ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ที่ตลาดลอนดอน และราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส (WTI) ที่ตลาดนิวยอร์กต่างปิดที่ราคากว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
จนนักวิเคราะห์จากญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันดิบจะถีบตัวขึ้นไปสูงถึง 220 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ(ไออีเอ)เปิดเผยว่า ในช่วงเวลาเกิดวิกฤตสงครามกลางเมืองรุนแรงในลิเบีย ปริมาณน้ำมันกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวันไม่ได้เข้าสู่ตลาด จากปริมาณน้ำมันทั้งหมด 1.6 ล้านบาร์เรลของลิเบีย นั่นคือตลาดน้ำมันของโลกได้ขาดน้ำมันจากลิเบียเป็นจำนวนถึง 2 ใน 3 จากที่เคยได้รับจากการส่งออกของลิเบีย
ทำให้ราคาน้ำมันดิบ งวดส่งมอบล่วงหน้าเดือนเม.ย. ทำสถิติปรับตัวสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 2 ปีครึ่ง
ไออีเอยังคาดการณ์ว่า ปัญหาปริมาณน้ำมันที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลให้ราคาน้ำมันมีโอกาสปรับตัวสูงถึง 200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากปัจจุบันราคาน้ำมันยืนอยู่ที่ระดับ 105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันได้ปรับตัวลดลงเพียงเล็กน้อย เมื่อกลุ่มโอเปคเตรียมเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมัน เพื่อทดแทนอุปทานน้ำมันที่ขาดหายไปจากความรุนแรงทางการเมืองในลิเบีย
สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ออกรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์การผลิตน้ำมันในปัจจุบันว่า ประเทศซาอุดิอาระเบียได้เพิ่มกำลังการผลิต 300,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 9 ล้านบาร์เรลต่อวันตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
การผลิตน้ำมันดิบรายเดือนใหม่คาดการณ์ว่า กำลังการผลิตทั้งหมดของโอเปคจะลดลงมาจาก 29.79 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนกุมภาพันธ์ มาอยู่ที่ 28.95 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนมีนาคม เนื่องจากการลดลงของปริมาณน้ำมันจากลิเบีย
ในด้านสถานการณ์ราคาน้ำมัน แผนกวิเคราะห์ของธนาคารโนมูระของญี่ปุ่น ประเมินว่า ราคาน้ำมันอาจปรับตัวสูงขึ้นเป็น 220 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์วุ่นวายในอัลจีเรีย ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน(โอเปค)
นอกจากนั้นการเลือกตั้งในไนจีเรีย อาจจะส่งผลทางลบต่อราคาน้ำมัน หากผลเกิดความวุ่นวายขึ้นในการเลือกตั้ง
สถานการณ์ราคาน้ำมันจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก โดยเฉพาะสหรัฐ ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงการฟื้นตัว แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
โดยราคาน้ำมันโลกได้เพิ่มขึ้นมาแล้วกว่า 20% ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่จะสร้างความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐเท่านั้น แต่กำลังสร้างความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจของเอเชีย ซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาเงินเฟ้ออยู่ โดยคาดว่าราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นจะยิ่งเป็นการกระตุ้นให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ในเอเชียต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น
เดนนิส ล็อกฮาร์ต ประธานธนาคารกลางสหรัฐสาขาแอตแลนตา ให้ความเห็นว่า ถ้าราคาน้ำมันยังคงไต่ระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องดังที่เป็นอยู่นี้ อาจจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องออกมาตรการทุ่มซื้อสินทรัพย์รอบใหม่ หรือมาตรการ QE-3 (Quantitative Easing)
เมื่อเดือน พ.ย.ปีที่แล้ว เฟดได้ประกาศใช้นโยบาย QE-2 ด้วยการพิมพ์เงินดอลลาร์มูลค่ากว่า 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ นำเงินไปซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาล ทำให้ราคาพันธบัตรสูงขึ้น ในทางตรงกันข้ามอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐจะอยู่ในระดับต่ำต่อไป ส่งผลในด้านบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐอย่างเห็นได้ชัด แต่มาตรการดังกล่าวทำให้กระแสทุนไหลออกจากสหรัฐมายังเอเชียอย่างร้อนแรงจนทำให้ค่าเงินเอเชียแข็งค่าขึ้นเกือบทั่วภูมิภาค
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก คาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐยังคงอยู่ในระดับ 0% ต่อไปในปีนี้ จะส่งผลให้สกุลเงินเอเชียให้แข็งค่าอย่างต่อเนื่องในปีนี้เช่นกัน
ด้านวอลสตรีท เจอร์นัล รายงานว่า ปัญหาอย่างหนึ่งของตลาดน้ำมันที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ก็คือ น้ำมันจากลิเบียเป็นน้ำมันประเภทดิบเบา (ไลต์สวีต) ซึ่งเป็นชนิดที่หาทดแทนได้ยากจากแหล่งอื่น อีกทั้งน้ำมันดิบไลต์สวีตยังเป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่าน้ำมันในชนิดอื่นๆ เนื่องจากเอื้อต่อกระบวนการผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง และเป็นต้องการของกลุ่มประเทศยุโรปเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กลับมีมุมมองที่ตรงกันข้ามกับความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลก และปัญหาราคาน้ำมันดังกล่าว
“คณะกรรมการนโยบายการเงิน คาดว่า หากสถานการณ์ในตะวันออกกลางไม่ลุกลามจนกระทบอุปทานน้ำมันในตลาดโลก ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เร่งขึ้นในระยะนี้ ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ” ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาล ผู้ช่วยผู้ว่า สานโยบายการเงิน ธปท.อธิบายผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธปท. เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 จากร้อยละ2.25 เป็นร้อยละ 2.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที เพื่อลดแรงกดดันภาวะเงินเฟ้อ
คณะกรรมการฯยังเห็นว่า เศรษฐกิจโลกยังมีแรงขับเคลื่อนต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นตามการบริโภคที่เพิ่มขึ้น และมีสัญญาณการฟื้นตัวของการจ้างงานภาคเอกชน และอัตราการว่างงานที่ลดลง
เศรษฐกิจยุโรปได้ขยายตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป จากการแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจหลักของโลก ส่วนเศรษฐกิจเอเชียยังขยายตัวแข็งแกร่งจากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่ดีอย่างต่อเนื่อง
ตัวเลขภาวะเศรษฐกิจไทยล่าสุดยังชี้ว่า มีแนวโน้มขยายตัวดี และต่อเนื่อง จากการส่งออกที่ขยายตัวดี การบริโภคภาคเอกชนที่ยังได้รับแรงสนับสนุนจากรายได้เกษตรกรและภาวะการจ้างงานที่ยังดีต่อเนื่อง การลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวตามภาคการผลิตและความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น รวมทั้งการใช้จ่ายของภาครัฐที่ยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่
“คณะกรรมการฯ ประเมินว่า ผลกระทบของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ คงไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย”
ภาวะเงินเฟ้อของไทย ยังไม่รุนแรงเท่ากับ สถานการณ์การเมืองที่มีคลื่นใต้น้ำค่อนข้างรุนแรง
การระดมทุนของพรรคประชาธิปัตย์ที่ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” แม่งานของพรรคบอกว่าได้มากกว่า 600 ล้านบาท บ่งบอกถึงการเมืองในปีนี้ได้ระดับหนึ่ง
อย่างน้ยอที่สุด ตัวเลขที่มากกว่าการระดมทุนทุกครั้งที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นว่า นักธุรกิจ นักการเมือง เลือกแทงหวย “ประชาธิปัตย์” มากกว่าครึ่ง จากราคาโต๊ะงานเลี้ยงที่ถูกตั้งราคาไว้อย่างต่ำโต๊ะละ 2.5 ล้านบาท และไม่เกิน 10 ล้านบาท
แม้กระทั่ง “แอ๊ด คาราบาว” หรือยืนยง โอภากุล นักธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง ก็ยังขึ้นเวทีประชาธิปัตย์เพื่อร้องเพลงเป็นครั้งแรกในชีวิต
หลังจากที่แอ๊ด มักแต่งและร้องเพลงให้พรรคที่มีนายทหารเป็นโต้โผเสียส่วนใหญ่
"ปณิธานของนักการเมือง" และ"เส้นทางประชาธิปไตย" เป็น 2 เพลงจากจำนวน 8 เพลงที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ให้แอ๊ดแต่งขึ้นมาใหม่ ถูกนำมาขับร้องโดยแอ๊ด คาราบาว
“ต้องกราบขอโทษสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถือว่าตัวเองเป็นเด็กน้อยทางการเมือง ไม่ประสีประสา ตอนนี้รู้แล้วว่า พรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคการเมืองที่ยืนอยู่เคียงข้างประชาชน และผมขอสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์” นั่นคือตอนหนึ่งของคำพูดนักธุรกิจที่ชื่อแอ๊ด คาราบาว
65 ปี พรรคประชาธิปัตย์ สามารถขยายแนวร่วมไปสู่ นักร้องเพลงเพื่อชีวิต (ตัวเอง) อีกรายหนึ่ง
แต่การขยายแนวร่วม เพื่อจัดตั้งรัฐบาลอีกวาระหนึ่งของประชาธิปัตย์ ยังขึ้นอยู่กับบทวิเคราะห์ทางการเมืองของ “บัญญัติ บรรทัดฐาน” ผู้อาวุโสคนสำคัญของพรรคในระหว่างการอบรวมผู้ที่ไดรับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ “รุ่นใหม่ อนาคตใหม่”เมื่อเร็วๆนี้ หรือคล้ายๆกับโครงการยุวประชาธิปัตย์ในอดีต
บัญญัติ วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองในช่วงนี้ว่า มีความวุ่นวาย เนื่องจากปัจจัย 5 ประการได้แก่
1) ปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หมักหมมไว้ เพราะผลประโยชน์ทับซ้อนจนนำไปสู่ความแตกแยกในหมู่ประชาชนและข้าราชการ โดยเฉพาะการยกเลิกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศ.อบต.)
2) สภาวะธรรมชาติทางการเมืองที่ใกล้จะมีการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงเกิดการชิงไหวชิงพริบระหว่างพรรคการเมือง
3) ยุทธศาสตร์ของพ.ต.ท.ทักษิณ และเครือข่ายคนเสื้อแดงที่ยึดถือ ยุทธศาสตร์ว่า ต้องป่วนเมืองไว้ก่อน เพื่อต้องการแสดงอิทธิฤทธิ์ให้เห็นว่าทำได้ โดยไม่ต้องการสร้างความปรองดอง ขณะนี้เครือข่ายดังกล่าวได้ทำงานการเมืองคู่ขนานกับระบบรัฐสภา
4) ยุทธศาสตร์ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ยืนยันว่าจะชุมนุมไปจนกว่าได้รับชัยชนะ แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศยุบสภา
5).ความยุ่งยากที่เป็นปัจจัยสำคัญ คือการนำทฤษฎีการเมืองนำการตลาด ด้วยการแย่งพื้นที่ข่าวระหว่างพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง
สาเหตุของการไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองทั้ง 5 ประการจากการวิเคราะห์ของบัญญัติ สามารถดูได้จากการที่แกนนำ นปช.เดินทางไปทวงรางวัลจากพรรคเพื่อไทย เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ประเภทบัญชีรายชื่อ
แม้กระทั่ง ชินวัฒน์ หาบุญพาด ยังบอกกับนักข่าวว่า ยุทธศาสตร์ที่ผ่านมานั้นใช้ 2 ขาก้าวเดิน คือ พรรคเพื่อไทยและกลุ่มนปช. ฉะนั้นเมื่อถึงโอกาสเลือกตั้ง จึงขออาสาลงสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ รวมทั้งพ.ต.ท.เสงี่ยม สำราญรัตน์ แกนนำนปช.ภาคตะวันออก
เพราะฉะนั้นทุกคนต้องเตรียมพร้อมและรับรู้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอน และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอนาคตจากราคาน้ำมัน การเลือกตั้ง และยุทธศาสตร์เสื้อแดงอันใกล้นี้