xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

หยุด “ฟูกุชิมะ” สกัดรังสีปนเปื้อนอาหาร ภารกิจที่ยัง “ลูกผีลูกคน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การหยุดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ไดอิจิยังคงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับรัฐบาลญี่ปุ่น
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในที่สุดรัฐบาลญี่ปุ่นก็ไม่สามารถปกปิดข้อมูลและความจริงเกี่ยวกับมหันตภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ไดอิจิได้ และตัดสินใจประกาศเพิ่มระดับความร้ายแรงจากระดับ 4 ขึ้นเป็นระดับ 5 จากระดับอันตรายทั้งหมด 8 ระดับ ซึ่งหมายความว่า มหันตภัยได้ขยับการแพร่ของสารกัมมันตรังสีที่มีผลกระทบเฉพาะในท้องถิ่นขยายออกไปในท้องที่กว้างขวางยิ่งขึ้น

นั่นหมายความว่า มหันตภัยครั้งนี้ได้ยกระดับขึ้นไปเทียบชั้นกับกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ทรีไมล์ไอส์แลนด์ มลรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกาที่เกิดระเบิดเมื่อปี 2522 ไปเรียบร้อยแล้ว
และนั่นคือปัญหาแรกที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญ

นอกจากนั้น ปัญหาใหญ่ของญี่ปุ่นที่ดูเหมือนจะยังคงเป็นสิ่งที่น่าวิตกกังวลไม่แพ้กันอันเป็นผลมาจากการขยับสู่ระดับ 5 ก็คือ การแพร่ของสารกัมมันตรังสีออกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะเพราะรัฐบาลญี่ปุ่นยอมรับเองว่า ตรวจพบปริมาณกัมมันตภาพรับสีมากเกินกว่าที่กำหนดใน “นม” และ “ผักโขม” ในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าฟูกุชิมะ ไดอิจิ

รวมทั้งยอมรับด้วยว่า ตรวจพบไอโอดีนกัมมันตภาพรังสีในน้ำประปาของกรุงโตเกียวและพื้นที่อื่นๆ อีก 5 แห่ง ขณะที่ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ(ไอเออีเอ) ระบุว่า มีการตรวจพบกัมมันตภาพรังสีแพร่กระจายไปถึงเมืองซาคราเมนโต ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับไต้หวันที่ได้ตรวจพบไอโอดีนที่มีกัมตภาพรังสีและซีเซียม 137 ในถั่วปากอ้าที่นำเข้าจากญี่ปุ่นล็อตหนึ่ง

ทั้งนี้ แม้การแพร่รังสีในทุกกรณีจะมีปริมาณกัมมันตภาพรังสีอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐานที่จะเป็นอันตรายต่อมนุษย์ตามคำกล่าวอ้าง แต่การที่องค์การอนามัยโลก(WHO) โดยนายปีเตอร์ คอร์ดิงลียร์ โฆษกสำนักงานภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกระบว่า “เป็นที่ชัดเจนมากกว่า มันเป็นสถานการณ์ที่สาหัสร้ายแรง” แสดงให้เห็นว่า สารกัมมันตรังสีที่แพร่ออกมาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ไดอิจิ ครั้งนี้น่าสะพรึงกลัวยิ่ง

และนั่นคือปัญหาที่สองที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญ

คำถามใหญ่ที่ตามมาก็คือ รัฐบาลของนายนาโอโตะ คังจะมีวิธีการรับมือกับปัญหาอันหนักหนาสาหัสเช่นนี้อย่างไร

**ปฏิบัติการกามิกาเซ่
หยุดเตาปฏิกรณ์หลอมละลาย

สำหรับที่มาที่ไปของการยกความร้ายแรงจากระดับ 4 เป็นระดับ 5 นั้น คงต้องบอกว่า มีที่มาที่ไปที่ไม่ธรรมดา เพราะก่อนหน้าการประกาศครั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเผชิญกับแรงกดดันจากนานาประเทศรวมทั้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความผิดพลาดในการแก้ปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ไดอิจิอย่างหนัก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกดดันจากทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ รวมทั้งจอมแฉอย่างวิกิลีกส์เกี่ยวกับการละเลยคำเตือนของไอเออีเอเกี่ยวกับการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัย

แต่ฟางเส้นสุดท้ายที่เชื่อว่า ส่งผลประการสำคัญในการตัดสินใจของญี่ปุ่นในการยกระดับมหันตภัยเป็นผลมาจากการเดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คังของนายยูกิยะ อามาโนะ ผู้อำนวยการใหญ่ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ(ไอเออีเอ) พร้อมระบุว่า อุบัติภัยคราวนี้มีความร้ายแรงสาหัสอย่างยิ่ง และญี่ปุ่นไม่ควรรับมือแต่เพียงฝ่ายเดียว หลังจากก่อนหน้านี้นายอานาโนะได้ออกมาเรียกร้องให้ญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้มากกว่านี้

จากนั้นในเวลาถัดมาไม่นานนัก “นายฮิเดฮิโกะ นิชิยามะ” โฆษกสำนักงานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นก็ออกมายอมรับถึงความร้ายแรงของวิกฤตินิวเคลียร์ครั้งนี้ว่า เชื้อเพลิงของเตาปฏิกรณ์ 3 เครื่องได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงไปอย่างน้อย 3% ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่า แกนกลางของเตาปฏิกรณ์เหล่านี้ได้หลอมละลายบางส่วน และปล่อยกัมมันตรังสีออกสู่บรรยากาศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ที่เชื้อเพลิงมีส่วนผสมของ “พลูโตเนียม” เพราะเป็นสารกัมมันตรังสีที่มีพิษภัยรุนแรงกว่าเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ของเตาปฏิกรณ์เครื่องอื่นๆ

ด้วยเหตุดังกล่าวจึงไม่น่าแปลกใจที่ญี่ปุ่นได้ระดมสรรพกำลังและสรรพวิธีเพื่อจัดการกับเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ทั้งการใช้เฮลิคอปเตอร์ชีนุกจำนวน 4 ลำขนน้ำทะเลกว่า 7 ตันเทใส่เตาปฏิกรณ์ รวมทั้งการใช้รถดับเพลิง 30 คัน เจ้าหน้าที่ดับเพลิงอีก 140 นายและรถบรรทุกน้ำ 11 คันเข้าปฏิบัติการสกัดหายนะภัยที่เตาปฏิกรณ์นี้เป็นพิเศษ

และภายหลังการยกระดับความรุนแรง ก็ส่งผลทำให้เกิดปฏิกิริยาจากนานาชาติในทันที เริ่มจากสหรัฐอเมริกาที่ขนครอบครัวของบุคลากรทางการทูตของสหรัฐฯ ในญี่ปุ่นและพลเมืองอเมริกันจำนวนหนึ่งราว 100 คนขึ้นเครื่องบินเช่าเหมาลำอพยพออกจากญี่ปุ่นไปยังไต้หวัน อีกทั้งประกาศให้ชาวอเมริกันออกห่างรัศมี 80 กิโลเมตรของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ไดอิจิ ขณะที่ญี่ปุ่นสั่งอพยพในรัศมี 20 กิโลเมตร

เช่นเดียวกับประเทศอื่นที่มีคำสั่งให้ย้ายสถานทูตของตนเองออกจากโตเกียวเป็นการชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็นฟินแลนด์ เยอรมนีและออสเตรเลีย เป็นเต้น

ขณะเดียวกัน ในช่วงระหว่างที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศยกความร้ายแรงเป็นระดับ 5 นั้น ก็มีข้อมูลชิ้นสำคัญที่ต้องบอกว่า “ช็อกโลก” เลยทีเดียว เมื่อมีการเปิดเผยออกมาว่า

นอกจากต้นเหตุหลักจากแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์และคลื่นยักษ์สึนามิแล้ว ความผิดพลาดของ “บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ โค” หรือ “เทปโก” เองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มหันตภัยครั้งนี้ร้ายแรงเกินคาด

ทั้งนี้ เทปโกยอมรับเองว่า พวกเขาละเลยการตรวจสอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างเข้มงวด โดยมีการปลอมบันทึกการซ่อมบำรุงในช่วง 10 วันก่อนที่จะเกิดมหาวิบัติภัยในวันที่ 11 มีนาคม โดยรายงานการตรวจสอบสภาพโรงไฟฟ้าพบว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้ตรวจอุปกรณ์สำคัญ 33 ชิ้นใน 6 เตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ไดอิจิ ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงการไม่ได้ตรวจสอบวาล์วควบคุมอุณหภูมิของเตาแห่งหนึ่งเป็นระยะเวลาที่นานถึง 11 ปี แต่มีการปลอมบันทึกการตรวจสอบขึ้น

เช่นเดียวกับปั๊มน้ำและเครื่องปั่นไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงดีเซล ซึ่งนั่นหมายความ ระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างครบวงจร

ทว่า ท่ามกลางข่าวร้ายที่ถาโถมเข้าใส่ญี่ปุ่นมาต่อเนื่องหลังแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์และคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ก็มีข่าวดีเกิดขึ้นบ้างเมื่อทาง “เทปโก” ออกมาป่าวร้องให้โลกทราบว่า เจ้าหน้าที่ของเทปโกประสบความสำเร็จในการเชื่อมต่อสายไฟฟ้าเส้นใหม่กับระบบหลักของโรงไฟฟ้าเพื่อให้ระบบหล่อเย็นในเตาปฏิกรณ์กลับมาทำงานอีกครั้ง โดยเริ่มต่อสายไฟฟ้าเข้ากับเครื่องปั๊มน้ำเข้าระบบหล่อเย็นที่เตาปฏิกรณ์ 1-2 ก่อนเป็นลำดับแรก จากนั้นก็ขยายต่อเนื่องจนครบ 6 เตา

แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่า การป้อนไฟฟ้ากลับเข้าสู่โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ จะทำให้ระบบหล่อเย็นทำงานได้ใหม่จริงหรือไม่ และจะขจัดอันตรายจากการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีได้ทั้งหมดจริงหรือไม่ เพราะหลังจากนั้นไม่นานนักคนงานบางส่วนก็ต้องอพยพถอนตัวออกจากเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 เมื่อมีควันโขมงลอยขึ้นมาจากเตา แม้ภายหลังเทปโกจะออกมายืนยันว่า กลุ่มควันที่ลอยออกมาจากเตาปฏิกรณ์เป็นเพียงไอน้ำเท่านั้น

แม้กระทั่ง “นายบันริ ไคเอดะ” รัฐมนตรีการค้าของญี่ปุ่นก็ยังยอมรับว่าเป็นการยากที่จะชี้ชัดว่าสถานการณ์รอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้คืบหน้าไปในทิศทางที่ปลอดภัยแล้ว ซึ่งนั่นหมายความว่าวิกฤตินิวเคลียร์ครั้งที่เลวร้ายที่สุดของโลกในรอบ 25 ปีจะยังคงดำเนินอยู่ต่อไป

ขณะที่ปฏิบัติการกู้ภัยครั้งนี้ก็ต้องเซ่นสังเวยไปด้วยการที่เจ้าหน้าที่ 6 คนถูกสารกัมมันตรังสีระดับสูงจากการออกมายอมรับของ “นายยาซูโอะ ซาโตะ” ผู้บัญชาการหน่วยกู้ภัยชั้นสูง หน่วยงานในสังกัดของกองดับเพลิงโตเกียว

ส่วนกรณีที่วิศวกรของเทบโกพูดถึงวิธีการแบบเดียวกับที่ใช้กับเชอร์โนบิลคือการใช้ทรายและซีเมนต์ฝังโรงงานไฟฟ้านั้น นักวิชาการนิวเคลียร์ต่างพากันมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า โอกาสที่จะประสบความสำเร็จมีไม่มากนัก และไม่เชื่อว่า วิธีการดังกล่าวจะเป็นหนทางที่ดี เพราะภายหลังจากการใช้แรงงานและงบจำนวนมหาศาลกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปฏิบัติการขนทรายและซีเมนต์ฝังโรงงาน จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ที่เชอร์โนบิลก็ยังคงถูกประกาศเป็นเขตห้ามเข้าในรัศมี 30 กิโลเมตร

แถมสร้างเสร็จแล้วไม่ถึง 20 ปีก็เกิดรอยร้าวและช่องโหว่จำนวนมาก จนต้องก่อสร้างอาคารโครงสร้างเหล็กเข้าไปใหม่ด้วยมูลค่าสูงถึง 2,210 ล้านดอลลาร์

“น่าจะมีทางออกอย่างอื่นที่ดีกว่าและสิ้นเปลืองทั้งเวลาและเงินน้อยกว่า”นั่นคือความเห็นของ “ชัค เนกิน" ผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงพลังงานสหรัฐอเมริกา

เช่นเดียวกับ “โรเบิร์ต อัลวาเรซ” อดีตรัฐมนตรีพลังงานของสหรัฐอเมริกาที่ระบว่า “ยการใช้เฮลิคอปเตอร์ทิ้งทรายหรือซีเมนต์ลงไป ยิ่งทำให้กัมมันตภาพรังสีฟุ้งกระจายมากขึ้น

ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากมหาวิบัติภัยครั้งนี้ก็ได้แซงหน้าแผ่นดินใหม่ที่โกเบในปี 2538 ที่มีผู้เสียชีวิต 6,434 คนไปเรียบร้อยแล้ว โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นได้แถลงยืนยันเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากมหาวิบัติภัยครั้งนี้พุ่งสูงถึง 9,525 คน และมีตัวเลขผู้สูญหายไม่น้อยกว่า 16,094 คน

กระนั้นก็ดี แม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะออกมายืนยันถึงข่าวดี แต่สิ่งหนึ่งที่คนญี่ปุ่นและสังคมโลกต้องยอมรับร่วมกันคือ การจัดการกับการแพร่ของสารกัมมันตรังสีไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกับแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์และสึนามิ เนื่องจากต้องอาศัยเวลาในการคลี่คลายเป็นอย่างมาก

ที่ทรีไมล์ไอส์แลนด์ รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้เวลาในจัดการแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่หลอมละลาย 45% ออกไปกักเก็บอย่างถาวรในที่อื่นนานถึง 8 ปี และใช้งบราว 1,000 ล้านบาท

ส่วนที่เชอร์โนบิลก็ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ณ ขณะนี้ก็ยังต้องประกาศเขตพื้นที่ห้ามเข้าในรัศมี 20 กิโลเมตร

นี่คือปัญหาที่ท้าท้ายญี่ปุ่นอย่างยิ่ง

**กัมมันตภาพรังสีปนเปื้อนอาหาร
คำเตือนอันน่าสะพรึงกลัวจาก WHO

ท่ามกลางการลุ้นระทึกเกี่ยวกับการหยุดการหลอมละลายของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะทั้ง 6 แห่ง ปัญหาแทรกซ้อนที่ญี่ปุ่นกำลังวิตกกังวลอย่างหนักก็คือ การรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้าสู่เบื้องนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปนเปื้อนสารรังสีในอาหาร

ทั้งนี้ เนื่องจากหลังวิกฤตนิวเคลียร์ฟูกุชิมะเกิดขึ้นได้มีการตรวจสอบการปนเปื้อนอย่างละเอียด ซึ่งก็ได้รับคำยืนยันจากทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลประเทศต่างๆ ตรงกันว่า พบการปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะในอาหารจริง

โดยกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นได้ออกคำเตือนให้ประชากรบางพื้นที่ที่อยู่ใกล้ๆ กับโรงไฟฟ้าฟูกุชิมะ ไดอิจิให้หยุดดื่มน้ำประปาหลังจากที่ตรวจพบสารไอโอดีนปนเปื้อนรังสีในระดับสูงกว่าปกติ 3 เท่ารวมทั้งหมด 5 แห่ง อาทิ หมู่บ้านอิตาเตะที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของโรงไฟฟ้าและมีประชากรราว 6,000 คน เช่นเดียวกับที่กรุงโตเกียว ซึ่ง “นายชินทาโร อิชิฮาระ” ผู้ว่าการมหานครโตเกียวออกมาแถลงยอมรับว่าการมหานครโตเกียวออกมาถุจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ตรวจพบไอโอดีน

กัมมันตภาพรังสีในน้ำประปา โดยอัตราการสลายตัวอยู่ที่ 210 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม หรือเกินกว่า 2 เท่าตัวของระดับความปลอดภัยสำหรับทารก พร้อมประกาศให้หลีกเลี่ยงการใช้น้ำประปามาละลายนมผงใช้เลี้ยงทารกทันที

นอกจากนั้นยังตรวจพบผักจำนวน 11 ชนิดที่ปลูกในจังหวัดฟูกุชิมะและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างจังหวัดอิราบากิ เมืองโมโตมิยะ เมืองโฮโกตะและนาเมงาตะ ฯลฯ มีระดับการปนเปื้อนของสารรังสีเกินมาตรฐาน อาทิ บร็อคโคลี ผักโขม ผักโคมัตสึนะ หัวเทอร์นิป ผักชิโนบูฟุยูนะ ผักซันโตนะ ผักชิจิเรนะ ผักโคไซไต ผักอาบุรานะ และกะหล่ำปลี และเรียกร้องให้ผู้บริโภคงดเว้นการบริโภคผักทั้ง 11 ชนิดดังกล่าว จนรัฐบาลได้สั่งห้ามการจำหน่ายผักดังกล่าว รวมทั้งห้ามจำหน่ายนมดิบที่มาจากจังหวัดฟูกุชิมะ

ขณะที่ทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ(ไอเออีเอ) ระบุว่า ได้ตรวจพบระดับกัมมันตรังสี 5.7 ไมโครซีเวิร์ตส์ต่อชั่วโมงในพื้นที่ห่างจาก จ.ฟูกุชิมะราว 58 กิโลเมตร ซึ่งถ้าหากมนุษย์ได้รับรังสีในระดับดังกล่าวติดต่อกัน 7 วัน จะได้รับสารกัมมันตรังสีสูงถึง 1,000 ไมโครซีเวิร์ตที่เทียบเท่ากับระดับปลอดภัยที่มนุษย์ได้รับปกติในเวลา 1 ปี รวมทั้งมีการตรวจพบกัมมันตภาพรังสีแพร่กระจายไปถึงเมืองซาคราเมนโต ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับไต้หวันที่ได้ตรวจพบไอโอดีนที่มีกัมตภาพรังสีและซีเซียม 137 ในถั่วปากอ้าที่นำเข้าจากญี่ปุ่นล็อตหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สะท้อนความรุนแรงและความน่าสะพรึงกลัวของการปนเปื้อนในครั้งนี้ก็คือ คำเตือนจากองค์การอนามัยโลก

ปีเตอร์ คอร์ดิงลีย์ โฆษกของสำนักงานภูมิภาคที่ดูแลแปซิฟิกตะวันตกขององค์การอนามัยโลกระบุชัดเจนว่า “มันมีความสาหัสร้ายแรงมากยิ่งกว่าที่ใครๆ ได้เคยคิดกันเอาไว้ในช่วงระยะวันแรกๆ โดยที่ตอนนั้นเราเคยคิดกันว่า ปัญหาชนิดนี้สามารถที่จะกำจัดให้อยู่เฉพาะในขอบเขต 20-30 กิโลเมตร มาถึงตอนนี้มันเป็นเรื่องที่สามารถตั้งสมมติฐานได้แล้วว่า ผลผลิตที่ปนเปื้อนบางส่วนได้หลุดออกมานอกพื้นที่แล้ว”

ขณะที่ “จิม สมิธ” ผู้ชำนาญการด้านโลกและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธ ประเทศอังกฤษบอกว่า จากรายงานต่างๆ ที่ทราบมานั้น ดูเหมือนว่าระดับของไอโอดีนเปื้อนรังสีและของสารซีเซียมที่พบอยู่ในนมและอาหารบางชนิดน่าจะอยู่ในระดับสูงกว่าข้อกำหนดของรัฐบาลอย่างมากทีเดียว”

แต่กระนั้นก็ดีคำเตือนของจิม สมิธก็ดูจะเป็นไปในแนวทางที่ไม่น่าวิตกกังวลมากนัก เพราะเขายืนยันว่า แม้จะมีการปนเปื้อนแต่ก็ไม่ได้แปลว่า ถ้ารับประทานอาหารเหล่านี้แล้วจะเป็นอันตรายในทันที เนื่องจากข้อกำหนดของรัฐบาลนั้นคิดคำนวณด้วยเกณฑ์ที่เผื่อเอาไว้ว่า ถ้าหากรับประทานต่อเนื่องนานๆ จึงจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ทว่า สุดท้ายแล้ว คงต้องบอกว่าวิกฤตนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นก็ยังคงเป็นวิกฤตต่อไป เมื่อ "เทปโก" ผู้รับผิดชอบกิจการของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ไดอิจิ ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ว่า แท่งบรรจุเชื้อเพลิงที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้เกิดการชำรุด เป็นเหตุให้มีการรั่วไหลรอบใหม่ของสารกัมมันตภาพรังสีอย่างน้อย 5 ชนิดออกสู่อากาศ และบางส่วนยังรั่วไหลลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่ของ "เทปโก" ตรวจพบสารไอโอไดน์-131 ในปริมาณที่เข้มข้นกว่าระดับปกติถึง 127 เท่า จากน้ำทะเลที่อยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมา ขณะที่ระดับของสารซีเซียม-134 และซีเซียม-137 ที่พบในมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณเดียวกันก็สูงกว่าระดับปกติถึง 25 เท่าและ 17 เท่าตามลำดับ ไม่รวมถึงสารยูเรเนียมและพลูโตเนียมซึ่งยังไม่อาจวัดปริมาณได้แน่ชัด

กล่าวสำหรับซีเซียม-137 นั้น เป็นสารกัมมันตรังสีที่น่ากลัวที่สุด เพราะสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมและก่ออันตรายได้นานหลายร้อยปี เนื่องจากต้องใช้เวลาถึง 30 ปีกว่าที่ซีเซียม-137จะลดระดับความรุนแรงลงครึ่งหนึ่ง และต้องใช้เวลาอย่างน้อย 240 ปีถึงจะหมดฤทธิ์โดยสิ้นเชิง

เช่นเดียวกับคณะผู้เชี่ยวชาญจากทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ ไอเออีเอที่ระบุว่า จากการตรวจสอบพื้นที่ ที่อยู่ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ระยะทาง 20 กิโลเมตร ปรากฏว่า พบปริมาณกัมมันตรังสีสูงกว่าระดับปกติถึง 1,600 เท่า โดยปริมาณกัมมันตรังสีที่พบมีปริมาณสูงถึงระดับ 161 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ขณะที่ค่าปกติต้องอยู่ที่ระดับ 0.1 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ส่วนที่บริเวณเขื่อนโอกากิ ซึ่งห่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ 16 กิโลเมตร พบปริมาณกัมมันตรังสีสูง 83 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง

และทั้งหมดนั้นคือ 2 ปัญหาที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการแก้ไขโดยต้องทุ่มเททั้งทรัพยากรจำนวนมหาศาล กำลังคนที่จะต้องเสี่ยงภัย รวมทั้งเวลาเพื่อยุติมหาวิบัติภัยครั้งนี้ชนิดที่ไม่อาจคาดเดาได้ว่า จะประสบความสำเร็จหรือไม่

ธนาคารโลกคาดการณ์เอาไว้ว่า มหาวิบัติภัยครั้งนี้ เศรษฐกิจของญี่ปุ่นน่าจะได้รับความเสียหายไม่ต่ำกว่า 235,000 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 4.0% ของจีดีพีประเทศ และต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูอีกไม่น้อยกว่า 5 ปี
เหนือผวา!แผ่นดินไหว
ASTVผู้จัดการรายวัน - ภาคเหนือผวา-หลังแผ่นดินไหวแรง 6.7 ริกเตอร์ชายแดนพม่า ด้าน“สมิทธ” เชื่อกัมมันตรังสีจากญี่ปุ่นถึงไทยช่วงปลายปีแต่ไม่อันตรายมาก พร้อมชี้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำเป็น แนะรัฐให้ความรู้ภาคประชาชนก่อนเดินหน้าโครงการ ขณะที่ภาค ปชช.รุมค้านไม่เอา หากทำจริงให้สร้างใน กทม. เหตุใช้ไฟเยอะสุด “มาร์ค” เตรียมตรวจสินค้าตลาดคลองเตยหาสารปนเปื้อน ยันทบทวนแผนสร้างนิวเคลียร์ในไทย ด้าน “กษิต” ยันเร่งช่วยคนไทยติดค้างในญี่ปุ่นกลับไทย ภาพรวมภัยพิบัติในญี่ปุ่นมีต่อไทย คาดเศรษฐกิจลดลง 0.2% ส่งออกลดลงเหลือ 2.25 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ด้านสาธารณสุขสั่งตรวจเข้มผักและผลไม้
กำลังโหลดความคิดเห็น