xs
xsm
sm
md
lg

บริหารประเทศล้มเหลว ญัตติ “เผาไทย”ซักฟอกรัฐมาร์ค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 11.30 น. วานนี้(1 มี.ค.)นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.สัดสัดส่วน พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยคณะ ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยผู้ถูกยื่นอภิปราย มี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ 9 รัฐมนตรี ขณะที่รายชื่อส.ส.ที่ลงญัตติมีจำนวน 122 คน รวมส.ส. พรรคประชาราช 3 คน พรรคเพื่อแผ่นดิน 1 คน คือ นพ.แวมะฮะดี แวดาโอ๊ะ ส.ส.นราธิวาส โดยยืนยันจะใช้เวลาอภิปราย 4 วัน และฝ่ายค้านได้ยึดบรรทัดฐานเมื่อครั้งที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านและได้อภิปรายรัฐบาลไทยรักไทยเป็นเวลา 4 วัน โดยเห็นว่าการอภิปรายครั้งนี้จะไม่ข้ามคืนไปถึงตี 3-4
ทั้งนี้เป็น ส.ส.เพื่อไทย 186 คน ส.ส.ประชาราช 5 คน ส.ส.เพื่อแผ่นดิน มีกลุ่มพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ประมาณ 5 คน รวมทั้งหมดจึงมีประมาณ 195 คน
ด้านนายชัย กล่าวว่า สภาจะขอเวลาตรวจสอบญัตติ 7 วันจากนั้นจะส่งให้รัฐบาลภายใน 15 วัน ซึ่งทั้งหมดอยู่ที่ทั้งสองฝ่ายจะคุยกัน “ขอให้มันอภิปรายแบบเปรี๊ยะ ๆ ไม่ใช่ว่าน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง”สมัยหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ก็อภิปราย 5-6 วัน
ผู้สื่อข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านั้นฝ่ายค้านจะยื่นในเวลา 11.00น. จึงแจ้งเลื่อนยื่นญัตติไปก่อน และเมื่อเสร็จภารกิจได้เดินทางมารับญัตติ พร้อมแซวคณะส.ส.พรรคเพื่อไทยว่า “มีคนบอกว่าให้ผมรีบ ไม่รู้จะรีบไปไหน จะไปตายเหรอ” เล่นเอาส.ส.พรรคเพื่อไทยมีสีหน้างุนงง นอกจากนั้นยังแซวนายมิ่งขวัญว่า สวัสดีว่าที่นายกฯ และรัฐมนตรีทุกคน ก่อนสวมกอดนายมิ่งขวัญและพูดว่า “สมัยก่อนเป็นรัฐมนตรีก็ทำให้ราคาข้าวดีขึ้น แต่ตอนนั้น ทักษิณไล่ลง พอมาวันนี้ ทักษิณเชียร์ให้เป็นนายกฯ ผมเคยบอกเรื่องนี้มานาน สมัยท่านมิ่งขวัญเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์ว่า ถ้าทำตัวดีๆ ก็จะได้เป็นนายกฯ ผมก็เคยบอกกับอภิสิทธิ์ ให้ทำตัวดีๆ และวันนี้ก็ได้เป็นนายกฯจริงๆ” แต่นายมิ่งขวัญกลับมีสีหน้าตาเคร่งเครียดเมื่อถูกทักว่า ถูกทักษิณไล่ลงอย่างเห็นได้ชัด
นายมิ่งขวัญกล่าวว่า คณะเจรจาเรื่องวันอภิปรายของพรรค จะไปเจรจากับวิปรัฐบาลในวันที่ 2 มีนาคม ส่วนนายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวยืนยันว่า การอภิปรายต้อง 4 วัน และลงมติในวันที่ห้า
นายพีระพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประเด็นการถอดถอนเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่การบริหารราชการของรัฐมนตรีแต่ละคน ดังนั้นการอภิปรายจะยึดหลักการตรงประเด็น เน้นสาระ เพราะข้อเท็จจริงได้ปรากฎต่อสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปว่ารัฐบาลชุดนี้มีเรื่องทุจริตมากมาย ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐานอีกหลายเรื่อง เพื่อส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนในภายหลัง ซึ่งหลายเรื่องที่เคยยื่นไป ก็อยู่ระหว่างการไต่สวนของป.ป.ช. แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับญัตติที่ฝ่ายค้านได้ยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรีนั้น เนื้อหาโดยสรุป คือ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลได้บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้รัฐมนตรีในรัฐบาลและบุคคลแวดล้อมกระทำการทุจริต คอรัปชั่น แสวงหาประโยชน์อย่างกว้างขวาง การบริหารก็ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ขาดหลักธรรมาภิบาล ดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจล้มเหลว ขาดวินัยการเงินการคลัง ละเว้นและปล่อยปละละเลยไม่ปฏิบัติและบังคับใช้กฎหมายอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม ในทางตรงกันข้ามกลับบังคับใช้กฎหมายโดยขาดความเสมอภาค เลือกปฏิบัติสองมาตรฐาน จงใจฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ไม่เคารพหลักประชาธิปไตย ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ทำลายระบบราชการ ขยายความขัดแย้งแตกแยกในสังคม ล้มเหลวในการแก้ปัญหาความมั่นคงภายในประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ในญัตติได้ระบุถึงพฤติกรรมการบริหาราชการแผ่นดินของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีว่า 1.ไม่ปฏิบัติตามแผนการบริหารราชการแผ่นดินและแผนการตรากฎหมาย และนโยบายตามที่แถลงไว้ในรัฐสภา มีเจตนาฉ้อฉล เปิดช่องให้มีการทุจริตคอรัปชั่นในโครงการต่างๆ อย่างกว้างขวาง มากกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา นอกจากนั้นยังไร้ความรู้ความสามารถและสติปัญญาในการกำหนดนโยบายบริหารประเทศโดยต้องอาศัยงบประมาณจำนวนมาก เพื่อจ้างบุคคลภายนอกมาขายฝันให้กับรัฐบาล รวมถึงการเข้าสู่ตำแหน่งนายกฯ ไม่เป็นไปตามครรลองคลองธรรม ยังเป็นบุคคลสองสัญชาติ ไร้วุฒิภาวะการเป็นผู้นำ พูดจาไม่มีสัจจะ
2.จงใจใช้อำนาจหน้าที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมาย 3.ทำลายระบบราชการด้วยการแทรกแทรงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ปล่อยให้มีการแสวงหารประโยชน์จากการซื้อขายตำแหน่ง 4.ไม่ควบคุมให้มีการรักษาวินัยการเงินการคลัง เพื่อสนับสนุนเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดภาระหนี้สาธารณะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 5.ไร้ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ปล่อยให้ราคาสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นสูงขึ้นและคลาดแคลน 6.ดำเนินนโยบานต่างประเทศที่ผิดพลาด และล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง แทรกแทรงกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์และการค้าระหว่างประเทศอย่างรุนแรง และ 7.ล้มเหลวในการแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเกิดเหตุรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายชัย กล่าวถึงการอภิปรายในฝั่งของพรรคภูมิใจไทยว่า มั่นใจว่ารัฐมนตรีของพรรคยตอบได้ทุกเรื่อง เพราะเขาทำมากับมือ เขาต้องตอบ ตนเชื่อว่าคนที่ถามคงไม่รู้เรื่อง เพราะไปฟังคนอื่นเขาเล่ามา
เมื่อถามว่าวันที่ 8-9 มีนาคมนี้จะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้หรือไม่ นายชัย กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ อยากให้เร็ว จะได้ยุบสภา แต่หากยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเข้ามา ก็ยุบสภาไม่ได้แล้ว จนกว่าจะมีการอภิปรายเสร็จ
ที่พรรคเพื่อไทย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนไม่ได้เตรียมข้อมูลมาก่อนเลย เพราะคิดว่าจะให้นายมิ่งขวัญ โชว์บทบาทได้เต็มที่ แต่เมื่อพรรคมีมติให้มีการผสมผสานในการอภิปราย เมื่อรายชื่อออกมา ตนก็ยังต้องมีการรวบรวมข้อมูลในแต่ละรัฐมนตรีให้มากที่สุด และจะอภิปรายอย่างแน่นอน แต่ยังมีความกดดันและหนักใจในการอภิปรายครั้งนี้ เพราะที่ผ่านมาตนเป็นผู้กำหนดทุกอย่าง แต่ ณ วันนี้ยังไม่มีการกำหนดถึงยุทธศาสตร์หรือเป้าหมายใด ๆ เลย ตนก็ต้องเตรียมตัวทำการบ้านเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลใหม่ ๆ อีก
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลครม.ว่า นายอภิสิทธิ์ ได้หยิบยกประเด็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจสอบถามรัฐมนตรีที่มีชื่ออยู่ในญัตติ ว่าพร้อมอภิปรายสัปดาห์หน้าหรื้อไม่ ซึ่งทุกคนแสดงความพร้อม ทั้งนี้ได้มอบหมายนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรี ประสานกับประธานสภาผู้แทนราษฎร ถึงประเด็นข้อกล่าวหาในคำถอดถอนต่างๆที่ฝ่ายค้านได้ยื่นให้ประธานวุฒิสภาเพื่อพิจารณาส่งให้ป.ป.ช.
“เพราะขณะนี้ฝ่ายค้านไม่มีการเปิดเผยข้อกล่าวหาถอดถอน จงเป็นห่วงว่า ในการอภิปรายจะมีการกล่าวหาเกินเลยนอกกรอบ อีกทั้งผู้ชี้แจงไม่ทราบข้อกล่าวหาเป็นอย่างไร จะขัดต่อบทบัญญัติตามกฎหมายหรือไม่” นายวัชระ กล่าว
แหล่งข่าวจากทำเนียบฯ เปิดเผยว่า นายกฯได้สอบถามนายอัชฌาพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฏีกา ถึงกระบวนการทางกฎหมายว่าทำได้หรือไม่ เนื่องจากในการยื่นถอดถอนก่อนมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ปกติจะมีการเปิดเผยข้อกล่าวให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบก่อน แต่เมื่อผู้ถูกกล่าวหาไม่ทราบจะทำได้หรือไม่ ขณะที่นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.ไอซีที ให้ความเห็นว่าถึงอย่างไร รายละเอียดข้อกล่าวหาก็จะไปทราบในขั้นตอนของป.ป.ช.อยู่แล้ว แต่นายกฯแย้งว่า ผู้ถูกอภิปรายก็ควรได้รับทราบข้อกล่าวหาด้วย เพราะมิฉนั้นจะมีการอภิปรายเกินเลย และไม่ชัดเจนตามข้อกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ
ด้านนายสาทิตย์ กล่าวว่า วันนี้(2 มี.ค.)จะไปหารือกับนายชัย แต่ขึ้นอยู่กับนายชัยว่า จะตัดสินใจอย่างไร แต่เชื่อว่า ถ้าไม่มีการเปิดเผยจะทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจเกิดปัญหาเพราะจะผิดรัฐธรรมนูญ ในการกล่าวหาว่ารัฐมนตรีร่ำรวยผิดปกติ ประพฤติมิชอบหรือทุจริต ผิดกฎหมาย จะอภิปรายไม่ได้ถ้าไม่ยื่นถอดถอนก่อน อย่างไรก็ตาม สมัยที่ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นฝ่ายค้าน ได้มีการเปิดเผยและยื่นถอดถอน โดยระบุข้อกล่าวหาให้ทราบก่อน
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเวลาอภิปรายว่า ถ้าขอตน 10 วันยังให้เลย สนุกดีจะตายไปอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ที่พรรคชาติไทยพัฒนา นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ที่รมต.ของพรรคไม่ถูกอภิปรายเพราะ คงจะสงสาร แต่ไม่ใช่กลยุทธ์ คงดูสถานการณ์ทั่วๆไป เพราะการอภิปรายไม่ไว้วางใจถ้ามากนักน้ำหนักจะน้อย ต้องเจาะจงเป็นจุดเป็นจุดไป อภิปรายนายกฯและรัฐมนตรี 10 คนกำลังพอดี
ผู้สื่อข่าวถามว่าเชื่อว่าการอภิปรายครั้งนี้จะมีผลต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่ นายบรรหารกล่าวว่า คงจะมีบ้าง แต่คงไม่มาก ส่วนที่พรรคเพื่อไทยจะอภิปรายเรื่องสัญชาติของนายอภิสิทธิ์ นายบรรหารกล่าวว่า เรื่องไปๆมาๆก็ย้อนกลับตัวเอง ตอนที่ตนถูกอภิปรายเป็นการทำใบสัญชาติปลอม โดยเอาไปถ่ายสำเนาแล้วใช้กระดาษปิดแล้วก็เอามาถ่ายซ้ำ ส่วนใบสัญชาติของนายกฯตนไม่ทราบ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การอภิปรายจะเป็นวันที่เท่าไหร่นั้นต้องประสานงานกับสภาก่อน “ เอาเป็นว่ารัฐบาลอยากให้อภิปรายกันในสัปดาห์หน้า ”
เมื่อถามว่าฝ่ายค้านใช้ถ้อยคำในการยื่นญัตติรุนแรงว่า“ ฆาตกรรมประชาชน”ห่วงหรือไม่วาในการอภิปรายจะมีการใช้ถ้อยคำรุนแรงมากกว่านี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถือเป็นความพยายามของฝ่ายค้านอย่างต่อเนื่องในการที่จะใส่ร้ายตน และบางคนในเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่คาดหมายได้ว่าเป็นความพยายามที่จะปลุกเร้าผู้สนับสนุนตัวเองด้วย
นพ.วรงค์ เดชวิกรม รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าที่ประชุมพรรคเห็นชอบแผนปฏิบัติการพิเศษคือ “ปฏิบัติการตีท้ายครัว” ด้วยการสั่งให้ ส.ส.ทุกคนลงไปเยี่ยมประชาชนถึงก้นครัว พูดคุยถึงผลกระทบจากราคาสินค้าทุกอย่าง ไ และเอาข้อมูลเหล่านี้มาเสนอต่อที่ประชุมพรรคในสัปดาห์หน้า โดยให้ส.ส. 1 คน ทำการลงหาข้อมูลในพื้นที่ของตนเอง 2,500 ครัวเรือน โดยนายกฯได้กำชับเรื่องนี้ ทั้งนี้เรียกร้องให้ฝ่ายค้านทำตามเงื่อนไขโดย เปิดเผยประเด็นต่างๆ ที่ยื่นถอดถอนกับป.ป.ช. โดยเริ่มแรกรัฐบาลตั้งใจจะให้บรรจุวาระซักฟอกในวันที่ 7 มี.ค. แต่เนื่องจากวันที่ 8 มี.ค.พรรคประชาธิปัตย์จัดงานระดมทุน จึงได้เลื่อนมาอภิปรายในวันที่ 9-12 มี.ค. และลงมติในวันที่ 13 มี.ค. ที่รัฐบาลต้องการเร่งให้ฝ่ายค้านอภิปรายเร็วขึ้น เพราะรัฐฒนตรีทุกคนยืนยันว่าพร้อมที่จะชี้แจงทุกข้อกล่าวหา.
กำลังโหลดความคิดเห็น