xs
xsm
sm
md
lg

อภิปรายไม่ไว้วางใจนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เผยแพร่:   โดย: ประพันธ์ คูณมี

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 พรรคเพื่อไทยได้มีมติ และยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แล้ว โดยเป็นการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐมนตรีในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยอีก 9 คน รวมเป็น 10 คน ดังนี้คือ 1. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงฯ 2. นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 3. นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 4. นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

5. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ 6. นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 7. นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 8. นายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 9.นางพรทิวา นาคาสัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

เนื้อหาสาระสำคัญในญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีสาระสำคัญอยู่ 3 ประการคือ 1) ไร้ประสิทธิภาพ และล้มเหลวในการบริหารแผ่นดิน มีพฤติกรรมทุจริตทำให้สถานะการเงินการคลังของประเทศเสียหาย ทำให้ประชาชนเดือดร้อน สินค้าอุปโภคบริโภคขาดแคลน และมีราคาแพง 2) ละเมิดกฎหมายทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีการปฏิบัติอันเป็นสองมาตรฐาน ปราบปรามประชาชน ขาดความยุติธรรม 3) ไม่สร้างเสริมความสัมพันธไมตรีที่ดีระหว่างประเทศ ทำให้เกิดความเสียหายต่อการค้า การลงทุน เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว

และในญัตติยังระบุว่า รัฐมนตรี 8 คน มีพฤติกรรมส่อว่าทุจริตต่อหน้าที่ จงใจใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ส่วนประเด็นไม่ไว้วางใจนายกฯ ก็มุ่งไปสู่การเข้าสู่ตำแหน่งไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย และเป็นบุคคลสองสัญชาติ

เมื่อพิจารณารายละเอียดจากญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้านดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่า ข้อกล่าวหาในญัตติมีเนื้อหาไร้น้ำหนัก ไม่แหลมคมหนักแน่นเพียงพอที่จะล้มคว่ำรัฐบาลได้เลย เรียกว่า เบาหวิว ไม่ระคายเคืองผิวแม้แต่น้อย ประเด็นข้อกล่าวหาก็เป็นประเด็นเรื่องเก่าๆ ที่เคยมีการอภิปรายมาแล้วหลายรอบ โดยเฉพาะกรณีสองมาตรฐาน การปราบปรามการชุมนุมคนเสื้อแดง หรือปัญหาสองสัญชาติของนายอภิสิทธิ์ โดยเฉพาะประเด็นนี้ ผู้อภิปรายล้วนเป็นผู้ที่มีส่วนก่อให้เกิดปัญหาความรุนแรงจนก่อเหตุจลาจล และนำมาซึ่งการเสียชีวิตของประชาชนและทหาร รวมถึงประชาชนผู้บริสุทธิ์ ฝ่ายค้านไม่อาจหาความชอบธรรมเพื่อเล่นงานรัฐบาลได้ ดีไม่ดีก็อาจถูกรัฐบาลสวนกลับเอาอีก เพราะแกนนำคนเสื้อแดงที่อยู่ในสภาฯ มุ่งอภิปรายเพื่อฟอกความผิดให้ตนเอง โยนความผิดไปมาระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาลอย่างที่เคยอภิปรายมาแล้ว

แต่ความเสียหายของประชาชนผู้ประกอบธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว อันเกิดจากการชุมนุม และความล้มเหลวไร้ประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน ขาดความรู้ความสามารถในการประเมิน และแก้ไขสถานการณ์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะในฐานะนายกฯ กลับถูกละเลย ทำให้เกิดมิคสัญญี สร้างความเสียหายหลายแสนล้านบาท

นอกจากนี้ประเด็นการลุแก่อำนาจละเมิดต่อกฎหมาย ฝ่ายค้านและแกนนำคนเสื้อแดงก็คงพูดวนเวียนอยู่แต่ปัญหาของพวกตน ไม่คำนึงถึงสิทธิของประชาชนกลุ่มอื่นๆ ที่ถูกรัฐบาลนี้ละเมิดและคุกคามสิทธิเสรีภาพปฏิบัติต่อประชาชนโดยไม่เป็นธรรม ไม่ว่าต่อกลุ่มเกษตรกรที่เดือดร้อนเรื่องที่ดิน, ปัญหาสัญชาติไทย, กลุ่มหนี้สิน, หรือการชุมนุมของพันธมิตรฯ, ประชาชนผู้รักชาติคงมีเพียงประเด็นเรื่องการทุจริตของรัฐมนตรีในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ ที่ฝ่ายค้านกล่าวหาไว้เท่านั้น ที่จะเป็นประเด็นอภิปรายที่พอจะมีน้ำหนัก และเหตุผลต่อการไม่ไว้วางใจ รวมถึงการแก้ไขปัญหาภาวะสินค้าราคาแพงก่อความเดือดร้อนต่อประชาชนทุกหย่อมหญ้า

แต่ปัญหาก็อยู่ที่ว่าพรรคฝ่ายค้านก็มีจุดอ่อนในความน่าเชื่อของผู้อภิปราย และพรรคของตนเองในอดีตก็มีบาดแผลเคยสร้างความเสียหายไว้มหาศาล ประกอบกับข้อมูลที่จะนำเสนอจะลึกซึ้งครบถ้วนถึงตายได้จริงสมราคาคุยหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา ความสามารถในด้านนี้ของฝ่ายค้านยังด้อยความสามารถ

เมื่อพิจารณาเหตุผลข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว การใช้สิทธิยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ จึงมีแนวโน้มเป็นมวยล้มต้มคนเสื้อแดง และคนดูอื่นๆ เสียมากกว่า ประกอบกับการละเว้นที่จะไม่อภิปราย และกล่าวถึงรัฐมนตรีในสังกัดของพรรคชาติไทยพัฒนาของนายบรรหาร ศิลปอาชา และรัฐมนตรีในสังกัดของพรรครวมชาติพัฒนาของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ และพรรคกิจสังคม เพื่อแผ่นดิน นายสุวิทย์ คุณกิตติ ซึ่งล้วนมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตฉาวโฉ่ไม่แพ้ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทยเลยแม้แต่น้อย กลับถูกละเลยไม่พูดถึง

พฤติกรรมของพรรคฝ่ายค้านจึงเท่ากับเป็นการจงใจเจตนาเปิดอภิปรายเพียงเพื่อเป้าหมาย และประโยชน์ทางการเมืองของตนเท่านั้น หวังจูบปากกับรัฐบาลประชาธิปัตย์ แอบจับมือกับนายบรรหาร และนายสุวัจน์ในทางการเมืองในอนาคต เพื่อความร่วมมือจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันมากกว่าจะทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลอย่างจริงจัง เพื่อรักษาประโยชน์ชาติและประชาชน

ความเลวร้ายที่สุดการทำงานของพรรคฝ่ายค้านในการยื่นอภิปรายครั้งนี้ก็คือ จงใจหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงหรืออภิปรายในประเด็นสำคัญที่สุด คือ กรณีรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ทำให้ราชอาณาจักรไทยเสียดินแดนกรณีข้อพิพาทไทย-กัมพูชา ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นเพราะความอ่อนแอไร้ภาวะผู้นำ ความผิดพลาดล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน ดำเนินนโยบายการเมืองการทูตที่เสียเปรียบ เสียรู้ โดยเจตนาตั้งใจ ทำให้ไทยต้องเสียดินแดนอันเป็นความผิดพลาดที่ร้ายแรงของพรรคประชาธิปัตย์ล้วนๆ กรณีไปยอมรับ MOU 2543 ตั้งแต่ยุคนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีความผิดพลาดล้มเหลวต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ความเป็นจริงว่า MOU 2543 เป็นโมฆะ ขัดรัฐธรรมนูญ, ขัดต่อ พ.ร.ฎ.ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ, ขัดต่อคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ, ขัดต่อคำพิพากษาของศาลปกครอง บานปลายจนทำให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ, สมาคมอาเซียน, ยูเนสโก จนทำให้ทหารและชุมชนกัมพูชายึดครองแผ่นดินไทยบนปราสาทพระวิหารเนื้อที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ตั้งฐานปืนใหญ่ ตัดถนนขนยุทโธปกรณ์ ตั้งสถานีสื่อสาร เปิดการรบยิงถล่มใส่คนไทยบนแผ่นดินไทย กลับถูกฝ่ายค้านละเลยไม่พูดถึงความผิดอุกฉกรรจ์ร้ายแรงนี้ เป็นทั้งความผิดทางการเมือง ทางอาญา และขัดต่อรัฐธรรมนูญโทษถึงประหารชีวิต นักการเมืองในสภาฯ กลับเพิกเฉย

การอภิปรายไม่ไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎรที่จะเปิดขึ้นเร็วๆ นี้ จึงเป็นเพียงละครตบตาทางการเมือง เป็นมวยล้มต้มประชาชนที่สมคบกันระหว่างประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยเท่านั้นเอง พี่น้องเอ้ย.....
กำลังโหลดความคิดเห็น