นายกฯ คอนเฟอเรนซ์เกาะติดช่วยคนไทยในญี่ปุ่น ย้ำแผนอพยพหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ติดตามช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ให้คำมั่นมี 3 มาตราการเข้ม ตรวจสอบป้องกันสารกัมมันตรังสีเข้าไทย ขณะที่ทูตไทยฯ เผย 749 คนไทยยังติดต่อไม่ได้ ยังไม่มีรายงานคนไทยเสียชีวิต
วันนี้ (20 มี.ค.) ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้วิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังสถานเอกอัคราชทูตไทยประจำประเทศญี่ปุ่น กับนายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เพื่อติดตามสถานการณ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติที่ประเทศญี่ปุ่น และการให้ความช่วยเหลือคนไทย ผ่านรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ ว่าสิ่งที่คนไทยเป็นห่วงมากที่สุดจากการเห็นภัยพิบัติครั้งนี้มีตัวเลขที่น่ากลัวมาก เพราะมีผู้เสียชีวิตไปแล้วเกิน 7,000 คน และยังหาไม่พบเป็นหลักหมื่น เพราะฉะนั้น สิ่งแรกที่คนไทยตั้งข้อสงสัยว่าในจำนวนนั้นมีพี่น้องคนไทยด้วยหรือไม่ การติดตามการรายงานที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียในส่วนนี้ กรณีที่ญาติพี่น้องบุคคลที่ไปญี่ปุ่นที่ยังตามหาไม่เจอเป็นอย่างไรในขณะนี้
โดยนายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น รายงานว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ทางสถานทูตฯ ได้จัดส่งคนไทยชุดที่ 3 ราว 46 คน ขึ้นซี 130 (C-130) เดินทางกลับประเทศไทยแล้ว ซึ่งรวมการจัดส่งคนไทยกลับประเทศทั้ง 3 เที่ยว ได้ส่งกลับแล้ว 118 คน นอกจากนี้ยังมีคนไทยที่เดินทางกลับเองอีกราว 4,000 คน สำหรับความช่วยเหลือคนไทยอีกราว 1,600 คนที่ยังไม่สามารถติดต่อได้ก่อนหน้า สถานทูตฯ ได้ติดตามพบตัวแล้วประมาณ 800 คน เหลืออีกราว 749 คนที่ยังไม่สามารถติดต่อได้ เนื่องจากมีครัวเรือนมากกว่า 250,000 ครัวเรือนในประเทศญี่ปุ่นที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ทำให้ยังไม่สามารถติดต่อมาได้ ทั้งนี้ ยืนยันว่ายังไม่มีรายงานพบคนไทยเสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหว
ส่วนแผนการอพยพ กรณีสารกัมมันตรังสีรั่วไหลนั้น ทูตไทยฯ กล่าวต่อว่า ทางสถานทูตฯ ได้เตรียมการตามที่นายกฯ ได้สั่งการเกี่ยวกับแผนการอพยพในกรณีที่สารกัมมันตรังสีในอากาศอยู่ในปริมาณที่เกินกว่ากำหนดเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยได้ประสานกับสำนักงานของไทยในประเทศญี่ปุ่น ขอให้ติดต่อนักเรียนไทย, แรงงานไทย และคนไทย เพื่อให้เตรียมการรับมือหากเกิดเหตุฉุกเฉินให้เร่งอพยพ ลงมาที่กรุงโตเกียว ซึ่งทางสถานทูตฯ ได้เตรียมเช่ารถเพื่อนำส่งต่อไปยังเมืองโอซากา เพื่อไปขึ้นเครื่องบินที่เมืองคันไซ ในกรณีที่เครื่องบินของการบินไทยไม่สามารถออกจากนาริตะได้
ส่วนกรณีโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ นายวีระศักดิ์กล่าวว่า สถานการณ์ดีขึ้น ส่วนปริมาณสารกัมมันตรังสีในบริเวณโดยรอบโรงไฟฟ้าฯ ได้ลดลง ซึ่งขณะนี้สิ่งที่น่าห่วงมากที่สุดคือ เมื่อนำไฟเข้าไป และเปิดให้ทำงานอีกครั้งจะเกิดการช็อตของระบบทำให้เกิดการระเบิดซ้ำหรือไม่ ซึ่งทางการญี่ปุ่นกำลังเตรียมการอยู่ ส่วนที่เกิดกระแสข่าวว่าพบสารกัมมันตรังสีในอาหารญี่ปุ่น ทางเลขาธิการ ครม.ประเทศญี่ปุ่น ได้ประกาศว่าได้พบสารต่างๆ ในปริมาณที่เกินกว่าปกติในรัศมี 30 กม.จากโรงไฟฟ้าฯ ซึ่งพบในผักโขม และนมเท่านั้น แม้จะเกินปริมาณกว่าปกติ แต่ยังไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ส่วนในน้ำประปาที่กรุงโตเกียวก็ยังอยู่ในปริมาณที่น้อยมาก ซึ่งนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นได้มีคำสั่งให้ทุกจังหวัดติดตามระดับกัมมันตภาพรังสีทั้งในอากาศ และพืชผลต่างๆ หากพบพืชผล และอาหารญี่ปุ่นในไทยที่มีปริมาณสารกัมมันตรังสีที่เกินปริมาณที่กำหนด ทางรัฐบาลได้มีการสั่งห้ามไม่ให้มีการขาย ซึ่งวางใจได้เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นายกฯ ถามถึงมาตรการในการค้นหาในพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติของเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นเป็นอย่างไร นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ทางญี่ปุ่นได้ระดมทหารราว 100,000 นาย หรือประมาณ 40% ของกองทัพ ส่วนใหญ่จะลงพื้นที่เพื่อค้นหาผู้ประสบภัยที่ยังไม่พบ ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นได้เผยยอดผู้เสียชีวิตล่าสุดอยู่ที่ราว 7,653 ราย และสูญหายอีก 11,746 ราย ซึ่งหลังจากนี้จะมีการเข้าไปพิสูจน์ศพผู้เสียชีวิตว่าเป็นคนญี่ปุ่นหรือคนต่างชาติ รวมถึงคนไทย ซึ่งได้มีการประสานกันระหว่างทางฝ่ายตำรวจของญี่ปุ่น และฝ่ายตำรวจของไทยแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ แต่มีการพบศพขึ้นเรื่อยๆ ยังมีความยากลำบากเพราะกว่าล้านครัวเรือนยังไม่มีไฟ ส่วนเส้นทางการคมนาคมภายในประเทศดีขึ้น แต่ก็ยังลำบาก เส้นทางของรถไฟขึ้นไปทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ, สนามบินที่เซนไดยังปิดให้บริการอยู่ รวมถึงการคมนาคมทางรถยนต์ก็ค่อนข้างที่จะลำบากมาก เนื่องจากทางการปิดไม่ให้ใช้บริการทางด่วน ซึ่งหากจะเดินทางไปเมืองเซนไดต้องใช้เวลาราว 20 ชม.
นายกฯ ยังได้สอบถามกรณีคนไทยที่จะเดินทางกลับประเทศไทย พบว่ามีเสียงบ่นเหมือนกันว่าจะเดินทางกลับราคาค่าตั๋วก็แพง ขณะเดียวกัน พบว่ามีการจองเที่ยวบินกลับ แต่พอถึงเวลาก็ไม่เดินทางมา นายวีระศักดิ์กล่าวรายงานว่า สาเหตุหลักคือเรื่องครอบครัว ที่เซนได ฟูจิยามา หลายคนสละที่จะไม่เดินทางกลับ เนื่องจากสามีหรือภริยาที่เป็นคนญี่ปุ่นก็ร้องขอให้อยู่ต่อ ตั๋วเครื่องบินหากติดต่อผ่านสถานทูตการบินไทยให้ราคาพิเศษไป-กลับอยู่ที่ราคา 63,000 พันเยน หากไปเที่ยวเดียวประมาณ 4,000 เยน นอกจากนั้นหากไม่สามารถซื้อตั๋วเองได้ สถานทูตสามารถใช้ระเบียบสถานสงเคราะห์ช่วยส่งกลับได้
ด้าน นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการ รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงการเฝ้าระวังสารกัมมันตรังสีในแผนสำรองกับมาตรการการป้องกันการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีว่า พี่น้องคนไทยมีอาการแตกตื่นเหมือนกันข่าวกัมมันตรังสีเพราะรับข่าวจากทางเมืองไทย แต่ก็เล่าให้ฟังหากไม่มีเหตุการณ์อะไรขึ้นอีก การควบคุมสารกัมมันตรังสีอยู่ในระดับที่ปลอดภัย ได้เดินทางบริเวณโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ในรัศมี 60 กม. ซึ่งได้ทำการวัดค่าสารกัมมันตรังสีได้ 4/1,000 จากระดับที่จะเป็นอันตรายต่อร่างกาย เมื่อเล่าให้ฟังมีความสบายใจมากขึ้น ตัดสินใจอยู่ต่อ และยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมหากจะเดินทางกับประเทศไทย หรือติดขัดค่าใช้จ่าย ทางสถานทูตพร้อมสำรองออกให้ก่อน ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวมีคนไทยอาศัยอยู่ราว 50 คน ซึ่งได้ทยอยเดินทางออกจากพื้นที่มายังกรุงโตเกียวแล้ว ราว 21 คน ซึ่งที่เหลือส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่าทางการญี่ปุ่นจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และได้แจ้งความจำนงว่าต้องการนมเด็ก และผ้าอ้อมเด็กให้กับบุตร ได้จัดหาและมอบให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนคนไทยที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายมีการจัดทำเอกสารการเดินทางให้ ส่วนแผนฉุกเฉินนั้นทางสถานทูตได้มีการประสานกงสุลใหญ่ไว้แล้ว สามารถใช้เส้นทางใดได้บ้าง มี 3-4 จุดในการรองรับพี่น้องคนไทย
นายกฯ กล่าวตอนท้ายว่า การติดตามสถานการณ์ในญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง มีผู้บริหารจากกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามตลอดเวลา ส่วนที่ห่วงเรื่องกัมมันตรังสีว่าจะมาทางอากาศ อาหารหรือคนของเรา ทั้ง 3 ส่วนมีมาตรการรองรับไว้แล้ว ในเรื่องของอากาศมีสถานีตรวจวัดยังไม่พบความผิดปกติใดๆ เรื่องของอาหารได้มีการสั่งให้สุ่มตรวจแล้ว ส่วนเรื่องของคนที่เข้ามากระทรวงสาธารณสุขจะตรวจตามความสมัครใจ เป็นมาตรการที่ยืนยันว่าได้ทำอย่างต่อเนื่อง ขอให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลดำเนินการอย่างดีที่สุดในการดูแลพี่น้องประชาชนคนไทย และในแง่การประสานช่วยเหลือประชาชนชาวญี่ปุ่น