xs
xsm
sm
md
lg

“สดศรี”ขู่ไขก๊อกทำเลือกตั้งวุ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “สดศรี” เปิดเกมขย่ม!! “ลาออก กกต.” ทำเลือกตั้งวุ่น ดอดสมัครกก.ปฏิรูปกม. ด้าน“มาร์ค”ไม่สน พธม. ปลุก กมม.ไม่ส่งเลือกตั้ง ขณะที่ “การเมืองใหม่” ย้ำมีจุดยืนเคียงข้างพันธมิตรฯเสมอ

วานนี้ ( 24 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า ตลอด 2 วันที่ผ่านมาปรากฎข่าวว่าจะมี กกต.ชุดใหญ่ลาออก ส่งผลไม่ให้มีการเลือกตั้ง ทำให้สื่อมวลชนพยายามติดต่อเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงกับกกต.แต่ละคน แต่ได้รับการปฏิเสธ ขณะที่เจ้าหน้าที่ประสานงาน สำนักงานกกต.แจ้งว่า หากผู้สื่อข่าวคนใดต้องการสัมภาษณ์ให้โทรศัพท์สัมภาษณ์ แต่จะไม่มีการให้สัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ

วันเดียวกันนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการตรวจสอบชื่อ “นางสดศรี สัตยธรรม” ที่ทราบว่าได้เดินทางไปสมัครเป็นคณะกรรมการปฎิรูปกฎหมาย ในลำดับที่ 127 ของกระทรวงยุติธรรม ทำให้มีกระแสข่าวลาออกเพิ่มอีก

ล่าสุดจากการเปิดเผยของ “นางสดศรี” ผ่านทางโทรศัพท์ ยอมรับว่า ได้ไปสมัครเป็นคณะกรรมการปฎิรูปกฎหมายจริง เนื่องจากเบื่อหน่ายในเรื่องของการเมือง และหากได้รับการคัดเลือกก็จะลาออกจากการเป็น กกต.ทันที

“ไม่ได้หวังที่จะได้เป็นคณะกรรมการปฏิรูป เพียงเห็นว่ามีช่องทางที่ดีกว่า ก็ต้องดิ้นรนกันไป ซึ่งเท่าที่ทราบช่วงเวลาการสรรหาคณะกรรมการปฎิรูปกฎหมายน่าจะแล้วเสร็จสิ้นไม่เกินเดือนพ.ค.นี้ เรื่องนี้ตนคิดไปสมัคเองร ไม่มีใครมาติดต่อ และตนไปสมัครในวันสุดท้ายด้วย หากไม่ได้รับการสรรหาก็ไม่เสียใจ และจะยังทำหน้าที่ กกต.อยู่

“ตอนนี้เราก็คิดแล้วว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้เราเหมือน กกต.ชุดที่สองหรือไม่ เพราะกฎหมายก็ไม่เรียบร้อย และลักษณะการเลือกตั้งก็ดูแปลกๆ เหมือนกันจะโยนลูกให้ กกต.รับทั้งหมด ไม่ใช่จะกลัว มาถึงขนาดนี้แล้ว ก็ต้องทำทุกอย่าง เบื่อตรงนี้”

“จากนี้ไปหากมีองค์กรอิสระไหนเปิดรับสมัครก็จะไปสมัครทุกองค์กร และเราเองก็เปรียบเสมือนสายล่อฟ้า มีคนไม่ชอบเยอะ จึงต้องไปข้างหน้า”นางสดศรี กล่าวและว่าตำแหน่งที่อยากเป็นที่สุดคือ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ”

**2กกต.บอกไม่มีผลกับเลือกตั้ง

ด้านนายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารการเลือกตั้ง กล่าวว่า ข่าวที่ว่าตนไปสมัครตำแหน่งนั้นเป็นเพียงกระแสข่าวลือตนยังไม่มีความคิดจะลาออกในตอนนี้ เพราะการเลือกตั้งก็กำลังจะเกิดขึ้น หากตนลาออกก็จะทำให้บ้านเมืองวุ่นวายมากยิ่งขึ้น อีกทั้งกฎหมายพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับสภาก็ได้รับในหลักการไปแล้ว คิดว่าไม่มีปัญหาอะไร หรือหากกฎหมายพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับไม่ผ่านตนก็ไม่ได้คิดว่าจะมีปัญหาต่อการเลือกตั้ง เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข ได้ระบุในมาตรา 7 วรรคท้าย ว่า กกต.สามารถออกประกาศเพื่อให้มีการเลือกตั้งได้ และประกาศของ กกต.ก็จะเป็นการรวมเอา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับมารวมไว้ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ส่วนตัวก็ยังคิดว่าการพิจารณากฎหมายลูก 3 ฉบับของสภาน่าจะเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และเสร็จก่อนจะมีการเลือกตั้ง

แต่หากมี กกต.คนใดลาออกไประหว่างมีการเลือกตั้ง ก็จะไม่ส่งผลให้การเลือกตั้งมีปัญหา เนื่องจาก พ.ร.บ.กกต.ระบุไว้ว่ามีกกต.เพียง 3คนก็สามารถทำงานต่อไปได้

ด้านนายวิสุทธิ์ โพธิแท่น กกต.ด้านการมีส่วนร่วม กล่าวว่า หากก่อนหรือระหว่างมีการเลือกตั้งมีกกต.คนใดลาออกจริงก็ไม่มีปัญหา เพราะกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนแล้วว่ามีกกต.3คนก็สามารถจัดการเลือกตั้ง หรือการให้ใบเหลืองใบแดงก็ทำได้ตามกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากมีการลาออกจริงของกกต.จะ1 หรือ 2 คนก็ยังไม่กระทบต่อการจัดการเลือกตั้ง การสั่งเลือกตั้งใหม่ และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เพราะตามพ.ร.ป.ว่าด้วยกกต. มาตรา 8 กำหนดว่าการลงมติในการประชุมของกกต.ให้ใช้คะแนนเสียงข้างมาก เว้นแต่การลงมติวินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง ให้ใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 4 ใน 5 ของจำนวนกรรมการเลือกตั้งที่มาประชุม ซึ่งเท่ากับว่า ถ้าเหลือกกต. 3 คน จะสั่งเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ก็ต้องใช้เสียง 3 เสียง หรือถ้าเหลือกกต. 4 คน ก็ต้องใช้เสียง 4 เสียง แต่ถ้ามีกกต.อยู่ครบ 5 คน สามารถใช้เสียงเพียง 4 เสียงในการแจกใบเหลือง ใบแดงได้

**มาร์คเชื่อกกต.ออกเลือกตั้งไม่ล่ม

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่ทราบ แต่เท่าที่จำได้ในเรื่องของกฏหมายไม่น่ามีปัญหาอะไร สามารถดำเนินการต่อไปได้ เชื่อว่าจะไม่มีผลต่อการจัดการเลือกตั้ง

**เทือกปัดกดดันกกต.ออกกม.ลูก

ขณะที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง กล่าวปฏิเสธว่า รัฐบาลไม่ได้ไปกดดันในเรื่องของกฎหมายประกอบรัฐูธรรมนูญหรือกฎหมายลูก” ไม่มี เพราะไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ กกต.ก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่เกี่ยวกัน”

**พธม - กมม.มีเป้าหมายเดียวกัน

นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) กล่าวว่า ไม่ได้หมายความว่า การเลือกตั้งจะเป็นคำตอบสุดท้าย หรือคำตอบเดียวในการคลี่คลายวิกฤตการบ้านเมือง

สำหรับพันธมิตรฯ ที่ส่งสัญญาณไม่เอาลัทธิเลือกตั้งนั้น ถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่ประชาชนสามารถแสดงออกและวิพากษ์วิจารณ์ได้ ประกอบกับแกนนำพันธมิตรฯทั้ง 2 รุ่น ยังได้วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองและความเห็นต่อบทบาทและอนาคตของพรรคการเมืองใหม่ ในสถานการณ์วิกฤตการเมืองในขณะนี้ ก็เข้าใจกันดีและเห็นตรงกันว่า วิกฤตการณ์ของชาติในขณะนี้ ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการเลือกตั้งเท่านั้น

ทั้งนี้ พันธมิตรฯ และพรรคการเมืองใหม่ มีเป้าหมายไม่ต่างกัน คือ การสร้างการเมืองที่สะอาดและสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศชาติ และประชาชนได้อย่างแท้จริง และยั่งยืน แต่เนื่องจากพรรคการเมืองใหม่ ต้องดำเนินกิจกรรมภายใต้พ.ร.บ.พรรคการเมือง มีกฎหมายควบคุมกำกับตลอดเวลา จึงต้องระมัดระวังในการแสดงบทบาทและการจัดกิจกรรมพรรค

ในวันที่ 24 เมษายน เดือนหน้านี้ พรรคจะจัดประชุมใหญ่ เพื่อกำหนดจุดยืนต่อการเลือกตั้ง

**ปานเทพชี้ปชช.ระอาการเมือง

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า ความรู้สึกของประชาชนเห็นได้ชัดเจนจากผลสำรวจของโพลล์ต่างๆที่ชี้ให้เห็นว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ทางออก และคนที่อยู่ในระบบตอนนี้ก็ไม่ใช่คนที่เขาอยากจะเลือก

**ไม่ขัด“สนธิ”สั่งกมม.คว่ำบาตร

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวว่า ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน แต่อาจจะมีการบางกลุ่มเท่านั้น ที่คิดเป็นอย่างอื่นและไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะเดินไปอย่างไร

ส่วนที่นายสนธิ ประกาศจะให้ทางพรรคการเมืองใหม่คว่ำบาตรการเลือกตั้งครั้งนี้ และไปรณรงค์ให้ประชาชนโนโหวต นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ที่ทำได้ ถ้าไปรณรงค์ให้คนไปใช้สิทธิ์ไม่ลงคะแนนให้ใคร ก็เป็นกระบวนการหนึ่งในการเลือกตั้งตามกระบวนการประชาธิปไตย

ส่วนที่นายสนธิ ต้องการนายกรัฐมนตรีพระราชทาน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “อะไรนะ ในรูปแบบไหนอย่างไร ขอเรียนว่ากระบวนการต้องเดินไปตามรัฐธรรมนูญ จะไปช่องทางไหนก็ต้องกลับมาสู่การเลือกตั้ง ผมคิดว่าเราผ่านหลายสิ่งหลายอย่างมาแล้ว มีบทเรียนมาเยอะแล้ว เวลานี้ผมว่าประชาชนล้ากับกระบวนการทางการเมืองที่มันไม่เป็นปกติ มันถึงเวลาที่จะกลับเข้าสู่ภาวะความเป็นปกติทุกอย่าง ฉะนั้น เราน่าจะช่วยกันทำให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า”

**"ประกาศแบ่งส.ส.375 บังคับใช้แล้ว

วันเดียวกันนี้ มีประกาศกกต. เรื่อง “จำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด สำหรับการเลือกตั้งส.ส.เป็นการทั่วไปครั้งแรก” ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1 ) พ.ศ.2554 ซึ่งลงนามโดยนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาแล้วโดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.เป็นต้นไป
ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวยึดจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2553 จำนวน
63,878,267 คน โดยส.ส.แบบแบ่งเขต 375 คนจะเฉลี่ยจำนวนราษฎรได้ 170,352 คนต่อ ส.ส.1 คน ซึ่งจะมีผลให้ส.ส.ใน 23 จังหวัดจาก 76 จังหวัดมีส.ส.ลดลงจากเดิม อาทิ กทม.มี 33 คนจากเดิม 36 คน โดยในอีก 22 จังหวัดที่เหลือจะมีส.ส.ลดลงจากเดิมเพียง 1 คน อาทิ ขอนแก่น มี 10 จากเดิม 11 คน , เชียงใหม่ 10 คนจากเดิม 11 คน เป็นต้น ขณะที่จ.หนองคายยังไม่ได้มีการแบ่งจำนวนส.ส.ไปยังจ.บึงกาฬแต่อย่างใด โดยคาดว่าหลังจาก กกต.นี้จะมีการแบ่งส.ส.ให้จ.หนองคายมีส.ส.ได้ 3 คนและจ.บึงกาฬมีส.ส. 2 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น