนี้ไปหากมีองค์กรอิสระไหนเปิดรับสมัครก็จะไปสมัครทุกองค์กร จะไม่หยุดแค่นี้ จะทำทุกอย่างไม่กลัวผลกระทบที่จะเกิดกับตัวเองแล้ว มาถึงขณะนี้แกร่งขึ้นมากแล้ว ตรงไหนที่มีหนทางมากกว่าก็น่าจะไปที่ตรงนั้น ช่องทางไหนที่ดูแล้วรกรุงรัง เต็มไปด้วยน้ำสกปรก เฉอะแฉะ เราก็ไม่ควรเดินไปไม่ใช่หรือ ข้างหน้าไม่รู้จะเจออะไรอีกเยอะ ถ้าขืนอยู่ตรงนี้ และเราเองก็เปรียบเสมือนสายล่อฟ้า มีคนไม่ชอบเยอะ จึงต้องไปข้างหน้า” นางสดศรี กล่าวและว่าตำแหน่งที่อยากเป็นที่สุดคือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม ถ้าสังเกตให้ดีก็จะเห็นว่า ก่อนหน้าการประกาศท่าทีของนางสดศรี กระแสข่าวหนึ่งที่สังคมได้ยินมาเป็นระยะๆ คือ กระแสข่าวเรื่องการลาออกของ กกต.เพื่อไม่ให้ครบองค์ประชุมและไม่ให้มีการเลือกตั้ง
ยิ่งเมื่อผนวกกับคำให้สัมภาษณ์ของนางสดศรีก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 28 ก.พ.54 โดยระบุว่า “เลือกตั้งครั้งหน้ารุนแรง ดิฉันคิดว่าถ้าปฏิวัติได้ปฏิวัติเลย ไม่อยากให้มีเลือกตั้ง เหนื่อยมาก 4 ปีที่ผ่านมา สงสาร กกต. 4 ท่านมาก แต่เมื่อถึงจุดนี้แล้วต้องเดินต่อไป ให้รู้ดำรู้แดง เมื่อเราพ้นวาระแล้วจะเป็นอย่างไร คนเราตายหลายครั้งไม่ได้ ครั้งเดียวให้มันแตกหักไปเลย ดังนั้น เชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง พระสยามเทวาธิราชจะคุ้มครอง ศึกใหญ่เลือกตั้งครั้งหน้ากำลังมา ถ้าพวกเราโดนฟ้อง 5 คน เราจะดึงพวกเราเข้าคุกด้วยกันทั้งหมด" ก็ยิ่งทำให้จิ๊กซอว์ของเรื่องนี้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
หรือนางสดศรีจะปรารถนาให้เป็นเช่นนั้นจริงๆ เพราะสายสัมพันธ์ระหว่างนางสดศรีกับทหารก็อยู่ในขั้นที่ไม่ธรรมดา
คำถามใหญ่ของเรื่องนี้ก็คือ ทำไมนางสดศรีถึงให้สัมภาษณ์ในลักษณะที่กลัวติดคุกหนักหนา เพราะถ้าจะว่ากันจริงๆ แล้ว ถ้าหาก กกต.หรือนางสดศรีปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรมก็ไม่เห็นว่าจะต้องเกรงกลัวอะไร เพราะนางสดศรีก็พูดเองว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง พระสยามเทวาธิราชจะคุ้มครอง
กระนั้นก็ดี แม้ขณะนี้นางสดศรีจะยังแทงกั๊กเรื่องการลาออกจาก กกต.โดยมีเงื่อนไขอยู่ที่การโยกย้ายไปยังตำแหน่งแห่งหนในองค์กรอื่นๆ แต่เมื่อตรวจสอบจากกระแสสังคมภายหลังทราบข่าวดังกล่าว ปรากฏว่า ส่วนใหญ่ต้องการให้นางสดศรีลาออกจากตำแหน่ง กกต.เสียตั้งแต่ตอนนี้เลย เพราะในเมื่อไม่ต้องการทำหน้าที่ ไม่มีใจให้กับการทำงานในตำแหน่งนี้ ก็สมควรลาออกและเปิดโอกาสให้คนอื่นเข้ามาทำหน้าที่แทน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการลาออกของนางสดศรีจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ก็ตาม แต่องค์ประกอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เหลืออยู่ก็ยังไม่มีปัญหาต่อการปฏิบัติหน้าที่ ที่สำคัญคือที่ประชุมศาลฎีกาก็สามารถประชุมพิจารณาเลือกคนใหม่มาทำหน้าที่แทนได้ แม้กระทั่ง กกต.ที่เหลืออยู่ตัดสินใจลาออกตามอีก 1 คนก็ไม่มีปัญหา เนื่องจาก พ.ร.บ.กกต.ระบุไว้ว่ามีกกต.เพียง 3คนก็สามารถทำงานต่อไปได้ ดังเช่นที่นายวิสุทธิ์ โพธิแท่น กกต.ด้านการมีส่วนร่วมให้ข้อมูลไว้
แต่ปัญหาสำหรับเรื่องนี้อยู่ตรงที่ในกรณีที่จะต้องลงมติวินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง เพราะตามกฎหมายกำหนดให้ใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 4 ใน 5 ของจำนวนกรรมการเลือกตั้งที่มาประชุม ซึ่งเท่ากับว่า ถ้าเหลือกกต. 3 คน จะสั่งเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ก็ต้องใช้เสียง 3 เสียง หรือถ้าเหลือกกต. 4 คน ก็ต้องใช้เสียง 4 เสียง แต่ถ้ามีกกต.อยู่ครบ 5 คน สามารถใช้เสียงเพียง 4 เสียงในการแจกใบเหลือง ใบแดงได้
และที่ดูเหมือนว่า สิ่งที่สังคมจะต้องช่วยกันขบคิดต่อไปก็คือ ถ้าหากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีประกาศวันยุบสภาและกกต.พร้อมใจกันลาออกจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ประเทศไทยจะเกิดภาวะสุญญากาศทางการเมืองในทันที
นี่ต่างหากคือปัญหาที่จะต้องเฝ้าจับตามองกันต่อไป เพราะใช่ว่าโอกาสที่จะเกิดปรากฏการณ์เช่นนั้นจะไม่มีเปอร์เซ็นต์เอาเสียเลย