xs
xsm
sm
md
lg

“มิ่งขวัญ” นำทีมยื่นซักฟอกรัฐ - “ชัย” โยนวิป 2 ฝ่ายตกลงวัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เพื่อไทยยื่นชื่อ 122 ส.ส.ซักฟอกรัฐพร้อม 9 รัฐมนตรี “ชัย” ซัดพวกเร่งวันจะรีบไปตายหรือไง รับทราบยื่น ปธ.วุฒิถอดนายกฯ พ่วง 8 รมต. โยนวิป 2 ฝ่ายตกลงวัน แซว “เจ๊มิ่ง” เคยถูก “แม้ว” ไล่ลง รมต.แต่วันนี้กลับถูกใช้ เจ้าตัวยันต้องซักฟอก 4 วัน อ้างเนื้อหาเยอะ

วันนี้ (1 มี.ค.) ที่รัฐสภา นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมการเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พร้อมด้วยนายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) และ ส.ส.พรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่ง ยื่นญัตติพร้อมรายชื่อ ส.ส.จำนวน 122 คน ประกอบด้วย ส.ส.พรรคเพื่อไทย 118 คน ส.ส.ประชาราช 3 คน ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดิน 1 คน (นพ.แวมาฮาดี แวดาโอะ ส.ส.นราธิวาส) ต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีก 9 คน ได้แก่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ตามรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 158 และ 159

นายชัยกล่าวว่า ขั้นตอนจากนี้จะนัดอภิปรายวันไหนก็ต้องรอสภาตรวจสอบญัตติก่อนใช้เวลาไม่เกิน 7 วัน จากนั้นจะส่งเรื่องให้รัฐบาลใน 15 วัน ขึ้นกับรัฐบาลจะแจ้งมาว่าพร้อมวันไหน บางคนบอกว่าให้รีบนัด ตนคิดว่าจะรีบไปถึงไหน จะรีบไปตายหรือไง ทั้งนี้ ต้องทำตามระเบียบ อย่างไรก็ดี วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ที่ ส.ส.ฝ่ายค้านยื่นถอดถอนนายกฯ และ 8 รัฐมนตรีต่อประธานวุฒิสภา ตอนนี้ทราบว่าส่งเรื่องแจ้งมาที่สภาแล้ว

เมื่อถามว่า วิปรัฐบาลบอกใช้เวลาอภิปราย 2 วัน คือ วันที่ 8 และ 9 มีนาคม นายชัยกล่าวว่า ตนยังไม่ทราบ วิปรัฐบาลต้องมาชี้แจง แต่ตนไม่ขัดข้องว่าจะอภิปรายกี่วัน แล้วแต่วิป 2 ฝ่ายตกลงกัน ถ้าข้อมูลมากพอก็อภิปรายยาว ถ้าข้อมูลสั้นก็อภิปรายสั้น ไม่ใช่น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง ไม่น่าฟัง ต้องอภิปรายตรงประเด็น สมัยหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ก็อภิปราย 5-6 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า จากนั้นนายชัยได้หันไปสัพยอกนายมิ่งขวัญว่า “ผมเคยพูดว่าให้ทำตัวดีๆ จะได้เป็นนายกฯ เพราะเลือกตั้งก็จะได้เสียงข้างมาก ผมก็เคยพูดแบบนี้กับนายอภิสิทธิ์มาแล้ว กับนายมิ่งขวัญก็เคยพูดสมัยที่เป็น รมว.พาณิชย์ แต่ตอนนั้นคุณทักษิณไล่ลงจากตำแหน่ง แต่วันนี้คุณทักษิณก็กลับมาหนุน” ซึ่งนายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทยกล่าวตอบว่า พรรคภูมิใจไทยจะหนุนพรรคเพื่อไทยหรือ ทำให้นายชัยหัวเราะก่อนกล่าวว่า “พรรคเพื่อไทยมีแต่ไล่พรรคภูมิใจไทย”

จากนั้นนายมิ่งขวัญให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงกรณีที่วิปรัฐบาลระบุว่า จะให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 2 วันว่า ยืนยันว่าต้องใช้เวลาอภิปราย 4 วัน และลงมติในวันที่ห้า เนื่องจาก 1.การอภิปรายครั้งนี้เป็นสมัยสุดท้ายของสภาชุดนี้จึงสำคัญมาก 2.เนื้อหาการอภิปรายมีมาก โดยเฉพาะเรื่องการทุจริตต่างๆ 3.ตามบรรทัดฐานที่เคยมี สมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน เคยอภิปราย 4 วัน และลงมติในวันที่ห้า ดังนั้นจึงเห็นสมควรให้ใช้เวลาตามที่ฝ่ายค้านเสนอ นอกจากนี้ ยืนยันว่าการอภิปรายแต่ละวันไม่ควรอภิปรายข้ามคืนถึงตี 3 ตี 4 เพราะประชาชนจะไม่ได้ประโยชน์ เพราะข้อมูลเรื่องทุจริตมีเอกสารหลักฐานที่ประชาชนควรรู้ ส่วนประเด็นต่างๆเรื่องน้ำมันปาล์มมีแน่ ส่วนประเด็นใหญ่อื่นๆ จะแจ้งให้ทราบต่อไป

นายมิ่งขวัญกล่าวอีกว่า หลังจากที่พรรคมีมติให้ตนเป็นประธานคณะกรรมการเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ตนใช้เวลา 20 วันในการรวบรวมข้อมูลและข้อกฎหมาย และได้ยื่นถอดถอนนายกฯ และ 8 รัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯและ 9 รัฐมนตรีวันที่ 1 มีนาคม ถือว่าใช้เวลาได้อย่างเหมาะสม หลังจากนี้ คณะเจรจาเรื่องวันอภิปรายของพรรค ประกอบด้วย นายวิทยา นายไพจิต นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม. จะไปเจรจากับวิปรัฐบาลในวันที่ 2 มีนาคม

ด้าน นายวิทยากล่าวว่า เมื่อประธานสภาตรวจสอบญัตติใน 7 วัน ก็จะส่งให้รัฐบาลใน 15 วัน แล้วรัฐบาลเลือกวันไหน วิปทั้ง 2 ฝ่ายก็จะได้คุยกัน แต่วันที่ 2 มีนาคมก็คงพอจะเริ่มคุยคร่าวๆ ได้ แต่ยืนยันว่าต้อง 4 วัน และลงมติในวันที่ 5 เพราะยื่นอภิปราย 10 คน ถ้าอภิปรายไม่ครบก็คงไม่ได้ เช่น อาจจะอภิปรายรัฐมนตรีวันละ 2-3 คน นอกจากนี้ ในวันหนึ่งๆ ไม่ควรอภิปรายเกินเที่ยงคืน เพราะประชาชนจะไม่ได้ดู ข้อเสนอของฝ่ายค้านจึงมีเหตุผลสมควรแล้ว และพรรคประชาธิปัตย์เองสมัยปี 45 และ 48 ก็เคยใช้เวลาขนาดนี้มาแล้วเหมือนกัน

ขณะที่ นายพีระพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประเด็นการถอดถอนเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่การบริหารราชการของรัฐมนตรีแต่ละคน โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. และการแทรกแทรงการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรในกระบวนการยุติธรรม นายสุเทพเป็นเรื่องการเสียชีวิตของ นปช. และวิกฤตน้ำมันปาล์ม นายกรณ์เป็นเรื่องการดำเนินงานของหน่วยงานของสังกัดกระทรวงคลังที่มิชอบ นางพรทิวาจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของกระทรวง และการประมูลพืชผลทางการเกษตร ขณะที่ นายจุติ กรณีเข้าไปเกี่ยวข้องกับรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวง นายชวรัตน์เป็นเรื่องการทุจริตต่างๆ ในกระทรวงและการใช้งบประมาณไปในทางมิชอบ และผลประโยชน์ทับซ้อน นายโสภณเกี่ยวกับการทุจริตในโครงการขนส่งขนาดใหญ่ นายองอาจเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสื่อ ส่วนนายศุภชัยเป็นเรื่องการบุกรุกที่ดินของรัฐและการทุจริตในเรื่องอื่นๆ

นายพีระพันธุ์กล่าวต่อว่า การอภิปรายจะยึดหลักการตรงประเด็น เน้นสาระ เพราะข้อเท็จจริงได้ปรากฎต่อสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปว่ารัฐบาลชุดนี้มีเรื่องทุจริตมากมาย ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐานอีกหลายเรื่อง เพื่อส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนในภายหลัง ซึ่งหลายเรื่องที่เคยยื่นไปก็อยู่ระหว่างการไต่สวนของป.ป.ช. แล้ว

สำหรับญัตติที่ฝ่ายค้านได้ยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรีนั้น เนื้อหาโดยสรุป คือ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลได้บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้รัฐมนตรีในรัฐบาลและบุคคลแวดล้อมกระทำการทุจริต คอรัปชั่น แสวงหาประโยชน์อย่างกว้างขวาง การบริหารก็ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ขาดหลักธรรมาภิบาล ดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจล้มเหลว ขาดวินัยการเงินการคลัง ละเว้นและปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติและบังคับใช้กฎหมายอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม ในทางตรงกันข้ามกลับบังคับใช้กฎหมายโดยขาดความเสมอภาค เลือกปฏิบัติสองมาตรฐาน จงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ไม่เคารพหลักประชาธิปไตย ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ทำลายระบบราชการ ขยายความขัดแย้งแตกแยกในสังคม ล้มเหลวในการแก้ปัญหาความมั่นคงภายในประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในญัตติได้ระบุถึงพฤติกรรมการบริหาราชการแผ่นดินของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีว่า 1.ไม่ปฏิบัติตามแผนการบริหารราชการแผ่นดินและแผนการตรากฎหมาย และนโยบายตามที่แถลงไว้ในรัฐสภา มีเจตนาฉ้อฉล เปิดช่องให้มีการทุจริตคอรัปชั่นในโครงการต่างๆ อย่างกว้างขวาง มากกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา นอกจากนั้นยังไร้ความรู้ความสามารถและสติปัญญาในการกำหนดนโยบายบริหารประเทศ โดยต้องอาศัยงบประมาณจำนวนมาก เพื่อจ้างบุคคลภายนอกมาขายฝันให้กับรัฐบาล รวมถึงการเข้าสู่ตำแหน่งนายกฯ ไม่เป็นไปตามครรลองคลองธรรม ยังเป็นบุคคลสองสัญชาติ ไร้วุฒิภาวะการเป็นผู้นำ พูดจาไม่มีสัจจะ

2.จงใจใช้อำนาจหน้าที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมาย 3.ทำลายระบบราชการด้วยการแทรกแทรงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ปล่อยให้มีการแสวงหาประโยชน์จากการซื้อขายตำแหน่ง 4.ไม่ควบคุมให้มีการรักษาวินัยการเงินการคลัง เพื่อสนับสนุนเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดภาระหนี้สาธารณะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 5.ไร้ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ปล่อยให้ราคาสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นสูงขึ้นและคลาดแคลน 6.ดำเนินนโยบานต่างประเทศที่ผิดพลาด และล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง แทรกแซงกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์และการค้าระหว่างประเทศอย่างรุนแรง และ 7.ล้มเหลวในการแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเกิดเหตุรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับญัตติที่ฝ่ายค้านยื่นถอดถอนรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล มีเนื้อหาโดยสรุป คือ รัฐมนตรีทั้ง 9 คน เห็นว่าบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินตามที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา และไม่เป็นไปตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน และแผนการตรากฎหมายที่จัดทำไว้ กำหนดนโยบายในการบริหารราชการในกระทรวง ทบวง กรม ไม่ถูกต้อง ไร้ทิศทาง ไม่ดูแลให้มีการปฎิบัติและบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างถูกต้องเป็นธรรม ลุแก่อำนาจ มุ่งใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็นเพื่อลิดรอนสิทธิ เสรีภาพของประชาชนในทุกด้าน ซ้ำร้ายยังมุ่งหาประโยชน์โดยทุจริตจากการบริหารราชการแผ่นดินที่อ้างว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายพิเศษในการปราบปรามประชาชนที่ชุมนุม ไม่ควบคุมให้มีการรักษาวินัยการเงินการคลัง เพื่อสนับสนุนเสถียรภาพความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการทุจริตและความล้มเหลวในการบริหาราชการแผ่นดิน

นอกจากนี้ยังไม่กำกับให้มีการประกอบกิจการให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม จงใจละเลยให้มีการจัดซื้อในลักษณะผูกขาดตัดตอน กักตุนสินค้า ทำให้ประชาชนผู้บริโภคเสียหาย และเกิดผลกระทบต่อโครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคอัน จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ทำให้มีการผูกขาดโดยเอกชน จนก่อความเสียหายแก่รัฐในหลายโครงการ ไม่ปฎิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและธรรมาภิบาลขาดคุณธรรมจริยธรรม ทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนในการบริหาราชการแผ่นดินไม่รักษาผลประโยชน์ส่วน รวม ไม่คุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรในการผลิตและการตลาด ล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร เข้าแทรกแซงการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ทั้งยังหาประโยชน์จากองค์กรของรัฐ รัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับสื่อของรัฐ และเกี่ยวข้องกับการสื่อสาร ไม่ใส่ใจความทุกข์ยากของประชาชน มุ้งเน้นแต่เล่นการเมืองเพียงเพื่อแบ่งผลประโยชน์ระหว่างกัน ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างยิ่งต่อผลประโยชน์ของประชาชน การบริหารราชการแผ่นดินเกี่ยวกับนโยบายด้านการต่างประเทศล้มเหลว ไม่ส่งเสริมสัมพันธไมตรีและความร่วมมือกับนานาประเทศทำให้กระทบต่อการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว




กำลังโหลดความคิดเห็น