เอเจนซี/เอเอฟพี - เกิดความหวาดผวาภัยจากการแผ่กัมมันตภาพรังสีขึ้นอีกระลอกหนึ่งในญี่ปุ่นเมื่อวันศุกร์ (25) ภายหลังคนงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ได้รับบาดเจ็บถูกลวกจากน้ำปนเปื้อนรังสีระดับสูงมาก ตอนที่กำลังทำงานเพื่อช่วยลดอุณหภูมิเตาปฏิกรณ์ที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ ขณะที่รัฐบาลแดนอาทิตย์อุทัยก็สร้างความสับสนไม่ชัดเจนว่า สั่งขยายเขตพื้นที่อพยพรอบๆ โรงงานหรือไม่ ทางด้านจีนตรวจพบชาวญี่ปุ่นที่เดินทางด้วยเครื่องบินโดยสาร มีระดับรังสีสูงกว่าปกติ แต่ระบุว่าไม่ได้เป็นอันตรายต่อผู้ร่วมทางอื่นๆ สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติคราวนี้อย่างเป็นทางการ ล่าสุดทะลุหลัก 10,000 คนแล้ว โดยที่ยังมีผู้สูญหายอีก 17,500 คน
ในการออกมาแถลงเรื่องวิกฤตนิวเคลียร์ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกของเขาในรอบสัปดาห์นี้ นายกรัฐมนตรี นาโอโตะ คัง ระบุเมื่อวันศุกร์(25)ว่า สถานการณ์ที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางเหนือราว 250 กิโลเมตร ไม่ได้กำลังเลวร้ายลง แต่ก็ “ไม่ได้อยู่ใกล้เคียงกับจุด” ของการคลี่คลายปัญหา
คำพูดของเขาเป็นการสะท้อนให้เห็นอย่างดีถึงความหวาดหวั่นที่กลับพุ่งทะยานขึ้นมาใหม่ในญี่ปุ่น ภายหลังจากเกิดความสบายอกสบายใจขึ้นมากในช่วงหลายๆ วันที่ผ่านมา เมื่อมีความคืบหน้าอย่างเชื่องช้าทว่าสม่ำเสมอในการเข้าควบคุมวิกฤตนิวเคลียร์คราวนี้ ซึ่งปะทุขึ้นเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิครั้งร้ายแรงถล่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน
ตามคำแถลงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติของญี่ปุ่น ณ เวลา 15.00 น. (13.00 น.เวลาเมืองไทย) สามารถยืนยันผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติคราวนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 10,066 คน และสูญหายอีก 17,443 คน แต่ทว่ากระทั่งตัวเลขเหล่านี้ก็ยังถูกบดบัง จากความเป็นไปได้ของความหายนะที่อาจจะเกิดขึ้นจากภาวะหลอมละลายทางนิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมะ
หลังจากมีรายงานข่าวในวันพฤหัสบดีว่า มีคนงาน 3 คนสัมผัสกับน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี ขณะที่พยายามเดินสายไฟฟ้าในเตาปฏิกรณ์เครื่องหนึ่งที่ได้รับความเสียหาย จนต้องส่งคนงานในจำนวนนี้ 2 คนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน ในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ของบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ (เท็ปโก) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าแห่งนี้แจ้งว่า ผู้ได้รับบาดเจ็บทั้ง 2 สวมชุดป้องกันรังสีทว่าสวมรองเท้าที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งยังเพิกเฉยไม่สนใจการเตือนภัยจากอุปกรณ์วัดกัมมันตภาพรังสีของพวกเขาเอง
เท็ปโกบอกว่า คนงานเหล่านี้กำลังติดตั้งสายไฟฟ้าที่บริเวณชั้นล่างสุดของอาคารกังหันไอน้ำของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 3 เมื่อตอนที่พวกเขาก้าวลงไปในน้ำซึ่งมีสารกัมมันตรังสีไอโอดีน, ซีเซียม, และโคบอลต์ เกินกว่าระดับปกติถึง 10,000 เท่า
พวกเจ้าหน้าที่ของเท็ปโกยังไม่สามารถระบุได้ว่า น้ำปนเปื้อนรังสีสูงมากเหล่านี้ได้รั่วไหลออกมาจากส่วนแกนกลางของเตาปฏิกรณ์ หลังจากที่หม้อความดันสูงที่หุ้มส่วนแกนกลางนี้เอาไว้ได้เกิดรอยแตกร้าวขึ้นใช่หรือไม่
หากเกิดรอยร้าวในเตาปฏิกรณ์จริงๆ ย่อมหมายความว่าวิกฤตนิวเคลียร์คราวนี้จะกลับทรุดหนักลงอย่างสาหัสทีเดียว หลังจากที่บังเกิดความคืบหน้าอย่างช้าๆ ในการควบคุมการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีได้ดีขึ้นเรื่อยๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 นี้ เป็นเพียงเครื่องเดียวใน 6 เครื่องของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ที่ใช้เชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของแร่พลูโตเนียม อันจะมีพิษภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ยิ่งกว่าแร่ยูเรเนียมที่ใช้ในเตาปฏิกรณ์เครื่องอื่นๆ
รัฐบาลระบุว่า จะต้องมีการสอบสวนอย่างละเอียดว่า ทำไมจู่ๆ ระดับรังสีสูงปริ๊ดเช่นนี้จึงเพิ่งปรากฏออกมาเป็นข่าวในตอนนี้
มีวิศวกรและคนงานกว่า 700 คนทั้งที่เป็นพนักงานของเท็ปโกและของบริษัทอื่นๆ กำลังผลัดเปลี่ยนทำงานกันเป็นกะตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อทำให้เตาปฏิกรณ์ทั้ง 6 เครื่องของโรงไฟฟ้านี้อยู่ในภาวะเสถียร แต่ภายหลังที่คนงาน 2 คนได้รับบาดเจ็บ ก็มีการสั่งถอนคนออกมาบางส่วน
“น้ำปนเปื้อนรังสีที่มีปริมาณรังสีสูง 10,000 เท่าเช่นนี้ จะพบได้ในน้ำที่ไหลเวียน (อยู่ภายในหม้อควบคุมความดัน) จากเตาปฏิกรณ์ที่กำลังปฏิบัติงานอยู่ตามปกติ” ฮิเดฮิโกะ นิชิยามะ โฆษกของสำนักงานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นแถลง และระบุว่า “มีความเป็นไปได้ที่จะเตาปฏิกรณ์จะเกิดความเสียหาย”
แต่ในเวลาต่อมานิชิยามะบอกกับผู้สื่อข่าวว่า “มันอาจจะมาจากการปฏิบัติการระบายความดันก็ได้ และอาจจะมีน้ำบางส่วนรั่วไหลจากพวกท่อหรือจากพวกวาล์วต่างๆ ก็ได้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลใดๆ ที่บ่งชี้ว่ามีรอยแตกร้าว”
“ผมไม่เชื่อว่าหม้อควบคุมความดันได้รับความเสียหายทางกายภาพ อย่างเช่นเกิดการแตกร้าว เรายังไม่ทราบชัดเจนว่าน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีนี้ออกมาจากไหน -จากเตาปฏิกรณ์ หรือจากบ่อพักแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้ว”
ขณะที่ ฮิเดโอะ โมริโมโตะ ผู้อำนวยการคนหนึ่งของสำนักงานเพื่อทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานของญี่ปุ่น แถลงว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเตาปฏิกรณ์เครื่องนี้ไม่น่าจะร้ายแรงอะไร “ผมคิดว่าถ้าหากหม้อควบคุมความดันได้รับความเสียหายสาหัสร้ายแรงแล้ว รังสีที่รั่วออกมาน่าจะสูงกว่านี้มาก” เขากล่าว
ตั้งแต่ที่เกิดวิกฤตนิวเคลียร์ครั้งนี้ขึ้นใหม่ๆ ทางการญี่ปุ่นได้สั่งอพยพผู้คนที่อยู่รอบๆ โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ในรัศมี 20 กิโลเมตร พร้อมกับให้ผู้ที่อยู่วงรอบรัศมีห่างจากโรงงานระหว่าง 20 - 30 กิโลเมตรอยู่แต่ภายในบ้านอย่าออกมากลางแจ้ง ทว่าเมื่อวานนี้ ยูกิโอะ เอดาโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีและหัวหน้าโฆษกรัฐบาลได้สร้างความสับสน เมื่อออกมาบอกว่า ประชาชนราว 130,000 คนที่อยู่รอบรัศมีวงนอก ควรพิจารณาอพยพโยกย้ายออกมาด้วยความสมัครใจ ถึงแม้เขายืนยันว่า การพูดเช่นนี้เนื่องจากพิจารณาถึงความยากลำบากในการนำเอาสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เข้าไปส่งให้พื้นที่ตรงนั้น และนี่ไม่ใช่คำสั่งให้อพยพแต่อย่างไร
ที่ผ่านมาเอดาโนะแถลงยืนยันเรื่อยมาว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขยายพื้นที่อพยพ ถึงแม้เจ้าหน้าที่ผู้หนี่งในกระทรวงวิทยาศาสตร์ได้ออกมายืนยันว่า ระดับรังสีประจำวันที่พบในพื้นที่ซึ่งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้า 30 กิโลเมตร ได้พุ่งเกินขีดขั้นต่ำสุดที่มนุษย์ควรจะรับได้ภายในเวลา 1 ปีแล้ว
ไม่เพียงในแดนอาทิตย์อุทัย พวกประเทศเพื่อนบ้านก็ประสบเรื่องหวั่นหวาดเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสีจากญี่ปุ่นเช่นกัน โดยหน่วยงานเฝ้าระวังความปลอดภัยของทางการจีนแจ้งว่า ในวันพุธ(23)ได้ตรวจพบนักเดินทางชาวญี่ปุ่น 2 คน ที่ขึ้นเครื่องบินโดยสารจากกรุงโตเกียว มาลงที่เมืองอู่ซี มลฑลเจ้อเจียง ทางภาคตะวันออกของแดนมังกร มีระดับรังสีสูงกว่าปกติ จึงได้กักตัวไว้ในโรงพยาบาล แต่หลังจากตรวจสอบและ “ล้างการปนเปื้อน” แล้วก็ได้ปล่อยตัวชาวญี่ปุ่นทั้ง 2 โดยที่ระดับรังสีที่พบก็ยังไม่ได้เป็นอันตรายต่อเพื่อนร่วมทางคนอื่นๆ
นอกจากนั้น หน่วยงานเฝ้าระวังของจีนระบุด้วยว่า ยังตรวจพบรังสีบนเรือสินค้าญี่ปุ่นลำหนึ่งซึ่งจอดเทียบท่าที่เมืองเซียะเหมิน ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ตั้งแต่วันจันทร์(21)ที่ผ่านมา โดยจนกระทั่งถึงเมื่อวานนี้ เรือดังกล่าวก็ยังจอดอยู่ที่นั่น และทางการจะดำเนิน “มาตรการ” อย่างอื่นๆ ต่อไป แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดมากกว่านี้
อนึ่ง เมื่อวานนี้ จีนยังได้สั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์นมและผลิตภัณฑ์สัตว์, ผักและผลไม้จาก 5 จังหวัดของญี่ปุ่นที่อยู่รอบๆ โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ทางด้านไต้หวันและเกาหลีใต้ ก็ออกคำสั่งห้ามทำนองเดียวกัน