xs
xsm
sm
md
lg

2หน่วยงานรัฐอุ้มบุหรี่ อัยการเจอทางตันสั่งฟ้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-อัยการยันไม่มีใบสั่งรัฐบาลแทรกแซงกรณีสั่งไม่ฟ้องฟิลลิป มอร์ริส สำแดงราคาบุหรี่ต่ำจนทำรัฐเสียหาย 6.8 หมื่นล้าน พูดชัด 2 หน่วยงานรัฐ กรมศุลกากรและกรมสรรพสามิต บอกไม่ผิด จะให้สั่งฟ้องได้ยังไง ด้านสว.เรืองไกร เชิญ 5 หน่วยงานแจง แต่ดีเอสไอยังเบี้ยว อ้างติดภารกิจนายกฯ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ยกมือหนุนขึ้นภาษีบุหรี่ เชื่อลดผู้สูบหน้าใหม่ได้

นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ เปิดเผยถึงการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรว่ารัฐบาลแทรกแซงการทำงานของอัยการ เพื่อให้สั่งไม่ฟ้องบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ประเทศไทย) จำกัด กรณีสำแดงราคานำเข้าบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร และแอลแอนด์เอ็ม จากฟิลิปปินส์ ต่ำกว่าปกติทำให้รัฐเสียหายกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท วานนี้ (22 มี.ค.) ว่า รัฐบาลไม่สามารถแทรกแซงอัยการได้ เพราะอัยการพิจารณาจากข้อเท็จจริง โดยในสำนวนพบว่าแม้บริษัท ฟิลลิปฯ กับบริษัท คิงเพาเวอร์ จะนำเข้าบุหรี่ยี่ห้อเดียวกัน แต่แหล่งที่มา วิธีการจำหน่าย และค่าภาระภาษีของทั้งสองบริษัทแตกต่างกัน เนื่องจากบริษัท คิงเพาเวอร์ เป็นร้านค้าปลอดภาษี และบริษัท ฟิลลิปฯ นำเข้ามาจากประเทศฟิลิปปินส์ ส่วนบริษัท คิงเพาเวอร์ นำเข้าจากมาเลเซีย ผ่านบริษัทในประเทศสิงคโปร์ จึงทำให้ต้นทุนบุหรี่ของสองบริษัทแตกต่างกัน จึงไม่อาจกำหนดราคาให้เท่ากันได้ แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กลับเอาราคาจาก 2 แหล่งกำหนดมาพิจารณาประกอบในคราวเดียวกัน ซึ่งไม่สมเหตุสมผล

ทั้งนี้ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส มีภาระภาษีที่จะต้องชำระรวม 5 ประเด็น มากกว่าบริษัท คิงเพาเวอร์ คือ 1.บริษัท ฟิลลิปฯ เสียภาษีให้กรมศุลกากร โดยต้นทุนซองละ 7.76 บาท ต้องเสียภาษีร้อยละ 5 ต่อซอง 2.เสียภาษีแสตมป์ยาสูบราคา 40 บาท ต่อซอง 3.ต้องเสียให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร้อยละ 2 ต่อซอง 4.เสียภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ต่อซอง และ 5.เสียภาษีให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ดังนั้น ทำให้ บริษัท ฟิลลิปฯ ต้องขายบุหรี่ ซองละ 125 บาทต่อซอง ซึ่งเกินกว่าราคาที่กรมสรรพสามิตกำหนดให้ขายไม่เกินซองละ 55 ถึง 78 บาท ถ้าบริษัท ฟิลลิปฯ จะขายบุหรี่ให้ได้ ก็ต้องขายในราคาต้นทุนบวกภาษีที่เหมาะสม และราคาต้องไม่เกิน 78 บาท จึงจะขายได้ ต่อมาทางบริษัท ฟิลลิปฯ จึงไปฟ้ององค์การการค้าโลก (WTO) และรัฐแพ้คดี ขณะนี้อยู่ระหว่างอุทธรณ์

ส่วนการที่อัยการสั่งไม่ฟ้องบริษัท ฟิลลิปฯ เพราะทางกรมศุลกากรส่งเอกสารมาให้อัยการวันที่ 8 ต.ค.2552 หลังจากที่ดีเอสไอส่งสำนวนพร้อมความเห็นให้อัยการ โดยนางฉวีวรรณ คงเจริญกิจกุล รองอธิบดีกรมศุลกากร ได้เข้าตรวจสอบการชำระภาษีแล้วไม่พบความผิด และเอกสารนี้เพิ่งมาปรากฏในชั้นพิจารณาสั่งคดีของอัยการ ซึ่งไม่เคยปรากฏในชั้นสอบสวนกับดีเอสไอ ดังนั้น อัยการจึงมีคำสั่งให้สอบเพิ่มเติมในประเด็นนี้ โดยให้สอบสวนนางฉวีวรรณ ซึ่งเมื่อกรมศุลกากรยืนยันว่าไม่พบความผิด แล้วอัยการจะเห็นว่าผิดได้อย่างไร เช่นเดียวกับกรมสรรพสามิตก็ยืนยันไม่พบความผิดเช่นกัน

“แม้อัยการจะร่วมสอบสวนคดีนี้กับดีเอสไอ แต่คนที่สรุปการสอบสวนและมีความเห็น คือ ดีเอสไอฝ่ายเดียว เมื่อดีเอสไอสั่งฟ้อง แต่อัยการสั่งไม่ฟ้อง ดีเอสไอก็ต้องรับสำนวนกลับไปพิจารณาอีกครั้ง หากมีความเห็นพ้องกับอัยการคดีก็เป็นอันยุติ แต่ถ้าดีเอสไอเห็นแย้ง ก็ต้องส่งให้อัยการสูงสุดชี้ขาด โดยส่วนตัวคาดว่าดีเอสไอคงเห็นควรสั่งไม่ฟ้องเช่นเดียวกับอัยการ เพราะเอกสารจากกรมศุลกากรที่บอกว่าไม่พบความผิดของบริษัท ฟิลลิปฯ เพิ่งมาปรากฏในสำนวนในภายหลังนี่เอง หากดีเอสไอยืนยันจะฟ้องก็เป็นอำนาจของอัยการสูงสุดจะชี้ขาดต่อไป” นายธนพิชญ์กล่าว

***"เรืองไกร"เชิญ5หน่วยงานรัฐแจงบุหรี่
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) การตรวจสอบการจัดเก็บรายได้ การใช้จ่ายเงินแผ่นดิน และการบริหารจัดการทรัพย์สินของแผ่นดิน ในกมธ.การเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา กล่าวว่า ได้เชิญดีเอสไอ อัยการ สรรพสามิต ศุลกากร และสรรพากร มาชี้แจงในกรณีที่เกิดขึ้น ซึ่งทางอัยการได้ระบุว่าดูรายละเอียดของคดีแล้ว ข้อเท็จจริงไม่ชัด เพราะหาการกำหนดราคาที่แท้จริงไม่ได้ แต่ตอนนี้ก็ยังไม่มีคำสั่งเด็ดขาดว่า จะไม่สั่งฟ้อง แต่ส่งเรื่องกลับไปให้ดีเอสไอ พิจารณาอยู่

"สิ่งที่กังวล คือ การที่กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต ระบุว่า ไม่ทราบที่ดีเอสไอ ประเมินตัวเลขภาษีที่ 6.8 หมื่นล้านบาท แยกเป็นภาษี เช่น ต้นเงินภาษี ภาษีสรรพสามิต อากรขาเข้า ภาษีท้องถิ่น ภาษีสสส. ภาษีมูลค่าเพิ่ม รายการละกี่บาท ยิ่งมีปัญหาเรื่องกำหนดราคาสำแดงที่แท้จริงไม่ได้ เกรงว่าสินค้าอื่นๆ จะใช้ช่องว่างนี้ ซึ่งจะกระทบระบบการจัดเก็บภาษีของประเทศอย่างมหาศาล และถ้าอัยการไม่ฟ้องอาญา หน่วยงานจัดเก็บภาษีก็ไม่สามารถไปฟ้องได้ ฉะนั้น ควรชะลอคดีอาญาไปก่อนหรือไม่ เพื่อให้การดำเนินการจัดเก็บภาษีทำเสร็จก่อน"

***ดีเอสไอเบี้ยวแจงอ้างติดภารกิจนายกฯ

อย่างไรก็ดี ในการประชุม ดีเอสไอ ไม่ได้มาชี้แจง 2 ครั้งแล้ว โดยนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ แจ้งว่า ติดภารกิจของนายกรัฐมนตรี ทั้งที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม แจ้งกับตนว่า ได้กำชับให้มาชี้แจงแล้ว ซึ่งสัปดาห์หน้าจะส่งหนังสือให้นายกฯ และนายพีระพันธุ์ ให้กำชับให้นายธาริต มาชี้แจง เพราะตอนที่ผู้แทนการค้าไทยเรียกไปชี้แจงที่ทำเนียบรัฐบาล ยังไปได้ แต่กรรมาธิการของวุฒิสภาเชิญไปกลับไม่มา นอกจากนี้ ขอเรียกร้องให้รัฐบาล มาตอบญัตติอภิปรายทั่วไปที่ ส.ว. 1 ใน 3 เข้าชื่อตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 ที่ค้างอยู่นานแล้ว จะได้พูดเรื่องนี้กันให้ชัดๆ และจะได้ให้ส.ว.ลองโหวตแบบไม่เป็นทางการว่าจะไว้วางใจรัฐบาลหรือไม่ด้วย เพราะประธานวุฒิสภา ยังออกมาระบุว่า เรื่องภาษีบุหรี่ รัฐบาลชี้แจงไม่ชัด และภาพรวมการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา รัฐบาลได้ 5 เต็ม 10 เท่านั้น

**หนุนคลังยกเครื่องจัดเก็บภาษีบุหรี่

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า การที่นายกรณ์ จาติกวนิช รมว.คลังประกาศเห็นชอบให้มีการแก้กฎหมาย เพื่อเปลี่ยนวิธีคำนวณภาษียาสูบ เนื่องจากวิธีการคำนวณภาษียาสูบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน นอกจากจะมีปัญหาในเรื่องที่ต้องมีภาระในการพิสูจน์ราคาต้นทุนบุหรี่ที่แท้จริง เหมือนกับกรณีที่เกิดขึ้นกับบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส แล้ว ยังต้องยกเครื่องการจัดเก็บภาษียาสูบทั้งระบบ ทั้งบุหรี่โรงงานและยาเส้นม้วนเองเพื่อให้ประเทศไทยได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากการใช้นโยบายการขึ้นภาษียาสูบ อันจะทำให้รัฐบาลมีรายรับจากภาษียาสูบเพิ่มขึ้นพร้อมๆ กับการที่ทำให้คนไทยสูบบุหรี่น้อยลง

**เชื่อขึ้นภาษีบุหรี่จะลดผู้สูบหน้าใหม่

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมสรรพสามิต ได้ยืนยันว่า จะมีการขึ้นภาษีบุหรี่อย่างแน่นอน โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการให้มีจำนวนผู้สูบน้อยลง เนื่องจากบุหรี่ถือว่าเป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหว หากมีการขึ้นราคาแล้ว ย่อมส่งผลให้มีจำนวนผู้สูบน้อยลงไปด้วย ส่วนแนวทางการปรับขึ้นภาษีจะเป็นไปในรูปแบบใดนั้น จะเป็นการดำเนินงานของกรมสรรพสามิต ซึ่งทางกรมควบคุมโรคเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้สอดคล้องการดำเนินงานในการรณรงค์ของกรมควบคุมโรคที่ต้องการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่หน้าใหม่ เนื่องจากราคาบุหรี่ในปัจจุบันแม้จะมีราคาอยู่ที่ซองละประมาณ 70-80 บาท แต่ก็ยังถือว่ามีราคาที่ถูกอยู่ และยังถือว่าเป็นราคาที่เยาวชนสามารถซื้อมาสูบได้ง่ายอยู่ ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็สนับสนุนแนวทางดังกล่าวโดยให้แต่ละประเทศใช้เป็นมาตรการในการรณรงค์ลดการสูบบุหรี่
กำลังโหลดความคิดเห็น