xs
xsm
sm
md
lg

พท.ถอนร่าง กม.ชุมนุมฯ ซัด “จรกา” หัวหดกลัว พธม.-นปช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชัย ชิดชอบ
เพื่อไทย ถอนร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมในที่สาธารณะ ฉบับ “สุเทพ” ชี้ เป็นการติดอาวุธให้รัฐบาล เพื่อใช้ทหารขัดขวางเสรีภาพการชุมนุมของพันธมิตรฯ และ นปช.เท่านั้น สับอย่าดึงสถาบันศาลมายุ่งเกี่ยวการชุมนุมทางการเมือง แถมให้อำนาจ ตร.จับกุมผู้ชุมนุมหากฝ่าฝืน ถือว่าขัดต่อ รธน.

วันนี้ (9 มี.ค.) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ...วาระ 1 ซึ่งมีการเสนอจำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ 1.คณะรัฐมนตรี 2.พรรคประชาธิปัตย์ 3.พรรคเพื่อไทย 2 ฉบับ และ 4.นายจุมพฎ บุญใหญ่ ส.ส.สกลนคร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็น ส.ส.พรรคพลังประชาชน โดยมีสาระสำคัญ คือ ควบคุมการชุมนุมในที่สาธารณะไม่ให้ไปจำกัดสิทธิของผู้อื่น และห้ามการชุมนุมโดยปิดสถานที่สำคัญ ซึ่งการจะจัดการชุมนุมผู้ชุมนุมต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ทราบล่วงหน้า 72 ชั่วโมง

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ชี้แจงถึงหลักการและเหตุผลว่า พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ฉบับดังกล่าว ได้กำหนดหน้าที่ของการชุมนุมในที่สาธารณะ และผู้ที่เข้าร่วมชุมนุม และมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการชุมนุม ซึ่งผู้ที่จะจัดการชุมนุม ต้องแจ้งให้สถานีตำรวจที่อยู่ในเขตความรับผิดชอบรับทราบไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมงก่อนที่จะมีการชุมนุม และสามารถแจ้งขอกำลังเจ้าหน้าที่ให้ช่วยรักษาความปลอดภัยได้ อย่างไรก็ตาม ถ้าการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมายและผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามที่ประกาศไว้ ทางเจ้าหน้าที่ก็สามารถประกาศยกเลิกการชุนนุมได้ทันที แต่ถ้ายังไม่เลิกการชุมนุมตามที่ประกาศไว้ก็สามารถไปร้องต่อศาลเพื่อให้ออกคำสั่งยกเลิกการชุมนุม แต่ยังไม่เลิกก็สามารถเข้าจับกุมผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมได้ทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเริ่มเข้าสู่การพิจารณาสมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้ขอถอนร่างที่ตัวเองเคยเสนอประกบกับร่างของรัฐบาลออกไป คือ นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และ นายสถาพร มณีรัตน์ ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย โดยอ้างว่า ไม่สามารถพิจารณาร่วมกันได้ เนื่องจากร่างของรัฐบาลมีหลายประเด็นที่เป็นเผด็จการ และหลักการก็มีความแตกต่างกันมาก

อย่างไรก็ตาม ปัญหาความวุ่นวายได้เกิดขึ้น เนื่องจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทย จำนวน 13 คนได้แสดงตนเพื่อขอถอนชื่อจากการเป็นผู้ร่วมเสนอร่างกฎหมายของนายจุมพฎ เพราะเห็นว่าในเมื่อนายจุมพฎได้ออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชาชนแล้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่เมื่อครั้งเคยเป็น ส.ส.พรรคพลังประชาชน ก็ไม่มีเหตุผลที่จะร่วมเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อไป แต่นายจุมพฎ ยืนยันว่า ไม่ยอมถอน เนื่องจากรอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมา 3 ปีแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการประชุมเกิดการโต้เถียงกัน เนื่องจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลได้คัดค้าน โดยอ้างว่าขัดข้อบังคับการประชุมข้อ 53 ที่กำหนดให้การถอนร่าง พ.ร.บ.ออกจากการพิจารณา ต้องเป็นมติของที่ประชุมไม่ใช่เอกสิทธิ์ของ ส.ส.ทำให้บรรยากาศเริ่มตึงเครียด จนในที่สุด พ.อ.อภิวันท์ ซึ่งทำหน้าที่ประธานได้วินิจฉัยว่า จะถอนได้ต้องใช้มติในที่ประชุมตามข้อบังคับการประชุมสภา สุดท้ายพรรคเพื่อไทยจึงขอนับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ จนในที่สุด พ.อ.อภิวันท์ ได้มีการสั่งให้มีการตรวจสอบองค์ประชุมเพื่อให้มีการลงมติ ปรากฏว่า มีสมาชิกอยู่ในห้องประชุม 236 เสียง ถือว่าไม่ครบ ประธานจึงสั่งพักการประชุม 5 นาที

แต่เมื่อเปิดการประชุมขึ้นมาอีกครั้ง ฝ่ายค้านอ้างว่าผลการประชุมไม่ครบ สภาไม่สามารถประชุมต่อไปได้ จากนั้น นายชัย ชิดชอบ ประธานสภา ได้ขึ้นมาทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม แต่ฝ่ายค้านยังยืนยันให้มีการนับองค์ประชุมโดยการขานชื่อ ทำให้ต้องสั่งพักการประชุมอีก 10 นาที จากนั้นเมื่อเปิดการประชุมอีกครั้ง สมาชิกทำการกดบัตรแสดงตนเพื่อนับองค์ประชุม ปรากฏว่ามีสมาชิกอยู่ในห้องจำนวน 242 ถือว่าครบองค์

จากนั้นที่ประชุมได้เริ่มพิจารณา โดย ส.ส.ฝ่ายค้านได้อภิปรายคัดค้าน โดยอ้างว่าจะเป็นเครื่องมือให้กับผู้มีอำนาจกีดกันประชาชนไม่ให้สิทธิ์ตาม รธน.ม.63 และจะเป็นเครื่องมือให้ผู้มีอำนาจทั้งรัฐบาล ทหาร กลั่นแกล้ง ขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลต่างอภิปรายสนับสนุน ว่า สมควรที่จะมีการใช้กฎหมายมาควบคุมการชุมนุม เนื่องในช่วงหลัง การชุมนุมใช้เวลายาวนานมากขึ้น และยังมีการปิดล้อมสถานที่สำคัญต่างๆ และมีลักษณะที่รุนแรง

นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน เพื่อไทย กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบัยนี้ และเชื่อว่า รัฐบาลต้องการใช้กฎหมายปราบการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ แน่นอนหากยืนยันว่าจะต้องมีก็ควรไปรับปรุงเรื่องศาลไม่ควรเอาเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นการมัดมือชก ใครเป็นรัฐบาลควรรับผิดชอบเออจากการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาล

“ผมขอเรียกกฏหมายฉบับนี้ว่า เป็น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ฉบับ สุเทพ เทือกสุบรรณ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาเหตุที่พรรคเพื่อไทยพยายามให้มีการถอนร่างของนายจุมพฎ เนื่องจากที่มาของการเสนอร่างกฎหมายเกิดขึ้นเมื่อสมัยรัฐบาลพลังประชาชน ต้องการใช้กฎหมายฉบับนี้เป็นเครื่องมือในการควบคุมการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่ขณะนี้จะมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง และกลุ่ม นปช.ในเร็วๆ นี้ ดังนั้น หากมีการนำกฎหมายฉบับนี้มาใช้ อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการชุมนุมของกลุ่มดังกล่าวได้
กำลังโหลดความคิดเห็น