xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กม.คุมม็อบ “มาร์ค”เผด็จการยิ่งกว่า “หมัก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในที่สุด ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ผ่านร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะในวาระที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา ด้วยคะแนน 229 ต่อ 85 เสียง โดยที่ ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้าน คือพรรคเพื่อไทย ได้ประท้วงร่างกฎหมายนี้ด้วยการไม่ยอมเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญแปรญัตติ

สำหรับเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะที่ผ่านวาระแรกเป็นร่างที่เสนอโดย ครม.ชุดที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี มีทั้งหมด 39 มาตรา มีหลักการและเหตุผล คือ เพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะในการชุมนุม มีสาระสำคัญ คือ มาตรา 8 การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออกสถานที่ ได้แก่ สถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระรัชทายาท รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ศาล และหน่วยงานของรัฐ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ สถานีขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล สถานศึกษา ศาสนสถานสถานทูต หรือสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศ

มาตรา 10 ผู้ใดจะจัดชุมนุมสาธารณะต้องแจ้งต่อผู้รับแจ้งคือ หัวหน้าสถานทีตำรวจในท้องที่ที่จะจัดชุมนุมไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมงก่อนเริ่มชุมนุม มาตรา 13 กรณีที่ผู้รับแจ้งเห็นว่า การชุมนุมนั้นขัดต่อมาตรา 8 ให้ยื่นคำขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งห้ามการชุมนุม โดยให้ศาลพิจารณาคำขอนั้นเร่งด่วน มาตรา 15 การชุมนุมสาธารณะที่ศาลมีคำสั่งห้ามชุมนุม ให้ถือว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา 16 ผู้จัดชุมนุม ต้องอยู่ร่วมการชุมนุมสาธารณะตลอดเวลาการชุมนุม ดูแลรับผิดชอบให้การชุมนุมเป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธ ดูแลไม่ให้เกิดการขัดขวางประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ ส่วนมาตรา 17 ผู้ชุมนุมต้องไม่ทำให้ผู้อื่นกลัวว่า จะเกิดอันตรายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และเสรีภาพ ไม่ขัดขวงหรือกระทำการใดที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนในการใช้ที่สาธารณะหรือคุ้มครองการชุมนุมสาธารณะนั้น มาตรา 19 ผู้ชุมนุมต้องเลิกชุมนุมตามเวลาที่แจ้งไว้

มาตรา 26 กรณีผู้ชุมนุม ชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมายและไม่เลิกชุมนุมตามคำสั่งศาล ให้เจ้าพนักงานประกาศให้พื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ควบคุมและประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่นั้นโดยเร็วและรายงานให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบทราบ มาตรา 27 เมื่อพ้นระยะเวลาตามมาตรา 26 ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดซึ่งหน้า และให้ผู้ควบคุมสถานการณ์ดำเนินการให้มีการเลิกชุมนุมโดยสามารถ ค้น จับผู้ที่ยังอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวได้

บทกำหนดโทษ มาตรา 30 ผู้จัดชุมนุมที่กระทบความสะดวกขอประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะโดยไม่ได้แจ้งการชุมนุม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 พันบาท มาตรา 31 ผู้ใดเชิญชวนให้ผู้อื่นมาชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น

เมื่อดูเนื้อหา ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะพบว่า มีบทบัญญัติที่เข้าข่ายการจำกัดสิทธิการชุมนุมเรียกร้องของประชาชนอย่างแน่นอน โดยเฉพาะ มาตรา 10 ที่กำหนดให้ผู้จัดการชุมนุมต้องแจ้งล่วงหน้าก่อนการชุมนุม 3 วัน ซึ่งหากพิจารณาตามข้อเท็จจริง เมื่อประชาชนประสบปัญหาความเดือดร้อน หลังจากมีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ แล้วไม่ได้รับการแก้ไข จนปัญหาความเดือดร้อนนั้นบานปลายออกไปและจำเป็นต้องใช้วิธีการชุมนุมกดดันให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน ก็อาจจะไม่สามารถจัดชุมนุมได้ ทั้งนี้ เพราะการต้องบอกล่วงหน้าถึง 3 วัน นอกจากจะไม่ทันการณ์แล้ว ประชาชนที่เดือดร้อนอาจจะเผชิญกับมาตรการสกัดกั้นจากรัฐบาล จนไม่สามารถจัดชุมนุมได้

หากจะย้อนไปดูที่มาที่ไปของ พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะจะพบว่า มีการเสนอมาตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 ซึ่งขณะนั้น มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ แต่กระนั้น ร่างกฎหมายที่มีลักษณะเผด็จการก็ยังถูก สนช.กลุ่มที่มีความคิดก้าวหน้า จนร่าง พ.ร.บ.นั้นตกไป

มาถึงยุครัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ในช่วงที่มีการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ โดยนายจุมพฏ บุญใหญ่ ส.ส.สกลนคร เมื่อครั้งยังสังกัดในพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลขณะนั้น แต่ด้วยกระแสต่อต้านจากพันธมิตรฯ ก็ทำให้สภาผู้แทนฯ ในช่วงนั้นยังไม่กล้าที่จะหยิบยกร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาแต่อย่างใด

จนกระทั่ง มาถึงรัฐบาลชุดนี้ ก็มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะขึ้นมาหลายร่างเข้าสู่การพิจารณาของสภา และเมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา ก็มีการพิจารณาถึง 5 ร่าง ได้แก่ ร่างของคณะรัฐมนตรี ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ร่างของพรรคเพื่อไทย 2 ฉบับ และร่างนายจุมพฎ บุญใหญ่ ส.ส.สกลนคร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็น ส.ส.พรรคพลังประชาชน โดยมีสาระสำคัญ คือ ควบคุมการชุมนุมในที่สาธารณะไม่ให้ไปจำกัดสิทธิของผู้อื่น และห้ามการชุมนุมโดยปิดสถานที่สำคัญ ซึ่งการจะจัดการชุมนุมผู้ชุมนุมต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ทราบล่วงหน้า 72 ชั่วโมง

แต่เมื่อเริ่มเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ สมาชิกพรรคเพื่อไทยได้ขอถอนร่างที่ตัวเองเคยเสนอประกบกับร่างของรัฐบาล ทั้ง 2 ร่างออกไป โดยอ้างว่า ไม่สามารถพิจารณาร่วมกันได้ เนื่องจากร่างของรัฐบาลมีหลายประเด็นที่เป็นเผด็จการ และหลักการก็มีความแตกต่างกันมาก

ในการประชุมพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ฝ่ายค้านได้อภิปรายคัดค้าน โดยชี้ประเด็นว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือให้กับผู้มีอำนาจกีดกันประชาชนไม่ให้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 และจะเป็นเครื่องมือให้ผู้มีอำนาจทั้งรัฐบาล ทหาร กลั่นแกล้ง ขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และมีการขนานนามกฎหมายฉบับนี้ว่าเป็น พ.ร.บ.สุเทพ เทือกสุบรรณ

ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลต่างอภิปรายสนับสนุนว่า สมควรที่จะมีการใช้กฎหมายมาควบคุมการชุมนุม เนื่องในช่วงหลัง การชุมนุมใช้เวลายาวนานมากขึ้น และยังมีการปิดล้อมสถานที่สำคัญต่างๆ และมีลักษณะที่รุนแรง

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาว่า ในการควบคุมดูแลการชุมนุมให้อยู่ในความสงบและเป็นไปด้วยความเรียบร้อยนั้น มีประมวลกฎหมายอาญาหลายมาตรา ซึ่งเป็นกฎหมายปกติที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถนำมาใช้ได้ แต่ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง แต่กลับทำตัวเป็นเครื่องมือของนักการเมือง ในบางครั้งก็กระทำการเกินกว่าเหตุ เช่น กรณีวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และบางครั้งก็ปล่อยเกียร์ว่าง เช่น กรณีการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่เจ้าหน้าที่ปล่อยให้เหตุการณ์บานปลายถึงขั้นมีการเผาบ้านเผาเมือง

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาจากการชุมนุม จึงต้องแก้ที่กลไกตำรวจหรือฝ่ายความมั่นคงมากกว่า แต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์กลับเลือกที่จะ ออกกฎหมายมาควบคุมการชุมนุมโดยเฉพาะ ซึ่งสะท้อนว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มีแนวทางที่เป็นประชาธิปไตยตามที่พยายามสร้างภาพแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น