โฆษก ปชป.พีอาร์แผนการตลาดเต็มตัว ออกเคมเปญชู 4 นโยบายปูทางเลือกตั้งทั่วประเทศ ชูประสบการณ์ผลงาน “มาร์ค” แข่ง “เจ๊มิ่ง” ให้ ปชช.เลือก เย้ย พท.หวังใช้แผนซักฟอกช่วย นปช.ขย่มรัฐบาล ตอกกลับ “จาตุรนต์” ควรเทียบ “ฟูจิโมริ” กับ “แม้ว” เหมาะสมกว่า “มาร์ค” เชื่อโจกแดงยังคงขยายผลความขัดแย้งทั้งในและนอกสภา เหตุเดินหน้าเคลื่อนไหวช่วงครบรอบเมษาเลือด
วันนี้ (28 ก.พ.) นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์เปิดตัวแคมเปญ “เราจะเดินหน้าต่อไปด้วยนโยบายเพื่อประชาชน” เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้มอบหมายให้ ส.ส.ทั่วประเทศเดินหน้ารณรงค์ติดป้ายหาเสียง ใน 4 ชุดนโยบายหลัก คือ 1.การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 25 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 2 ปี 2.จัดกองกำลังตำรวจแก้ไขปัญหายาเสพติด 2,500 นาย 3.การจัดสรรที่ทำกินดดยการออกโฉนดชุมชน 250,000 ครอบครัว 4.การจัดตั้งทุนการศึกษาดอกเบี้ยต่ำ 250,000 คน ซึ่งพรรคเชื่อว่านโยบายชุดนี้จะเป็นจุดแรกที่ประชาชนจะรับทราบถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะทยอยลงพื้นที่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ พรรคจะจัดสปอร์ตเพื่อสื่อสารโดยตรงในวันที่ 1 มี.ค.นี้ และพรรคจะทยอยขยายแนวนโยบายทั้งในเรื่องการสร้างหลักประกันความมั่นคงให้แก่คนในช่วงของชีวิตและขยายไปสู่ของขวัญ มาตรการ 9 ชิ้นที่ได้ดำเนินการตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ควบคู่กับการสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งถาวร
นพ.บุรณัชย์กล่าวว่า เชื่อว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะได้รับการตอบรับที่ดี และพรรคเชื่อว่าการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ จะเป็นการเลือกผู้นำโดยสังคมจะได้เปรียบเทียบระหว่างทิศทางการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ กับทางเลือกคือพรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย เชื่อว่าปัจจัยที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจคือต้องดูในเรื่องของประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา โดยของนายอภิสิทธิ์คือประสบการณ์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปี 2552-2553 ส่วนของนายมิ่งขวัญ ต้องดูระหว่างปี 2550-2551 คือช่วงที่นายมิ่งขวัญเป็นรัฐมนตรี ซึ่งการตัดสินใจของประชาชนจะมีผลโดยตรงต่อการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ เชื่อว่าไม่ว่าประชาชนจะเลือกนายอภิสิทธิ์ หรือนายมิ่งขวัญ ในระบบบัญชีรายชื่อจะส่งผลไปถึงผู้สมัครของพรรคในระบบเขตเลือกตั้งด้วย
นพ.บุรณัชย์กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคเพื่อไทยว่า ดูเหมือนจะขยายผลความขัดแย้งของประเทศเข้าสู่การทำงานในสภา และสร้างเงื่อนไขการทำงานในสภา เพื่อสนับสนุนการทำงานนอกสภา เห็นได้จากการกำหนดระยะเวลาการยื่นญัตติให้สอดรับการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงวันที่ 12 มี.ค.นี้ เพราะการที่ฝ่ายค้านจะยื่นถอดถอนในวันนี้ (28 ก.พ.) และยื่นญัตติอภิปรายวันที่ 1 มี.ค.นี้ ตามทำเนียมจะต้องมีระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำคนเสื้อแดง ได้ออกมายืนยันว่าจะไม่ยุติการเคลื่อนไหวการชุมนุมอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือน เม.ย.และพ.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่จะถูกนำมากล่าวอ้างว่าเป็นช่วงที่ครบกำหนดเหตุการณ์ความวุ่นวายในบ้านเมือง สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยไม่สามารถก้าวข้ามการเมืองนอกสภาซึ่งเคยเป็นสาเหตุของความขัดแย้งความวุ่นวาย และความรุนแรงในบ้านเมือง
นพ.บุรณัชย์กล่าวว่า ขณะเดียวกัน หัวข้อการอภิปรายที่พยายามจะใช้ชื่อว่า “ฆาตกรรมประชาชน” เห็นได้ชัดว่าเป็นความพยายามที่จะใช้วิธีการใส่ร้ายเช่นเดียวกับการตัดต่อและเผยแพร่คลิปเสียงของนายกฯ ที่เป็นเท็จที่ผ่านมา โดยหวังใช้เอกสิทธิ์คุ้มครองในสภาเพื่อปลุกระดมและสร้างความขัดแย้งระหว่างคนไทยด้วยกันเอง โดยการใส่ร้ายและหวังว่าการเคลื่อนไหวนอกสภาจะทำให้เกิดจุดวิกฤตและเป็นฉนวนเหตุความรุนแรงอีกครั้ง ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญจะทำให้ประเทศไม่สามารถเดินหน้าได้ พรรคประเมินถึงสาเหตุที่พรรคเพื่อไทยหยิบเรื่องดังกล่าวมาอภิปรายเป็นปีที่ 2 เพื่อเบี่ยงเบนความรับผิดชอบที่พยานหลักฐานได้เริ่มปรากฎชัดว่ามีบุคคลที่เกี่ยวข้องกันทั้งพรรคการเมืองและการเคลื่อนไหวนอกสภา มีส่วนเกี่ยวพันกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นตามหลักฐานที่ปรากฏ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นจุดทดสอบที่สำคัญว่าความขัดแย้งในบ้านเมืองสามารถเข้าสู่การทำงานในรัฐสภา เพื่อปลดชนวนความแตกแยกในสังคม และนำไปสู่การเลือกตั้งที่มีความสงบปราสจากความรุนแรงได้หรือไม่
นพ.บุรณัชย์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้มีการปล่อยข่าวเพื่อมีการนำประเด็นส่วนตัวมาผูกโยงกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจและการเคลื่อนไหวนอกสภา โดยเฉพาะเรื่องสัญชาติของนายกฯ ซึ่งข้อเท็จจริงควรจะยุติได้แล้ว แต่ก็ยังมีความพยายามพูดให้สอดรับกันระหว่าง ส.ส.พรรคเพื่อไทย แกนนำ ส่วนที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง พยายามเปรียบเทียบนายฟูจิโมริ อดีตประธานาธิบดีเปรู ทั้งที่ข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าฟูจิโมริหลังจากที่โดนข้อหาคอร์รัปชันในเปรูก็ได้ใช้สิทธิในฐานะพลเรือนประเทศที่ 3 ในการหลบหนีการจับกุม และสนับสนุนให้เกิดการโค่นล้มรัฐบาลโดยการใช้กำลัง ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าว นายจาตุรนต์ควรจะพูดกับนายตัวเอง คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มากกว่าว่านายฟูจิโมริ ใกล้เคียงกับอดีตผู้นำของไทยคนใด และวันนี้น่าจะเป็นอุทธาหรที่ดีที่นายฟูจิโมริก็ถูกมิตรประเทศจับกุมและถูกส่งตัวมาในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งสังคมสามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งที่นายจาตุรนต์พูด เหมือนกับนายอภิสิทธิ์ หรือ พ.ต.ท.ทักษิณมากกว่ากัน
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ยังกล่าวถึงกรณีที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำคนเสื้อแดง ออกมาระบุว่าปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมานั้น เกิดจากการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ สั่งให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการ กทม.ยุติการเจรจาเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ยืนยันว่าข้อเท็จจริงปรากฏชัดและสังคมได้รับทราบไปแล้ววว่าในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวาย นายอภิสิทธิ์ได้ยึดหลักการหารือและพุดคุยกับผู้ชุมนุมทางการเมืองจนนาทีสุดท้าย แต่ที่สุดการเจรจาที่เกิดขึ้นสะดุดหยุดลงเพราะกลุ่มผู้ชุมนุมปฏิเสธที่จะคุย และความรุนแรงที่เกิดขึ้นปรากฏชัดว่าเกิดจากผู้ที่ได้รับการฝึกอาวุธและเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่ชุมนุมอยู่ในขณะนั้น ซึ่งหวังว่าแกนนำที่ได้รับอิสรภาพจะตอบแทนบุญคุณของบ้านเมืองด้วยการยุติความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว