xs
xsm
sm
md
lg

ครป.ประณาม “รัฐอาชญากร” ผ่าน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ปิดช่องสอบ รบ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์คัดค้านที่ประชุมสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะวาระแรก ชี้ ขัดต่อ กม.รธน.และจำกัดสิทธิเสรีภาพเพื่อห้ามการชุมนุม ส่อปิดกั้นการทำงานของภาคประชาชนในการตรวจสอบการบริหารของฝ่ายการเมือง เข้าข่ายรัฐอาชญกร หวังยืมมือ จนท.รัฐใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม

วันนี้ (11 มี.ค.) นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ กฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีสาระสำคัญสรุปได้ว่า ตามที่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ฉบับ พ.ศ.... ซึ่งเสนอโดยคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2554 ด้วยคะแนน 299 ต่อ 85 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อแปรญัตติ ดังเป็นที่รับทราบแล้วนั้น คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ขอแถลงท่าทีต่อกรณีดังกล่าวดังนี้

1.เราขอคัดค้านร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ฉบับ พ.ศ.... ซึ่งเสนอโดยคณะรัฐมนตรี เนื่องจากบทบัญญัติในร่างกฎหมายดังกล่าว ทำให้เกิดการลิดรอนในการใช้เสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะทำให้ใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมทำได้ยาก และถูกจำกัดสิทธิมากยิ่งขึ้น

2.เราเห็นว่า สาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าวแท้ที่จริง ก็คือ การห้ามการชุมนุมมากกว่าการให้สิทธิเสรีภาพการชุมนุมแก่ประชาชน เช่น การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออกสถานที่ เช่น รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ศาล และหน่วยงานของรัฐ สถานศึกษา เป็นต้น หรือ กรณีผู้ใดประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะและการชุมนุมนั้นกระทบต่อความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ ให้มีหนังสือแจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมง โดยให้ถือว่าผู้เชิญชวน หรือผู้นัดหมายให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด รวมทั้งผู้ขออนุญาตใช้สถานที่ หรือเครื่องขยายเสียง หรือขอให้ทางราชการอำนวย ความสะดวกในการชุมนุม เป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะตามวรรคหนึ่ง ยิ่งจะทำให้ประชาชนไม่กล้าใช้สิทธิมาชุมนุม

3.เราเห็นว่า การชุมนุมที่จะต้องทำหนังสือแจ้งล่วงหน้าต่อผู้บัญชาการตำรวจนครบาลก่อน ในกรณีพื้นที่ กทม.หรือกับผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่จังหวัดที่จัดการชุมนุมไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมงนั้น ยิ่งจะเป็นข้อจำกัด ทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิในการชุมนุมได้ อีกทั้งหากผู้จัดการชุมนุมไม่พอใจผลการพิจารณา ก็ให้ยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อพิจารณาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ แจ้งผลการพิจารณาตามวรรคสอง โดยให้ถือว่าคำสั่งของศาล ตามมาตรานี้ให้ถือเป็นที่สิ้นสุด ยิ่งทำให้สิทธิในการชุมนุมของประชาชนได้เป็นไปได้ยากยิ่ง อีกทั้งร่างกฎหมายดังกล่าวยังกำหนดโทษ ผู้ที่ฝ่าฝืนจัดการชุมนุม และเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยมีโทษหนักสุดจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับไว้อีกด้วย

4.เราขอยืนยันว่า การใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนไหวเพื่อตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร ซึ่งในบางเรื่อง ภาคประชาชนไม่อาจใช้กลไกอื่นในการทำงานตรวจสอบได้โดยตรง นอกจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเคลื่อนไหว อันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งองค์กรของรัฐจะมาละเมิดมิได้ ดังนั้น การที่รัฐได้ออกกฎหมายเพื่อสร้างกลไกทำลายสิทธิลิดรอนเสรีภาพของบทบัญญัติดังกล่าว โดยใช้เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเครื่องมือสกัดกั้นการชุมนุมเพื่อตรวจสอบผู้ใช้อำนาจรัฐ ยิ่งทำให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจและอาจก่อให้เกิดความรุนแรงต่อประชาชนได้ ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับ “รัฐอาชญากร”

ท้ายที่สุด คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จักได้เรียกร้องและประสานงานกับเครือข่ายองค์กรประชาชน องค์กรประชาชนต่างๆ เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญัติการชุมนุมสาธารณะดังกล่าวจนถึงที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น