xs
xsm
sm
md
lg

เคาะศึกซักฟอก9-13มี.ค. เล็งตั้งกก.สอบคลิปหวั่น“เผาไทย”มั่ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-วิปรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ถกลงตัว เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ 9-12มี.ค. ลงมติ 13 มี.ค. อภิปราย 4 วัน 66 ชม.คาดเริ่มวันพุธ “มาร์ค” รับศึกซักฟอกฝ่ายค้าน และรัฐบาลต่างหวังผลทางการเมืองเพราะใกล้เลือกตั้ง คนทำงานต้องพร้อมให้ตรวจสอบวิปรัฐ หารือ“เฒ่าชัย”ตั้งกก.สอบหลักฐาน-คลิป หวั่น“เผาไทย”สร้างหลักฐานเท็จ

เมื่อเวลา 16.15 น. วานนี้(2 มี.ค.) นายวิทยา แก้วภราดัย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และนายวิทยา บุรณศิริ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ร่วมแถลงข่าวหลังหารือกรอบเวลาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวม 10 คน โดยประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ได้ข้อสรุปตรงกัน เรื่องกรอบเวลาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีรวม 10คน

ทั้งนี้จะมีการเปิดอภิปรายในวันที่ 9-12 มี.ค.นี้ โดยใช้เวลารวมทั้งสิ้น 66 ชั่วโมง แบ่งเป็นฝ่ายค้านอภิปราย 40 ชั่วโมง รัฐบาลชี้แจง 20 ชั่วโมง และเผื่อเวลาในการประท้วงอีก 6 ชั่วโมง ซึ่งจะต้องอภิปรายให้แล้วเสร็จภายในเวลา 23.00 น. ของวันที่ 4 ในการอภิปราย และลงมติในวันที่ 5 หรือวันที่ 13 มี.ค.

“ขณะนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อยู่ระหว่างตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งคาดว่าวันพรุ่งนี้ (3 มี.ค.)จะสามารถส่งให้ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ เพื่อให้นายชัยประสานไปยังรัฐบาล และบรรจุเป็นระเบียบวาระการประชุม ซึ่งหากไม่มีปัญหา คาดว่าจะสามารถเริ่มอภิปรายได้ตามกรอบเวลาที่วางไว้"นายวิทยากล่าว

ด้านประธานวิปฝ่ายค้านเชื่อว่า ทั้ง2 ฝ่ายจะบริหารเวลาได้อย่างไม่มีปัญหา และฝ่ายค้านก็จะนำเวลาที่ได้ไปบริหารจัดการ

ขณะที่น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าขณะนี้ ฝ่ายค้านจัดสรรเวลาตามหัวข้อในการอภิปรายคือ จะใช้ผู้อภิปรายเรื่องการสลายการชุมนุม 7 คน เรื่องทุจริตคอรัปชั่น 18-22 คน และเรื่องการบริหารราชการที่ผิดพลาด 10-15 คน

**เล็งตั้งกก.สอบหลักฐานหวั่นมั่ว

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมวิปรัฐบาลว่า ที่ประชุมวิปฯ รัฐบาล ยังได้แสดงความเห็นหลากหลายต่อเวลาที่ขอเปิดอภิปราย โดยบางส่วนเห็นว่าการเปิดให้ 3-4 วันนั้นถือว่ามากเกินไปเพราะอาจจะทำให้คนฟังเบื่อได้ ทางวิปฯ รัฐบาลจึงนำประวัติของการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมามาตรวจสอบ และพบว่าในปี 2545 ที่พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะพรรคฝ่ายค้านขณะนั้นได้ขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางในรัฐบาล และใช้เวลารวม 65 ชั่วโมง 50 นาที ดังนั้นวิปฯ รัฐบาลจึงสรุปว่าควรใช้เวลาอภิปรายตามที่พรรคเพื่อไทยขอ เบื้องต้นนายวิทยา ระบุว่าพร้อมจะเปิดให้มีการอภิปรายในวันที่ 9 มีนาคมนี้ และขอให้วิปฯ รัฐบาลประสานสมาชิกแต่ละพรรคให้เผื่อเวลาช่วงเสาร์-อาทิตย์ เพราะอาจจะมีการลงมติในช่วงดังกล่าว

ทั้งนี้ ว่าควรให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเอกสารหรือคลิปวีดีโอที่ทางพรรคเพื่อไทยจะนำมาเปิดหรือแสดงควบคู่กับการอภิปราย เพื่อป้องกันเอกสาร หรือคลิปวีดีโอที่เป็นเท็จ เนื่องจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาทางพรรคเพื่อไทยเคยนำวีดีโอคลิปที่มีการตัดต่อมาฉายในการประชุมสภาฯ จนสร้างความสับสนและเกิดปัญหาตามมา โดย 1-2 วันนี้ นายวิทยา จะเข้าหารือกับนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เบื้องต้นคณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ ส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาล และส.ส.พรรคฝ่ายค้าน

“ผมได้รับข้อความผ่านทางเครือข่ายเฟซบุ๊ค จากบุคคลที่ใช้ชื่อว่า “คนไท รักในหลวง” เตือนให้ระวังการอภิปรายไม่ไว้วางในรัฐบาลเพราะได้ข่าวจากวงในว่าพรรคเพื่อไทยจะนำข้อมูลจริงปนเท็จ เกี่ยวกับการกักตุนสินค้า 3 ประเภท คือ ข้าว, น้ำตาม และน้ำมันปาล์มมาอภิปราย โดยฝากเตือนไปยังรองนายกฯ สุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งข้อมูลของเพื่อไทยนั้นจะเชื่อมโยงโดยตรงกับคุณสุเทพ” นพ.วรงค์ กล่าว

** ขำๆญัตติซักฟอกหาย 3หน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในที่ประชุมร่วมสองวิปไ ด้เชิญนายสุวิจักษณ์ นาควัชระ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เข้าชี้แจงถึงรายละเอียดการยื่นญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคเพื่อไทย เบื้องต้นมีรายงานข่าวว่าการยื่นญัตตินั้นมีความไม่สมบูรณ์ จึงอาจที่จะเลื่อนการบรรจุวาระออกไป

ทั้งนี้นายนายสุวิจักษณ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมประชุมโดยยอมรับว่าช่วงการทำสำเนาเอกสารให้กับทางวิปฯ รัฐบาลนั้น ทำผิดพลาดเอกสารหายไป 3 หน้า เบื้องต้นตนได้รับการประสานด้วยวาจาจึงไม่ทราบรายละเอียดว่าเป็นส่วนใดที่ขาดไป ทั้งนี้ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่แก้ไขและดำเนินการขั้นตอนทางธุรการจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ในวันพรุ่งนี้ ( 3 มีนาคม) จะเสนอให้กับนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เบื้องต้นคาดว่าในวันที่ 4 มีนาคมนี้จะสามารถบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมได้

ด้านนางผ่องศรี ธาราภูมิ ส.ส.ลพบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลรัฐบาล เปิดเผยว่าเบื้องต้นที่ได้หารือพบว่าการยื่นญัตตินั้นมีข้อบกพร่อง 2 จุด คือ ส่วนที่เอกสารขาดไปจำนวน 3 หน้า โดยไม่ทราบเนื้อหา และส่วนของลายเซ็นต์ ที่ไม่ตรงกับที่เคยให้ไว้ต่อเจ้าหน้าที่สภา 1 จุดแต่ไม่ใช่ประเด็นเนื่องจากว่าสมาชิกพรรคเพื่อไทยได้ร่วมลงชื่อเกินกว่าที่ได้กำหนดไว้อยู่แล้ว

**ปูด“มาร์ค”หวังขอลี้ภัยในอนาคต

ที่ห้องคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ส.ส.พรรคเพื่อไทย นำโดยนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร แถลงถึงกรณีการถือสัญชาติของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ว่า เป็นประเด็นสำคัญในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านว่านายกฯ มี 2 สัญชาติคือสัญชาติไทย ที่ได้โดยสายโลหิตจากบิดาและมารดา และสัญชาติอังกฤษที่ได้หลักดินแดน เรื่องนี้นายอภิสิทธิ์ย่อมรู้แก่ใจของตัวเองว่ายังคงถือสัญชาติอังกฤษอยู่ และต้องตระหนักตั้งแต่เข้าสู่การเมืองแล้ว ซึ่งการที่ไม่ยอมสละสัญชาติอังกฤษ ทำให้ดูเหมือนว่านายกรัฐมนตรีต้องการใช้ประโยชน์จากการถือสัญชาติอังกฤษ ในการลี้ภัยเหมือนอดีตผู้นำของหลายประเทศหรือไม่

"กฎหมายสัญชาติเป็นกฎหมายมหาชน ซึ่งถือเป็นเจตจำนงของรัฐ แม้จะได้สัญชาติอังกฤษมาเพราะไปเกิดที่นั่น แต่เมื่ออายุ 20 ปี นายอภิสิทธิ์ต้องเลือกว่าจะสละสัญชาติใด วันนี้ผู้นำของประเทศจึงไม่สง่างาม และน่าคิดว่านายกฯ คนนี้จะทำประโยชน์ให้ประเทศไทย และประเทศอังกฤษเหมือนกันหรือไม่" นายพีรพันธุ์กล่าว

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามเจตนารมย์ของกฎหมายต้องการให้คนที่จะมาเป็นผู้แทนราษฎรต้องถือสัญชาติไทยโดยการเกิดเท่านั้น ถามคนไทยว่าจะให้คนถือสัญชาติอื่นมาเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยจะยอมหรือไม่ เรื่องนี้เปรียบได้ว่าเป็นการขัดกันของกฎหมาย เหมือนกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่ทำในสิ่งที่กฎหมายห้าม คนอื่นทำได้แต่คนเป็นนายกฯ ทำไม่ได้ เพราะสิ่งนี้คือจริยธรรมของคนเป็นนายกฯ ที่ต้องสูงกว่าคนทั่วไป

** มาร์ค” รับศึกซักฟอกมีผลเลือกตั้ง

ที่รัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นการยื่นของฝ่ายค้าน หน้าที่รัฐบาลคือการชี้แจง ซึ่งกำลังสอบถามอยู่ว่าทางสภาจะสมารถบรรจุญัตติได้เมื่อไหร่ เพราะช่วงบ่ายที่ผ่านมายังไม่ทราบความชัดเจน แต่ได้แจ้งไปว่าทางรัฐบาลพร้อม ส่วนกรณีที่นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกมาบ่นว่า เร่งมากเกินไปนั้น เราถือว่าเมื่อสามารถยื่นญัตติได้แล้ว ก็ต้องมีความพร้อมที่จะอภิปราย และจำได้ว่า เมื่อปี พ.ศ.2551 รัฐบาลบอกล่วงหน้า 1-2 วัน ให้อภิปรายเลย เราก็ต้องอภิปราย เพราะถือว่าเมื่อยื่นญัตติแล้วก็ต้องพร้อมแล้ว

ส่วนญัตติการอภิปรายที่นายกรัฐมนตรี กังวลกับข้อกล่าวหาของฝ่ายค้าน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่มี ก็จะชี้แจงไป และรัฐมนตรีทุกคนที่ถูกอภิปราย โดยเฉพาะข้อหาที่พัวพันการทุจริต ก็ต้องพร้อมที่จะชี้แจง เพราะคนทำงาน ต้องพร้อมรับการตรวจสอบและชี้แจง

ส่วนจังหวะเวลาการถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจใกล้กับการเลือกตั้ง จะส่งผลอะไรกับคะแนนนิยมของรัฐบาล หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เชื่อว่าฝ่ายค้านคงหวังผลทางการเมือง แต่ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องใช้โอกาสนี้ในการชี้แจงเช่นเดียวกัน ซึ่งประชาชนสามารถที่จะรับฟังได้ เมื่อถามว่า คิดว่าเขาหวังผลแล้วจะได้ผลหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวปฏิเสธว่า ไม่ทราบ อันนี้ก็ต้องแล้วแต่การอภิปราย

สำหรับความคืบหน้าการขอให้เปิดเผยญัตติที่ยื่นถอดถอน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถ้าไม่ทราบก็จะไม่ทราบได้ว่าญัตติถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะเวลาที่มีการอภิปรายในสภารัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่า ถ้าเป็นเรื่องการทุจริตหรือการทำผิดกฎหมาย จะต้องมีการถอดถอนด้วย และการถอดถอนต้องระบุพฤติกรรมให้ชัดเจน เหตุผลที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อย่างนี้ เพราะไม่ต้องการให้มีการมากล่าวหากันลอยๆ จะต้องมีการพิสูจน์กันด้วย ในด้านหนึ่ง คือ เป็นการไม่ให้ฝ่ายค้านสามารถพุดอะไรโดยไม่มีหลักฐานในข้อหา ซึ่งเป็นข้อหาหนัก และอีกด้านหนึ่งเป็นการช่วยฝ่ายค้าน เพราะเขาเห็นว่ารัฐบาลมักจะมีเสียงข้างมาก ถ้าฝ่ายค้านมีข้อมูล ข้อเท็จจริงที่หนักแน่น หากเสียงข้างมากไว้วางใจกันไป ไม่ได้แปลว่าเรื่องจะผ่านไป คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือป.ป.ช. ก็สามารถที่จะดำเนินการต่อได้ ฉะนั้น คิดว่ามันเชื่อมโยงกันชัดเจน ต้องให้เราทราบ

ส่วนหากไม่เปิดเผย ย่อมมีผลต่อญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะทำให้ไม่สมบูรณ์ หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มี สมมติว่ามีการอภิปรายและเป็นเรื่องการทุจริต หรือเกี่ยวข้องกับการทำผิดกฎหมาย ก็ต้องตรวจสอบว่า ตกลงยื่นถอดถอนไว้หรือไม่ หากฝ่ายค้านทำอย่างนี้ จะทำให้เกิดปัญหาระหว่างการอภิปรายมากขึ้น แต่ไม่ทราบว่าเป็นเกมของฝ่ายค้านหรือเปล่า ต้องให้ประธาน ทั้ง 2 ท่าน เป็นผู้วินิจฉัย

เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านออกมาระบุว่ามีหลักฐาน นายกรัฐมนตรี ใช้สิทธิ์สัญชาติอังกฤษ นายอภิสิทธิ์ ทำหน้าเหมือนไม่อยากตอบ พร้อมกับกล่าวว่า “ฟัง รอฟังเขาก็แล้วกัน”

** “ชวน”บอกยิ่งอภิปรายยาวยิ่งดี

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องดังกล่าวถือเป็นโอการที่รัฐบาลจะได้ชี้แจงข้อสงสัยหรือข้อข้องใจของพรรคฝ่ายค้านที่ได้ใช้กระบวนการตรวจสอบตามระบบประชาธิปไตย สำหรับวันอภิปรายที่พรรคเพื่อไทยขอไว้จำนวน 4 วันนั้น ตนมองว่าถือเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลจะได้ใช้เวลาอธิบายโดยละเอียด

เมื่อถามว่ามองว่าการอภิปรายดังกล่าวจะสามารถขย่มรัฐบาลหรือสร้างเสถียรภาพให้กับรัฐบาลได้หรือไม่ นายชวน กล่าวว่าขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ส่วนตัวมองว่าการอภิปรายดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวกับเสถียรภาพของรัฐบาล เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจคือการตรวจสอบ ซึ่งรัฐมนตรีก็ต้องชี้แจงไปตามข้อเท็จจริง

ส่วนการอภิปรายดังกล่าวจะกระทบต่อการเลือกตั้งที่จะมาถึงหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง และคำชี้แจงของรัฐมนตรี หากรัฐมนตรีของพรรคการเมืองนั้นๆ ไม่สามารถชี้แจงได้ก็อาจจะเป็นปัญหาให้กับพรรคนั้นๆ ในการเลือกตั้งได้

**ไม่สน”เติ้ง”แขวะกรรมตามสนอง

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลซึ่งนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา(ชทพ.) ระบุว่าการที่จะมีการพูดเรื่องสัญชาติของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นเหมือนการย้อนเข้าตัวพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยอภิปรายสัญชาติของนายบรรหาร ว่าไม่มีอะไรจะเป็นปัญหาอะไร ก็พิสูจน์ข้อเท็จจริงกัน

ผุ้สื่อข่าวถามว่า นากยฯได้มอบหมายให้นายสาทิตย์ วงศ์ หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกฯ ไปประสานกับประธานสภาฯ เนื่องจากฝ่ายค้นไม่ยอมเปิดเผยญัตติขอยื่นถอดถอนรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ ไว้วางใจ อาจจะมีปัญหาการอภิปราย ว่า ไม่มีปัญหา ตามที่สื่อเสนอข่าวว่า เมื่อฝ่ายค้านยื่นญัตติมาแล้วเราก็ตอบ ไม่ต้องไปประวิงเวลาอะไร ท่านนายกรัฐมนตรีพร้อมเลย ที่จริงอยากจะตอบชี้แจงวันนี้พรุ่งนี้เสียด้วยซ้ำไปเลย แต่ว่าต้องส่งวาระให้สมาชิกสภาผุ้แทนราษฎาอย่างน้อย 3 วัน เมื่อถามว่า เพราะเหตุใดการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้จึงกลายเป็นว่ามีการกดดันกันค่อนข้างมาก นายสุเทพ กล่าวว่า ไม่กดดันเลย พร้อมที่จะตอบได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ตนพร้อมตอบได้ทุกเรื่อง

**ไม่ชัวร์ซักฟอก 9-13 นี้ได้

นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการยื่นญัญติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า จะต้องมีการตรวจสอบเนื้อหาของฝ่ายค้านที่จะทำการอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อน 7 วัน ซึ่งตนไม่ทราบว่าท้ายที่สุดการกำหนดวันอภิปรายจะเป็นไปตามที่นายวิทยา แภ้วภราดัย ประธานวิปรัฐบาลมีมติออกมาเป็นวันที่ 9 - 13 มีนาคม หรือไม่ แต่หากจะต้องมีการอภิปราย 4 วันและลงมติอีก 1 วันนั้นก็ไม่เป็นปัญหา สามารถทำได้ เพราะในอดีตก็เคยมีการอภิปรายถึง 7 วัน 7 คืนมาแล้ว เพียงแต่ขอให้ฝ่ายค้านมีเหตุผลเพียงพอในการอภิปรายเท่านั้น

หลังจากที่ตนได้ตรวจสอบญัญติภายใน 7 วันแล้ว หากมีการพบว่าเนื้อหาถูกต้องก็จะส่งให้กับทางรัฐบาลเพื่อพิจารณาภายใน 15 วันต่อไป

**โฆษก ปชป.ซัดหวังจุดไฟใหม่

นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ ส.ส.สัดส่วน โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า กรณี ส.ส.พรรคเพื่อไทยยื่นถอดถอนและยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยต้องการอภิปราย 4 วันให้ล่วงถึงวันที่ 12 มีนาคมนั้น ถือเป็นการจุดไฟการเมือง ขณะที่ประชาชนกำลังเผชิญปัญหาข้าวของแพง ทั้งนี้ เป็นการเตรียมข้อมูลใส่ร้าย จุดประเด็นความขัดแย้งใหม่อีกรอบ และยิ่งทำให้เกิดความแตกแยกหากไปรวมกับการเคลื่อนไหวนอกสภา ทำให้บ้านเมืองกลับสู่ความวุ่นวาย ฉะนั้น ใช้เวลาอภิปราย 1 วันก็มากเกินแล้ว ซึ่งพรรคจะหารือกับวิปรัฐบาลว่าอภิปรายเฉพาะสาระสำคัญจริงๆ ใช้ 2 วันก็พอแล้ว ไม่เช่นนั้นการแก้ปัญหาของรัฐบาลก็ต้องชะลอ เพื่อรอรับการอภิปราย

ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่พรรคเพื่อไทยจะอภิปราย 3 ประเด็นคือ 1.การสลายการชุมนุม 2.ปัญหาการทุจริต 3.การบริหารล้มเหลว ที่สังคมน่าจะติดตามมากสุดคือ เรื่องทุจริต เพราะพรรคเพื่อไทยบอกว่ามีใบเสร็จและหลักฐาน ก็ขอให้เอามาแสดงให้ได้จริง อย่างไรก็ดี การยื่นอภิปรายครั้งนี้มีการถอดถอนด้วย ประธานวุฒิสภาต้องเปิดเผยเอกสารคำร้องขอถอดถอน เพื่อให้เห็นว่าในสภาได้มีการอภิปรายตามกรอบที่กล่าวหา แต่ตอนนี้ยังไม่มีใครทราบว่าข้อกล่าวหาของคำร้องถอดถอนเป็นอย่างไร เพื่อให้รัฐมนตรีที่โดนกล่าวหาเตรียมข้อมูลได้ถูกต้อง

**ป.ป.ช.รอรับคดียื่นถอด

นายอภินันทน์ อิศรางกูร ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทย (พท.) จะยื่นเรื่องถอดถอนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีก 8 คน ออกจากตำแหน่งมาให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนว่า กำลังรอเรื่องดังกล่าวจากประธานวุฒิสภาว่าจะส่งเรื่องดังกล่าวมาให้ ป.ป.ช.ได้เมื่อใด หากตรวจสอบแล้วมีข้อมูลเพียงพอก็พร้อมรับเรื่องไว้ตรวจสอบ โดยจะตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ทั้ง 9 คน เป็นองค์คณะในการไต่สวน เนื่องจากเป็นเรื่องใหญ่ที่มีความสำคัญและประชาชนให้ความสนใจ นอกจากนี้ จะเร่งดำเนินการไต่สวนรัฐมนตรีที่ถูกฝ่ายค้านยื่นเรื่องถอดถอนในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่แล้ว ซึ่งยังค้างอยู่ใน ป.ป.ช.ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น