อธิบดีอัยการคดีพิเศษ ยันไม่มีใบสั่งรัฐบาลกรณีสั่งไม่ฟ้อง “ฟิลลิป มอร์ริส” ชี้ในชั้นอัยการปรากฏหลักฐานจากกรมศุลกากร-สรรพสามิต ระบุชัดไม่พบความผิดเลี่ยงชำระภาษีบุหรี่ 6.8 หมื่นล้านบาท จึงสั่งไม่ฟ้อง
วันนี้ (22 มี.ค.) นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ กล่าวถึงการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรทำนองว่ารัฐบาลแทรกแซงการทำงานของอัยการ เพื่อให้สั่งไม่ฟ้องบริษัท ฟิลลิป มอริส (ประเทศไทย) จำกัด กรณีสำแดงราคานำเข้าบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร และแอลแอนด์เอ็ม จากฟิลิปปินส์ ต่ำกว่าปกติทำให้รัฐเสียหายกว่า 6.8 หมื่นล้านบาทว่า รัฐบาลไม่สามารถแทรกแซงอัยการได้ เพราะอัยการพิจารณาจากข้อเท็จจริงในสำนวนพบว่า แม้ บริษัท ฟิลลิปฯ กับบริษัท คิงเพาเวอร์ จะนำเข้าบุหรี่ยี่ห้อเดียวกัน แต่แหล่งที่มาวิธีการจำหน่าย และ ค่าภาระภาษีของทั้งสองบริษัทแตกต่างกัน เนื่องจาก บริษัทคิงเพาเวอร์ เป็นร้านค้าปลอดภาษี และบริษัท ฟิลลิปฯ นำเข้ามาจากประเทศฟิลิปปินส์ ส่วนบริษัท คิงเพาเวอร์ นำเข้าจากมาเลเซีย ผ่านบริษัทในประเทศสิงคโปร์ จึงทำให้ต้นทุนบุหรี่ของสองบริษัทแตกต่างกัน จึงไม่อาจกำหนดราคาให้เท่ากันได้ แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กลับเอาราคาจาก 2 แหล่งกำหนดมาพิจารณาประกอบในคราวเดียวกัน ซึ่งไม่สมเหตุสมผล
นายธนพิชญ์กล่าวว่า บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส มีภาระภาษีที่จะต้องชำระรวม 5 ประเด็น มากกว่า บริษัท คิงเพาเวอร์ คือ (1) บริษัท ฟิลลิปฯ เสียภาษีให้กรมศุลกากร โดยต้นทุนซองละ 7.76 บาท ต้องเสียภาษีร้อยละ 5 ต่อซอง (2) เสียภาษีแสตมป์ยาสูบราคา 40 บาท ต่อซอง (3) ต้องเสียให้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร้อยละ 2 ต่อซอง (4) เสียภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ต่อซอง และ (5) เสียภาษีให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ดังนั้นทำให้ บริษัท ฟิลลิปฯ ต้องขายบุหรี่ ซองละ 125 บาทต่อซอง ซึ่งเกินกว่าราคาที่กรมสรรพสามิตกำหนดให้ขายไม่เกินซองละ 55 ถึง 78 บาท ถ้า บริษัท ฟิลลิปฯ จะขายบุหรี่ให้ได้ ก็ต้องขายในราคาต้นทุนบวกภาษีที่เหมาะสม และราคาต้องไม่เกิน 78 บาท จึงจะขายได้ ต่อมาทางบริษัท ฟิลลิปฯ จึงไปฟ้อง องค์การการค้าโลก (WTO) และรัฐแพ้ คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์
นายธนพิชญ์กล่าวว่า ที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง บริษัท ฟิลลิปฯ เพราะทางกรมศุลกากรส่งเอกสารมาให้อัยการ วันที่ 8 ต.ค.2552 หลังจากที่ดีเอสไอส่งสำนวนพร้อมความเห็นให้อัยการ โดยนางฉวีวรรณ คงเจริญกิจกุล รองอธิบดีกรมศุลกากร ได้เข้าตรวจสอบการชำระภาษีแล้ว ไม่พบความผิด และเอกสารนี้เพิ่งมาปรากฏในชั้นพิจารณาสั่งคดีของอัยการ ซึ่งไม่เคยปรากฏในชั้นสอบสวนกับดีเอสไอ ดังนั้น อัยการจึงมีคำสั่งให้สอบเพิ่มเติมในประเด็นนี้โดยให้สอบสวนนางฉวีวรรณ รองอธิบดีกรมศุลกากร ซึ่งเมื่อกรมศุลกากรยืนยันว่า เห็นว่าไม่พบความผิดแล้วอัยการจะเห็นว่าผิดได้อย่างไร เช่นเดียวกับกรมสรรพสามิตก็ยืนยันไม่พบความผิดเช่นกัน
“แม้อัยการจะร่วมสอบสวนคดีนี้กับดีเอสไอ แต่คนที่สรุปการสอบสวนและมีความเห็นคือดีเอสไอฝ่ายเดียว เมื่อดีเอสไอสั่งฟ้อง แต่อัยการสั่งไม่ฟ้อง ดีเอสไอก็ต้องรับสำนวนกลับไปพิจารณาอีกครั้ง หากมีความเห็นพ้องกับอัยการคดีก็เป็นอันยุติ แต่ถ้าดีเอสไอเห็นแย้ง ก็ต้องส่งให้อัยการสูงสุดชี้ขาด โดยส่วนตัวคาดว่าดีเอสไอคงเห็นควรสั่งไม่ฟ้องเช่นเดียวกับอัยการ เพราะเอกสารจากกรมศุลกากรที่บอกว่าไม่พบความผิดของบริษัทฟิลลิปฯ เพิ่งมาปรากฏในสำนวนในภายหลังนี่เอง หากดีเอสไอยืนยันจะฟ้องก็เป็นอำนาจของอัยการสูงสุดจะชี้ขาดต่อไป” นายธนพิชญ์กล่าว