ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่คนไทยรอคอยค่อนข้างลงตัวแล้ว ทั้งจำนวนวันอภิปรายและกำหนดวันเวลาแล้ว โดยจะใช้เวลา 4 วัน 4 คืน ซึ่งได้รับการยืนยันจากผู้นำรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และวิปรัฐบาลแล้วว่า โอเค ไม่มีปัญหา แต่ก็ยังไม่นิ่ง สุดท้ายอาจมีการขยับขยายเปลี่ยนแปลงได้
แต่ถ้าเป็นไปตามนี้ ศึกซักฟอกรอบนี้ ที่เบื้องต้นวิปรัฐบาลไฟเขียวแล้วให้เป็นช่วงวันที่ 9-12 มีนาคม ประชาชนได้ดูได้ฟังกันหูตาแฉะแน่ ว่ามีเรื่องชั่วอะไรบ้าง ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ทำผิด-ทุจริต-โกงกิน-ลุแก่อำนาจ -บริหารงานผิดพลาดอะไรบ้าง
หากฝ่ายค้านพรรคเพื่อไทยเตรียมข้อมูลมาแน่น วิธีการอภิปรายพูดเน้นๆ เนื้อๆ ไม่ใช้เวทีสภาเป็นช่องทางเอาดีเข้าตัว เอาความชั่วโยนให้คนอื่น รับประกันว่าคราวนี้ได้โกยคะแนนนิยมเป็นกอบเป็นกำแน่ เช่นเดียวกับ ฝ่ายนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และอีก 9 รัฐมนตรี ที่ถูกขึ้นบัญชีดำเตรียมตัวมาดี รู้ความลับว่าเพื่อไทยกุมข้อมูลอะไรไว้ รู้ว่าแนวทางการอภิปรายจะออกมาแบบนไหน สามารถสวนกลับทุกเม็ดด้วยชั้นเชิงจัดจ้านเก๋าเกมกว่า ก็จะใช้เวทีนี้เป็นที่แสดงผลงาน โชว์ความสามารถของตัวเองได้ท่ามกลางการติดตามจากประชาชนนับล้านๆคนที่เฝ้าชม ก็ถือว่าพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสไปเลย
แต่ดูจาก 10 รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายแล้ว คนที่น่าห่วงดูแล้วอาจไม่ใช่ อภิสิทธิ์ หรือสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี หรือ ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย แม้แต่ เจ๊วา พรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เพราะต้องไม่ลืมว่า พวกนี้เป็นนักการเมืองอาชีพ แถมเป็นนักการเมืองมีสังกัด มีไพร่พลในมือที่เป็นลูกพรรค-ส.ส.สังกัดเดียวกัน พร้อมจะคอยช่วยเหลือในการตัดเกมของฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเป็นการตีรวน หรือการประท้วง ให้การอภิปรายของฝ่ายค้านสะดุด หรือเสียสมาธิ เพื่อช่วยรัฐมนตรีที่กำลังเพลี่ยงพล้ำ
แต่คนที่น่าห่วงจริงๆ ก็เป็น กษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ที่แม้จะเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐมนตรีโควต้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่ กษิต ก็ไม่มีพวกในพรรคคอยช่วยเหลือ แถมกษิต ยังโตเร็วกว่าคนอื่น แค่มาอยู่กับประชาธิปัตย์ก่อนเลือกตั้งปี 50 ไม่กี่อาทิตย์ ไม่ค่อยได้ช่วยงานอะไรพรรค แต่จู่ๆ ก็โผล่พรวดขึ้นมาเป็นรมว.ต่างประเทศเลย ทำให้ส.ส.หลายคนที่จ่อคิวอยู่ต้องผิดหวัง อีกทั้งต้องยอมรับความจริงว่า ส.ส.ประชาธิปัตย์ จำนวนไม่น้อย ก็ไม่พอใจการทำงานของกษิต ในเรื่องเขาพระวิหารและการบริหารสัมพันธ์ทางการทูตกับกัมพูชา
หลายฝ่ายจึงเชื่อว่า กษิต ที่เป็นคนเบรกแตกง่าย รอบนี้หากโดนทุบหนักๆ โดนต้อนหน้าต้อนหลังโดยไม่มีตัวช่วยในสภาที่เป็นส.ส.ปชป.คอยตัดเกมให้ กษิต ก็มีสิทธิ์น็อตหลุดกลางสภาได้ทุกเมื่อ
ทีมข่าวการเมืองASTVผู้จัดการ ขอให้จับตา ผลโหวตอภิปรายรอบนี้ หากไม่มีปัจจัยแทรกซ้อนการเมืองเหมือนเช่นครั้งที่แล้ว ที่พรรคเพื่อแผ่นดินโหวตสวน ชวรัตน์ กับโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม คนที่จะได้คะแนนน้อยที่สุด เต็งหนึ่ง ยังต้องยกให้ “กษิต ภิรมย์”
อย่างไรก็ดี อาจมีเหตุที่กษิตไม่ต้องกลายเป็นรมต.ที่ได้รับเสียงไว้วางใจน้อยสุด เมื่อแกนนำรัฐบาลและวิปรัฐบาล ลงมาคุมเสียงอย่างหนัก ช่วงอภิปรายวันสุดท้าย ก่อนโหวตเสียง เพื่อให้เสียงไว้วางใจได้เท่ากัน จะได้ไม่เกิดปัญหาว่า รัฐบาลขาดเสถียรภาพ อีกทั้งกรณีของกษิต ถือเป็นหน้าตาของประเทศ แกนนำรัฐบาล และวิปรัฐบาล อาจหวั่นเกรงว่าหากกษิตได้เสียงวางใจน้อยสุด อาจทำให้เสียเครดิตในทางการเมืองต่างประเทศ โดยเฉพาะกับการเล่นเกมการทูตกับกัมพูชา แบบนี้ กษิต ก็อาจรอดตัวไม่เสียหน้า
การยื่นซักฟอกรัฐบาลอภิสิทธิ์ของพรรคเพื่อไทยรอบนี้ ยื่นอภิปราย 10 รัฐมนตรี ประกอบด้วย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร องอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
บนเหตุผลหลักที่ฝ่ายค้านจำต้องยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ และระบุไว้ในญัตติครั้งนี้ว่าเป็นเพราะอภิสิทธิ์และรัฐมนตรีอีก 9 คน ได้ร่วมกันบริหารราชการแผ่นดินจนล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ ไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่ในการบริหาราชการแผ่นดินตามที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา และไม่เป็นไปตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน และแผนการตรากฎหมายที่จัดทำไว้
อีกทั้งยังกำหนดนโยบายในการบริหารราชการในกระทรวง ทบวง กรม ไม่ถูกต้อง ไร้ทิศทาง ไม่ดูแลให้มีการปฎิบัติและบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างถูกต้องเป็นธรรม
“ลุแก่อำนาจ มุ่งใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็นเพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในทุกด้าน ซ้ำร้ายยังมุ่งหาประโยชน์โดยทุจริตจากการบริหารราชการแผ่นดินที่อ้างว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายพิเศษ ในการปราบปรามประชาชนที่ชุมนุม”
จะพบว่า 10 รัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรีจากแค่สองพรรคคือ ประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า พรรคเพื่อไทยไม่ยอมแตะรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาลอื่น เช่น ชาติไทยพัฒนา รวมชาติพัฒนา กิจสังคม มาตุภูมิ และโดยเฉพาะพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ที่เป็นตัวหลักในการสั่งปราบปรามคนเสื้อแดง ในเหตุการณ์พฤษภา 53 ก็ไม่มีชื่ออยู่ในบัญชีด้วย ทั้งที่น่าจะโดนเต็มๆ จึงมองกันว่าเป็นเพราะเพื่อไทยหวังผูกสัมพันธ์ ทอดไมตรีกับพรรคการเมืองเหล่านี้ และจะได้ตั้งรัฐบาลด้วยกันหลังการเลือกตั้ง
ทีมข่าวการเมืองฯ รู้มาว่าพรรคเพื่อไทยมีข้อมูลที่โยงไปไม่ถึงรัฐมนตรีจากพรรคอื่น ที่ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย และมีหลักฐานแน่นหนาเห็นพฤติกรรมชั่วร้ายพอที่จะเอามาแฉในสภาได้หลายคน สุดท้ายก็เก็บชื่อเข้าลิ้นชักไป
เช่นก่อนหน้าที่เพื่อไทยจะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่กี่วัน ก็มีข่าว่ามี สุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ติดโผ 1 ในรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปราย แต่สุดท้ายพอเอาเข้าที่ประชุมใหญ่เตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคเพื่อไทย ชื่อของสุวิทย์ก็หลุดไป รวมทั้งรัฐมนตรีจากพรรคชาติไทยพัฒนาอย่าง ธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ หรือ ชุมพล ศิลปอาชา รมว.ท่องเที่ยวฯ ก็หลุดจากโผไปเหมือนกัน
เป็นการทอดไมตรีเอื้ออาทร ถนอมน้ำใจกันเอาไว้ อภิปรายกันไปก็ล้มไม่ได้ พาลจะเสียความรู้สึกกันไป ก็ล่อแค่ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย เอากันให้น่วม หลังหักได้ยิ่งดี เพราะหลังเลือกตั้งเผื่อช่วงตั้งรัฐบาล หากเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง จะได้คุยกับพรรคอื่นๆ นอกเหนือประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทยกันได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม 10 รัฐมนตรี จาก 2 พรรค ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย ข่าววงในบอกว่า พรรคเพื่อไทยมั่นใจแล้วว่า มีพยานหลักฐาน ข้อมูลเอกสาร และข้อมูลการอภิปราย ที่จะทำให้อภิปรายแล้วทั้งหมด แม้ฝ่ายรัฐบาลจะชนะโหวตไว้วางใจ แต่ก็สะบักสะบอมทางการเมืองแน่นอน
โดยประเด็นหลักๆ ที่ 10 รัฐมนตรี จะโดนอภิปรายเชื่อได้ว่าทั้งหมด ยกเว้น กษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ที่ไม่ถูกยื่นถอดถอน แต่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งหมดจะโดนอภิปรายไปในกรอบเดียวกับการที่ถูกยื่นถอดถอนจากตำแหน่ง
เช่น อภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรี ในประเด็นกรณีการบริหารประเทศผิดพลาดทำให้ประเทศชาติเสียหายทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และการอำนวยความยุติธรรม จนประชาชนได้รับความเดือนร้อน เช่น ออกคำสั่งให้ทหารเข้าสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 91 ศพ , สุเทพ เรื่องการเสียชีวิตคนเสื้อแดง และเรื่องเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ แต่กลับแก้ปัญหาน้ำมันปาล์มผิดพลาด จนเกิดวิกฤตน้ำมันปาล์ม
กรณ์ ในเรื่องบริหารงานในสังกัดกระทรวงคลัง และออกนโยบายการเงินการคลังผิดพลาดแต่อาจมีเรื่องการขึ้นลงของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ติดปลายนวมอยู่ด้วย, จุติ รมว.ไอซีที กับปัญหาการประมูลโครงการ 3 จี ของสองหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในไอซีทีคือ ไอซีที-ทีโอที
พรทิวา คงไม่พ้นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของกระทรวง และการประมูลพืชผลทางการเกษตรหลายตัวเช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง ส่วนเรื่องปาล์มน้ำมัน พบว่า เพื่อไทย คงไม่เน้นตีมากเพราะต้องการเล่นเรื่องนี้กับสุเทพเป็นหลัก จะได้ไม่ให้สุเทพโยนว่าเป็นเรื่องของกระทรวงพาณิชย์
ส่วนหัวหน้าพรรคของเจ๊วา คือ ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ไม่พ้นเรื่องหลักคือปัญหาข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตต่างๆ ในกระทรวง การแต่งตั้งโยกย้ายไม่ชอบ และทำลายหลักคุณธรรม และการใช้งบประมาณไปในทางมิชอบ และผลประโยชน์ทับซ้อน
ส่วนรัฐมนตรีจากพรรคเดียวกัน ศุภชัย โพธิ์สุ รมช.เกษตรฯ รายนี้อาจโดนหนักกว่าคนอื่น หากชี้แจงไม่ขึ้น กรณีถือครองที่ดินซึ่งมีปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ์กว่า 700 ไร่ ใน จ.นครพนมเป็นต้น
ข้อมูลของเพื่อไทยจะแน่แค่ไหน หรือแค่ราคาคุย ต้องรอดูกันสัปดาห์หน้านี้ ยิ่งเมื่อมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ และเพื่อไทย ได้ เฉลิม อยู่บำรุง มาเสริมทัพ แล้ว ก็น่าจะทำให้การอภิปรายรอบนี้ มีสีสัน ดุดันขึ้น
4 วัน 4 คืน ของการอภิปราย ผลที่ออกมาจะเลือดสาดหรือน้ำลายท่วมสภา หรือหาความจริงไม่ได้ มีแต่ใส่ร้ายป้ายสี โยนขี้กันไปมา 10 รัฐมนตรีโดยเฉพาะ อภิสิทธิ์ จะสอบผ่านหรือไม่ผ่าน คนตัดสินและให้คะแนนก็คือ ประชาชน
หาใช่มติฝักถั่วโหวตไว้วางใจของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ที่ต่อให้ ชั่ว-เลว-โกงกิน อย่างไร ก็ต้องพายเรือให้โจรนั่งตลอดไป