บอร์ด กบง.ถกวันนี้ เตรียมดึงเงินกองทุนฯ อุ้มดีเซลเพิ่มอีก 0.50 บาท/ลิตร ตามใบสั่งนายกฯ รวมเป็นชดเชย 5 บาท/ลิตร "พลังงาน" ห่วงกองทุนเดี้ยงไม่ถึงเดือนหน้า "มาร์ค" ปัดข้อเสนอใช้ภาษีสรรพสามิตร-ขยับเพดาน ยันบริหารจัดการได้หากตรึงดีเซลถึงสิ้นเดือน เม.ย. เงินกองทุนฯ ยังเหลืออีก 8 พันล้าน ย้ำต้องดูแลราคาสินค้า-ภาคขนส่ง "สามสี" ยอมรับ รัฐไม่สามารถตรึงราคาน้ำมันได้จนตราบชั่วฟ้าดินสลาย ปชช.ต้องยอมรับความจริง "แบงก์ชาติ" ห่วงสร้างความไม่เป็นธรรมผู้บริโภคน้ำมันเบนซิน
มีรายงานข่าวว่า คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ซึ่งมี นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้นัดประชุมกันในวันนี้ เพื่อพิจารณาอนุมัติการเพิ่มอัตราการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลให้กับผู้ค้าน้ำมันอีก 0.50 บาทต่อลิตรเนื่องจากค่าการตลาดต่ำเพียง 0.90 บาทต่อลิตร หลังราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การตรึงดีเซลไว้ที่ระดับ 29.99 บาทต่อลิตรครั้งนี้ ส่งผลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชดเชยรวมเป็น 5 บาทต่อลิตรแล้ว และมีผลให้กองทุนฯชดเชยเพิ่มจาก 247 ล้านบาทต่อวันเป็น 272 ล้านบาทต่อวัน
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าววว่า ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดยังปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบดูไบปรับเพิ่มขึ้น 2.6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 109 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาดีเซลตลาดสิงคโปร์ ปรับเพิ่มขึ้น 3.34 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 128.1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
"ค่าการตลาดน้ำมันดีเซล เหลืออยู่เพียง 0.90 บาทต่อลิตร ทำให้ขณะนี้ผู้ค้าน้ำมันต่างชาติได้ทยอยปรับขึ้นราคาในกลุ่มเบนซินและดีเซลไปแล้วตั้งแต่ 0.50 - 1.00 บาทต่อลิตร"
ปัจจุบันใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดูแลราคาดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาทไปแล้ว 8,500 ล้านบาท ซึ่งสถานะกองทุนน้ำมันฯมีเงินไหลออกติดลบอยู่ 7,400 ล้านบาท โดยมีเงินสดอยู่ 2.1 หมื่นล้านบาท ยังไม่หักลบกับภาระในการชดเชยราคาก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) และโครงการติดตั้งเอ็นจีวีฟรีในรถแท็กซี่ ซึ่งจะทำให้มีเงินกองทุนน้ำมันเหลืออยู่ระดับ 1.5-1.7 หมื่นล้านบาท ถ้ารัฐบาลยังยืนยันที่จะตรึงราคาดีเซลต่อไป สภาพคล่องของเงินทุนน้ำมันจะหมดภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 เดือน
โดยวานนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ขณะนี้ยังมีความจำเป็นต้องตรึงราคาดีเซลไว้ที่ระดับ 30 บาทต่อลิตร ต่อไปอีก ซึ่งการพิจารณาว่า ควรจะมีการปรับขึ้นเพดานราคาสูงกว่านี้หรือไม่ ควรจะเป็นหลังเดือนเมษายน 2554 แต่ยอมรับว่า ปัจจัยเหตุการณ์ในตะวันออกกลางและการเก็งกำไร มีผลให้ราคาน้ำมันขณะนี้พุ่งสูงขึ้นมาก ส่วนจะมีการปรับขึ้นราคาในประเทศอย่างไรนั้น ต้องคำนึงถึงเรื่องราคาสินค้าและค่าขนส่งด้วย
"ยังไม่มีการขยับเพดาน เพราะไม่เช่นนั้นสินค้าอื่นๆ หรือภาคขนส่งจะขอขึ้นราคา เพราะที่ผ่านมาเขาใช้เกณฑ์ตรงนี้ในการขึ้นราคา หรือค่าบริการต่างๆ ในชั้นนี้คิดว่า เราควรจะยึดแนวทางเดิมไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2554 เพราะขณะนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกแกว่งตัวค่อนข้างมาก แต่ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ในตะวันออกกลาง และการเก็งกำไร"
ส่วนการคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันอาจจะสูงถึง 130 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะคล้ายกับต้นปี 2551 แต่หลังจากนั้นจะราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นสูงจะลดลงค่อนข้างรวดเร็ว เพราะพื้นฐานความต้องการกับกำลังผลิตไม่น่าจะสูงขนาดนั้น แต่ที่สูงขนาดนั้นเกิดจากภาวะตระหนก และการเก็งกำไรบ้าง เพราะฉะนั้นจะเอาเป็นเกณฑ์เพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องดูความเป็นจริง
"เว้นแต่มีเหตุการณ์ปัญหาความรุนแรง กำลังการผลิตหายไปทันทีเท่าไหร่ ในโลกจะทำอย่างไร กระทรวงพลังงานต้องติดตาม เพราะผมคุยกับเขาทุกวันจันทร์-อังคารอยู่แล้ว เพราะอยู่ในกรอบของการปฏิรูป"
ส่วนกรณีที่กระทรวงพลังงานมีข้อเสนอให้ลดภาษีสรรพสามิต และเพิ่มเพดานในการตรึงราคาน้ำมันดีเซล นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนเองได้ยืนยันไปแล้วว่า ต้องเดินหน้าดูแลราคาน้ำมันดีเซลไปถึงสิ้นเดือนเมษายน 2554 ซึ่งตนเองได้สอบถามกับกระทรวงพลังงานไปแล้ว หากใช้กองทุนน้ำมันฯ ดูแลน้ำมันดีเซลต่อเนื่อง สิ้นเดือนเมษายนนี้ จะเหลือเงินในกองทุนน้ำมันประมาณ 8 พันล้านบาท
นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กรณีน้ำมันแพงต่อเนื่อง ตนมองว่าประชาชนต้องยอมรับความเป็นจริง ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น รัฐบาลจะไปควบคุมราคาน้ำมันตลอดไปคงไม่ได้ ซึ่งหลักของตน คือ ต้องทำให้ประชาชนอยู่กับความเป็นจริง ส่วนผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นต่อเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อที่ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ตนไม่ขอออกความเห็นขอให้เป็นอำนาจของ กนง.ในการดูแลเรื่องนี้
"รัฐบาลจะไปควบคุมราคาน้ำมันตราบชั่วฟ้าดินสลายคงไม่ได้ และไม่มีวันทำได้ เราต้องปรับให้ราคาน้ำมันในสะท้อนความเป็นจริง แต่ต้องค่อยๆ ทยอยปรับ ขณะเดียวกัน ต้องบอกให้ประชาชนเขาเข้าใจด้วย ราคาน้ำมันมันขึ้นไปแล้วนะ รัฐบาลไม่มีเงินจะมายันให้อยู่ราคาเดิม ส่วนการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันก็ค่อยว่ากันอีกที เพราะเป็นเรื่องรายได้ของรัฐบาล แต่หลักของผมคือว่า ประชาชนต้องอยู่กับความเป็นจริง"
ด้านนายทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักเศรษฐกิจมหาภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า นโยบายการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรนั้น หากรัฐบาลจะดำเนินการต่อเนื่องในระยะยาวน่าจะไม่เหมาะสม และ ธปท.ก็ไม่เห็นด้วย เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจหลายด้าน เช่น ทำให้เกิดการบิดเบือนโครงสร้างราคาน้ำมัน ส่งผลให้ประชาชนไม่เกิดการปรับตัวในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ขณะเดียวกันยังสร้างภาระด้านงบประมาณของรัฐบาลสูงมาก นอกจากนั้น การตรึงราคาน้ำมันบางประเภทเท่านั้นยังก่อให้เกิดความเลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม สำหรับคนใช้น้ำมันเบนซิน เพราะรัฐบาลได้นำราคาน้ำมันเบนซินไปชดเชยราคาน้ำมันดีเซล
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลมากกว่านั้น คือ ผลกระทบทางอ้อม จากความกังวลของสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศลิเบีย อาจจะส่งผลกระทบไปยังกลุ่มประเทศอื่นๆ ที่เป็นแหล่งผลิตน้ำมันสำคัญของโลก เช่น ไนจีเรีย และซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) หรือไม่ จนไปสร้างความคาดการณ์ล่วงหน้าว่า ราคาน้ำมันทั่วโลกจะต้องปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าปัจจัยพื้นฐาน และอาจจะส่งผลต่อเนื่องราคาสินค้าอื่น และการคาดการณ์ภาวะเงินเฟ้อ